‘พนมรุ้ง’อันมีความหมายว่าภูเขาใหญ่ ปราสาทที่สร้างขึ้นจากหินทรายสีชมพู ศาสนสถานเขมรโบราณอายุนับพันปีของศาสนาฮินดู ที่สร้างขึ้นตามความเชื่อของลัทธิไศวนิกายเพื่อถวายแด่พระศิวะเทพเจ้าผู้ยิ่งใหญ่แห่งฮินดู กำลังเป็นประเด็นที่โจษจันอยู่ในขณะนี้ หลังจากเกิดเหตุการณ์ที่มีมือมืดเข้าไปทำลายโบราณวัตถุให้ได้รับความเสียหาย
อะไรเป็นสาเหตุของการกระทำในครั้งนี้
คนวิกลจริต ไสยศาสตร์ หรือเพื่อผลประโยชน์ของใคร???
* ‘ทุบ’ ทำไม?
“สาเหตุที่มีการทุบทำลายสามารถมองได้หลายมุม” ดร.สุรเชษฐ์ วรคามวิชัย ข้าราชการบำนาญราชภัฏบุรีรัมย์ กล่าวก่อนเล่าต่อว่าอาจเกิดจากความขัดแย้งภายใน เกิดจากคนที่ขออนุญาตขึ้นไปขายของบนนั้นที่ถูกขับไล่ไม่ให้ความสะดวก แต่ในส่วนนี้ได้รับการแก้ไขเรียบร้อยแล้ว
อีกประเด็นคือคนที่ขออนุญาตขึ้นไปทำพิธีบูชาบวงสรวงในสถานที่นั้น แต่ได้รับคำปฏิเสธ โดยให้เหตุผลว่าปราสาทหินพนมรุ้งไม่ใช่ศาสนสถาน แต่เป็นโบราณสถานต้องรักษาไว้จึงไม่ได้อนุญาต เพราะบางครั้งจะต้องตามเก็บเก็บกวาดเศษสิ่งของที่หลงเหลือ
หลายคนที่มาขออนุญาตทำพิธีด้วยเวลาสั้นๆ บางครั้งก็ได้รับอนุญาตบ้างเป็นครั้งคราว แต่คนเหล่านั้นจะเก็บกวาดข้าวของเรียบร้อย บางครั้งทางจังหวัดก็เป็นผู้มาขอเพื่อทำพิธีที่ปราสาทเขาพนมรุ้งก็ได้เวลาช่วงหนึ่งสำหรับทำพิธีบวงสรวง แต่ในส่วนของผู้ที่ขอเข้ามาปลุกเสกจตุคาม จะไม่ได้รับอนุญาตอาจเป็นสาเหตุหนึ่งที่ทำให้เขาไม่พอใจ อีกกรณีหนึ่งอาจมาจากการตัดไม้ข่มนาม โดยจะนำเอาหมอทำพิธีขึ้นไป โดยมีจุดมุ่งหมายเพื่อทำพิธีที่นาค เพราะนาคเป็นพาหนะของพระราม หมายถึงตัวแทนของกษัตริย์ อาจมองได้ว่าเป็นการทำลายพาหนะ
“ส่วนหนึ่งอาจเป็นการทำพิธีทางไสยศาสตร์ มีการทำพิธีเชิญเทพปางที่ดุร้าย อย่างพระนางกาลี มาทำพิธี มีการทำลายข้าวของรอบข้างเพื่อปลุก และอาจนำชื่อคนที่มุ่งหวังทำลายไปเผาทำพิธี แล้วเหยียบย่ำ ซึ่งเป็นพิธีสาปแช่งที่เคยเห็นมาตั้งแต่เด็ก เหมือนกับว่าถ้าอยากให้คนตายก็ให้เขียนชื่อไปสาปแช่งด้วยวิธีที่รุนแรง จะทำให้เกิดพลังมากขึ้น พบเห็นได้ทั่วๆ ไป ไม่ใช่เฉพาะแค่คนไทย ทางตะวันออก ทางยุโรปก็มี วิธีการจะคล้ายกัน อาจแตกต่างกันเพียงเล็กน้อย โดยหลักแล้วจะคล้ายๆ กับที่เราเรียกว่า ตัดไม้ข่มนาม” สุรเชษฐ์กล่าว
