xs
xsm
sm
md
lg

เสกแก้วให้เป็นศิลป์

เผยแพร่:   โดย: MGR Online


แม้จะคว้าเกียรตินิยม จากสาขาออกแบบตกแต่งภายใน คณะสถาปัตยกรรมศาสตร์ สถาบันเทคโนโลยีพระจอมเกล้าเจ้าคุณทหารลาดกระบัง แต่หนุ่ม เจิ้น – ประพัทธ์ จิวะรังสรรค์ ก็ไม่คิดเอาดีกับอาชีพมัณฑนากร

หลายปีที่ดั้นด้นตามหาในสิ่งที่ตัวเองรักและอยากจะทำ ที่สุดเจ้าตัวก็พบว่าอาชีพ นักออกแบบแก้ว (Glass Design) คืออาชีพที่ต้องจริต พร้อมกันนั้นได้ปูทางสู่การเป็น ศิลปินแก้ว (Glass Artist) ในเวลาต่อมา

หลายสิ่งในชีวิตเกิดขึ้นเพราะความบังเอิญ เช่นเดียวกับเจิ้น ก่อนที่จะจับพลัดจับผลูมาเป็นนักออกแบบแก้ว เขาตกหลุมรักงานทางด้านเซรามิกมาก่อน เพราะในช่วงเวลาที่จากเมืองไทยไปเรียนภาษาที่ประเทศสหรัฐอเมริกา ได้มีโอกาส รู้จักกับศิลปินที่ทำงานทางด้านเซรามิก และศิลปินผู้นั้นได้ถ่ายทอดความรู้ให้กับเขาในช่วงระยะเวลาสั้นๆที่อยู่ที่นั่น

ความสนุกจากการเรียนรู้ เมื่อกลับมาเมืองไทย จึงพาตัวเองไปฝากตัวเป็นลูกศิษย์ รองศาสตราจารย์สมถวิล อุรัสยะนันท์ ศิลปินแห่งชาติ ประจำปี พ.ศ. 2549 สาขาทัศนศิลป์ (การออกแบบอุตสาหกรรม) คลุกคลีอยู่กับการสร้างสรรค์ผลงานบนแป้นหมุนอยู่ราวสองปี

จึงมุ่งไปเรียนต่อด้านเซรามิกที่ Central saint martin college of the arts London แต่ก็ต้องผิดหวังเพราะช่วงเวลานั้น วิชาที่มุ่งมั่นอยากจะเรียนไม่มีคอร์สเปิดสอน มีก็แต่วิชาด้านการออกแบบแก้วเท่านั้น ที่อาจารย์ฝรั่งยินดีต้อนรับเข้าเรียน ถ้าหากว่าเขาจะสนใจ

เพราะไม่อยากกลับมาตั้งหลักใหม่ที่เมืองไทย เจิ้นจึงลงเรียนวิชาด้านการออกแบบแก้วด้วยความจำใจ และปลอบใจตัวเองว่าอาจจะได้เรียนรู้อะไรใหม่ๆ และนำไปปรับใช้กับสิ่งที่อยากจะทำได้บ้าง

“พอได้ไปดูผลงานของนักเรียนรุ่นก่อนๆ มีความรู้สึกว่ามันน่าสนใจดีเหมือนกัน และคิดว่ามันน่าจะไม่ยากเหมือนการทำเซรามิกมั้ง เพราะช่วงที่เรียนเซรามิกกว่าจะปั้นถ้วยชาได้ใบนึง เรียนจบไปตั้งสองคอร์ส ยังปั้นไม่ได้เลย (หัวเราะ)”

ทว่าสิ่งที่คิดว่าง่ายก็ไม่ง่ายอย่างคิด เพราะการเรียนมีละเอียดยิบย่อยที่ต้องจดจำ บตั้งแต่เรื่องของงมือ รวมถึงประเภทของแก้วที่มีหลากหลายประเภทมาก จนเจ้าตัวบ่นว่า “เรียนทั้งชีวิตไม่รู้จะจบหรือเปล่า”

เจิ้นพยายามถ่ายภาพ และสเกตซ์ลงสมุดให้มากที่สุด เพื่อเป็นคลังความรู้ในยามที่อาจหลงลืม เพราะเครื่องมือและแก้วแต่ละประเภทเขาไม่เคยปรากฏพบเห็นในเมืองไทยก่อน

