จอเช็กเกอร์สกรีนยังคงปล่อยภาพและเสียงของศิลปินสุดฮอตอย่างต่อเนื่อง หลายชีวิตใน “สยามสแควร์ซอย 7” ดำเนินไปตามปรกติ ยกเว้นความเปลี่ยนแปลงมโหฬารบริเวณลานน้ำพุ “เซ็นเตอร์พอยท์” ซึ่งถูกแทนที่ด้วยเมกะโปรเจ็กต์ “ดิจิตอล ซิตี” ที่ใช้งบประมาณในการลงทุนสูงถึง 289 ล้านบาท...
เมื่อพื้นที่เล็กๆ เฉพาะตัว ของวัยรุ่นเมืองกรุง จำต้องเคลื่อนย้ายไปสู่ห้างสรรพสินค้าเซ็นทรัลเวิลด์หลังจากสิ้นสุดสัญญาเช่าเมื่อปลายปี 2550 ส่งผลและสะท้อนถึงอะไรบ้างในย่านศูนย์การค้าเชิงราบที่ทรงอิทธิพลและมีเม็ดเงินสะพัดมหาศาล อย่าง “สยามสแควร์” แห่งนี้
จำเป็นต้องมีใครรับผิดชอบ และให้คำตอบแก่เด็กสยามฯ หรือไม่? ต่อการจากไปของพื้นที่ซึ่งครั้งหนึ่ง “อัตลักษณ์” หรือตัวตนอันเป็นเอกลักษณ์ในยุคสมัยของพวกเขาได้ก่อกำเนิดขึ้น ทั้งยืนหยัดแข็งแรงตลอดระยะเวลาเกือบทศวรรษ...ก่อนพบการเปลี่ยนผ่านครั้งสำคัญ
เสียงเล็กๆ ของพื้นที่เล็กๆ
“ไม่เข้าใจจริงๆ ทำไมต้องมาทำตรงนี้ ทุนนิยมเกินไปหรือเปล่า? ศูนย์ไอที ศูนย์ดิจิตอลมันมีมากเกินไปแล้ว ไปประตูน้ำก็เจอ ไปที่ไหนๆ ก็เจอ ควรมีพื้นที่สำหรับพวกเราบ้าง ไม่ใช่คิดแต่เรื่องการค้า คิดแต่จะขายของ” ดิ๋ง-ณัฐพล สกุลมณียา นักศึกษาปวส. ปี 2 สาขาการตลาด โรงเรียนศรีวกรม์บริหารธุรกิจ วัยรุ่นคนหนึ่งที่ผูกพันกับเซ็นเตอร์พอยท์แห่งสยามฯ เอ่ยความในใจอย่างทดท้อและเอือมระอา
สำหรับดิ๋ง เซ็นเตอร์พอยท์ เป็นสถานที่ที่เขาและเพื่อนๆ มาพบปะกันได้ โดยไม่จำเป็นต้อง “ซื้อ” หรือ “จ่าย”
“มันเป็นที่ที่เราไม่จำเป็นต้องซื้ออะไรเลย แค่นัดมาเจอกัน แล้วจะมานั่งพูดคุย ติวหนังสือกันนานแค่ไหนก็ได้ แต่พอเซ็นเตอร์พอยท์ถูกย้ายไปไว้ที่เซ็นทรัลเวิลด์ ผมว่าบรรยากาศมันก็หายไป มันไม่ได้อารมณ์เหมือนอยู่ลานน้ำพุที่สยามฯ เพราะมันก็กลายเป็นการเดินห้าง มันไม่สะดวก นั่งไม่ได้นานๆ คงไม่พ้นต้องซื้อ ต้องจ่ายถ้าจะไปนั่งตรงไหน ร้านไหน”
ครั้งแรกที่รู้ว่าเซ็นเตอร์พอยท์ปิดตัวเองลง ดิ๋งบอกว่าเขาอึ้งด้วยคิดไม่ถึง และอึ้งยิ่งกว่านั้นเมื่อเห็นว่า พื้นที่ดังกล่าว กลายเป็น “การค้า” เต็มรูปแบบ ‘ทำไมต้องทำอะไรขนาดนี้?’ คือความรู้สึกของเขาเมื่อได้เห็นว่าบริเวณของเซ็นเตอร์พอยท์ในอดีต กำลังอยู่ในระหว่างก่อสร้าง “เมืองดิจิตอล”
