“Every day is a fashion show…ทุกวันคือแฟชั่นโชว์ โลกนี้คือรันเวย์ของฉัน…"
คติประจำใจข้างต้น อาจฟังดูแปลกไปจากรอยทางของถ้อยคำที่เรามักคุ้น เป็นต้นว่า‘ความพยายามอยู่ที่ไหน ความสำเร็จอยู่ที่นั่น’,‘ก้าวต่อไปอย่ายอมแพ้’,‘ทำวันนี้ให้ดีที่สุด’ แน่นอน คติเหล่านั้น อาจเหมาะสำหรับใครๆ ที่ใช้มันยึดเหนี่ยวแรงใจให้มุ่งมั่นฮึกเหิม เติมความกล้า ในวันที่ท้อแท้
แต่ไม่ใช่กับ “พราว ก้องธรนินทร์” สาวน้อยวัย 18 ปี ที่ประกาศก้องอย่างภาคภูมิใจพร้อมเสียงหัวเราะใสๆ และรอยยิ้มที่ไม่อาจละสายตา ว่า…ทุก ๆ วันของเธอ คือแฟชั่นโชว์ และถนนบนโลกใบนี้คือเวทีให้เธอเยื้องกรายในสไตล์ของตัวเอง
“พราวชอบแต่งตัวค่ะ พราวรักแฟชั่น อนาคตอยากมีแบรนด์เสื้อผ้าเป็นของตัวเอง ถ้าเรียนจบปริญญาตรีแล้ว คิดไว้ว่าอยากไปเรียนต่อปริญญาโทที่นิวยอร์ก เรียนเกี่ยวกับแฟชั่นโดยเฉพาะ ”
หลงรักแฟชั่นขนาดนี้ ‘ลุกส์’ ของพราว ในสายตาใครๆ จึงไม่พ้นสาวน้อยที่ดูดี ตั้งแต่หัวจรดเท้า มิกซ์แอนด์แมตช์ได้สวย เก๋ เท่ ในแบบเฉพาะตัว
ตำแหน่ง Zen Stylish Women Awasds 2007 รวมทั้งรางวัลหญิงสาวแต่งกายมีสไตล์ขวัญใจมหาชนจากนิตยสารสุดสัปดาห์ ที่ได้รับโดยไม่รู้เนื้อรู้ตัว ยืนยันได้ดีถึงหัวใจแฟชั่นนิสต้าของเธอ
แต่พราวไม่ใช่คนยึดติดกับแบรนด์ เธอเพียงเลือกสิ่งที่คิดว่าเหมาะ และเข้ากับตัวเอง
“ถ้าเห็นว่าสวยพราวก็ซื้อ ไม่สนใจหรอกว่าเป็นแบรนด์ดังหรือเปล่า เสื้อผ้า รองเท้าไม่มีแบรนด์ พราวก็ใส่ อยู่ที่ว่าเราชอบและเข้ากับเราหรือเปล่า”
สยามสแควร์ จตุจักร พราวเดินจนปรุ ไม่น้อยไปกว่าห้างสรรพสินค้าใจกลางเมือง
ว่าแต่ฝีมือของดีไซเนอร์ไทย ในสายตาแฟชั่นนิสต้าวัยละอ่อนล่ะ เป็นอย่างไร ?
