ทุกวันนี้ไม่ว่าไปที่ไหนๆ เราก็มักจะได้ยินเสียงเพลง เสียงดนตรีแว่วมากระทบโสตประสาทอยู่เสมอ ทั้งเพลงไทย เพลงฝรั่ง ป็อป แจ๊ส ฮิปฮอป อาร์แอนด์บี กับอีกหลายแนวดนตรีที่มากมายหลายหลาก และอีกแนวทางดนตรีที่มาแรงที่สุดแห่งยุค ‘เพลงอินดี้’
คำว่า Indy ที่เราเรียกกันอย่างคุ้นปาก แท้ที่จริงแล้วมันถูกย่อความยาวมาจากคำว่า Independent เมื่อมาอยู่ในบริบททางดนตรีแล้ว มันจะสื่อถึงความหมายของอิสระแห่งเสียงเพลง
คำถามคือ อิสระแห่งเสียงเพลง อิสระทางแนวดนตรีที่เราเข้าใจกันอยู่ มันตรงความหมายกันมากแค่ไหน? เราเข้าใจกับบริบทที่มันโลดแล่นพัดวนอยู่ในสังคมดีขนาดไหน?หรือที่แท้มันก็แค่แฟชั่นของคนยุคนี้
เสียงดนตรีกับความคิดเห็นในกระแสธารดังกล่าว กำลังพัดวนอยู่ภายใต้ตัวหนังสือเบื้องล่าง โดยตัวการพัดพาอย่างวงดนตรีที่ใช้ชื่อว่า ‘The Typhoon Band’
อย่าตกใจ ถ้าพายุกำลังจะร้องเพลงให้คุณฟัง
*ทำไมอยู่ๆ คนทำหนังสือถึงอยากจะมาทำดนตรี ?
ดนตรีเป็นความสนใจหนึ่งที่เกิดขึ้นพร้อมๆ กับหนังสือ ถ้าทิศทางชีวิตได้หันเหไปทางหนึ่งแล้วผมกลายเป็นคนทำดนตรี ถึงตอนนั้นก็คงอยากทำหนังสือเหมือนกัน ปราบดา หยุ่น กับบทบาทที่เป็นทั้งเจ้าสำนักหนังสือไต้ฝุ่น นักแต่งเพลง และนักร้องนำของ The Typhoon Band เล่าให้ฟังถึงที่มาที่ไปของการทำดนตรี
ตอนที่เรียนจบใหม่ๆ มีความรู้สึกว่าในทิศทางด้านศิลปะเราสามารถไปได้ทั้งหมด ทั้งหนังสือ ภาพยนตร์ การออกแบบ คือพวกนี้เป็นสิ่งที่เกี่ยวข้องกัน เป็นความสนใจที่เชื่อมโยงมาตั้งแต่เด็กแล้ว ถ้าพูดถึงความถนัดที่สุดก็น่าจะเป็นการเขียนและทำหนังสือ แต่ว่าดนตรีเป็นความผูกพันที่มีมานาน มีความชอบและความอยากที่จะทำมันอยู่เสมอ ดนตรีเป็นสิ่งที่ขาดไม่ได้มากที่สุดในช่วงวัยรุ่น ตอนนั้นเป็นช่วงที่มีความกระตือรือร้นที่จะหาเพลงมาฟัง จนมันกลายเป็นส่วนหนึ่งของชีวิต คุยกับเพื่อนก็คุยเรื่องเพลง กิจกรรมหลักคือการไปดูคอนเสิร์ต เพลงจึงอยู่ในชีวิตตลอดเวลา
*ในฐานะที่เป็นคนแต่งเนื้อร้องทั้งหมดในอัลบั้มนี้ คุณมองการเขียนเพลงของนักแต่งเพลงปัจจุบันอย่างไร?
ผมว่าเดี๋ยวนี้การตลาดมันเข้ามามีส่วนพัวพันกับวงการศิลปะมากเกินไป อย่างเพลงที่ได้ฟังบางช่วงจะเป็นเพลงที่ตามเทรนด์ มีอยู่ช่วงหนึ่งที่กระแสเพลงที่มีเนื้อหาเกี่ยวกับโทรศัพท์จะมาแรงมาก ค่ายไหนๆ ก็ตามจะต้องมีเพลงที่เล่าเรื่องราวประเภทนี้ น่าจะเป็นผลมาจากการอิงกับกระแสการตลาดมากเกินไป ปราบดาให้ความเห็นในประเด็นดังกล่าว
*แสดงว่าพวกคุณเป็นคนชอบฟังเพลงนอกกระแส?
