xs
xsm
sm
md
lg

ความสุขเล็ก ๆ บนตัวโน๊ตและเสียงเพลง “ณพอาภา เทวกุล ณ อยุธยา”

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

ณพอาภา เทวกุล ณ อยุธยา
จากเสียงเพลงอันไพเราะของบทเพลงพระราชนิพนธ์ ที่ถูกบรรจงถ่ายทอดผ่านปลายนิ้วที่พลิ้วไหวลงบนคีย์เปียโน ของคุณตาแก้วขวัญ วัชโรทัย เมื่อ 20 ปีที่แล้ว กลายมาเป็นแรงบันดาลใจให้ “ยุ้ย-ณพอาภา เทวกุล ณ อยุธยา” ผู้เป็นหลานสาว เกิดตกหลุมรักในเสียงเพลง จนมีความฝันที่อยากจะเป็นนักร้อง และมีอัลบั้มเทปเป็นของตัวเอง

ยุ้ย หญิงสาวที่มาพร้อมกับความร่าเริงสดใส ในวัย 24 ปี ทายาทคนโตในพี่น้อง 2 คนของ พล.ท.มล.ทศนวอมร เทวกุล รองผู้อำนวยการสำนักงานกรมราชองครักษ์ สวนจิตรลดา และราชองครักษ์ประจำพระองค์พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว กับ รัตนาภา เทวกุล ณ อยุธยา ผอ.ฝ่ายเอกสาร และงานธุรการ บริษัท การบินไทย จำกัด (มหาชน) และเป็นหลานตาหลานยายของ แก้วขวัญ วัชโรทัย เลขาธิการสำนักพระราชวัง กับ ท่านผู้หญิงเพ็ญศรี

ในวัยเด็กของยุ้ย นอกจากจะคุ้นชินกับภาพของสมาชิกทุกคนในครอบครัวทำงานรับราชการ สนองงานใต้เบื้องพระยุคลบาทอย่างใกล้ชิดแล้ว เธอยังเห็นภาพที่สมาชิกในครอบครัวมีความเป็นศิลปินอยู่ในหัวใจ ไม่ว่าจะเป็น คุณตา คุณพ่อ คุณแม่ รวมไปถึงญาติพี่น้องคนอื่นๆ ที่มักใช้เสียงดนตรีเป็นเครื่องผ่อนคลายจากการทำงาน จึงเป็นสาเหตุหนึ่งที่ทำให้เธอเลือกที่จะเดินบนถนนสายดนตรี เพื่อถ่ายทอดความสุขให้กับคนฟังทุกคนผ่านเสียงร้องของเธอ

“ตอนประมาณ 2-3 ขวบ ยุ้ยได้ยินเสียงคุณตาเล่นเปียโน เพลงพระราชนิพนธ์แล้วรู้สึกว่าคุณตาเล่นได้เพราะจัง จึงทำให้เรารู้สึกชอบเสียงเพลง ยิ่งพอมีโอกาสเห็นตัวโน๊ตของเปียโน และเราได้สัมผัสมันก็ยิ่งทำให้รู้สึกสนุกและอยากอยู่กับมัน” ยุ้ยเล่าถึงจุดเริ่มต้นที่ทำให้เธอหลงใหลในเสียงเพลง

พอเธออายุได้ 4 ขวบคุณแม่จึงตัดสินใจส่งเธอไปเข้าคอร์สเรียนเปียโน โดยมีคุณแม่นั่งเรียนเป็นเพื่อนอยู่ตลอดเวลา ขณะที่เธอกำลังใช้นิ้วกดไปที่ตัวโน๊ตแต่ละตัวบนคีย์บอร์ดนั้นเป็นช่วงเวลาที่ยุ้ยเริ่มรู้สึกว่า ตัวเองมีความสุขที่สุดที่ได้อยู่กับเสียงดนตรี

หลังจากที่เรียนเปียโนได้สักระยะหนึ่งจนเกิดความชำนาญบ้างแล้ว ยุ้ยก็หันมาฝึกซ้อมและเล่นเครื่องดนตรีชนิดอื่นๆ ตามมา โดยมีคุณพ่อและคุณแม่คอยเป็นพี่เลี้ยงให้อยู่ตลอดเวลา

