xs
xsm
sm
md
lg

Life without Identity

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

แรงงานหญิงชาวพม่า
 
 We can stay without home.
 We can live without land.
 But we can’t live without rights without freedom.
 เรามีชีวิตอยู่ได้ แม้ไม่มีบ้าน
 เรายังมีชีวิต แม้ไม่มีแผ่นดินอยู่
 แต่เราอยู่ไม่ได้ ถ้าปราศจากซึ่งสิทธิและเสรีภาพ

 ประโยคบอกเล่าที่ถ่ายทอดออกมาจากหัวใจและความรู้สึกของคนงานต่างชาติที่สังคมไทยติดยศนำหน้าให้ว่า ‘แรงงานต่างด้าว’ กลุ่มบุคคลเล็กๆ ที่มีอยู่จริงในสังคมเรา แต่กลับเสมือนล่องหนไร้ตัวตน เมื่อไม่มีแผ่นกระดาษที่จ่าหัวไว้ว่า ‘Work Permit’ อีกทั้งการถูกมองเป็นเสมือนแกะดำ เพียงเพราะชาติพันธุ์ไม่ตรงกัน ทำให้พวกเขาเหล่านั้นไม่เคยได้อยู่ภายใต้ร่มเงาของกฎหมายไทยเลย
 สิ่งเหล่านี้กำลังเกิดขึ้นจริง เราเองต่างรับรู้
 ทว่าไม่เคย
‘เห็นใจ’ 

      เมื่อวันอาทิตย์ที่ 27 เมษายน 2551 ที่สำนักงานกลางนักเรียนคริสเตียน ย่านราชเทวี ได้มีงานเปิดตัวภาพยนตร์สารคดีความยาว 30 นาทีเรื่อง ‘Life without Identity: ชีวิตไร้ตัวตน’ ซึ่งจัดทำขึ้นโดย โครงการรณรงค์เพื่อแรงงานไทย (TLC) การจัดงานในครั้งนี้เป็นผลสืบเนื่องมาจากเหตุการณ์โศกนาฏกรรมเมื่อวันที่ 10 เมษายน 2551 ที่ผ่านมา ที่มีแรงงานข้ามชาติสัญชาติพม่าเสียชีวิตเนื่องจากขาดอากาศหายใจภายในตู้คอนเทนเนอร์ของรถบรรทุกระหว่างการเดินทางไปทำงานในจังหวัดภูเก็ตจำนวน 54 ศพ อีกทั้งปัญหาแรงงานต่างชาติที่ไหลทะลักเข้ามาสู่วงการอุตสาหกรรมบ้านเราอีกมากมาย ทั้งที่ขึ้นทะเบียนอย่างถูกกฎหมาย และอีกส่วนที่ไม่ได้ขึ้นทะเบียนแรงงานข้ามชาติตามขั้นตอนที่ถูกต้องอีกเป็นจำนวนมาก
      งานครั้งนี้เปิดต้อนรับผู้เข้าร่วมงานด้วยเสียงเพลงโฟล์กซองที่บอกเล่าเจือเสียงเรียกร้องให้เห็นใจในความสำคัญของความเป็นมนุษย์ ไม่ว่าจะเป็นคนชนชาติมอญ เขมร ลาว พม่า กะเหรี่ยง ไทย เราทุกคนก็ล้วนเป็นมนุษย์เช่นเดียวกัน อย่าเลือกปฏิบัติเพียงเพราะ ‘เชื้อชาติ’ เป็นเหตุชักพา
      จบบทเพลงที่ขับขานถึงความเป็นมนุษย์ จรรยา ยิ้มประเสริฐ ผู้อำนวยการโครงการรณรงค์เพื่อแรงงานไทย รับหน้าที่เป็นทั้งผู้เขียนบท ถ่ายภาพ ตัดต่อ  และกำกับ โดยภาพยนตร์สารคดีเรื่องนี้ใช้เวลาในการรวบรวมทั้งหมด 2 ปี เนื้อหาในภาพยนตร์ได้มาจากหลากหลายทาง ไม่ว่าจะเป็นจากการลงพื้นที่เพื่อสัมภาษณ์และเก็บข้อมูล อีกทั้งภาพคลิปวิดีโอต่างๆ อันได้รับความช่วยเหลือจากเจ้าหน้าที่หลายๆ องค์กรที่ทำงานด้านแรงงานพม่ามาสนับสนุนสมทบ โดยภาพยนตร์สารคดีเรื่องนี้จัดเป็นภาพยนตร์ 4 ภาษา เนื่องจากมีทั้งภาษาไทใหญ่ พม่า อังกฤษ และไทย ในเรื่องเดียวกัน
      นอกจากนี้ จรรยายังได้กล่าวถึงที่มาและวัตถุประสงค์ของการจัดงานในครั้งนี้ว่า มีเป้าหมายให้เกิดการตื่นตัวต่อปัญหาแรงงานข้ามชาติ โดยสะท้อนให้เห็นปัญหาจากสถานการณ์จริงที่นำเสนอผ่านทั้งตัวสื่อและภาพยนตร์สารคดีที่จัดทำขึ้น เพื่อนำมาซึ่งการแลกเปลี่ยนหาแนวทางแก้ไขปัญหา ว่าไม่ควรมองในแง่สิทธิแรงงานเพียงอย่างเดียว แต่ควรจะคำนึงถึงสิทธิมนุษยชนของแรงงานข้ามชาติเหล่านี้ด้วย
     