อาจจะเป็นเพราะผมเป็นคนฟังเพลงที่เนื้อเพลง เพลงที่มีความหลากหลายแปลกใหม่มักจะเป็นเพลงนอกกระแส เพราะเพลงในกระแสส่วนใหญ่จะต้องตอบโจทย์ในแง่ความรักหรืออะไรที่อยู่ในกระแส เพราะฉะนั้นเพลงที่จะพูดถึงจะมีความเป็นบทกวี มีเนื้อหาที่ไม่ได้มีเพียงแค่ความรัก อาจเกี่ยวกับสังคมปรัชญา ทำให้ผมหันไปฟังเพลงลักษณะนี้ทั้งๆ ที่ไม่ได้ยึดติดว่าต้องฟังเพลงนอกกระแสเท่านั้น อย่างเพลงแจ๊ซสแตนดาร์ดสมัยก่อนจะชอบมาก เช่นของ โคล พอร์เตอร์ จอร์จ เกิร์ชวิน เพราะเนื้อเพลงเขาดี ถ้าอะไรที่มีเนื้อเพลงดีก็จะชอบ ช่วงวัยรุ่นก็เคยฟังไซคีเดลิคร็อก วง Pink Floyd มันเป็นวิวัฒนาการของการฟังเพลงนอกกระแส พอมาถึงช่วงยุค 90 ซึ่งเป็นยุคที่ วง Nirvana เริ่มดังก็จะมีพวกเพลง Alternative เข้ามาให้ฟังเยอะ ปราบดากล่าว
ปริญญ์-ปริญญ์ อมรศุภศิริ แห่งวงเดธ ออฟ อะ เซลส์แมน ผู้ทำหน้าที่โปรดิวเซอร์อัลบั้มชุดนี้ กล่าวเพิ่มเติมว่าจริงๆ แล้วเขาเองก็เป็นคนหนึ่งที่หลงใหลเพลงที่ความหมาย เวลาทำอัลบั้มสักชุดจะพยายามทำให้มันมีความเป็นดนตรีมากที่สุด ไม่ได้คิดว่ามันจะต้องมีท่อนหนึ่งที่เด่นมากโผล่ออกมา เพลงนี้ต้องมีกิมมิกอย่างนี้ พยายามทำให้มันเป็นเพลงที่สมูธ อย่างอัลบั้มชุดนี้แนะนำว่าต้องฟังทั้งอัลบั้ม ไม่สามารถจะมาแบ่งฟังแบบ Single Hits อะไรแบบนั้นได้
*ถ้าชอบในความหมายของเพลง แสดงว่าอัลบั้มนี้เนื้อหาคงไม่ได้มีแต่เรื่องความรัก?
ปราบดากับหน้าที่ผู้แต่งเนื้อร้องกล่าวว่า ความจริงแล้วเพลงส่วนใหญ่มักจะใช้ความรักเป็นสื่อนำทาง ซึ่งมันมีข้อดีคล้ายๆ กับว่ามันสามารถเรียกร้องความสนใจจากผู้ฟังได้ มันจะพาให้เขาเข้าไปรู้สึกได้มากกว่าประเด็นความรัก เนื้อหาเพลงในอัลบั้มจะมองว่าเป็นเพลงรักก็ได้ เป็นเพลงที่มีการตีความไปทางสังคม การเมือง ปรัชญาก็ได้ เพราะโดยส่วนตัวผมเป็นคนที่ชอบเพลงที่มีอะไรแฝงอยู่ มีประเด็นบางๆ สำหรับเพลงป็อปบางครั้งมันก็มีข้อดีของมัน มันตอบสนองความบันเทิงหรือต่อมอะไรบางอย่างของคนเราได้อย่าง จัสติน ทิมเบอร์เลก เวลาฟังทางวิทยุหรือดูจากเอ็มวีผมก็ชอบนะ มันก็ให้ความบันเทิงอะไรบางอย่าง แต่คงไม่ไปลึกซึ้งอะไรกับมันมาก อย่างเพลง Sexyback คงไม่สามารถตีความอะไรได้มากไปกว่านั้น มันจึงไม่ใช่แนวเพลงที่ผมจะแต่ง คือฟังได้แต่ถ้าเป็นงานเราเอง จะชอบอะไรที่มีความลึกลับ มีการตีความได้มากกว่านั้น
*ทำไมถึงทำเพลงที่มีแต่ภาษาอังกฤษ มองข้ามกลุ่มคนฟังคนไทยไปแล้วหรือ?