การทำพิธีทางไสยศาสตร์โดยการทำที่ปราสาท อาจมาจากสาเหตุความแค้นใครสักกลุ่ม แต่ไม่สามารถทำเองได้จึงต้องอาศัยสิ่งศักดิ์สิทธิ์เป็นตัวช่วย การสาปแช่งที่มีให้เห็นอย่างที่พม่ามีการตีพระทำให้ต้องเจออาเพศ หรือจีนที่ทำร้ายลามะจึงเจอปัญหา หรือตาลีบันที่ยิงพระพุทธรูปตอนนี้ไม่มีแผ่นดินอยู่ เรื่องพวกนี้มันมีผลต่อจิตใจ
“การใช้แขนของทวารบาลไปตีส่วนอื่นๆ จัดเป็นแนวทางทำให้เกิดความรุนแรงขึ้น เหมือนกับที่คนทะเลาะกันในหมู่บ้าน ที่ชอบทำสิ่งของให้พังเสียรูป” สุรเชษฐ์เสริมประเด็น
ส่วนที่เสียหายจากการโดนทุบทำลายถือว่ายังมีมูลค่าไม่มาก เพราะเป็นเพียงรูปปั้นจำลอง อย่างทวารบาล สิงห์เป็นของหล่อจำลองที่นำมาวางไว้ ส่วนตัวจริงจะเก็บรักษาไว้ในพิพิธภัณฑ์ ทำให้ไม่มีผลต่อการทำนุบำรุงใหม่มากนัก
* ‘เลือกปฏิบัติ’ บ่อเกิดหายนะ
“ที่ทราบมาจากวงใน มีคนรู้ว่าใครเป็นคนทุบ” เสียงของเทพมนตรี ลิมปพยอม นักวิชาการประวัติศาสตร์อิสระกล่าวก่อนเล่าว่า
“การทุบถือเป็นการแก้เคล็ด เมื่อ 5 เมษายน 2551 ที่ผ่านมาได้มีการทำพิธีสะเดาะเคราะห์ให้แก่ผู้ใหญ่คนหนึ่งของประเทศ สะเดาะเคราะห์ไปสะเดาะเคราะห์มาก็มีการทำบางอย่างเพื่อให้การสะเดาะเคราะห์ครั้งนั้นสำเร็จเรื่องนี้มีคนในพื้นที่เล่าให้ฟัง เรื่องจริงต้องรอตำรวจสืบสวน” เทพมนตรีกล่าวถึงเบาะแสเพิ่มเติม
การอนุญาตให้ใช้โบราณสถานทำอะไรก็ตาม ไม่ว่าจะเป็นการทำพิธีกรรมปลุกเสกพระ เทวรูป ส่วนใหญ่จะเกี่ยวกับงานประเพณีที่พนมรุ้ง บางครั้งมีการอนุญาตให้คนกลุ่มหนึ่งแต่อีกกลุ่มหนึ่งกลับไม่ได้รับอนุญาตจึงทำให้เกิดความขัดแย้ง ควรจะต้องคิดกันใหม่ว่างานอะไรที่สามารถอนุญาตได้ งานใดที่อนุญาตให้ไม่ได้ อย่างถ้าเป็นเรื่องการศึกษา ค้นคว้าหาความรู้ควรจะอนุญาต แต่หากเป็นเรื่องความเชื่อ พิธีกรรม ที่ไม่เกี่ยวกับศาสนสถานแห่งนี้ก็ไม่ควรให้อนุญาต
“ทุกวันนี้ก็จะอนุญาตให้มีงาน แสง สี เสียง แต่ในขณะนี้เดียวกันอีกกลุ่มหนึ่งก็ขอทำปลุกเสกจตุคามฯหรือปลุกเสกเทวรูป พระพุทธรูปแต่กรมศิลปากรกลับเลือกปฏิบัติ ในที่สุดก็เกิดความโกรธแค้นจึงเข้ามาทำอย่างที่เห็น”