นอกจากการเรียนพื้นฐานต่างๆเจิ้นยังได้เรียนการออกแบบแก้ว ไปจนถึงการลงมือทำเพื่อให้เกิดเป็นชิ้นงาน ตลอดจนเทคนิค Fusing หรือการหลอมแก้วในเตาด้วย

เจิ้นบอกว่าสนุกที่สุดก็ตรงที่การทดลองเพื่อให้เกิดสิ่งใหม่

“มันเป็นงานทดลองซะเยอะ จะเอาสีสวย หรือจะเอาฟอร์มสวย มันขึ้นอยู่กับเรา ว่าเราพอใจหรือเปล่า อาจารย์เขาไม่จำกัดเลยว่าเราจะต้องทำตามที่เขาสอน เพราะเขาอยากให้นักศึกษาได้ทำอะไรใหม่ๆ ด้วย ไม่ว่าจะลองเอาทองแดง ทองเหลือง ฟอยห่อขนมใส่เข้าไป แล้วก็ดูผลหลังจากหลอมเสร็จ เราอยากทดลองอะไรอื่นๆอีก เขาก็เปิดกว้าง ดีใจที่ได้เรียน เพราะเขาเปิดโอกาสให้เราได้ทดลองมาก”

หลังจบคอร์ส Fusing เจิ้นตระเวนดูงานแก้วตามพิพิธภัณฑ์และสตูดิโอเป่าแก้วของศิลปินต่างๆที่ส่วนใหญ่กระจายอยู่ตามชานเมืองของอังกฤษ ความทึ่งในผลงาน ทำให้เขาอยากเรียนรู้เพิ่มเติมถึงเทคนิคในการทำ

“แต่เขาจะไม่ค่อยสอนกัน เพราะมันเป็นเทคนิคเฉพาะของเขา เราไปดูได้ แต่เขาจะไม่สอน”

เจิ้นจึงเริ่มมองหาโรงเรียนสอนเป่าแก้วโดยตรง ซึ่งเพื่อนที่กำลังเรียนด้าน product design อยู่ที่สวีเดนได้แนะนำให้เขาได้รู้จักโรงเรียนแห่งหนึ่งชื่อ Orrefors ตั้งอยู่ที่เมือง Nybro ระยะห่างจากตัวเมืองสตอคโฮมราว 4 ชั่วโมง

โรงเรียนแห่งนี้มีสถานะเป็นโรงงานในตัวด้วย ตั้งมาตั้งแต่ปี ค.ศ.1898 และเป็นหนึ่งในสองของโรงเรียนเป่าแก้วที่มีชื่อมากที่สุดของสวีเดน นอกเหนือจากโรงเรียน Kosta Boda ซึ่งตั้งอยู่อีกเมืองหนึ่งและถือเป็นโรงเรียนพี่โรงเรียนน้อง

เจิ้นเดินทางสู่โรงเรียนแห่งนั้นในช่วงเวลาที่หิมะสูงเกือบเท่าเอว เขาทำเอานักเรียนหลายคนแตกตื่นเพราะหลายปีแล้วที่ไม่มีคนเอเชียโผล่หน้าไปให้เห็นแถวนั้น

การเรียนที่นั่นแบ่งเป็นสองช่วง คือช่วงเช้าและช่วงบ่าย ช่วงเช้าเป็นคอร์สเรียนที่เรียกว่า Hot glass เรียนการเป่าแก้ว เทคนิคการเป่าแก้ว ให้เป็นงานชิ้นเล็กๆ รวมถึงแก้วน้ำ แก้วไวน์ แจกัน ฯลฯ ซึ่งเป็นการเรียนต้องอยู่หน้าเตาที่มีอุณหภูมิสูงถึง 1000 องศา เมื่อถึงช่วงเวลาพักเบรคนอกจากเป็นการพักดื่มน้ำ ยังต้องพักล้างหน้ากันที เพื่อหน้าจะได้ไม่ไหม้เสียก่อน