“ไม่ได้มองข้าม” ปราบดาตอบคำถามก่อนเล่าต่อว่า เขาคิดถึงหลายๆ ปัจจัย คือคิดว่าในประเทศไทยถึงเราจะแต่งเพลงเป็นภาษาไทยกลุ่มคนฟังของเราคงไม่ได้เยอะ ไม่ได้มีเป็นแสน ผมเลยตั้งคำถามกับตัวเองว่าเราทำออกมาทำไม ถ้าเราทำออกมาแค่ขายเล่นๆ อาจแค่นำเดโมที่ หนุ่ม-ภราดร สุขสิงห์ ผู้ดูแลเสียงดนตรีและท่วงทำนองของอัลบั้ม นำไปใส่เสียงร้องแล้วก็เอาไปฝากขายแผ่นละ 100บาท ปั๊มสัก 1,000 แผ่น แบบนี้คงพอได้ ในตอนแรกก็ไม่ได้ปฏิเสธแนวทางนี้ แต่พอคิดไปคิดมาผมก็มีงานอยู่ที่ญี่ปุ่น มีคนที่ดูแลงานให้อยู่ที่นั่น ในต่างประเทศก็รู้สึกว่าเราสามารถสื่อสารกับเขาได้ เลยจริงจังกับมันมากขึ้นอีกนิด คือเราคงไม่ได้จริงจังขนาดจะมีคอนเสิร์ต ออกรายการทีวี แต่คงจริงจังในแง่การกระจาย คิดว่าถ้าทำเป็นภาษาอังกฤษน่าจะสามารถกระจายไปได้ในหลายๆ ประเทศ
*สมมติว่าพรุ่งนี้คุณเดินไปพันธุ์ทิพย์แล้วเห็นอัลบั้มของคุณ ถูกสำเนาออกมาวางเกลื่อน?
คงจะรู้สึกภูมิใจมาก ปราบดาและหนุ่มตอบคำถามปนรอยยิ้ม เพราะมันเป็นเพลงภาษาอังกฤษทั้งหมด คิดว่ายังไงกลุ่มคนฟังในไทยคงไม่ได้เยอะมาก ถ้าสมมติเขาไรต์ไป แล้วเอาซีดีวงไต้ฝุ่นแบนด์ไปวางข้างๆ กับ วง Weezer อะไรอย่างนี้มันก็คงเท่ห์ดี คือผมไม่ได้คิดว่าจะเสียหายอะไรมากกับการที่คุณเอาไปทำเป็น mp3 เพราะเราไม่ได้ทำอุตสาหกรรมแบบค่ายเพลงยักษ์ใหญ่ที่อาจจะเสียหายเป็นล้าน สำหรับเราถ้ามันเสียหายเป็นพัน มันคงไม่ได้กระทบกระเทือนอะไรมาก บางทียังคิดอยากจะทำแจกเลย สำหรับคนเล็กๆ ยิ่งเพลงได้แพร่กระจายออกไป คนยิ่งฟังมากยิ่งดีใจ เพราะว่าตรงนี้ได้กำไรน้อยอยู่แล้ว
*ทำไมไม่ลองเผยแพร่ผลงานในแบบที่วง Radiohead แบบที่เปิดให้แฟนเพลงดาวน์โหลดได้ฟรี หรือจ่ายเงินเท่าที่เขาอยากจะจ่ายให้?
กับประเด็นนี้ กระชาย-จตุรวิธ ฉัตตะละดา แห่งวงเดธ ออฟ อะ เซลส์แมน โปรดิวเซอร์ร่วม ให้ความเห็นว่าวิธีการนั้นอาจจะเหมาะสมกับวง Radiohead แต่ไม่น่าจะเหมาะกับวงเรา เพราะของเขามียอดจำหน่าย มีแฟนเพลง คือเขาเป็นที่รู้จักแล้ว จึงสามารถสร้างกระแสตรงนี้ได้ง่าย
ปราบดาเสริมว่าพอเกิดกระแสตรงนี้แล้ว คนที่ซื้อซีดีของเขาจริงๆ ก็อาจจะลดลงเพราะสามารถหาดาวน์โหลดได้ แต่สำหรับแฟนเพลงที่ชื่นชอบวงนี้จริงๆ ทางวงก็ต้องมีอัลบั้มออกมาเพื่อคนกลุ่มนี้ ส่วนกลุ่มที่อยากดาวน์โหลดก็ดาวน์โหลดไป
*แสดงว่าไม่ได้มองการดาวน์โหลดในลักษณะนี้ว่าเป็นสิ่งที่ผิด?