*ชีวิตไร้ตัวตนบนแผ่นฟิล์ม
      เปิดฉากภาพยนตร์ด้วยภาพผู้หญิงกะเหรี่ยงที่กำลังร้องโวยวาย วิ่งเก็บเสื้อผ้าที่กำลังถูกเปลวไฟแผดเผา เหตุเพราะทหารพม่าได้เข้าไปเผาทำลายทรัพย์สินของชนกลุ่มน้อยที่อาศัยอยู่ตามชายแดน คนเหล่านี้มักจะถูกทหารพม่ากระทำและทำร้ายอยู่เสมอ จนเหมือนกลายเป็นเรื่องกิจวัตร อันเป็นสาเหตุให้พวกเขาเหล่านั้นต้องอพยพลี้ภัยเข้ามาอาศัยใบบุญของดินแดนไทย
      ภาพตัดให้เห็นเหตุการณ์เมื่อวันที่ 8 สิงหาคม 2532 ที่นักศึกษาชาวพม่าลุกขึ้นขับไล่เผด็จการทหาร แม้แต่พระสงฆ์ก็ยังมาร่วมเดินขบวนประท้วงให้เห็นในครั้งนี้ด้วย สถานการณ์การเมืองในลักษณะนี้น่าจะเป็นปัจจัยผลักดันทางหนึ่งของการอพยพข้ามประเทศของชนกลุ่มน้อยในพม่า
      และชายแดนยอดนิยมของไทยที่ชนกลุ่มน้อยมักหนีมาพักพิงคือ อำเภอแม่สอด จังหวัดตาก ซึ่งเมืองชายแดนนี้มีแรงงานต่างชาติอาศัยอยู่มากกว่าคนในท้องถิ่นถึง 3 เท่าตัว จากการประมาณการขณะนี้มีคนงานต่างชาติในประเทศไทยที่เข้ามาเป็นแรงงานรับจ้าง ‘ไร้ฝีมือ’ จำนวนกว่า 2 ล้านคน ซึ่งในจำนวนนี้มีชนกลุ่มน้อยจากพม่าอยู่กว่า 70 เปอร์เซ็นต์ของคนงานทั้งหมด
      ยังไม่นับรวมที่มหาชัย ที่มีแรงงานข้ามชาติกว่า 200,000 คน ทางโครงการรณรงค์เพื่อแรงงานไทยได้สัมภาษณ์คนงานพม่าที่มหาชัย เขาพูดถึงชีวิตการทำงานของคนงานพม่าในปัจจุบันว่า การย้ายงานเปลี่ยนงานมีอยู่เสมอ ใครทนได้ก็อยู่ไป ใครทนไม่ได้ก็ย้ายออก แต่สำหรับตัวเขาเองที่มีครอบครัวและลูกถึง 4 คน ก็ไม่สามารถจะย้ายออกไปได้ อยากกลับไปประเทศตัวเองก็ทำไม่ได้เพราะเงินไม่มี
      สำนักงานสมานฉันท์คนงานพม่า ได้สัมภาษณ์คนงานพม่าที่ถูกเลิกจ้าง เขากล่าวว่ากว่าจะได้เข้ามาทำงานเขาต้องจ่ายค่านายหน้า 5,000 บาท นี่ยังไม่รวมค่าใช้จ่ายเบ็ดเตล็ดอื่นๆ ที่ถูกเรียกเก็บไปอีก ค่าแรงที่ได้รับก็ไม่เป็นธรรม ได้เพียงวันละ 90 บาท บางครั้งถูกนายจ้างโกงก็มี สภาพความเป็นอยู่ก็อัตคัดขาดแคลนสาธารณูปโภคที่จำเป็น ไม่มีน้ำใช้บ้าง ไฟฟ้าไม่พอใช้บ้าง
      ในด้านแรงงานหญิง คนงานหญิงบางคนที่พลาดพลั้งตั้งครรภ์ขึ้นมาก็ต้องยอมทำแท้งเอาลูกออก เพราะถ้าหากเธออุ้มท้องไปทำงานเมื่อใด นั่นหมายความว่าวันนั้นจะถือเป็นการทำงานวันสุดท้ายของเธอในฐานะลูกจ้าง ในเรื่องของค่าแรงบางครั้งคนงานต้องทำงานถึง 45 วัน แต่กลับได้รับค่าจ้างเพียง 30 วันเท่านั้นทั้งๆ ที่ทำงานวันหนึ่งมากกว่า 8 ชั่วโมง ซึ่งเกินกำหนดของกฎหมายการใช้แรงงาน
      จอน อึ๊งภากรณ์ อดีตประธานคณะกรรมการประสานงานองค์กรพัฒนาเอกชน (กป.อพช.) มองว่าคนทุกคนพึงได้รับปัจจัยที่เหมาะสมไม่ว่าจะเป็นด้านอาหาร การศึกษา ที่อยู่อาศัย หลักประกันจากรัฐ สวัสดิการ สังคมควรจะมีความยุติธรรม ทุกๆ คนควรจะมีความเท่าเทียมกัน อย่างปราศจากอคติทางเชื้อชาติ เราควรตัดสินคนดี-คนชั่วที่การกระทำไม่ใช่ชาติพันธุ์ ประเทศไทยควรดูแลแรงงานต่างชาติให้ดี เสมือนที่คุ้มครองคนไทยเวลาไปเป็นแรงงานในต่างประเทศ
      ในภาพยนตร์สารคดีเรื่องนี้มีบทเพลงประกอบภาพยนตร์ จัดทำโดยวงดนตรีที่มีชื่อว่า ‘รัก’ มาจากชื่อภาษาอังกฤษว่า ‘RUG–Relation Unselfish Generation’ โดยนักดนตรีวงนี้เป็นเยาวชนชาวไทใหญ่ประกอบไปด้วยชายหนุ่ม 4 คนที่มาถ่ายทอดความรู้สึก และความกดดันของการเป็นผู้ที่ไร้สัญชาติ ไร้ซึ่งตัวตนมาเกือบตลอด
ทั้งชีวิต พวกเขาได้รวมตัวกันตั้งวง ช่วยแต่งเนื้อ และร้องเพลงประกอบให้กับสารคดีเรื่องนี้