ส่วนช่วงบ่ายเป็นคอร์สเรียน Cold glass เป็นชั่วโมงเรียนเจียรนัยแก้ว(Cutting) แกะสลักแก้ว(Engraving) ให้มีลวดลายอันวิจิตรตามแบบดั้งเดิมของสวีเดน เรียนอยู่ที่นั่นราวสามเดือนเจิ้นก็ถึงคราวจากลาเมืองที่ดูราวเป็นเมืองร้าง เพราะรอบๆโรงเรียนมีเพียงปั้มน้ำมัน 1 แห่ง ธนาคาร 1 แห่ง และร้านอาหารที่มีขนาดเล็กกว่าเซเว่นอีเลฟเว่น

มันไม่ใช่เพราะความเหงา แต่เป็นเพราะความหนาวเข้ากระดูกต่างหากที่ทำให้อยากกลับเมืองไทยเร็วกว่ากำหนด

“ตอนกลับมาเริ่มรู้แล้วว่าชีวิตต้องทำงานแก้ว เพราะมันรู้สึกว่าใช่แล้วที่อยากทำ เซรามิกก็อยากทำเหมือนกัน แต่คนทำเซรามิกบ้านเราเยอะมาก ถ้าทำซ้ำเขารับรองไม่ได้เกิดแน่ เพราะคนมันทำเยอะ ส่วนใหญ่ยังทำกันแบบโหลๆ เราไม่อยากทำอย่างนั้น เราอยากทำเป็นงานแฮนด์เมด ทำชิ้นเดียว เป็นงานอาร์ต เป็นงานชิ้นมาสเตอร์พีช ความสนใจก็เลยเบนมาที่งานแก้วเป็นหลัก เพราะยังไม่มีคนทำ”

จากนั้นเรื่อยมาผลงานการออกแบบแก้วและงานออกแบบอื่นๆของเจิ้น จึงมีโอกาสปรากฎต่อสายตาผู้สนใจงานด้านการออกแบบ ทั้งยังได้รับรางวัลและเข้ารอบในหลายเวทีของประเทศไทย อาทิ รางวัลที่ 1 จากการประกวด Otop designer award,ได้รับคัดเลือกเข้าร่วมแสดงผลงานในโครงการ Young talent Thai ใน International Fair 2005,เข้ารอบ 7 คนสุดท้าย ในการประกวด BomBay Supphire designer glass competition 2005,รางวัลยอดเยี่ยมการประกวดออกแบบ Made in Thailand and Design Award 2006,ได้รับคัดเลือกเข้าร่วมแสดงผลงานในโครงการ Young design room project ใน Bangkok International Fashion Fair 2006,ได้รับคัดเลือกเข้าร่วมแสดงผลงานในโครงการ Young talent Thai ในงาน BIG & BIH International Fair 2006 และปี 2007 เป็น Designer of the year ประเภทออกแบบเซรามิกของมหาวิทยาลัยศิลปากร

ในหลายเวทีเปิดโอกาสให้เจิ้นได้ไปศึกษาดูในต่างประเทศ ได้รู้จักกับเจ้าของโรงงานเป่าแก้วและผู้ส่งออกงานแก้วในไทยหลายราย ผู้มีส่วนให้คำแนะนำดีๆหลายๆด้านและชักชวนให้ร่วมงาน

เวลานี้นอกจากจะขลุกตัวทำงานแก้วและเซรามิกอยู่ที่บ้าน ซึ่งถูกแบ่งพื้นที่ทำเป็นสตูดิโอที่เขาตั้งชื่อว่า LIGINO อันกร่อนมาจาก “หลีเจิ้น” ชื่อเล่นของตัวเอง และ “มูราโน่” เครื่องแก้วชื่อดังของอิตาลี เขายังร่วมงานกับ บริษัท Lotus Crystal บริษัทส่งออกแก้วคริสตัลแฮนด์เมด และพยามช่วยหาแนวทางแตกไลน์จากงานแก้วบนโต๊ะอาหารให้เปลี่ยนมาเป็นงานแก้วร่วมสมัย ที่มีคุณค่าเทียบเท่างานศิลปะ

“พยายามมคิดดีไซน์ใหม่ๆ ให้เขา ซึ่งแก้วอ่างปลาชิ้นนี้ มันก็เป็นการทดลองของผม ที่ลองเป่าแก้วลงบนหินอ่อน ต้องคุมช่างเยอะหมือนกัน เพราะพวกเขาเคยเป่าแต่แก้วไวน์และงานที่มันได้สเกลเป๊ะๆ เราอยากให้เขาทดลองเล่นไปกับเรา เป่าเสียไปเยอะมาก แตกมั่ง ทะลุมั่ง แต่พอเริ่มจับหลักได้ ว่าจะเป่าอย่างไรให้มันสวยมันได้แล้ว ก็เป่าออกมาเป็นโหล เป็นแจกันใหญ่ๆ ซึ่งก้นมันจะเป็นฟอร์มของก้อนหินที่เราวางเข้าไป”