มันเหมือนกล้าชนมากขึ้น แบบถ้าเก่งจริงเดี๋ยวคนฟังก็ซื้อผลงานเขาเอง กระชายให้ความเห็น
ในแง่หนึ่งมันคล้ายๆ กับเป็นทางเลือกให้คนได้ทดลองฟังก่อนซื้อ ถ้าเขาฟังแล้วชอบเดี๋ยวเขาก็ซื้อ ปราบดาร่วมสนับสนุน
*มองวงการดนตรีนอกกระแสของบ้านเราอย่างไร?
เราต้องยอมรับความจริงอันหนึ่งว่าเพลงป็อปหรือเพลงร่วมสมัยของบ้านเรานั้นเป็นวงการที่ได้รับอิทธิพลมาจากต่างประเทศ เจ้าสำนักหนังสือและเสียงเพลงกล่าว ก่อนเล่าต่อ
บ้านเราไม่เคยมีวิวัฒนาการของตัวเราเองที่เป็นขั้นตอนอย่างชัดเจน มันอาจจะมีบางช่วงที่เพลงนอกกระแสมีความน่าสนใจมาก เช่น ในยุคหนึ่งเพลงเพื่อชีวิต เพลงเฮฟวี่เมทัล ฮิปฮอปมันก็เป็นเพลงนอกกระแส ซึ่งได้รับอิทธิพลมาจากต่างประเทศทั้งนั้น เราไม่ได้มีวิวัฒนาการทางประวัติศาสตร์อย่างชาวต่างชาติ ไม่มีเหตุผลของการเกิดขึ้นจากวัฒนธรรมหรือสังคม ประเทศทางตะวันตกความเคลื่อนไหวบางอย่างมันเป็นแรงกระทบที่มาจากการเมือง หรือจากสภาพสังคมของเขา
แต่ว่าของเราเลือกหยิบเฉพาะแฟชั่นมาสานต่อ อาจรู้สึกว่ามันเป็นอะไรที่ใหม่และแหวกแนว เป็นสิ่งที่เดิร์นมาก แต่ความจริงแล้วเรารับของเขามาอีกทีโดยที่เราไม่ได้มีอารมณ์ร่วมอย่างที่เขาต้องการเสนอ เราเอามาปรับใช้กับบ้านเราเองซึ่งส่วนใหญ่ก็จะเป็นแนวป็อปอยู่ดี เพลงทั้งกระแสหลักและกระแสรองจะมีเนื้อหาคล้ายๆ กัน แยกแยะไม่ค่อยได้ จะบอกว่าเพลงนอกกระแสของไทยเป็นเพลงที่ไม่เกี่ยวกับความรักมันก็ไม่ใช่ เพราะส่วนใหญ่ก็ยังเกี่ยวกับความรัก อาจจะเป็นที่ลักษณะการเรียบเรียงดนตรีที่แตกต่างไปจากสูตรเดิมๆ ของค่ายใหญ่
ในบางครั้งเราใช้คำว่านอกกระแสเพียงเพราะว่าเขาไม่ได้สังกัดกับค่ายใหญ่ ทำออกขายเอง ทำแบบเฉพาะกิจ แต่ความจริงแล้วในต่างประเทศคำว่านอกกระแสมันมีความหมายถึงเนื้อหา อะไรที่แปลกๆ ที่มีเนื้อหาไม่เฉพาะเจาะจงว่าต้องการที่จะสื่อสารกับคนจำนวนมาก มันก็คือดนตรีนอกกระแส เพลงนอกกระแสของต่างชาติจึงมีคุณสมบัติที่ฟังยากกว่าเพลงนอกกระแสของไทย จริงๆ แล้วเพลงนอกกระแสของไทยมีอยู่ทุกแนวแต่มันเป็นนอกกระแสทางเทคนิคมากกว่า มันไม่ใช่ทาง Attitude ทางประเด็นที่ต้องการเสนอ