*เสียงความเห็น (ใจ)
      หลังจากภาพยนตร์สารคดีจบลง ได้มีการเปิดเวทีให้แลกเปลี่ยนความคิดเห็นเล็กๆ ก่อนการเสวนาจะเริ่มขึ้น แลร์รี่ นักข่าวอิสระชาวต่างประเทศ ได้แสดงความคิดเห็นว่าปัญหาเรื่องแรงงานข้ามชาตินี้จะมองเพียงเรื่องสิทธิแรงงานและสิทธิมนุษยชนอย่างเดียวคงไม่พอ เพราะกว่า 67 เปอร์เซ็นต์ของรายได้ประชาชาติมาจากน้ำพักน้ำแรงของแรงงานข้ามชาติกลุ่มนี้ พวกเขาจัดว่ามีส่วนสำคัญในการสร้างคุณค่าทางเศรษฐกิจให้แก่ประเทศไทย
      ตามด้วย รศ.ใจ อึ๊งภากรณ์ จากคณะรัฐศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย มองว่าจริงๆ แล้วประเทศไทยต้องการแรงงานข้ามชาติ แต่จากเหตุการณ์โศกนาฏกรรมคนงานพม่าเสียชีวิต 54 ศพภายในตู้คอนเทนเนอร์ระหว่างการเดินทางเคลื่อนย้ายแรงงานนั้น ทำให้รู้ว่าพรมแดนตรงชายแดนไทยควบคุมการไหลทะลักของแรงงานเหล่านี้ไม่ได้
      รศ.ใจได้เสนอแนวทางการแก้ไขว่าควรจะยกเลิกการจดทะเบียนแรงงานข้ามชาติ เพราะปัจจุบันมีแรงงานเพียง 25 เปอร์เซ็นต์ของจำนวนแรงงานต่างชาติทั้งหมดเท่านั้นที่ขึ้นทะเบียนอย่างถูกต้องตามกฎหมาย อาจารย์ใจหยิบยกตัวอย่างกรณีของแรงงานอังกฤษที่สามารถเข้าประเทศโปแลนด์ได้โดยไม่ต้องมีขั้นตอนการจดทะเบียน อีกทั้งยังได้มีข้อเรียกร้องให้เปิดพรมแดน ทำบัตรประกันสังคมให้แก่แรงงาน และเปิดพื้นที่ทางกฎหมายให้คุ้มครองแรงงานต่างชาติให้มากขึ้น
      ในเรื่อง ‘ความกลัว’ ก็เช่นกัน ควรจะสลายความกลัวของคนงานไทยที่คิดว่าคนงานต่างชาติเข้ามาแย่งงานของตน ด้านคนงานต่างชาติเองก็ควรจะสลายความกลัวว่าจะถูกกลไกเอาเปรียบแล้วเดินหน้าต่อสู้เพื่อสิทธิของตนเองให้มากขึ้น