“แต่ในกรณีที่เป็นเรื่องของความเชื่อว่าต้องสะเดาะเคราะห์ แล้วไปทุบทำลาย เห็นได้จากธูปเทียน ดอกไม้ที่เอามาไหว้หรือเอาเงินปิดปากมาวางไว้ เป็นการสะเดาะเคราะห์ทางอีสานที่เขาทำกันก็เหมือนกับการตัดตุ๊กตาเสียกบาล แต่คราวนี้ก็ตัดแขน ทุบหัว ทุบปากสิงห์ใช้ข้อมือของของทวารบาลเป็นตัวทำลาย คงเป็นวัสดุแข็งที่พอจะทำลายสิงห์ ทำลายนาค คงไม่ใช่เรื่องของรายละเอียดที่จะต้องเน้นว่าเอามือทวารบาลไปทุบ” เทพมนตรีเพิ่มเติม
ในพิธีกรรมของอินเดียไม่มีให้เห็น ในสมัยโบราณจะมีการตัดหัวตุ๊กตาเพื่อสะเดาะเคราะห์ แต่ปัจจุบันอาจจะประยุกต์เป็นตัดข้อมือ ทุบหัว ทำให้เห็นว่าถูกตัดออกไป
เทพมนตรีเล่าให้ฟังว่า ครั้งหนึ่งเคยมีบริษัทถ่ายทำภาพยนตร์ของฮอลลีวู้ดมาถ่ายทำในเมืองไทยที่วัดมหาธาตุจังหวัดอยุธยา ปรากฏว่าตอนที่ไฟดันไปมีผลเอฟเฟกต์กับเสาเลยทำให้เสาพังลงมา โดยตอนนั้นทางกรมศิลปากรอ้างว่าเป็นเสาปลอม แต่มีรูปถ่ายยืนยันชัดเจนว่าเป็นเสาจริง ซึ่งถือเป็นกรณีที่เคยเกิดขึ้นมาแล้ว
การบูรณะโบราณสถานในปัจจุบันควรจะรักษาของดั้งเดิม ทุกวันนี้เวลาบูรณะกลายเป็นการใช้ปูนขาวผสมทราย
“คล้ายๆ กับว่าการรับเหมากลายเป็นการทำลายโดยชอบธรรม ปัจจุบันการรับเหมาโบราณสถานเปลี่ยนโฉมของเก่าเป็นของใหม่ อย่างปรางค์หรือเจดีย์บางองค์ที่ไม่เคยมียอด แต่ด้วยความไม่รู้ถึงรูปลักษณ์ที่แท้จริง ช่างก็ไปต่อเติม บางทีไปเทียบกับรูปเก่าแล้วพบว่ามันไม่ใช่ ทำให้ของเดิมกับของใหม่ไม่เหมือนกัน ลักษณะนี้อาจเป็นการทำลายทางหนึ่งก็ได้” เทพมนตรีเสริม
เรื่องทั้งหมดสะท้อนให้เห็นถึงความไม่เข้าใจของคนว่าปราสาทพนมรุ้งไม่ได้มีไว้สะเดาะเคราะห์ แต่มีไว้สำหรับบูชาเทพเจ้า คือมันเป็นวัดในศาสนาฮินดูแต่แล้ววันหนึ่งพอวัดถูกทิ้งร้างไป คนก็เปลี่ยนไปเรียกว่า สถานที่ท่องเที่ยว จึงทำให้เกิดความรู้สึกขาดความเคารพระหว่างคนกับสถานที่
“บางครั้งมีงานเลี้ยงโต๊ะจีนก็ไปเลี้ยงกันที่นั่น มันเลยทำให้คนเริ่มไม่กลัว คิดจะทำอะไรก็ได้ บางแห่งที่ไม่ควรจะเข้าไปก็เข้า ไม่ถอดรองเท้าด้วย พอเป็นสถานที่ท่องเที่ยวก็ไปถ่ายรูป เดินทับสิ่งศักดิ์สิทธิ์คนก็เลยเกิดความเสื่อม คิดแต่ว่าจะไปสะเดาะเคราะห์”