“พราวใส่เสื้อผ้าแบรนด์ไทยด้วยนะ ในสายตาพราว ศักยภาพของยังก์ดีไซเนอร์ไทยไม่แพ้ใครในโลกเลย เพียงแต่ถ้าเทียบกับดีไซเนอร์เมืองนอก เราอาจยังขาดโอกาสแล้วก็เวทีที่น่าจะมีให้แสดงออกมากกว่านี้”
คงแทบไม่ต้องถามไถ่มากไปกว่านี้กระมัง สำหรับบทสนทนาว่าด้วยเรื่องสวยๆ งามๆ เพราะเห็นกันได้ชัดๆ อยู่แล้ว ว่าสาวน้อยตรงหน้าเธอครบถ้วนด้วยเสน่ห์ชวนมองแค่ไหน
สำคัญกว่านั้น เพราะเราทราบว่า พราว ไม่ได้มีดีแค่สวยเพื่อรอรับตำแหน่งประดามีจากสถาบันแฟชั่นหรือนิตยสารอินเทรนด์ เพราะเธอยังมีกิจกรรมพิสูจน์กึ๋นและความสามารถให้เป็นที่ประจักษ์แก่สาธารณชน ผ่านการเป็นผู้ประกาศข่าวภาคสนาม รายการข่าวภาคภาษาอังกฤษ Newsline ช่อง 11, ผู้ประกาศข่าวภาคภาษาอังกฤษ สถานีวิทยุกระจายเสียงแห่งประเทศไทย รายการ Radio Thailand News, พิธีกรรายการท่องเที่ยวทาง ช่อง UBC 9 พิธีกรรายการ Highlight Thailand
เกือบทุกงาน ทุกรายการ เธอรับหน้าที่แปล เขียนสคริปต์ และถ่ายทำด้วยตัวเอง
การก้าวสู่สถานะนิสิตคณะนิเทศศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย หลักสูตรนานาชาติ จึงแสดงให้เห็นว่า พราวยังสนุกและเอาจริงกับงานข่าว, พิธีกรดำเนินรายการ ไม่น้อยไปกว่าแฟชั่นที่เธอรัก
“การทำหน้าที่รายงานข่าว หรือเป็นพิธีกร ทำให้พราวรู้สึกว่าตัวเองมีความรับผิดชอบมากขึ้น กล้าแสดงออก แล้วก็มีความคิดที่เป็นผู้ใหญ่ขึ้นด้วย”
แต่บทบาทใหม่ล่าสุดของเธอ ในการเป็นประธานโครงการ “Best Buddies Thailand” คือแรงจูงใจที่รั้งเราไว้ให้พูดคุย ซักถามถึงทัศนคติของเธอที่กว้างไกลกว่าความงาม บทสคริปต์ หรือรอยยิ้มหน้ากล้อง
Best Buddies Thailand เป็นโครงการที่ก่อตั้งขึ้นเพื่อเปิดโอกาสให้เด็กๆ ด้อยโอกาสในสังคมทำกิจกรรมดีๆ ร่วมกับเด็กๆ คนอื่นๆ ในสังคมที่เข้ามาเป็นอาสาสมัครของโครงการ เพื่อคอยดูแล พูดคุย รับฟังปัญหาของพวกเขา
ในเมืองไทยอาจยังไม่เป็นที่รู้จักแพร่หลาย แต่ในความเป็นจริง โครงการเบส บัดดี้ ได้รับการก่อตั้งขึ้นในหลายร้อยประเทศทั่วโลก โดยมีต้นกำเนิดแรกสุดคือสหรัฐอเมริกา ปัจจุบันเบสท์ บัดดี้ ทั่วโลกมีสมาชิก และอาสาสมัครร่วมแสนคน
สำหรับโครงการในประเทศไทย พราวรับหน้าที่เป็นประธานโครงการอย่างเต็มตัวตั้งแต่เมื่อต้นปีที่ผ่านมา จัดกิจกรรมที่น่ารักและอบอุ่นขึ้น 2 ครั้ง คือพาเด็กด้อยโอกาสจากมูลนิธิราชานุกูล บ้านครูประทีป และบ้านชัยพฤกษ์ หลายสิบชีวิต ไปดูหนัง และสนุกสุดเหวี่ยงที่สวนสนุก
