xs
xsm
sm
md
lg

อนาคตไฟใต้ : สื่อ ทหาร เด็ก และทักษะทางวัฒนธรรม (1)

เผยแพร่:   โดย: MGR Online


หากจะกล่าวถึงปัญหาความไม่สงบในชายแดนใต้คงไม่มีใครเมินเฉยแต่แน่นอนว่าทุกคนรู้สึก และหันมามองด้วยความห่วงใย เมื่อกล่าวเช่นนี้แล้ว คงเป็นที่ประจักษ์ได้ว่า ทุกคนต้องการเป็นส่วนหนึ่งที่จะช่วยแก้ปัญหาความไม่สงบนี้ให้จบลงแบบสันติวิธี

จากการเข้าร่วมฟังในการสัมมนาโครงการวิจัย 'อนาคตไฟใต้: สื่อ ทหาร เด็ก และทักษะวัฒนธรรม’ ซึ่งจัดโดยศูนย์มานุษยวิทยาสิรินธร (องค์กรมหาชน) และศูนย์ข่าวสันติภาพ มูลนิธิเพื่อการศึกษาประชาธิปไตยและการพัฒนา เมื่อวันที่ 30 เมษายนที่ผ่านมา ‘ปริทรรศน์’ จึงนำรายงานการสัมมนาที่นับว่ามีประโยชน์ต่อการศึกษาและเข้าใจปัญหาความไม่สงบในสามจังหวัดภาคใต้เพื่อเสนอให้ทราบทั่วกัน

ไฟใต้ในสายตาสื่อเทศ: ทัศนะต่อรายงาน กอส.

การก่อตัวของสถานการณ์ความรุนแรงในสามจังหวัดชายแดนภาคใต้ เริ่มต้นจากเหตุการณ์ปล้นปืนที่กองพันพัฒนาที่ 4 อำเภอเจาะไอร้อง จังหวัดนราธิวาส เมื่อวันที่ 4 มกราคม 2547 นำไปสู่การดำเนินนโยบายของรัฐซึ่งได้รับการวิพากษ์วิจารณ์จากกลุ่มต่างๆ ทั้งในประเทศและนอกประเทศว่าเป็นนโยบายที่ยึดเอามาตรการด้านความมั่นคงที่เน้นการแก้ปัญหาด้วยวิธีทางการทหารเป็นหลัก โดยขาดความเข้าใจต่อสาเหตุที่มาของปรากฏการณ์ความรุนแรง รวมทั้งสภาพทางสังคม เศรษฐกิจ และวัฒนธรรมของชาวมุสลิมซึ่งเป็นคนส่วนใหญ่ในพื้นที่ ทั้งหมดนี้ส่งผลให้ปัญหาความรุนแรงดำรงอยู่ต่อเนื่องมาจนปัจจุบัน

ปรางค์ทิพย์ ดาวเรือง นักวิจัยอิสระเป็นผู้วิจัยในเรื่อง ‘ทัศนะต่างประเทศต่อแนวทางการแก้ไขปัญหาความรุนแรงในสามจังหวัดภาคใต้ของคณะกรรมการอิสระเพื่อความสมานฉันท์แห่งชาติ (กอส.)’ กล่าวให้ทราบว่า ที่มาที่ไปของการทำวิจัยในครั้งนี้ได้หยิบยก กอส. มาในฐานะของแนวคิด ไม่ใช่องค์กร เพราะเชื่อว่าแนวคิดของ กอส. ที่จะยุติความรุนแรงด้วยวิธีสมานฉันท์เป็นเรื่องที่น่าสนใจ

นอกจากนี้ ยังมีผู้เข้าร่วมเสนอความเห็นเกี่ยวกับงานวิจัยชิ้นนี้ประกอบด้วย สมเกียรติ จันทรสีมา ตัวแทนจากศูนย์เฝ้าระวังสถานการณ์ภาคใต้ และ ดร.พวงทอง ภวัครพันธุ์ อาจารย์จากคณะรัฐศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย โดยมี ประทับจิต นีละไพจิตร จากคณะรัฐศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย เป็นผู้ดำเนินรายการ

“เมื่อมีการตั้งคณะกรรมการอิสระเพื่อความสมานฉันท์แห่งชาติขึ้นมาแล้ว สื่อทั้งในและต่างประเทศ รวมถึงสื่อในภูมิภาคให้การสนับสนุน เพราะดูสายตาจากสื่อข้างนอกเขาจะมองมาที่การทำงานของรัฐบาลไทย” ปรางค์ทิพย์กล่าว