*‘เชื้อชาติ’ เป็นเหตุ
 เราปฏิบัติต่อเพื่อนมนุษย์ของเราอย่างไร? คำถามนี้ดังขึ้นพร้อมๆ กับวงเสวนาในหัวข้อ ‘ก้าวต่อไปเพื่อสิทธิมนุษยชนของคนงานต่างชาติ’ ที่กำลังเริ่มต้น
 สมพงษ์ สระแก้ว ผู้ประสานงานเครือข่ายส่งเสริมคุณภาพชีวิตแรงงาน วางคำถามนี้ไว้กลางวงสัมมนา เขามองว่าคนไทยและรัฐบาลไทยมองแรงงานต่างชาติไม่มีตัวตน แรงงานข้ามชาติจำนวน 2 ล้านคนที่เข้ามาทั้งหมด แต่เข้ามาอย่างถูกต้องไม่ถึงล้านคน แค่ประมาณ 80,000 คนเท่านั้นที่มีใบอนุญาต ทั้งๆ ที่พวกเขาเหล่านั้นเป็นฟันเฟืองสำคัญในการเจริญเติบโตของเศรษฐกิจไทย
      สมพงษ์มองว่าปัญหาที่สำคัญอยู่ที่ ‘นายหน้า’ ที่ล้มเหลวในการบริหารจัดการแรงงาน การจดทะเบียนแรงงานแต่ละครั้งก็หลอกรีดไถเงิน สูบเลือดสูบเนื้อพวกเขา โดยยกประเด็นความมั่นคงของประเทศมาเป็นข้ออ้าง
      ปัจจุบันมีรูปแบบการว่าจ้างที่เป็นการร่วมมือกันระหว่างนายหน้ากับนายจ้าง คือนายหน้าจะรับเงินเดือนแทนแรงงานเหล่านั้น หลังจากนั้นก็จะใส่รายละเอียดค่าใช้จ่ายในสลิปเงินว่าต้องหักค่าประกันต่างๆ หักไปหักมามีเงินเหลือถึงมือคนงานจริงๆ แค่ 300-500 บาท  อีกทั้งเวลาจะโยกย้ายเปลี่ยนงาน นายหน้าของแรงงานแต่ละคนจะนัดคุยเพื่อตกลงกัน ในขั้นตอนนี้แรงงานจะต้องเสียค่าย้ายงานอีกถึง 2,000-3,000 บาท  อีกทั้งเมื่อเกิดปัญหาการล่วงละเมิดในการทำงาน เช่น แรงงานหญิงชาวพม่าถูกข่มขื่น แรงงานชายถูกยิงเสียชีวิต ก็ยังไม่มีสิทธิจะกลายเป็นคดีด้วยซ้ำ