พูดง่ายๆ ว่าบ้านเรามีความเป็นพังก์ทางดนตรีน้อยมาก เราอยู่กันแบบประนีประนอม ส่วนใหญ่คนที่ทำงานศิลปะต้องการจะทำงานเพื่อที่จะได้ก้าวไปสู่จุดสูงสุด มีน้อยคนที่ยืนยันจะต่อต้านกระแส แบบเป็นขบถไปเรื่อยๆ นั่นคือประเด็นสำคัญ บ้านเราที่เริ่มออกนอกกระแสเพราะไม่มีปัญญาจะเข้าไปในกระแสหลัก มองง่ายๆ เลยพอดังขึ้นมาหรือมีแฟนเพลงมากขึ้นก็มักจะเขยิบไปสู่กระแสหลักกันหมด
ปริญญ์คู่หูโปรดิวเซอร์กล่าวเสริมว่า ในความรู้สึกของผมซึ่งมันอาจไม่ได้ถูกต้องก็ได้ ผมว่ามันเหมือนได้พ้นยุคที่ดียุคหนึ่งมาแล้ว รู้สึกว่าตอนนี้มันมีการกระจายตัวที่มากเกินไป ทำให้ดูเหมือนมันมีอะไรที่ไม่เคลื่อนไหวอยู่ทั้งๆ ที่ดูแล้วเหมือนจะมีความเคลื่อนไหวที่เยอะ มันคงกำลังรอการอิ่มตัวเพื่อที่จะได้ผ่านไปสู่ยุคถัดไป อย่างในยุคนี้คนจะเน้นไปที่ Myspace เยอะ ไม่รู้ว่าผมโบราณไปแล้วหรือเปล่า แต่ผมมองว่าวงดนตรีตอนนี้มันเยอะเกินไป การทำดนตรีในปัจจุบันนี้มันขาดการกลั่นกรอง หรือเน้นกับมันอย่างจริงจัง ทำเสร็จปุ๊บก็อัปโหลดขึ้นเว็บเลย ผ่านไปสักพักคนวงนี้ก็ไปรวมตัวกับคนวงนั้น อีกเดี๋ยวก็มารวมตัวกับวงนี้อีกแล้ว จากนั้นก็มีการแสดงสดเล็กๆ กันซึ่งมันก็ไม่ได้ผิดอะไร แต่มันดูเหมือนไม่ได้เน้นกับตัวงาน ผิดกับเมื่อก่อนที่ทำงานกันเน้นมากๆ ทำตามระบบทุกอย่าง แต่ตอนนี้กลับเน้นแค่เร็ว เลยดูเหมือนว่าไม่ได้เกิดการพัฒนาอะไร มีเยอะแยะไปหมด แต่คุณภาพอาจจะยังไม่ถึง
สำหรับผม ผมมองว่ามันหลากหลายขึ้น ทำให้คนฟังมีทางเลือกเยอะขึ้น คนจะรวมตัวกันไปตามกลุ่มย่อย ตามความชอบของตัวเองกันมากขึ้น กระชายกล่าวถึงข้อดีในอีกแง่มุมหนึ่ง
*เป็นไปได้ไหมว่าวัฒนธรรมหรือสังคมเรามีส่วนบีบทำให้เหลือคนทำงานศิลปะแค่ส่วนน้อยที่ยังดิ้นรนอยู่?
ก็เป็นไปได้เพราะพวกที่เป็นขบถอยู่นอกกรอบนอกกระแสจริงๆ พอทำไประยะหนึ่งมักจะรู้สึกท้อแท้ จะรู้สึกเหมือนทำอยู่คนเดียว บางช่วงก็เหมือนจะมีคนทำเยอะเพราะกระแสมันมา อย่างตอนกระแสอินดี้มาแรงจะรู้สึกเหมือนกับว่ามีคนร่วมมือกันเยอะมาก แต่พอผ่านไปสักระยะหนึ่งคนเหล่านั้นก็จะปรากฏกายตัวจริงออกมาว่าเขาแค่มาร่วมขบวนแป๊บเดียวแล้วจากไป ฉะนั้นคนที่เป็นตัวจริงก็จะเหลือน้อย เขาก็ท้อแท้เกิดความรู้สึกว่าไม่รู้จะทนทำไปทำไม ปราบดากล่าว
*กระแสการ Cross ข้ามทางงานศิลปะ อย่างกรณีพ็อกเก็ตบุ๊กที่มีซีดีเพลงประกอบ คิดอย่างไรกับกระแสนี้ มันเป็นเทรนด์ที่กำลังมาหรือเปล่า?