หนึ่งปีหลังจากเหตุการณ์การปล้นปืนเป็นต้นมา สื่อมวลชนต่างประเทศไม่น้อยทั้งในระดับชาติ และนานาชาติได้รายงานสภาวะความรุนแรงที่เพิ่มขึ้นในพื้นที่ควบคู่ไปกับมาตรการอันแข็งกร้าวในการโต้ตอบปัญหาของรัฐบาลไทย ซึ่งมีส่วนตอกย้ำให้สามจังหวัดภาคใต้มีภาพลักษณ์ของพื้นที่อันตรายคล้ายกับพื้นที่สงครามในประเทศอื่นๆ ดังจะเห็นได้จากการที่รัฐบาลสหรัฐอเมริกา และรัฐบาลประเทศตะวันตกบางประเทศได้ออกประกาศเป็นระยะๆ เตือนประชาชนของตนเองเรื่องความปลอดภัยในการเดินทางมายังสามจังหวัดภาคใต้ และจังหวัดสงขลาของประเทศไทย (จากสูจิบัตรการสัมมนาโครงการวิจัยอนาคตไฟใต้ โดย ปรางค์ทิพ์ ดาวเรือง)

“ปัญหาความรุนแรงในสามจังหวัดชายแดนภายใต้เป็นที่สนใจของสื่อต่างประเทศไม่น้อย เพราะมีการนำประเด็นขึ้นสู่เวทีภูมิภาคและนานาชาติ อีกทั้งยังนำประเด็นปัญหาขึ้นเทียบกับมาตรฐานสากล เช่น สิทธิมนุษยชน ความรุนแรง หรือการก่อการร้าย เป็นต้น นอกจากนี้แล้ว ภาพความรุนแรงดังกล่าวยังมีส่วนในการกำหนดท่าทีของนานาชาติต่อปัญหาภายในประเทศ ดังกรณีตัวอย่างของติมอร์ตะวันออก อาเจะห์ และมินดาเนา” ปรางค์ทิพย์กล่าว

รายงานการวิจัยชิ้นนี้มุ่งสำรวจทัศนะของต่างประเทศต่อข้อเสนอแนะของ กอส. ที่ได้เสนอต่อรัฐบาลในขณะนั้น โดยรวบรวมสำรวจข้อมูลจากการรายงานของสื่อสิ่งพิมพ์ภาษาอังกฤษและภาษามลายูในประเทศไทย, อินโดนีเซีย และมาเลเซีย ประเทศละ 2 ฉบับ คือ Bangkok Post, The Nation, Tempo Magazine, The Jakarta Post, New Straits Times และ Berita Hariyan โดยเน้นสื่อสิ่งพิมพ์ภาษาอังกฤษเป็นหลัก เนื่องจากเป็นภาษาที่สามารถเข้าถึงกลุ่มผู้อ่านในภูมิภาคในวงกว้างได้มากกว่าภาษาท้องถิ่น

“ระยะเวลาในการศึกษาจะแบ่งออกเป็น 2 ช่วง คือ การก่อตั้งจนกระทั่งหมดวาระของ กอส. คือช่วงมีนาคม 2548 ถึงมิถุนายน 2549 และช่วงระยะเวลา 6 เดือนหลังการเสนอรายงานคณะกรรมการอิสระเพื่อความสมานฉันท์แห่งชาติต่อรัฐบาล คือมิถุนายน 2549 ถึงธันวาคม 2549” ปรางค์ทิพย์กล่าว

ผลการศึกษาพบว่าแม้คณะกรรมการอิสระเพื่อความสมานฉันท์แห่งชาติจะยุติการทำงานไปแล้ว แต่ข้อเสนอแนะของ กอส. ยังมีอิทธิพลทางความคิดในการแก้ไขปัญหาความรุนแรงในสามจังหวัดภาคใต้ทั้งในระดับประเทศและต่างประเทศ โดยเฉพาะอย่างยิ่งต่อสื่อและผู้เชี่ยวชาญต่างชาติที่ติดตามปัญหาความรุนแรงในสามจังหวัดภาคใต้ของไทยอย่างต่อเนื่อง