*‘ผู้หญิง’ กับแรงงานและสิทธิ
 ในประเด็นสิทธิของแรงงานหญิงนี้ ลูเซีย จายาซีลาน ผู้ประสานงานมูลนิธิเพื่อแรงงานหญิง  กล่าวว่าแรงงานหญิงในปัจจุบันมิได้มีแค่แรงงานจากพม่า ลาว เขมรเท่านั้นที่เป็นปัญหา ยังมีแรงงานหญิงจากประเทศอื่น เช่น บังคลาเทศ อินเดีย ศรีลังกา ญี่ปุ่น เกาหลี ฮ่องกงที่เป็นปัญหาเช่นกัน
 โดยอาชีพที่แรงงานหญิงทำมีทั้งโสเภณี แรงงานเด็ก ทำงานตามไร่นา ร้านอาหาร ในโรงงาน ซึ่งบางที่ก็ไม่มีมาตรฐานการจ้างงานที่ดี ไม่มีวันหยุด ต้องทำงานถึงได้เงิน กลไกรัฐไม่เข้มแข็งพอที่จะดูแลเขาได้เลย ลูเซีย มองว่ายิ่งกระแสโลกาภิวัตน์โตมากเท่าไหร่ กระแสแรงงานยิ่งโตตามเท่านั้น ขณะนี้ 47 องค์กรจาก 14 ประเทศ กำลังต่อสู้เพื่อสิทธิแรงงานหญิงทั้งในและต่างประเทศ เพราะกว่า 80 เปอร์เซ็นต์ของแรงงานหญิงในเอเชียส่วนใหญ่จะทำงานนอกระบบ
 ลูเซียกล่าวว่าแรงงานข้ามชาติ มีความเชื่อมโยงกับแรงงานนอกระบบ มีความเชื่อมโยงกับความล้มเหลวในการคุ้มครองของรัฐ รวมถึงมีความเชื่อมโยงกับการคอร์รัปชั่นด้วย และไม่ว่าจะเป็นแรงงานต่างชาติหรือเป็นแรงงานในประเทศล้วนแล้วแต่ถูกเอาเปรียบเหมือนกันหมด แนวทางการแก้ไขคือ ในฐานะที่ประเทศไทยกำลังจะเป็นประธานอาเซียน ควรดำเนินการเรียกร้องสหภาพแรงงานไม่ให้มีการแบ่งแยกดูแลเฉพาะสมาชิกของตนเองเท่านั้น รวมทั้งเรียกร้อง 8 ประเทศมหาอำนาจว่าไม่ควรละเลยสิทธิแรงงาน ค่าแรง การคุ้มครองแรงงาน และการต่อสู้เพื่อปัจจัย 4 อันเป็นสิ่งสำคัญจำเป็นสำหรับแรงงานทุกคน