ในประเด็นนี้ปราบดามองว่า น่าจะเป็นคนกลุ่มน้อยมากที่ตามสิ่งเหล่านี้ เพราะว่าการข้ามลักษณะนี้มันมีน้อยคนที่จะทำ หนังสือที่มีซีดีแถมมาด้วยมักจะไม่ค่อยประสบความสำเร็จ เพราะว่าคนที่เขาอยากอ่านหนังสือเขาก็จะสนใจแต่หนังสือ มันแปลกที่จะต้องเอาซีดีมาฟังคู่ไปด้วย มันแยกแยะยาก หรืออย่างคนที่ชอบฟังเพลงเขาก็จะให้คุณค่ากับเพลงหรือซีดี เขาก็คงอยากได้ซีดีกับกล่องซีดีมากกว่า ฉะนั้นการข้ามแบบนี้บางทีมันก็เป็นการทดลองที่น่าสนใจ แต่ก็อาจไม่ได้ผล
อย่างกรณีของนวนิยายชิทแตกที่มาพร้อมอัลบั้มชิทแตกของบัวหิมะนั้น โชคดีที่ชิทแตกไม่ได้เป็นลักษณะซีดีอยู่ในหนังสือ คือมันจะแยกออกจากกัน มีการทำเอ็มวี มีการโปรโมตค่อนข้างเยอะ มันก็เลยได้กลุ่มคนที่ฟังเพลงจริงๆ ด้วย ตอนนั้นมันก็เลยโอเค
ในต่างประเทศก็มีกรณีอย่างนี้บ้าง แต่ส่วนใหญ่เขาไม่ได้ใช้เพื่อจุดประสงค์แบบนี้ จะเป็นแบบนักดนตรีหรือพวกนักแต่งเพลงที่เขาสนใจอ่านวรรณกรรม เขาก็จะออกซีดีของเขาให้คล้ายกับหนังสือที่เขาชื่นชม
*ถ้าอยู่ๆ กระทรวงวัฒนธรรมออกมากล่าวหาว่าเพลงของคุณฟังแล้วหม่นหมอง ทำให้คนคิดอยากฆ่าตัวตาย?
ในจำนวนคนที่ฟังแล้วฆ่าตัวตายก็อาจจะมีคนชั่วๆ ที่สมควรตายอยู่แล้ว อาจจะเป็นข้อดีก็ได้ ปราบดาตอบกลั้วเสียงหัวเราะ คือว่าถ้าถึงขนาดนั้นจริงๆ ผมว่าสังคมคงน่าเป็นห่วงมากแล้ว ถ้าเกิดเหตุการณ์คนฟังเพลงแล้วฆ่าตัวตายกันกระหน่ำ หรือกระทรวงวัฒนธรรมมาแบนเพลงของเราจริงๆ ทั้งสองอย่างนี้คงเป็นเรื่องที่น่าเศร้าพอๆ กัน มันดูเป็นสังคมที่มีปัญหาในแง่ของการปกครองและคนที่อยู่ในสังคม คนที่ปกครองก็ไม่ได้มีความเข้าใจเกี่ยวกับวัฒนธรรมและศิลปะเลย ในขณะที่คนในสังคมที่แค่ฟังเพลงก็ฆ่าตัวตาย ก็คงเป็นคนที่ไม่มีวิจารณญาณในสื่อศิลปะ ไม่มีความเข้มแข็งเพียงพอที่จะใช้ชีวิตในโลกแห่งความเป็นจริงได้ ก็เป็นเรื่องที่น่าเศร้า
ผมว่าในยุคสมัยนี้กลุ่มคนที่มีหน้าที่ปกครองประเทศมีความรู้ด้อยกว่าประชาชนทั่วไป แล้วสิ่งที่ทำหรือกฎหมายข้อบังคับที่ออกมาก็ดูเป็นการเปลือยความเป็นคนไร้สมรรถภาพของเขาออกมา ปัญหามันอยู่ที่ว่าเราในฐานะประชาชนจะรับได้ในจุดไหน เพราะว่าความจริงแล้วคนที่รู้ผิดชอบคือฝ่ายประชาชนทั้งหมด พวกที่เป็นรัฐบาล