“จะสังเกตเห็นได้ว่า เมื่อเป็นข่าวความรุนแรง ผู้สื่อข่าวต่างประเทศจะเข้ามาทำข่าวเอง แต่หากเป็นข่าวที่เกี่ยวข้องกับ กอส. จะนำเอาข่าวมาจากสำนักข่าวต่างประเทศ ดิฉันคิดว่าน่าจะเป็นเพราะข่าว กอส. จะทำได้ยากกว่า เนื่องจากผู้สื่อข่าวจะไม่มีความรู้พื้นฐานเกี่ยวกับเรื่องทางการเมืองของประเทศไทย จึงเข้าถึงแหล่งข่าวได้ค่อนข้างยากกว่า

“การเสนอวิธีการแก้ปัญหาสามจังหวัดชายแดนภาคใต้แบบสันติวิธีมีความหมายต่อเวทีระดับภูมิภาคเพราะ เขาตระหนักได้ว่ามีอยู่จริง” ปรางค์ทิพย์กล่าว

ด้าน สมเกียรติ จันทรสีมา ได้แสดงทัศนะเกี่ยวกับรายงานการวิจัยฉบับนี้ว่า เหตุการณ์ความไม่สงบที่เกิดขึ้นในสามจังหวัดภาคใต้จะแตกต่างจากเหตุการณ์ความรุนแรงที่เกิดขึ้นในประเทศอื่นๆ เพราะเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นในประเทศอื่นจะมีกลุ่มคนออกมาแสดงความรับผิดชอบ ต่างจากเหตุการณ์ในไทยที่ไม่มีบุคคลใดหรือกลุ่มใดออกมาแสดงความรับผิดชอบ

“ผมค่อนข้างจะเห็นด้วยกับข้อสรุปของคุณปรางค์ทิพย์ที่ว่า รายงานของคณะกรรมการอิสระเพื่อความสมานฉันท์แห่งชาติแม้จะไม่ได้รับความสนใจจากรัฐบาล แต่กลับเป็นที่สนใจของสื่อในแง่ของการแก้ไขปัญหาด้วยสันติวิธี” สมเกียรติกล่าว

สำหรับผู้นำเสนอความเห็นอีกคนคือ ดร.พวงทอง ภวัครพันธุ์ ซึ่งได้แสดงมุมมองเกี่ยวกับรายงานการวิจัยในครั้งนี้ว่า น่าจะมีการเพิ่มเติมส่วนของข่าวที่ใส่ในงานวิจัยโดยแปลข่าวภาษามลายูด้วยเพื่อให้เข้าถึงเนื้อหามากกว่านี้

“การนำเสนอเนื้อหาข่าวของสื่อต่างประเทศจะเน้นหนักเข้าสู่ปัญหาของกรอบสิทธิมนุษยชน ต่างจากสื่อไทยที่วางอยู่บนพื้นฐานความมั่นคงหรือเอกราชเป็นหลัก อาจจะด้วยความตั้งใจหรือไม่ตั้งใจก็ตามแต่” ดร.พวงทองกล่าว

จากภาพรวมของงานวิจัยจะทำให้เห็นว่า ปัญหาความรุนแรงในสามจังหวัดภาคใต้เป็นที่จับตามองของสากล โดยเฉพาะอย่างยิ่งคือข้อเสนอของ กอส. ที่เสนอให้ยุติความรุนแรงด้วยสันติวิธี อีกทั้งยังเน้นมุมมองทางด้านสิทธิมนุษยชนเป็นสำคัญ

นอกจากนี้แล้ว ฐานะของปัญหาสามจังหวัดภาคใต้ยังไม่นับว่าเป็นการคุกคามเสถียรภาพและความมั่นคงเมื่อเทียบกับความรุนแรงในกรณีอื่น นั่นคือปัญหาที่เกิดขึ้นเป็นปัญหาที่ทุกคนจับตามอง เพราะคงไม่มีใครต้องการให้เกิดปัญหาความรุนแรง ความไม่สงบอย่างไม่มีที่สิ้นสุด ทุกฝ่ายต้องการให้ทุกปัญหาจบลงแบบสันติวิธี โดยอาศัยความเคารพศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์ และตั้งบนพื้นฐานความรู้ความเข้าใจร่วมกัน