เจิ้นว่าพลางชี้ให้ดูผลงานทดลองชิ้นซึ่งได้ผลเป็นที่น่าพอใจซึ่งเขาตั้งชื่อให้มันว่า Zen Garden vase มีลักษณะคล้ายการจัดสวนเซนของญี่ปุ่นในอ่างปลา

4 ในจำนวน 6 ชิ้นงาน ซึ่งเขานำออกแสดงในนิทรรศการ แก้วศิลป์และสิ่งทอ ที่โรงแรมสยามซิตี้ อันเป็นนิทรรศการครั้งแรกของเขาที่แสดงร่วมกับนักออกแบบสิ่งทอ มะตูม - อิสรา แดงประไพ ขายไปจนหมดเกลี้ยงตั้งแต่ 2 วันแรก รวมถึงงานชิ้นอื่นๆก็มีผู้จับจองไปจนทำให้เขารู้สึกใจชื้น และมุ่งมั่นที่จะทำงานแก้วให้เป็นมากกว่างานออกแบบ

ซึ่งก่อนหน้านี้เขาสมัครเข้าเรียนในระดับปริญญาโทที่ภาควิจิตรศิลป์ คณะสถาปัตยกรรมศาสตร์ สถาบันเทคโนโลยีพระจอมเกล้าเจ้าคุณทหารลาดกระบัง ด้วยเหตุผลที่ต้องการจะเข้าถึงในสิ่งที่เรียกว่า “ศิลปะ” ให้เข้าใจถ่องแท้ และนำมาพัฒนาให้งานแก้วของเขาให้เป็นงานแก้วศิลป์ที่มีคุณค่าต่อการครอบครองและเร้าใจผู้ชม

เรียนได้ C มาหลายเทอมกว่าจะฉุดขึ้นไปเป็น A+ ได้ ก็ทำเอาหนุ่มเจิ้นแทบถอดใจเหมือนกัน ในที่สุด เขาก็สามารถพิสูจน์ให้อาจารย์เห็นได้ว่าเขาสามารถฉีกตัวเองจากงานออกแบบมาทำงานศิลปะได้เหมือนกัน

“เทอมที่แล้วได้เรียนกับศาสตราจารย์ชะลูด นิ่มเสมอ (ศิลปินแห่งงชาติ สาขาทัศนศิลป์ -ประติมากรรม ปี พ.ศ.2541) ยิ่งทำให้เรารู้สึกดีขึ้นกับคำว่าศิลปะ มากๆเลย ผมเอางานไปให้อาจารย์ดู เพราะเรายังติดใจอยู่ว่าเราจะพัฒนางานของเราให้เป็นงานอาร์ตได้อย่างไร ถามอาจารย์ไปว่า ผมจะเป็นศิลปินได้ไหม ศิลปะทำอย่างไร คือถ้าเป็นไม่ได้ก็จะไม่เรียน เราจะได้รู้ตัวเอง

อาจารย์ชะลูดบอกว่า “ทำสิ่งที่อยู่ในใจ” คำพูดแค่นี้มันเปิดโลกเราทุกโลก มันอยู่ที่ว่าเราจะทำสิ่งที่อยู่ในใจออกมาได้อย่างไร ใช่อย่างที่ใจเราต้องการหรือเปล่า และอย่าหลอกตัวเอง เพราะบางคนทำศิลปะออกมาเพื่อเงิน อาจารย์ชะลูดบอกว่าทำสิ่งที่อยู่ในใจออกมา มันทำให้เรารู้สึกว่าเราเข้าใจแล้วศิลปะ เราไม่ต้องไปตามหาอะไรอีกแล้ว เดินทางทั่วโลกก็ไม่ต้องแล้ว หยุดแค่ตรงนี้”

น้ำเสียงและแววตาที่เป็นสุขของเจิ้นวาวใสกว่าแก้วคริสตัลที่อยู่รายรอบตัวเขา



กำลังโหลดความคิดเห็น