“พูดถึงสยามสแควร์ ใครๆ ก็นึกถึงเซ็นเตอร์พอยท์ ไม่มีเซ็นเตอร์พอยท์ มันก็เหมือนไม่ใช่สยามสแควร์ชาวต่างชาติที่เขามาเมืองไทย ถ้าอยากรู้ว่าตอนนี้วัยรุ่นเมืองไทยฮิตอะไร ก็ต้องมาที่นี่”
คำพูดของดิ๋ง ตอกย้ำให้ภาพความเป็น Trend Setter หรือ Tasting Center of Teen ของ เซ็นเตอร์พอยท์ชัดเจนขึ้น สมดังคำกล่าวขานที่ค่อยๆ ก่อตัวขึ้นกระทั่งกลายเป็นวัฒนธรรม และค่านิยมในหมู่วัยรุ่นว่า หากใครอยากอินเทรนด์ไม่มีเอาต์ มาสำรวจกระแสล้ำเกินหน้าใครๆ ได้ที่นี่
แต่ทว่า...“ทุกวันนี้ เวลารวมตัวหรือนัดเจอกัน พวกผมก็ต้องไปนั่งแอบๆ อยู่ตรงหัวมุมของร้านไอศครีมแถวนั้น ”
ยุคเฟื่องฟูของวัยรุ่นเซ็นเตอร์พอยท์ กลายเป็นอดีตไปแล้ว?
เสน่ห์สยามฯ แม้ไร้เงาเซ็นเตอร์พอยท์
“จริงๆ แล้วสยามสแควร์มันก็ยังอยู่ของมันต่อไปได้นั่นแหละ เพราะที่นี่คือ ‘แฟชั่น’ แต่เซ็นเตอร์พอยท์ก็เป็นที่ที่มีเสน่ห์ เหมือนเป็นแหล่งรวมตัวของเด็กวัยรุ่น ตอนนี้พวกเด็กๆ เขาก็คงเหงา เพราะเซ็นเตอร์พอยท์มักจะมีกิจกรรมสนุกๆเยอะแยะ ”
“ไม่มีเซ็นเตอร์พอยท์ วัยรุ่นคงรวมตัวกันยากขึ้น เขาอาจรู้สึกเหมือนอะไรบางอย่างขาดหายไป เพราะปรกติแล้วมันคือสถานที่นัดพบ เป็นที่ๆพวกเขาจะมาเจอกัน”
แม้ลานน้ำพุอันเป็นทั้งสัญลักษณ์และแหล่งพบปะสำคัญของวัยรุ่นสยามสแควร์ จะกลายเป็นเพียงอดีต แต่ความเห็นของ เจน พนักงานสาวสวยประจำร้านกิ๊ฟท์ช้อปแห่งหนึ่งในสยามฯ และ อัญรา เอกมั่น เจ้าของแกเลอรี่ชื่อแปลก อย่าง ART GORILLAS ที่ตั้งอยู่บนชั้น 2 ของโรงหนังลิโด้ ก็ยากจะปฏิเสธ
หาไม่ พื้นที่ราว 60 ไร่ ของสยามสแควร์ คงไม่ผ่านร้อนผ่านหนาว ยืนหยัดมาได้ยาวนานนับ 40 ปี ในอาณาบริเวณกว้างขวางนั้น จึงมิใช่เพียงพื้นที่ 1 ไร่เศษของเซ็นเตอร์พอยท์ที่ได้ครองความเป็น “สัญลักษณ์” ของสยามสแควร์ ที่นี่ยังมีเสื้อผ้าดีไซน์เก๋ เท่ห์ เฉพาะตัว แฟชั่นแนวสตรีท อาร์ต โดยนักออกแบบรุ่นใหม่ , ร้านเทป-ซีดี เก่าแก่อย่างโดเรมี,ดีเจสยาม ที่คุณภาพของสินค้าและความรอบรู้ของพนักงานร้านเป็นที่ยอมรับ, มีโรงภาพยนตร์คุณภาพที่คอหนังนอกกระแสต่างยกนิ้วให้ อย่าง สยาม ลิโด้ และสกาล่า โดยเฉพาะลิโด้ ชั้นล่างของโรงหนังยังคับคั่งไปด้วยร้านเสื้อผ้านำแฟชั่น ที่ต่อรองราคาได้อย่างสนุก ชั้นบนยังมีคาเฟ่ให้นั่งเล่นเพลิดเพลินอารมณ์ มีแกเลอรี่เล็กๆ อย่าง White Space และ ART GORILLAS ตั้งอยู่ติดกันเพื่อเปิดโอกาสให้ศิลปินรุ่นใหม่ได้อวดฝีมือกันเต็มที่ ยังไม่นับสถาบันกวดวิชา ร้านอาหารขึ้นชื่อ ร้านถ่ายภาพ และร้านสินค้าแฟชั่นนำกระแสอีกนับไม่ถ้วน
“สยามสแควร์ ไม่ได้มีแค่เซ็นเตอร์พอยท์ แต่มันกว้างใหญ่ และมีอะไรมากกว่านั้น”
ราวกับว่าคำพูดสั้นๆ ของคุณป้าผู้ดูแลร้าน ‘โดเรมี’ หรือที่ใครๆ มักเรียก “ป้าโด” ช่วยวาดให้เห็นภาพลมหายใจของสยามสแควร์ ในวันไร้เงาเซ็นเตอร์พอยท์ ได้อย่างครอบคลุมพื้นที่ทั้ง 60 กว่าไร่
อัตลักษณ์วัยมันส์ เกมปั่นราคา?
และเพราะคำพูดประโยคเดียวกันของ “ป้าโด” นั่นเอง ที่ทำให้เราอดคิดไม่ได้ว่า อีกนัยหนึ่ง สยามสแควร์ ก็ยังมีและเป็นอะไรมากกว่านั้นจริงๆ
มิพักต้องพูดถึงค่าเช่าระดับ “ขูดเลือดขูดเนื้อ” ซึ่งเจ้าของพื้นที่อย่างสำนักงานจัดการทรัพย์สินจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย เคยขึ้นค่าต่อสัญญาเซ้งอาคารในฐานราคาที่สูงกว่าเดิมถึง 600 % เมื่อปี 2548 โดยให้เหตุผลว่าไม่ได้ขึ้นราคามานานนับสิบปี ,เพื่อนำงบประมาณที่ได้ไปพัฒนาการศึกษาภายในมหาวิทยาลัย และเพื่อปรับปรุงพื้นที่สยามสแควร์ให้มีความทันสมัยมากขึ้น เป็นการปรับตัวและเตรียมรับมือกับห้างสรรพสินค้าอย่างสยามพารากอนที่กำลังดำเนินการสร้างอยู่ในขณะนั้น พ่วงด้วยอีกเหตุผลสำคัญ คือ ควบคุมจัดการค่าเช่าช่วงจากผู้เซ้งอาคารที่นำไปให้ผู้เช่ารายอื่นๆ เช่าต่อในราคาสูง ภายใต้ความเคลือบแคลงกังขาของผู้ประกอบการรายย่อยในสยามสแควร์ และคนในสังคม ถึงมาตรฐานการดูแลรับผิดชอบในพื้นที่ และเหตุผลที่ฟังไม่ขึ้นเท่าใดนัก