นักรบกลับบ้าน: ประสบการณ์จากสมรภูมิ

ช่วงที่ 2 ของภาคเช้า มีการนำเสนองานวิจัยถึงแนวทางการแก้ปัญหาการก่อความไม่สงบในสามจังหวัดชายแดนภาคใต้ในทัศนะของทหารผู้ปฏิบัติงานในพื้นที่ โดยมีชื่อตอนที่ใช้ในการบรรยายนี้ว่า ‘นักรบกลับบ้าน: ประสบการณ์จากสมรภูมิ’ โดยผู้ทำวิจัยในส่วนนี้ คือ พันเอกหญิงพิมลพรรณ อุโฆษกิจ ซึ่งเป็นอาจารย์ส่วนการศึกษา โรงเรียนนายร้อยพระจุลจอมเกล้า นอกจากนี้ ยังมีผู้เสนอความเห็น ในงานวิจัยนี้อีก 2 ท่าน คือ พลตำรวจโทสมศักดิ์ แขวงโสภา อดีตผู้บัญชาการตำรวจตระเวนชายแดน และ รศ.ดร.ชลิดาภรณ์ ส่งสัมพันธ์ อาจารย์ประจำคณะรัฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์

นับตั้งแต่ปี 2547 จนถึง 2550 เป็นเวลา 4 ปี นักวิชาการและรัฐบาลได้พยายามหาแนวทางแก้ปัญหาความรุนแรงในจังหวัดชายแดนภาคใต้เพื่อเสริมสร้างให้ดินแดนนี้มีความมั่นคงและสันติสุขอย่างยั่งยืน องค์ความรู้เกี่ยวกับปัญหาการก่อความไม่สงบในสามจังหวัดชายแดนภาคใต้ที่ถูกผลิตในประเด็นต่างๆ เช่น เงื่อนไขทางประวัติศาสตร์สังคม เศรษฐกิจ การปกครอง วิถีชีวิต และวัฒนธรรมของประชาชนได้ถูกนำมากำหนดเป็นนโยบายสมานฉันท์ของรัฐบาลในการแก้ปัญหาในสามจังหวัดชายแดนภาคใต้ โดยให้ฝ่ายทหารเป็นผู้ปฏิบัติตามนโยบายหลัก

การศึกษาเรื่องของแนวทางการแก้ปัญหาการก่อความไม่สงบในสามจังหวัดชายแดนภาคใต้ ในทัศนะของทหารผู้ปฏิบัติในพื้นที่เป็นความรู้อีกชุดหนึ่งที่น่าจะมีส่วนเสริมให้เห็นทัศนะของผู้ปฏิบัติต่อปัญหาต่างๆ ที่ดำรงอยู่ในการปฏิบัติงาน เช่น ช่องว่างระหว่างนโยบายและการปฏิบัติ และข้อเสนอแนะต่อแนวทางการก่อความไม่สงบในสามจังหวัดชายแดนภาคใต้

งานวิจัยนี้เป็นการศึกษาเฉพาะความคิดเห็นเห็นต่อปัญหาการก่อความไม่สงบและแนวทางแก้ปัญหาของหน่วยทหารของกองทัพบกที่ปฏิบัติหน้าที่ในสามจังหวัดชายแดนภาคใต้ ในห้วงระยะเวลาตั้งแต่เดือนตุลาคม 2548 ถึงเดือนสิงหาคม 2550 โดยเก็บข้อมูลจากกลุ่มตัวแทนทั้งในระดับสัญญาบัตรและประทวนที่ปฏิบัติงานในพื้นที่จำนวนทั้งสิ้น 32 นาย แบ่งเป็นกลุ่มตัวแทนทั้งในระดับต่างๆ คือ ยศพลตรี และ พันเอก (พิเศษ) จำนวน 2 นาย ยศพันเอก–พันโท จำนวน 5 นาย ยศร้อยเอก–ร้อยตรี จำนวน 11 นาย และชั้นประทวน จำนวน 14 นาย

ในการศึกษาครั้งนี้พบว่า แม้ปัญหาและอุปสรรคในการปฏิบัติงานจะเป็นผลมาจากการที่ทหารต้องทำหน้าที่ทั้งในทางการเมืองและการทหารพร้อมกัน และอุปสรรคในเชิงปฏิบัติต่างๆ รวมทั้งการประสานงานระหว่างหน่วยงานราชการเอง แต่ทหารผู้ปฏิบัติหน้าที่เห็นว่าแนวทางสมานฉันท์ที่รัฐบาลได้ดำเนินการอยู่ผสมผสานกับยุทธศาสตร์พระราชทาน ‘เข้าใจ เข้าถึง และพัฒนา’ เป็นหนทางแห่งความสำเร็จ

