xs
xsm
sm
md
lg

La Rose De Loei กุหลาบมอญสีชมพูแห่งภูเรือ

เผยแพร่:   โดย: MGR Online


ชื่อของ "ลา โรส เดอ เลย" (La Rose De Loei) อาจฟังไม่คุ้นหู แต่นี่เป็นชื่อของแผนธุรกิจชุมชนที่คิดขึ้นโดยนิสิตนักศึกษาและได้รับการยอมรับว่า "ดีที่สุด" ของการแข่งขันในโครงการการสร้างธุรกิจชุมชนให้เป็นจริงและยั่งยืน ครั้งที่ 2 ของมูลนิธิยุทธสาร ณ นคร เพื่อสมาคมการจัดการธุรกิจแห่งประเทศไทย โดยเป็นผลงานจากมันสมองของ 8 นิสิตชั้นปีที่ 4 คณะพาณิชยศาสตร์และการบัญชี จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ประกอบด้วย วรุตม์ กฐินทอง (หัวหน้าทีม), นิพนธ์ แสงธีระพานิช, ภัทรดิส บวรศุภกิจกุล, วีระ วัชรัตน์ศิริยุทธ, กุลวิภา วรกิตติธรรม, ณิชาภัทร วลัยพัชรา, มณีกาญจน์ บุษปะบุตร และ วิมลรัตน์ วชิรัคศศวกุล

แนวคิดและการนำเสนอแผนธุรกิจของทีมเกิดขึ้นจากการลงพื้นที่สำรวจข้อเท็จจริงที่อำเภอภูเรือ จังหวัดเลย ซึ่งเป็นพื้นที่ปลูกกุหลาบมอญที่ใหญ่ที่สุดแห่งหนึ่งของประเทศไทย จากเดิมชาวบ้านเคยมีรายได้จากการขายกุหลาบมอญให้กับโรงกลั่นน้ำมันหอมระเหยในพื้นที่ใกล้เคียง แต่ทุกวันนี้กำลังประสบปัญหาขาดรายได้ เนื่องจากโรงงานที่เคยรับซื้อผลผลิตปฏิเสธการรับซื้อกุหลาบมอญ เพราะไม่สามารถหาช่องทางการจำหน่ายน้ำมันหอมระเหยจากกุหลาบมอญที่กลั่นเอาไว้ได้ จึงมีสินค้าค้างสต็อกอยู่เป็นจำนวนมาก

วรุตม์ กฐินทอง หัวหน้าทีมซึ่งเดินทางขึ้นไปสำรวจพื้นที่ ณ อำเภอภูเรือ จังหวัดเลย เปิดเผยว่า "ในตอนแรกเราตั้งใจว่าจะไปช่วยคิดแผนธุรกิจให้กับทางโรงกลั่นน้ำมันหอมระเหย แต่พอไปถึงที่พื้นที่แล้ว ก็พบว่าชาวบ้านที่ภูเรือมีความลำบากมาก หลายคนขณะที่เล่าปัญหาให้ฟังก็ร้องไห้ไปด้วย เพราะเขาไม่รู้จะทำอย่างไร จากเมื่อก่อนที่เคยปลูกพืชชนิดอื่น เมื่อมีเพื่อนบ้านมาชวนให้ปลูกกุหลาบมอญเพราะขายให้โรงงานได้ราคาดี หลายครอบครัวก็ถอนต้นไม้อื่นทิ้ง และหันมาปลูกกุหลาบมอญอย่างเต็มตัว พอกุหลาบมอญขายไม่ได้ ก็ทำให้ครอบครัวขาดรายได้ และเลี้ยงชีพได้ยากลำบากมากขึ้น พอเราเห็นสภาพปัญหา และความเป็นอยู่ของชาวบ้านแล้ว เราก็เลยตัดสินใจคิดแผนเพื่อช่วยชาวบ้านแทนครับ"