ในแต่ละครั้ง พราวและเพื่อนๆ อาสาสมัคร จะคอยทำหน้าที่ประกบ หรือดูแลน้องๆ ในลักษณะหนึ่งต่อหนึ่ง ตั้งแต่เริ่มกระทั่งจบกิจกรรม คอยให้ความช่วยเหลือ พูดคุยอยู่ไม่ห่าง
“กิจกรรมของเบส บัดดี้ ก็คล้ายๆ กับการเป็นบัดดี้ในโรงเรียนน่ะค่ะ ที่เวลามีนักเรียนเข้าใหม่ คุณครูก็จะให้เพื่อนคนหนึ่งเป็นบัดดี้กับเด็กใหม่ คอยดูแล อยู่ด้วยกันไม่ห่าง”
แต่นี่คือโลกของความเป็นจริง สังคมที่อยู่นอกรั้วโรงเรียน ผู้ที่คุณต้องดูแลคือผู้ที่ต้องการการเอาใจใส่ ให้ความรักความเข้าใจอย่างแท้จริง เพราะไม่ว่าเด็กๆ ที่มีความบกพร่องทางสมอง, เด็กๆ ที่ถูกทอดทิ้งจากครอบครัว หรือคนพิการ ไม่ว่าอย่างไรพวกเขาก็ควรได้รับสิทธิทุกอย่างเท่าเทียมกับคนทุกคนในสังคม
“พราวมองว่าสังคมไทยยังไม่ให้โอกาสน้องๆ หรือคนกลุ่มนี้มากพอ ไม่ว่าด้านการเรียน การงาน ความเห็นอกเห็นใจ ความเข้าใจ ทุกๆ อย่างเลย ถ้าเพียงแต่เราให้โอกาสเขา พราวเชื่อว่าเขาจะทำหน้าที่ได้ไม่แพ้คนอื่นๆ เพราะที่พราวได้เห็นมา ผู้พิการบางคนหรือน้องๆ ที่สังคมมองว่าเขาเป็นเด็กมีปัญหา จริงๆ แล้วเขามีความสามารถไม่แพ้ใครเลย”
“เบสท์ บัดดี้ เกิดขึ้นก็เพื่อเหตุผลนี้ คือนอกจากให้สังคมยอมรับพวกเขาแล้ว ก็อยากให้เขารู้ว่า ตนเองก็เป็นที่ยอมรับของสังคมเช่นกัน”
พราวบอกว่า ทุกครั้งที่จัดกิจกรรมเพื่อน้องๆ ด้อยโอกาส แล้วได้เห็นว่าพวกเขามีความสุข เธอก็สนุกและมีความสุขไปด้วย
เป้าหมายขั้นต่อไปของโครงการที่ถูกวางไว้ คือการจัดกิจกรรมให้ได้อย่างต่อเนื่องทุกเดือน เผยแพร่ข่าวสารและประชาสัมพันธ์โครงการให้มากขึ้น ด้วยหวังอยากเชิญชวนนักเรียน นิสิต นักศึกษาในโรงเรียน มหาวิทยาลัย สถาบันการศึกษาต่างๆ รวมถึงประชาชนทั่วไปที่มีความสนใจ มาร่วมเป็นอาสาสมัครกับพราวและเพื่อนๆ ในการดูแล ช่วยเหลือ ให้คำปรึกษาน้องๆ ผู้ด้อยโอกาส
“เอาใจเขามาใส่ใจเรา พราวคิดว่าพราวเข้าใจคำนี้มากขึ้นนะ แล้วก็อยากให้ทุกคนรู้สึกอย่างนี้ด้วย น้องๆ เหล่านี้เขาก็ไม่ต่างจากเราทุกคน ที่ต้องการความรัก ความอบอุ่น”
นี่ล่ะ ความคิดของเธอ พราว ก้องธรนินทร์ เด็กสาวคนเดียวกันกับที่บอกเราว่าทุกๆ วันคือแฟชั่นโชว์ แต่นั่นไม่ได้หมายความว่า…เธอแค่ทำตัวสวยไปวันๆ