“เครื่องดนตรีชิ้นถัดมาที่ยุ้ยเล่นหลังจากเปียโนก็คือ กีตาร์ เพราะในความคิดของยุ้ย ผู้หญิงที่เล่นกีตาร์เป็นจะเท่มาก ประกอบกับคุณอาเป็นคนที่มีกีตาร์เยอะมาก เมื่อท่านรู้ว่าหลานอยากหัดเล่นกีตาร์จึงให้มา 1 ตัว จากนั้นคุณพ่อก็สอนวิธีการเล่นและตั้งคอร์ดให้จนเราเล่นเป็น”

นานวันเข้าการที่เธอได้อยู่กับเครื่องดนตรี และเสียงร้องที่คลอไปตามบทเพลงที่เล่น ยิ่งทำให้หญิงสาวหลงรักตัวโน๊ตและเสียงเพลงมากขึ้นทุกวัน จากความรักจึงกลายเป็นความฝันที่อยากจะเป็นนักร้องอย่างเป็นจริงเป็นจังขึ้นมา

เมื่อมีความฝันจะเป็นนักร้องที่ดี มีพื้นฐานทางด้านดนตรี และคุณภาพของเสียงร้องเป็นต้นทุน หลังจากที่เรียนจบชั้นมัธยมปลายที่โรงเรียนจิตรลดา เธอจึงตัดสินใจเลือกเข้าศึกษาต่อระดับปริญญาตรี ที่ คณะมนุษยศาสตร์ ภาควิชาศิลปะนิเทศ สาขาดนตรีตะวันตก เอกขับร้อง ที่มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์

ด้วยความที่ครอบครัวของเธอเองรับราชการมาหลายชั่วอายุคน โดยเฉพาะ การเป็นข้าราชการระดับชั้นผู้ใหญ่ การให้ลูกหลานมายึดอาชีพเต้นกินรำกินคงไม่เหมาะสมจึงกีดกันสุดชีวิต แต่สำหรับครอบครัวนี้แล้วกลับไม่เป็นเช่นนั้น เพราะครั้งแรกที่ยุ้ยตัดสินใจบอกกับทุกคนในครอบครัวว่า จะเรียนต่อทางด้านดนตรี คนแรกที่ไฟเขียวอนุญาตให้เธอเรียนด้านนี้คือ...คุณพ่อ

“ตอนแรกยุ้ยก็รู้สึกกังวลว่าที่บ้านจะอนุญาตหรือเปล่า แต่พอมาปรึกษากับคุณพ่อแล้วท่านบอกว่าทุกวันนี้สังคมได้เปลี่ยนแปลงไป ลูกหลานไม่จำเป็นที่จะต้องมาเดินตามรอยเท้าของพ่อแม่เสมอไป ที่สำคัญท่านเห็นว่าสิ่งไหนที่ลูกชอบและมีความสุข โดยที่ไม่ทำให้ใครเดือดร้อน ก็สามารถทำได้” หญิงสาวกล่าว

หลังจากได้รับไฟเขียวจากครอบครัวแล้ว ยุ้ยจึงทุ่มเทกับการเรียนอย่างเต็มที่ ตลอดระยะเวลา 4 ปีที่ยุ้ยเรียนทางด้านวิชาการดนตรี เธอเก็บเกี่ยวความรู้ทางด้านดนตรีจากรั้วนนทรีมาอย่างเต็มที่ ถึงแม้ว่าจะเหน็ดเหนื่อยกับการท่องทฤษฎีดนตรีเพียงใดก็ตามแต่ก็ไม่ได้ทำให้เธอถอดใจไปแม้แต่น้อย ในที่สุดยุ้ยก็คว้าปริญญาตรีเกียรตินิยมอันดับหนึ่งมาได้สำเร็จ