กรมศิลปากรควรมีมาตรการให้ชัดเจน ไม่ว่าจะเป็นใครหรือคนระดับไหนก็ตาม ห้ามไม่ใช้สถานที่ในการประกอบพิธีกรรม แต่หากเลือกที่รักมักที่ชัง มันจะเกิดปัญหา เกิดความไม่พอใจ เพราะมันมีผลประโยชน์ของการจัดงานแสดงแสง สี เสียงด้วย เทพมนตรีมองถึงความชัดเจนของกรมศิลปากร
* ความรู้สึก ซื้อกันไม่ได้
“มันเป็นการสูญเสียมูลค่าทางด้านจิตใจและความเชื่อมั่นมากกว่า ในฐานะที่เราเป็นหน่วยงานทางราชการก็รู้สึกเสียกำลังใจในการทำงาน” ดุสิต ทุมมากรณ์ หัวหน้าอุทยานประวัติศาสตร์ปราสาทหินพนมรุ้งกล่าว
อุทยานประวัติศาสตร์พนมรุ้งมีมาตรการดำเนินการด้านความปลอดภัยเป็นอันดับหนึ่ง แต่หลังจากเกิดเหตุการณ์ช่วงกลางคืนจะต้องมีการจัดเวรยามเพิ่มเติมจากเดิม สำหรับการติดตามผลอยู่ในขั้นตอนติดต่อกรมศิลปากร ด้วยการแจ้งไปยังอธิบดีในเบื้องต้น และอยู่ในช่วงการทำรายงานเสนอ เพราะเรื่องดังกล่าวค่อนข้างใช้เวลา ต่อจากนั้นทางกรมศิลปากรจะตั้งคณะกรรมการขึ้นมาเพื่อสอบสวนเรื่องราวที่เกิดขึ้นอีกครั้ง
“คนในพื้นที่เขาก็เสียใจ ทั้งทางองค์การบริหารส่วนตำบล รวมถึงกำนันก็เข้ามาแสดงความเสียใจ และกำลังหาทางช่วยกัน กรณีที่คนร้ายใช้แขนของทวารบาลทุบทำลายส่วนอื่นๆ สำหรับคนในพื้นที่มันมีความหมาย แต่ตอนนี้ยังไม่สามารถสรุปอะไรได้ชัดเจน เพราะอาจทำให้เสียรูปคดีได้” ดุสิตกล่าวทิ้งท้ายถึงความรู้สึกที่ไม่สามารถประเมินค่าเป็นตัวเลขได้
* วิกลจริต หรือหวังทำลาย ‘หมู่’
ทางด้านพราหมณ์ผู้เชี่ยวชาญที่ศึกษา “คัมภีร์พระเวท” คัมภีร์สำคัญในศาสนาพราหมณ์ฮินดูมาเป็นเวลานานกว่า 5 ปี อีกทั้งเล่าเรียนคัมภีร์ปุราณะจากเทวาลัย “ศรีสิทธิวินายะ” ของอินเดียและได้รับการทำพิธีบวชเป็นพราหมณ์อย่างถูกต้องผู้หนึ่ง กล่าวว่า เหตุการณ์ที่รูปปั้นโคนนทิอันเป็นพาหนะของพระศิวะ รูปปั้นสิงห์และพญานาค ตลอดจนทวารบาลเฝ้าประตูปราสาทพนมรุ้งถูกผู้ไม่ประสงค์ดีทำลายจนได้รับความเสียหายนั้น ในทางศาสนาพราหมณ์ถือว่าเป็นนิมิตหมายที่บอกถึงการ “โละ ล้าง หรือทำลายล้าง” เพราะมีการทำลายเฉพาะเทวะองค์อื่น แต่เพียงแค่ “เลื่อน” หรือเคลื่อนย้ายศิวลึงค์อันเป็นตัวแทนของพระศิวะองค์เดียว