*‘เลิกจ้าง’ ผลตอบแทนการเรียกร้องสิทธิ
 บุญยืน สุขใหม่ เลขาธิการกลุ่มสหภาพแรงงานภาคตะวันออก กล่าวว่าใน 3-4 ปีที่ผ่านมาอุตสาหกรรมยานยนต์และอุตสาหกรรมด้านอื่นๆ ต่างเพิ่มสูงขึ้น แรงงานต่างชาติจัดว่ามีความสำคัญและเป็นที่ต้องการในแวดวงอุตสาหกรรม เพียงแต่ในบางครั้งเรามุ่งส่งเสริมการลงทุนโดยมองข้ามสิทธิแรงงาน ในบ้านเรายังไม่มีการรองรับสิทธิในการรวมตัว สิทธิในการเจรจาต่อรอง หากมีลูกจ้างคนใดกระทำการดังกล่าว ผลที่จะตามมานั้นมีสิ่งเดียวคือ ‘การถูกเลิกจ้าง’
 ในประเด็นเรื่องสหภาพแรงงาน ไม่ได้มีการกำหนดว่าสมาชิกของสหภาพแรงงานต้องเป็นคนไทย แต่ตำแหน่งกรรมการสหภาพแรงงานถูกระบุไว้ว่าจะต้องเป็นคนไทยเท่านั้น ข้อนี้ก็ถือว่าสร้างความไม่ยุติธรรมให้ฝ่ายแรงงานข้ามชาติ
 เรื่องความรุนแรงก็เช่นเดียวกัน นายจ้างบางคนชอบให้ลูกจ้างทำงานในสภาวะที่เสี่ยง อย่างในปี 2549 มีคนงานจำนวน 800 กว่าคนต้องเสียชีวิตในหน้าที่ ถัดมาปี 2550คนงานเสียชีวิตในหน้าที่อีก 700 กว่าคน แต่ผลลัพธ์ของเหตุการณ์นี้รัฐกลับมองว่า ‘ตัวเลขเป็นที่น่าพอใจ’ นั่นหมายความว่าอะไร รัฐมองข้ามเรื่องคุณภาพชีวิตของแรงงาน ทั้งๆ ที่ในกรณีนี้จัดว่าเป็นความรุนแรงอย่างหนึ่งด้วยซ้ำ อย่างมีกรณีคนงานพม่าคนหนึ่งไม่ได้รับสิทธิขั้นพื้นฐาน เพียงเพราะรัฐอ้างว่าไม่มีเอกสารอ้างอิงที่ชัดเจน สิ่งนี้มันกำลังบอกเราว่าแนวคิดการทำงานของราชการไทยยังยึดติดอยู่กับรูปแบบ
 กรณีคนงานพม่าที่เสียชีวิต 54 ศพระหว่างเดินทางจากระนองไปภูเก็ตก็เช่นเดียวกัน รัฐอ้างว่าพวกเขาเหล่านั้นเดินทางเข้าเมืองอย่างผิดกฎหมาย ฉะนั้น กองทุนเงินทดแทนจะไม่จ่ายชดเชยตรงส่วนนี้ให้หรือในกรณีที่แรงงานหญิงตั้งครรภ์ ทั้งๆ ที่กฎหมายคุ้มครองว่าห้ามเลิกจ้าง แต่กับแรงงานต่างชาติซึ่งไม่ได้รับความคุ้มครองจากข้อกฎหมายนี้ ก็ไม่มีทางเลือก ถ้ายังอยากทำงานต่อก็ต้องทำแท้ง ปัญหาทั้งหลายทั้งปวงที่เกิดขึ้นส่วนหนึ่งมาจากตัวคนงานเองที่ไม่ยอมลุกขึ้นมาเรียกร้องต่อสู้เพื่อสิทธิของตนเอง ยอมให้เขาละเมิดอยู่อย่างนั้น