เนื่องจากสยามสแควร์มีกลุ่มเป้าหมายที่ชัดเจนและแตกต่างจากสยามพารากอน ทั้งการเช่าช่วงต่อก็เป็นธรรมชาติของการเซ้งตึกแถวที่ผู้เซ้งต้องการความแน่นอนในระดับหนึ่ง เพื่อลดความเสี่ยงหากกิจการไปไม่รอด กระนั้น หากมีการเช่าช่วงต่อในราคาที่ไม่ชอบธรรมเกิดขึ้นจริงๆ กระทั่งสำนักงานจัดการทรัพย์สิน จุฬาฯ จำต้องเข้ามาควบคุม ราคาค่าเช่าที่สูงจนน่าตกใจก็ทำให้เกิดการวิพากษ์ในวงกว้างว่า สำนักงานจัดการทรัพย์สินฯ อาจต้องการกินรวบเสียเอง
ประมาณการณ์ว่า นับจากปี 2548 ที่ขึ้นค่าเช่า ถึงปี 2553 เม็ดเงินที่จุฬาฯ ลงกรณ์มหาวิทยาลัย ได้รับจากศูนย์การค้าสยามสแควร์ จะมีมูลค่าสูงถึงหกพันล้านบาท
ย้อนไปก่อนหน้านั้น 7 ปี บริษัทพรไพลิน ดีเวลลอปเมนท์ ได้รับอนุมัติจากสำนักงานทรัพย์สินจุฬาฯ ให้เข้ามาพัฒนาพื้นที่ลานกว้าง 1 ไร่เศษ ให้เป็นศูนย์รวมของเหล่าวัยรุ่น ซึ่งก็คือบริเวณ ลานน้ำพุ เซ็นเตอร์พอยท์ นั่นเอง เทรนด์ เซ็ตเตอร์ ได้เริ่มต้นขึ้นนับแต่วันนั้น
กิจกรรมต่างๆ ทั้งที่เป็นไปอย่างสร้างสรรค์ และโปรโมชั่น-แคมเปญเปิดตัวสินค้า ที่หวังเจาะตลาดคนรุ่นใหม่ต่างมุ่งตรงมาที่นี่ตลอดระยะเวลาที่ เซ็นเตอร์พอยท์ ดำรงอยู่ ควบคู่ไปกับที่ทางความเป็น “อัตลักษณ์” ที่วัยรุ่นสยามฯ สามารถผลักดันให้เติบโตขึ้น
ภายใต้วิสัยทัศน์แบบพ่อค้าหัวใส ซึ่งเล็งเห็นว่า ตลอดระยะเวลา 9 ปี ที่เซ็นเตอร์พอยท์ดำรงอยู่ ได้ปั่นราคาให้พื้นที่บริเวณนี้เพิ่มสูงขึ้นด้วยสถานะความเป็น Tasting Center of Teen กล่าวให้ชัดกว่านั้น บริเวณดังกล่าว ถูกเปรียบให้เป็น “ไข่แดง” ของสยามสแควร์ไปแล้ว
การหมดสัญญาเช่าของเซ็นเตอร์พอยท์ แล้วถูกแทนที่ด้วยเมกะโปรเจกต์ของบริษัททุนจดทะเบียน 2,000 ล้านบาท อย่าง TCC LAND ภายใต้การคุมบังเหียนของ เจริญ สิริวัฒนภักดี เพื่อพัฒนาเป็น Walking Street Mail เมืองดิจิตอลสุดล้ำยุค มีดิจิตอล เกตเวย์ เชื่อมต่อกับสถานีรถไฟฟ้า
คนเล็กๆ ที่ได้แต่รวมตัวกันจนทำให้พื้นที่ดังกล่าวกลายเป็น “ไข่แดง” ก่อนจะสูญเสียพื้นที่นั้นไปอย่างไม่รู้อิโหน่อิเหน่ คงทำได้แค่มองตาปริบๆ คอยเดินหลบสิ่งกีดขวางบริเวณก่อสร้าง แล้วไปนั่งแอบๆ อยู่ตามมุมร้านไอศกรีม หรือมุมเล็กๆ ที่ไหนสักแห่ง
ถ้ามันจะพอมีเหลืออยู่บ้าง โดยไม่ต้อง “ซื้อ” หรือ “จ่าย” แม้สักแดงเดียว
...
เรื่อง : รพีพรรณ สายัณห์ตระกูล
ข้อมูลอ้างอิง
Positioning Magazine ฉบับเดือนตุลาคม 2550