“ซึ่งพระศิวะคือเทพเจ้าแห่งการประทานพรและทำลาย ฉะนั้น จึงเหมือนกับว่าเคลื่อนตำแหน่งท่านเพื่อให้การสถิตของท่านถูกโยกย้ายเท่านั้นเอง แต่องค์อื่นเขาทำลายหมดเพื่อให้รู้ว่าจะต้องมีเหตุการณ์วิปโยคหรือเปลี่ยนแปลง หรือโละเกิดขึ้น”
ซึ่งผลจากกระทำดังกล่าวนั้น จะทำให้มีภัยพิบัติเกิดขึ้นตามที่มีโหรได้ทำนายไว้ก่อนหน้านี้
“ภัยพิบัตินั้นถามว่าเกิดไหม เกิดแน่ แต่เกิดครั้งนี้ไม่รู้ว่าในทางไหน แต่ว่าเกิดกับกลุ่มคนไม่ใช่ใครคนใดคนหนึ่ง เพราะว่าการทำลายครั้งนี้คือตั้งใจทำลายทั้งหมด จะเป็นทั้งหมดเลยที่อยู่ในกลุ่มหนึ่งนั้นต้องร่วงลงมาทั้งหมด ไม่ใช่ใครคนใดคนหนึ่งนะครับครั้งนี้”
พราหมณ์ผู้ศึกษาเชี่ยวชาญพระคะเณศปุราณะกล่าวว่า ผลจากการทำลายสิ่งศักดิ์สิทธิ์ครั้งนี้จะต่างจากเมื่อครั้งที่รูปปั้นท้าวมหาพรหม ณ โรงแรมเอราวัณถูกทุบทำลายเมื่อปีที่แล้ว
“ครั้งนี้ไม่มีเวลากำหนด แต่ระยะเวลาในการทำนายโดยปกติแล้วศาสตร์ทั่วไปจะไม่เกิน 3 เดือน แต่ในลักษณะนี้ผมคิดว่าจะอยู่ที่ปีครึ่งขึ้นไป โดยภัยพิบัติที่ว่าจะเป็นภัยกับตัวบุคคล ไม่ใช่ภัยธรรมชาติที่เป็นหมู่คณะใหญ่ๆ แต่อาจจะเป็นภัยกับคณะบุคคลกลุ่มหนึ่งที่มีผลกับประเทศ ผมเปรียบเทียบกับพระพรหมที่ถูกทำลาย พระพรหมก็คือหนึ่งบุคคล ท่านคือบุคคลเพียงหนึ่งคน แต่ว่าครั้งนี้คือบุคคลหลายๆ คนที่เป็นหมู่คณะ คนที่ทำตั้งใจขออำนาจบารมีพระศิวะในการทำลาย จึงต้องเคลื่อนท่านก่อน ถ้าไม่เคลื่อนท่านก่อนภัยจะถึงตัว เพราะท่านเป็นเทพแห่งการทำลายและประทานพร”
โดยพราหมณ์ผู้นั้นยืนยันว่า คนทำน่าจะมีความรู้ทางไสยเวท หรืออย่างน้อยก็ต้องศึกษาเกี่ยวกับคัมภีร์พระเวทพื้นฐานมาบ้าง เมื่อดูจากลักษณะการกระทำที่เลือกทำลายเทวรูปหรือรูปปั้นเทพบริวารต่างๆ ในครั้งนี้
“คนที่ทำต้องมีข้อมูลและศึกษามาพอสมควร ไม่อย่างนั้นเขาคงทุบพระศิวะไปด้วยแล้ว แต่เขาพลาดนิดหนึ่งตรงที่เขาทุบและทำลาย ณ ตรงนั้น เพราะปกติแล้วการทุบทำลายต้องมีการสวดเคลื่อนย้ายก่อนแล้วค่อยทุบ แต่อันนี้เขาทุบเลยโดยที่เขาไม่เคลื่อนย้าย มันจะมีผลถึงพลังงานเทวะในการสถิตอยู่แต่ละที่ พลังงานเทวะเป็นเหมือนดวงจิต เหมือนพลังงานที่สามารถประทานพรได้ เหมือนที่เรานับถือเทวรูปองค์หนึ่งเวลาเราอัญเชิญพลังงานสถิต จะเหมือนกับการปลุกเสก ถ้าปลุกเสกแล้วจะมีพลังงานมาสถิต จะมีความศักดิ์สิทธิ์ขึ้นในเทวรูปนั้นๆ เมื่อเราจะรื้อถอนหรือโยกย้ายเราก็ต้องสวดอัญเชิญพลังงานกลับไปก่อน เพื่อที่จะเคลื่อนย้ายได้ให้เทวรูป นั้นกลับมาสู่รูปปั้นเปล่าๆ ที่ไม่มีพลังงานสถิต”