งานวิจัย นักรบกลับบ้าน: ประสบการณ์จากสมรภูมิ มีวัตถุประสงค์ 3 ข้อ คือ 1. ศึกษาความคิดเห็นต่อปัญหาการก่อความไม่สงบและแนวทางแก้ไข 2. ศึกษานโยบายและการปฏิบัติงานของหน่วยทหารในสามจังหวัดชายแดนภาคใต้ และ 3. ศึกษาปัญหาและอุปสรรคในการปฏิบัติงาน

องค์ความรู้เกี่ยวกับปัญหาการก่อความไม่สงบในสามจังหวัด ชายแดนภาคใต้ที่ถูกผลิตในประเด็นต่างๆ เช่น เงื่อนไขทางด้านการศึกษา ปัญหาด้านเศรษฐกิจ เงื่อนไขทางการเมืองท้องถิ่นและกลุ่มผลประโยชน์ อย่างปัญหาด้านเศรษฐกิจที่ก่อตัวขึ้น ซึ่งมาพร้อมกับการว่างงาน ถือว่าเป็นปัจจัยสำคัญที่ทำให้วัยรุ่นถูกเกลี้ยกล่อมให้ประพฤติปฏิบัติตนไปในทางที่ผิดๆ และไม่ถูกไม่ควรอย่างการก่อความวุ่นวาย ซึ่งเป็นการสะท้อนให้เห็นว่าวัยรุ่นที่ว่างงานเหล่านี้จะถูกชักชวนและหลงเชื่อได้ง่าย

พันเอกหญิงพิมลพรรณ อุโฆษกิจ ยังกล่าวถึงการยกทัพดับไฟใต้อย่างไรไม่ให้แตกแยก ซึ่งวิธีที่ดีที่สุด คือสมานฉันท์กับคนดีช่วยกันปราบปราม จับกุมกลุ่มผู้ก่อความไม่สงบ

โดยแนวทางสมานฉันท์และสันติวิธีคือ 1. การเปิดโอกาสให้ผู้หลงผิดรายงานตัวต่อเจ้าหน้าที่รัฐเพื่อแสดงความบริสุทธิ์ใจ ซึ่งเป็นวิธีการหนึ่งในการแยกปลาออกจากน้ำ 2. การเปิดโลกทัศน์ให้เด็กและเยาวชนได้แลกเปลี่ยนเรียนรู้สังคมใหม่ๆ ที่มีความแตกต่างจากสังคมท้องถิ่นของตนเอง 3. การพัฒนาสัมพันธ์และการให้ความช่วยเหลือประชาชนในด้านต่างๆ

4.การจัดตั้งหน่วยทหารประจำอยู่ในสามจังหวัดชายแดนภาคใต้ ได้แก่ กองพลพัฒนาและพิทักษ์ทรัพยากร ซึ่งปัจจุบันเปลี่ยนชื่อเป็นกองพลทหารราบที่ 15 เป็นหน่วยขึ้นตรงของกองทัพบก นอกจากนี้ ยังมีกองกำลังเฉพาะกิจ 2 กองกำลังคือ กองกำลังศรีสุนทรและกองกำลังสันติสุข 5. การคัดเลือกกลุ่มเยาวชนในพื้นที่สามจังหวัดชายแดนภาคใต้เข้าเป็นกำลังพลในกองทัพ 6. การเจรจากับกลุ่มก่อความไม่สงบ ซึ่งข้อนั้นถือว่าเป็นเงื่อนไขที่ยังทำไม่ได้ เพราะทางทหารเองไม่สามารถแน่ใจได้เลยว่ากลุ่มก่อความไม่สงบที่จะเป็นคนออกมาเจรจาจะเป็นตัวจริง และ 7.นโยบายด้านต่างประเทศ

