xs
xsm
sm
md
lg

"ศ.ระพี สาคริก" ราชากล้วยไม้ไทย

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

วิถีแห่งปราชญ์สยาม “ศ.ระพี สาคริก”
ในวงการกล้วยไม้ทุกคนยกย่องให้ “ศ.ระพี สาคริก” เป็นบิดาแห่งกล้วยไม้ไทย หรือ อาจะเรียกว่าเป็นราชากล้วยไม้ไทยก็สุดแล้วแต่ ทว่า ผู้บุกเบิกวิชาการกล้วยไม้ ที่มีคุณูปการอันใหญ่หลวงต่อวงการกล้วยไม้ไทยผู้นี้ กลับไม่ยินดีแม้สักนิดกับคำกล่าวยกย่องเหล่านั้น

“มีคนชอบพูดว่า อาจารย์เป็นราชากล้วยไม้ใช่ไหม คนเห็นหน้าผมเป็นกล้วยไม้ ผมแสลงใจจริง ๆ ผมไม่ได้รู้เรื่องกล้วยไม้ดีเลย ไม่ได้เก่งเรื่องกล้วยไม้เลยสักนิดเดียว สิ่งที่ผมทำมันไม่ได้อยู่ที่กล้วยไม้ มันอยู่ที่ความไม่เป็นธรรมในสังคม” อาจารย์ผู้เป็น อดีตรัฐมนตรี อดีตอธิการบดีมหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ และปราชญ์แห่งสยาม กล่าวอย่างถ่อมตัว

“ผมมาทำเรื่องกล้วยไม้เพราะผมเห็นอะไรบางอย่าง เพราะเหตุว่าผมไม่ชอบความ อยุติธรรม คือคนรวยเจ้าขุนมูลนาย เอากล้วยไม้มาเล่น แบ่งชนชั้นด้วย แล้วเหยียดหยามเด็ก คนยากคนจนเล่นไม่ได้” อาจารย์ระพี กล่าวถึงจุดเริ่มของชีวิตกับกล้วยไม้

ศ.ระพี เปิดเผยว่า เริ่มสนใจกล้วยไม้และจับเรื่องกล้วยไม้ตั้งแต่ ปี 2490 ขณะรับราชการอยู่ที่ สถานีทดลองการเกษตรแม่โจ้ ในสมัยนั้น เรื่องราวหรือองค์ความรู้เกี่ยวกับกล้วยไม้ถือเป็นความลับของคนระดับเจ้าขุนมูลนายและคหบดีในสังคม

“ผมเปิดเผยความลับหมดเลย คนสมัยก่อนมันปิดบังความลับ เจ้าขุนมูลนายเขาแบ่งพรรคแบ่งพวก ในพวกเดียวกันเขาก็หวงกัน หวงทุกอย่าง เพราะเอากล้วยไม้มาแข่งดีกัน แข่งความมีหน้ามีตา มันเป็นกระบวนการทางสังคม”

ศ.ระพี กล่าวด้วยว่า ในตอนแรกที่คนอื่น ๆ ยังไม่มีความรู้ยังทำอะไรเกี่ยวกับกล้วยไม้ไม่เป็น ด้วยความที่เป็นคนรักในงานประดิษฐ์ จึงเริ่มต้นทดลองทำในบ้านก่อน พอคนอื่นทำเป็นแล้วก็เลิกทำ แล้วหันมาเน้นเรื่องการพัฒนาคนมากขึ้น

“ตอนแรกคนไทยเก็บของป่า (พันธุ์กล้วยไม้) ส่งขายเมืองนอก จากนั้นคนเมืองนอกเอาไปผสมเป็นของสำเร็จรูปส่งขายเมืองไทย เพราะคนไทยดูถูกของป่า ไอ้นี่ไม่เห็นมันสวยเลย เหมือนกันเราดูถูกของป่า ดูถูกเหล็ก พอเขาทำเป็นรถยนต์ เป็นของสำเร็จรูปมาก็ชม เป็นมาตั้งแต่สมัยนั้น “ อาจารย์ กล่าวพร้อมกับสะท้อนให้เห็นแนวคิดของการพัฒนาที่ไม่เคยเปลี่ยนแปลงในสังคมไทย ที่เราส่งวัตถุดิบไปขาย พอต่างชาติผลิตเป็นรถยนต์ค่ายต่าง ๆ กลับเขามา ก็เอามาอวดบารมีกัน