*ไม่ใช่โชค 2 ชั้น แต่เป็นโดน 2 เด้ง
 ด้วยความเปราะบางทางการเมืองของพม่าที่ส่งผลให้ชนกลุ่มน้อยต้องอพยพลี้ภัย อย่างกรณีการประท้วงที่เกิดขึ้นในพม่าที่มีพระสงฆ์เป็นแกนนำ เป็นไปได้ไหมว่าเพราะกรณีนี้เองจึงทำให้เราให้ความสนใจต่อปัญหาแรงงานพม่ามากขึ้น ชูวัส ฤกษ์ศิริสุข บรรณาธิการข่าวสำนักข่าวประชาไท ซึ่งทำหน้าที่เป็นผู้ดำเนินรายการของเวทีเสวนาได้ตั้งข้อสังเกตขึ้น
 “ผมมองว่าคนไทยเราให้ความสนใจต่อเหตุการณ์ต่างๆ ตามแต่วาระมากกว่า” ศิโรตม์ คล้ามไพบูลย์ นักศึกษาปริญญาเอก สาขาทฤษฎีการเมือง มหาวิทยาลัยฮาวาย แสดงความเห็นในประเด็นดังกล่าว ศิโรตม์ยังกล่าวอีกว่าปัญหาแรงงานข้ามชาตินั้นเกิดจากสาเหตุ 2 ประการ หนึ่งคือแรงงานข้ามชาติ ถูกเอาเปรียบเพราะสาเหตุหลักคือเรื่องชาติพันธุ์ ซึ่งเป็นปัญหาที่มีมาตลอด อย่างที่เราได้ยินอยู่เสมอๆ ไม่ว่าจะเป็นกรณีคนไร้สัญชาติหรือคนสองสัญชาติ ผลคือทำให้เกิดความสัมพันธ์ที่ไม่เท่าเทียม 
 สองคือแรงงานข้ามชาติถูกผลักให้เป็นส่วนหนึ่งของแรงงานนอกระบบ ซึ่งไม่มีโอกาสได้รับสวัสดิการใดๆ ปัญหาที่เกิดตามมาที่เรียกได้ว่าแรงงานเหล่านี้ต้องโดนถึง ‘2 เด้ง’ เต็มๆ คือต้องถูกกดขี่ในฐานะกรรมกร ใช้แรงงานเยี่ยงทาส และยังถูกกดขี่เพราะชาติพันธุ์เป็นเหตุให้กฎหมายไทยไม่คุ้มครองอีกด้วย ซึ่งในที่สุดแรงงานไทยเองก็จะได้รับผลกระทบตามไปด้วย เพราะการไหลทะลักของแรงงานต่างชาติที่มากขึ้น จะส่งผลให้อำนาจต่อรองของนายทุนมีมากขึ้น ด้วยความที่แรงงานข้ามชาติถูกกดขี่และถูกผลักให้เป็นส่วนหนึ่งของมาตรการ ‘การจ้างงานแบบยืดหยุ่น’ นายจ้างจึงเริ่มใช้อำนาจต่อรองดังกล่าวในการปฏิบัติกับแรงงานไทยอย่างไม่ยุติธรรมด้วยเช่นกัน นอกจากนี้แล้วมาตรการจ้างงานแบบยืดหยุ่นนี้ยังเอื้อให้นายจ้างมีสิทธิในการปิดแผนก ลดโบนัส หรือเบี้ยขยันของคนงานได้อย่างไม่มีความยุติธรรม
 แนวทางที่ควรแก้ไขคือ จะต้องยกเลิกระบบการจ้างงานแบบยืดหยุ่น และเพิ่มความเข้มแข็งให้แก่สหภาพแรงงาน คือจะต้องเปิดโอกาสให้สมาชิกสหภาพแรงงาน หรือคนงานได้มีส่วนกำหนดสภาพแวดล้อมในการทำงานได้  สร้างมาตรฐานแรงงานให้ดีขึ้นแบบที่ว่าสหภาพแรงงานไทยมีอย่างไร กรณีของแรงงานต่างชาติก็ควรมีเช่นนั้น ต่อต้านการจ้างงานในระบบยืดหยุ่น และสุดท้ายคือสร้างสวัสดิการแรงงานให้เท่าเทียมกัน

**********************
เรื่อง–วัลย์ธิดา วุฒิยาภิราม
 
 
 
แรงงานชายชาวพม่า
สองแม่ลูกแรงงานข้ามชาติ
ชนกลุ่มน้อยในพม่า
การเมืองสาเหตุหลักของการลี้ภัย
ดนตรีโฟล์คซองในบทเพลงเรื่องเชื้อชาติ
รศ.ใจ อึ้งภากรณ์ ให้ความเห็นหลังชมภาพยนตร์สารคดี
จรรยา ยิ้มประเสริฐ ผู้อำนวยการโครงการรณรงค์เพื่อแรงงานไทย
ชูวัส ฤกษ์ศิริสุข ผู้ดำเนินรายการ
คณะเสวนา
บรรยากาศผู้เข้าร่วมงาน
กำลังโหลดความคิดเห็น