นิพนธ์ แสงธีระพานิช หนึ่งในสมาชิกภายในทีมที่ได้เดินทางไปสัมผัสปัญหา ณ อำเภอภูเรือ กล่าวว่า "จากที่ได้พบกับชาวบ้าน ผมมองว่าเขาค่อนข้างคงวิถีชีวิตแบบดั้งเดิมเอาไว้ได้มาก การเปลี่ยนพันธุ์พืชที่ปลูกก็จะใช้วิธีถอนต้นไม้เดิมทิ้ง และหันมาปลูกพืชชนิดใหม่ ดังนั้นเมื่อประสบปัญหาด้านผลผลิต จึงหาทางออกไม่ได้ และต้องรอให้หน่วยงานภาครัฐเข้าไปช่วยหรือให้คำปรึกษา"
วรุตม์ กฐินทอง
ดังนั้น อาจกล่าวได้ว่า แนวคิดของทีม La Rose De Loei เป็นไปในทิศทางของการ "ปลุก" ให้ชาวบ้านลุกขึ้นยืนได้ด้วยขาของตัวเอง

"แผนของเราคือ ให้ชาวบ้านผู้ปลูกกุหลาบมอญรวมตัวกันจัดตั้งเป็นสหกรณ์เพื่อมารับซื้อผลผลิตจากแต่ละครอบครัว จากนั้นก็ว่าจ้างทางโรงงานเดิมให้สะกัดน้ำมันหอมระเหยให้ (กุหลาบ 5 ตันผลิตน้ำมันหอมระเหยได้ 1 ลิตร) คิดว่าแผนนี้น่าจะเป็นทางออกที่ดีสำหรับชาวบ้าน ซึ่งน้ำมันหอมระเหยที่ได้จากกุหลาบมอญนั้น ได้รับการยอมรับว่ามีกลิ่นหอมมากเป็นอันดับต้น ๆ เมื่อเปรียบเทียบกับกุหลาบสายพันธุ์อื่น จึงเหมาะสำหรับการนำไปผลิตเป็นผลิตภัณฑ์ด้านสุคนธบำบัด เพื่อใช้ในกิจการสปาครับ"

La Rose De Loei ได้เลือกแนวทางการผลิตสินค้าจากกุหลาบมอญเป็น 3 รูปแบบ ได้แก่ เทียนหอม สบู่ และน้ำมันหอมระเหย โดยเน้นเจาะกลุ่มนักท่องเที่ยวทั้งชาวไทยและชาวต่างชาติ ตลอดจนผู้ที่ชื่นชอบการทำโฮมสปา และธุรกิจสปาระดับพรีเมี่ยม

นอกจากนี้ ทางกลุ่มยังได้นำเอาระบบบริหารจัดการทันสมัยเข้ามาประยุกต์ใช้ในแผนมากมาย เช่น การเชิญผู้เชี่ยวชาญจากมหาวิทยาลัยต่าง ๆ มาเป็นวิทยากรให้ความรู้ จัดฝึกอบรมกลุ่มชาวบ้าน บริการให้คำปรึกษา การวิจัยและพัฒนา ตลอดจนการบริหารจัดการด้านการเงินที่โปร่งใส ตรวจสอบได้
ณิชาภัทร วลัยพัชรา หนึ่งในสมาชิกกลุ่ม La Rose De Loei กล่าวว่า ผลิตภัณฑ์ดังกล่าวมีศักยภาพในการเติบโต เนื่องจากเป็นผลิตภัณฑ์จากกุหลาบมอญ ซึ่งหาที่ปลูกได้ยากมากในประเทศไทย และมีเอกลักษณ์ด้านความหอม อีกทั้งยังมีโรงกลั่นที่มีประสิทธิภาพอยู่ในบริเวณใกล้เคียง การจัดตั้งกลุ่มสหกรณ์ขึ้นมาและให้ชาวบ้านดูแลกันเองจึงน่าจะเป็นทางออกที่ดี สำหรับปัญหานี้ ถ้าหากไม่มีคนช่วยเหลือหรือให้คำแนะนำในการประกอบธุรกิจกับเกษตรกร ก็อาจทำให้พวกเขาตัดต้นกุหลาบมอญทิ้ง และหันไปปลูกพืชอย่างอื่นที่สามารถขายได้มากกว่า ขณะที่ภูมิปัญญาของชาวบ้านในการปลูกกุหลาบมอญบนพื้นที่ดังกล่าวก็จะสูญหายไปตามกาลเวลาด้วย