พวกที่ออกกฎต่างๆ เป็นพวกที่ไม่รู้จะใช้คำไหนนิยามให้ดี งี่เง่าแล้วกัน คือไม่มีทั้งความรู้ความเข้าใจอะไรเลย แต่ก็อยากที่จะมาปกครอง มันก็อาจจะดีในแง่ที่ถ้ามันถึงจุดที่บีบคั้นมากๆ ที่ทำให้สังคมของเรามีการเปลี่ยนแปลง ซึ่งแรงกดดันตอนนี้มันมีอยู่แล้ว ทางการเมืองก็มีแสดงให้เห็นชัดเจนมากว่าการเมืองที่ผ่านมาจนถึงวันนี้ มันใช้ไม่ได้แล้ว มันสร้างความไม่น่าเชื่อถือให้กับคน ให้แก่ประเทศอย่างมาก แล้วประชาชนก็สับสนว่าประเทศเราเป็นอะไรกันแน่ เร็วๆ นี้น่าจะหมดยุคเก่าๆ แล้วแต่เราเองก็ยังไม่รู้ว่ามันจะปฏิวัติไปสู่ยุคอะไรต่อไป
*กรณีสถานีวิทยุนอกกระแสในบ้านเราที่เป็นทางเลือกใหม่ๆ ที่มีจำนวนไม่มาก บางคลื่นก็ถูกปิดไป คิดอย่างไรกับประเด็นนี้?
คุณหนุ่มผู้ดูแลดนตรีของอัลบั้มกล่าวว่า เขาเองก็เคยฟังคลื่น The Radio มาก่อน จะชอบฟังช่วงป้าแต๋ว หรือ ดีเจวาสนา วีระชาติพลี ซึ่งถือเป็นดีเจระดับตำนานของเมืองไทย ผมรู้สึกเสียดายมากๆ ที่มันต้องปิดตัวไปเพราะนอกจากจะไม่ได้ฟังเพลงดีๆ อีกต่อไปแล้ว ความรู้ ข้อมูลดนตรีที่เขาเคยได้รับก็จะขาดหายไปด้วย
คิดว่าปัญหาที่น่าเป็นห่วงคือคนฟังเพลงของเราจะไม่ได้รับความรู้ ความจริงมันไม่ใช่เรื่องของดนตรี เรื่องค่ายเพลง หรือโฆษณา เพราะผมไม่ได้ต่อต้านอะไรเป็นพิเศษ การที่ไม่มีคลื่นวิทยุที่หลากหลาย ไม่มีเพลงที่มาจากหลายๆ ยุคหลายๆ สมัย หรือเพลงแปลกๆ ที่ไม่ได้รับการโปรโมต มันคือการขาดความรู้ อย่างตัวผมเองได้รู้จักเพลงดีๆ จากการที่มีดีเจดีๆ ทำหน้าที่ป้อนความรู้ให้ แต่ก่อนเวลาฟังวิทยุจะมีบางรายการที่เขาหยิบแผ่นจากยุค 50 ยุค 70 มาเปิด กรณีนี้มันไม่เกี่ยวข้องกับอุตสาหกรรมดนตรี ไม่มีการจ่ายเงินโดยค่ายไหน ดีเจจึงมีอิสระในการเปิดเพลงเต็มที่ เราก็เลือกฟังได้ตามแนวทางที่สนใจ แต่ในยุคนี้สิ่งเหล่านั้นค่อนข้างจะหายไปหมดแล้ว ซึ่งก็แปลว่าคนฟังจะได้ฟังแต่เพลงเดิมๆ ที่เปิดเพราะมีการจ่ายเงิน มันก็จะไม่มีความรู้ ไม่มีใครรู้อีกต่อไปแล้วว่าเพลงยุค 70 มันมีอะไรบ้าง คนที่สนใจดนตรีก็จะไม่มีทางออกนอกจากจะต้องหันไปฟัง mp3 หรือเล่นอินเตอร์เน็ต ซึ่งก็ไม่รู้จะทำยังไง ปราบดาทิ้งท้ายในประเด็นดังกล่าว
******************
เรื่อง – วัลย์ธิดา วุฒิยาภิราม