แต่ทั้งนี้ พราหมณ์ย้ำว่า คนที่ทำลายสิ่งศักดิ์สิทธิ์ในเทวสถานนั้น อย่างไรก็ต้องได้รับผลตอบแทน
“ไม่ว่าจะทำพิธีพลาดหรือไม่ก็มีผลอยู่แล้ว คุณคิดเพื่อที่จะทำลายคนอื่นแค่นี้มันก็มีผลถึงตัวคุณเองอยู่แล้ว โดยที่ไม่จำเป็นต้องพลาดหรือไม่พลาด ถ้าพลาดก็ยิ่งจะมีผลมากขึ้นเร็วขึ้น ถ้าไม่พลาดยังไงก็ต้องมีผลอยู่ดี”
ส่วนประเด็นที่ว่า คนทำอาจจะสติไม่ดีหรือลืมตัวขณะเมาสุราจนกระทั่งก่อเหตุหรือไม่นั้น เขาคิดว่าประเด็นนี้ไม่น่าจะเป็นไปได้ “เป็นไปได้ยากเพราะว่าในลักษณะการทำถ้าคนเมาต้องทุบทั้งหมด หรือทุบชิ้นใดชิ้นหนึ่ง แต่ว่าครั้งนี้มีการเคลื่อนพระศิวะก่อนเพื่อให้พลังงานสถิตอยู่ออกไป เพราะว่าถ้าเกิดว่าคนเมาเข้าไปทำลาย คงจะไม่มีพระศิวะเคลื่อนที่ คงจะไม่มีการทุบทำลายสิ่งอื่น คงจะต้องมีเห็นแค่จุดใดจุดหนึ่ง แต่อันนี้เขาทำเหมือนกับว่าต้องรู้ศาสตร์นี้มาพอสมควร การกระทำมันมองได้ประมาณนั้น”
สุดท้าย นักบวชลัทธิพราหมณ์ฝากเตือนสติแก่ประชาชนที่อาจกำลังตื่นตระหนกและเสียขวัญจากพฤติกรรมอันอุกอาจของกลุ่มคนที่ไม่หวังดีในครั้งนี้ว่า
“จริงๆ ในยุคของช่วงเวลานี้การที่จะทำให้คนมีสติหรือประคองตัวเองขึ้นมาได้ โดยการที่รู้จักตัวเอง เตรียมพร้อมกับเหตุการณ์ที่จะเกิดขึ้น แต่ผมขอให้ทำบุญอย่างเดียวและกตัญญูครับ เพราะปีนี้เป็นปีของคนกตัญญู ดวงดาวเคลื่อนปีนี้มีผลกับการกตัญญูมากๆ คือ ปีนี้มีเหตุการณ์วิปริตเกี่ยวกับการที่ดวงดาวเคลื่อนติดๆ กันช่วงเดือนที่แล้ว จะมีราหูเคลื่อน ดาวเสาร์เคลื่อน พฤหัสเคลื่อน ซึ่งเคลื่อนแบบวิปริต เพราะปกติแล้วดาวพฤหัสจะเคลื่อนในเวลาปีครึ่ง แต่อันนี้เพิ่งเคลื่อนมาหกเดือน แล้วเคลื่อนอีกแล้ว อันนี้เป็นหมายบอกเหตุที่ไม่สู้ดีนัก แต่ปีนี้เป็นปีของคนกตัญญูครับ ถ้าใครกตัญญูสุขสุด เพราะว่าเป็นปีของครูบาอาจารย์ ”