ทหารที่ไปปฏิบัติหน้าที่อันใหญ่หลวงให้แก่ประเทศชาติ อย่างการลงใต้ ต้องทำทุกบทบาท รับผิดชอบทุกพื้นที่ ทหารถูกคาดหวังว่าต้องเป็นนักรบ แต่จริงๆ ก็มีให้เป็นพระเอกในหลายบทบาทด้วยเหมือนกัน ซึ่งนั่นก็คือ 1. บทบาทนักปฏิบัติการจิตวิทยา โดยทหารทุกคนต้องทำให้ประชาชนไว้วางใจ เข้าหา เข้าเยี่ยมประชาชนทุกๆ วัน เพื่อให้ประชาชนอุ่นใจว่าทหารไม่ได้ทำร้ายประชาชน ทั้งยังต้องคอยต่อต้านข่าวกรองที่มักจะมีกลุ่มไม่หวังดีชอบสร้างข่าวที่ทำให้ประชาชนเกลียดทหาร 2. บทบาทนักพัฒนา 3. บทบาทนักประสานงาน และ 4. บทบาทนักการทหาร (นักรบ) เป็นต้น

ในงานวิจัยชิ้นนี้ยังได้ชี้ถึงวัฏจักรของปัญหาการปฏิบัติงานและทางออก โดยปัญหาในระดับนโยบาย คือ 1. ปัญหาการจัดหน่วยและเอกภาพในการบังคับบัญชา และ 2. ปัญหาด้านกฎหมาย

ในส่วนของปัญหาในระดับผู้ปฏิบัติ คือ 1. บทบาทที่ขัดแย้ง เป็นบทบาทที่ตอนเช้าทหารไปสวัสดีทักทายชาวบ้าน แต่พอตอนบ่ายอาจจะต้องขอเข้าไปตรวจค้นอาวุธ ซึ่งถือว่าเป็นอะไรที่ขัดแย้งในตอนเช้าที่ยังมาดีอยู่ แต่พอตอนบ่ายก็ทำตรงข้าม ชาวบ้านจึงไม่ค่อยแน่ใจการมาของทหารว่ามาดีหรือไม่ ดังนั้น จึงต้องมีการแบ่งแยกหน้าที่ 2. ปัญหาภาระงาน ที่หนักและลำบากจึงทำให้ทหารที่ปฏิบัติภารกิจไม่ได้นอนเลย 24 ชั่วโมง

3.ปัญหาด้านกำลังพลที่ต้องมีทหารหมวด ซึ่งรับผิดชอบพื้นที่เล็กทำความใกล้ชิด สนิทสนมกับชาวบ้าน ให้ชาวบ้านไว้วางใจ มิฉะนั้นจะอันตราย ทหารกองร้อยหรือทหารใหญ่ก็จะลงดูแลพื้นที่ใหญ่ 4.ปัญหาด้านการตั้งฐาน 5.ปัญหาด้านอาวุธยุทโธปกรณ์ที่มีปัญหาอย่างปืนบางกระบอกยิงไม่ออก รถที่ใช้เก่า 6.ขวัญกำลังใจซึ่งถือว่าเป็นสิ่งสำคัญมากสำหรับทหาร อย่างเรื่องของเบี้ยเลี้ยงที่มอบให้แก่ทหารที่ปฏิบัติภารกิจ

จากงานวิจัยชิ้นนี้ของ พันเอกหญิงพิมลพรรณ เป็นการแสดงให้เห็นถึงการปฏิบัติหน้าที่ของทหารในหลายบทบาทจากการคาดหวังของคนในประเทศ และภายใต้เงื่อนไขของปัญหาต่างๆ ที่ก่อให้เกิดความไม่สงบ ซึ่งถือว่าเป็นภารกิจอันยากลำบากของเหล่าทหารที่เสียสละ ที่ผู้ทำวิจัยเองได้ไปสัมภาษณ์พูดคุยและเก็บประสบการณ์ ทัศนะของทหารที่กลับออกมาจากพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้ หรือทหารที่เคยปฏิบัติหน้าที่ในพื้นที่ซึ่งถูกความรุนแรงคุกคาม โดยเฉพาะอย่างยิ่ง เมื่อทหารซึ่งมาจากทุกสารทิศทั่วประเทศเดินทางกลับภูมิลำเนาของตน เป็นการแสดงให้เห็นถึงประสบการณ์จากสมรภูมิของเหล่านักรบที่มีความเสียสละและน่ายกย่อง

*****************

(ติดตามตอน 2 พรุ่งนี้)

เรื่อง-วลี เถลิงบวรตระกูล, หทัยรัตน์ เอมอ่อง







กำลังโหลดความคิดเห็น