แม้จะมีชาติตระกูลใหญ่โต แต่ถนนสู่การเป็นศิลปินนักร้องนั้นก็มิได้โรยด้วยกลีบกุหลาบ หรือเปิดกว้างต้อนรับให้ยุ้ยเดินเข้าไปอย่างง่ายดาย กว่าจะมายืนบนจุดที่สามารถออกอัลบั้มเดี่ยวของตัวเองในชื่อว่า “ยุ้ย ณพอาภา เทวกุล ณ อยุธยา”ของค่ายอาร์เอสได้นั้น เธอต้องพบเจอกับอุปสรรคมากมายที่ถาโถมเข้ามาให้เธอพิสูจน์ฝีมือ

เส้นทางการเข้าสู่ถนนสายนี้ของเธอเริ่มขึ้นอย่างจริงจัง เมื่อตอนเรียนอยู่ชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 6 โดยเริ่มจากการร้องเพลงประกอบโฆษณา จากนั้นเวทีประกวดร้องเพลงกลายเป็นเส้นทางแรกที่ยุ้ยไขว่คว้าหาฝันของตัวเอง เธอผ่านเวทีการประกวดต่างๆ มาอย่างโชกโชน ที่สำคัญแต่ละเวทีที่เข้าประกวดนั้น แทบจะไม่เคยสัมผัสกับคำว่า “ชนะ” แม้แต่ครั้งเดียว

แต่ด้วยความที่เป็นคนอารมณ์ดี บวกกับเป็นคนมองโลกในแง่ดี เธอจึงไม่เคยท้อถอยในการออกตามหาฝันของตัวเอง เพราะเธอมีความเชื่ออยู่เสมอว่า ทุกเวทีการประกวดนั้น “ชัยชนะ” ไม่ใช่สิ่งสำคัญที่สุด แต่ทุกเวทีการประกวดจะให้ประสบการณ์ที่ดีให้กับเธอ เพราะเมื่อพลาดจากเวทีไหน เธอจะนำความผิดพลาดมาพัฒนาตัวเองให้มีความเข้มแข็งขึ้น นี่ต่างหากคือชัยชนะในชีวิตที่แท้จริง

“มีครั้งหนึ่งยุ้ยจำได้ว่าจะไปประกวดร้องเพลงที่จังหวัดชลบุรี นั่งรถไปประมาณ 3 ชั่วโมงกว่าจะถึงที่นั่นและต้องนั่งรออีกเกือบ 6 ชั่วโมงกว่าจะได้คิวร้องเพลง เมื่อร้องเพลงเสร็จแล้วก็ต้องรีบเดินทางกลับมาที่กรุงเทพฯ เรียกว่าช่วงเวลานั้นเหนื่อยสุดๆ”

บนเส้นทางที่ตามล่าฝันของตนเองนั้น ยุ้ยมิได้อยู่อย่างโดดเดี่ยวเลย ยังมีคุณแม่และครอบครัวอยู่เคียงข้างและให้กำลังใจอยู่เสมอ

“มีครั้งหนึ่งตอนนั้นกำลังออกจากบ้านเพื่อไปประกวดร้องเพลง ซึ่งเหลือเวลาอีกไม่ถึงชั่วโมงการประกวดก็จะเริ่มขึ้น ปรากฏว่าขณะที่ยุ้ยกับคุณแม่กำลังจะขับรถออกจากบ้าน รถกลับยางแตกเกือบไปไม่ทันได้เข้าประกวด หรือแม้แต่กระทั่งเทปชุดนี้กว่าจะออกมาเสร็จสมบูรณ์ได้ด้วยเหตุผลอะไรหลายๆ อย่าง จึงต้องทำให้ถูกพับเก็บมาหลายรอบมาก ผ่านการลองผิดลองถูกมาหลายครั้ง ซึ่งทุกครั้งที่เจอกับปัญหาแบบนี้คุณพ่อกับคุณแม่จะบอกเสมอว่า ถ้าเรากำลังมีความสุขกับการตามหาความฝัน ก็จงอย่าท้อใจสู้ไปเรื่อยๆ” ยุ้ยเล่าถึงอุปสรรคกองโตที่เพิ่งผ่านพ้นมา


กำลังโหลดความคิดเห็น