“อย่าตื่นตระหนกกับเรื่องพวกนี้ เพราะว่าถ้าเราทำดีแล้ว อยู่กับตัวเองและทำตัวเองให้ดีที่สุดแล้ว อะไรก็มาไม่ถึงตัว สิ่งที่เกิดขึ้นเป็นแค่ลางบอกเหตุ แต่ไม่ได้หมายความว่าเหตุจะเกิดขึ้นภายในเวลาเดี๋ยวนี้ เพราะฉะนั้น ถ้าหากว่าเราเตรียมตัวที่จะเจอมัน เตรียมตัวที่จะรับรู้ในสิ่งที่จะเห็นมัน มันไม่มีอะไรมากระทบถึงตัวบุคคลคนใดคนหนึ่งได้”
*********************
เรื่อง - ทีมปริทรรศน์
‘ปราสาทหินพนมรุ้ง’
เทวสถานในศาสนาฮินดูลัทธิไศวนิกาย มีการบูรณะก่อสร้างต่อเนื่องกันมาหลายสมัย ตั้งแต่ประมาณพุทธศตวรรษที่ 15 ถึงพุทธศตวรรษที่ 17 และในพุทธศตวรรษที่ 18 พระเจ้าชัยวรมันที่ 7 แห่งอาณาจักรขอมได้หันมานับถือพุทธศาสนาลัทธิมหายาน เทวสถานแห่งนี้จึงได้รับการดัดแปลงเป็นศาสนสถานในพุทธศาสนา ในช่วงแรกปราสาทหินพนมรุ้ง สร้างขึ้นจากหินทรายสีชมพู ตั้งอยู่บนยอดเขาพนมรุ้งสูง 1,320 ฟุตจากระดับน้ำทะเล ชื่อพนมรุ้งแปลว่าภูเขาใหญ่ สันนิษฐานว่าสร้างขึ้นในพุทธศตวรรษที่ 15-18
‘ทวารบาล’
มีความหมายว่า ผู้รักษาประตู ประติมากรรมประเภททวารบาลคือ รูปของสัตว์ อสูร เทพ เทวดา และมุนษย์ หรือสิ่งมีชีวิตใดๆ ก็ตามที่ตั้งอยู่บริเวณบานประตู ช่องผ่านเข้าออก ช่องหน้าต่าง หรือราวบันได
‘โคนนทิราช’
มีอีกชื่อหนึ่ง คือ อุศุภราช เป็นโคเผือกเพศผู้เป็นพาหนะประจำขององค์พระศิวะ และเป็นหัวหน้าเทพบริวารของพระศิวะ ซึ่งมีความสำคัญอีกมากมายจึงได้รับความนิยมในการบวงสรวง และยกย่องให้เป็นโคศักดิ์สิทธิ์ที่เปรียบเสมือนสัญลักษณ์แห่งพระศิวะมหาเทพ สำหรับในประเทศไทยมีโคนนทิตั้งอยู่ที่ปราสาทหินพนมรุ้งเท่านั้น
‘ศิวลึงค์’
ศิวลึงค์ เป็นเครื่องหมายของพระศิวะ มีตำนานที่หลากหลาย เช่น ในหนังสือศาสนาสากลของหลวงวิจิตรวาทการกล่าวว่า ศิวลึงค์ถือกำเนิดขึ้นมาจากการเอาใจพระแม่กาลี โดยอวัยวะเพศชายที่เป็นสิ่งแทนองค์พระศิวะนี้เป็นสัญลักษณ์ของบ่อเกิดความสมบูรณ์ของชีวิต พืช และสัตว์ต่างๆ
‘สะพานนาคราช’
ตามความเชื่อ สะพานนาคราชเป็นเสมือนทางเชื่อมระหว่างโลกของมนุษย์กับเทพเจ้า โดยราวสะพานทำเป็นลำตัวพญานาค 5 เศียร จุดกึ่งกลางสะพานมีภาพจำหลักรูปดอกบัวแปดกลีบ อาจหมายถึงเทพประจำทิศทั้งแปดในศาสนาฮินดู สะพานนาคราชมีบันไดจำนวน 52 ขั้นขึ้นไปสู่ยอดเขา
ที่มา - http://th.wikipedia.org