นอกเหนือจากการรวมตัวชาวบ้านให้เข้มแข็งแล้ว ทางกลุ่มยังได้คิดหาวิธีสืบทอดภูมิปัญญาด้านการปลูกต้นกุหลาบมอญแก่เยาวชน โดยเฉพาะ เด็ก ๆ ในโรงเรียนประถมศึกษาภายในพื้นที่ เพื่อให้มีการสืบทอดภูมิปัญญาเหล่านี้ต่อไปด้วย

รูปแบบแนวคิดของกลุ่ม "La Rose De Loei" ที่นำสหกรณ์ ตลอดจนแนวคิดในการบริหารจัดการสมัยใหม่อาจเป็นอีกหนึ่งแนวทางที่ช่วยให้เกษตรกรในชุมชนตัดสินใจหยิบมาใช้ในวันที่ต้องพบกับจุดตกต่ำที่สุดในอาชีพ แต่สิ่งที่จะทำให้ชุมชนนี้อยู่ได้อย่างยั่งยืนและรอดพ้นปากเหยี่ยวปากกาได้ดีที่สุด อาจเป็น "ความเข้มแข็ง" ที่จะช่วยให้เขาลุกขึ้นสู้ด้วยขาของตัวเอง พร้อมด้วยวัตถุดิบชั้นเลิศในมือ โดยไม่ต้องให้ผู้ซื้อผู้ขายรายใดมาบงการก็เป็นได้

***********
กุหลาบมอญ - ราชินีสีชมพู

กุหลาบมอญ หรือชื่อสามัญว่า Damask Rose เป็นพืชในวงศ์ Rosaceae และเป็นกุหลาบสายพันธุ์เดียวกับ Bulgarian Rose ที่มีถิ่นกำเนิดอยู่ในดามัสกัส นครหลวงของประเทศซีเรีย ลำต้นเป็นไม้พุ่ม กิ่งก้านมีหนามแหลม ตัวดอกมีลักษณะเป็นช่อสีชมพูเปราะบาง ร่วงโรยเร็ว แต่มีกลิ่นหอม อยู่รวมเป็นกระจุก 3-5 ดอกมีกลีบเลี้ยง 5 กลีบ มีกลีบดอกจำนวนมากเรียงซ้อนกันหลายชั้นเมื่อดอกบานมีเส้นผ่านศูนย์กลาง 4.5-7 ซม. มีกลิ่นหอมแรงมากดอกดกและบานได้หลายวัน ออกดอกตลอดปี ดอกสดสามารถนำมาผลิตเป็นน้ำมันหอมระเหยได้ มีบันทึกกล่าวไว้ว่า ได้มีการนำกุหลาบมอญเข้ามาปลูก ราวปี 2112 - 2133 ในกรุงศรีอยุธยา

ข้อมูลจากสำนักงานโครงการอนุรักษ์พันธุกรรมพืชอันเนื่องมาจากพระราชดำริ สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี (อพ.สธ.) และหนังสือ "สรรพคุณสมุนไพร 200 ชนิด" ของเภสัชกรหญิงสุนทรี สิงหบุตรา เภสัชกรด้านเภสัชสาธารณสุข หัวหน้าฝ่ายวิชาการ กองเภสัชกรรม สำนักอนามัย กรุงเทพมหานคร

ลิงค์ที่เกี่ยวข้อง
จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย
กำลังโหลดความคิดเห็น