“ทุกวันนี้ไปดูห้องแล็ปกล้วยไม้ของผม ผมไม่ได้ซื้อฝรั่งเลย ผมประดิษฐ์ทั้งนั้น แต่คนกล้วยไม้ไม่รู้ กำลังจะแหวกแนวแล้ว กำลังจะไปเอาเครื่องมือฝรั่งมาใช้แล้ว” อาจารย์ระพี แสดงความเป็นห่วงต่ออนาคตของวงการกล้วยไม้ไทย ที่นำเอาเทคโนโลยีต่างชาติมาใช้มากขึ้น

“คนกล้วยไม้เวลานี้ในด้านศิลปศาสตร์ อ่อนมาก ๆ งานในด้านศิลปะให้ความคิดริเริ่ม มันเป็นงานสร้างสรรค์ สมัยไม่กี่ขวบ ผม เป็นนักประดิษฐ์ เครื่องบินเล็ก รถยนต์ พอบอกว่าจะไปเอาของฝรั่งมา ผมใจหายเลย ผมบอกว่าอย่างนี้อนาคตของวงการกล้วยไม้มันจะหมดแล้ว”

มาถึงวันนี้เมล็ดพันธุ์แห่งกล้วยไม้นานาชนิดที่ ศ.ระพี บุกเบิกไว้ ได้ก่อเกิดงอกงาม หากประเมินคุณค่าของกล้วยไม้เป็นตัวเงินก็นับได้ว่าทำรายได้เข้าประเทศปีละไม่ต่ำกว่า 1,000 ล้านบาท แต่ความเจริญงอกงามของกล้วยไม้ไม่ได้อยู่ที่ทรัพย์สินเงินทอง เหนืออื่นใด สิ่งที่แฝงอยู่ในความสวยสดงดงามของกล้วยไม้ คือ หัวใจแห่งการพัฒนาและความเสมอภาคในสังคม

วันหนึ่งในงานฉลองปี 2000 มีงาน expo เกี่ยวกับกล้วยไม้ ที่เมืองโกเบ ประเทศญี่ปุ่น ได้เชิญ ศ.ระพี ที่ทั่วโลกต่างนับถือในความสามารถเรื่องกล้วยไม้ ขึ้นไปพูดในงาน มีมกุฎราชกุมารประทับฟังอยู่ข้างหน้า แล้วก็มี ผู้อำนวยการศูนย์มนุษยวิทยาของญี่ปุ่น ร่วมพูดในเวทีด้วย

“ผมบอกว่า ผม ปลูกกล้วยไม้ต้นนี้มาตั้งแต่ยังเล็ก ตั้งแต่ผมจำความได้ รดน้ำ ใส่ปุ๋ย บำรุงรักษา จนกระทั่งเขาออกดอก สวยงาม แต่กล้วยไม้พันธ์ที่ผมปลูกนี้ มันไม่เหมือนกับกล้วยไม้ที่ท่านเห็น เพราะกล้วยไม้ที่ท่านเห็นดอกมันโรย แต่กล้วยไม้ต้นนี้รถน้ำใส่ปุ๋ย นอกจากมันไม่โรยแล้ว มันยังงอกงามไปถึงชนรุ่นหลังด้วย เพราะฉะนั้นผมขอตั้งชื่อกล้วยไม้พันธุ์ใหม่นี้ว่า ความรักในเพื่อนมนุษย์”

อาจารย์ระพี กล่าวทิ้งท้ายเกี่ยวกับกล้วยไม้ว่า “ทุกวันนี้มันหลงทางอยู่กับสิ่งสมมติ ของจริงไม่มอง สิ่งที่ผมทำมันไม่ใช่กล้วยไม้ มันเป็นคุณธรรมที่ให้กับเพื่อนมนุษย์ ต่อสู้เพื่อเพื่อนมนุษย์มาโดยตลอด ผมถึงบอกผมแสลงใจที่คนเรียกผมว่า ราชากล้วยไม้”

ณ วันนี้ ศ.ระพี สาคริก ในวัย 86 ปี สภาพร่างกายมองจากภายนอก ไม่แข็งแรงมากนักตามสังขาร มีอาการไอเล็กน้อย ในระยะหลังมีปัญหากับการนอนหลับที่มีช่วงเวลาการนอนผิดปกติ ในวันที่นัดคุยกับ ผู้จัดการรายวัน Lite เวลาประมาณ 9.30 น.อาจารย์บอกว่า ยังไม่ทันได้นอนเลยตั้งแต่ 1 ทุ่มตรง แต่เหนือสิ่งอื่นใด สติปัญญาความคิดยังคงแหลมคม อาจารย์สามารถถ่ายทอดเรื่องราวความทรงจำในอดีตได้เป็นอย่างดี

สำหรับ การดำเนินชีวิตในปัจจุบันของอาจารย์ยังคงทำงานหนัก งานส่วนใหญ่จะเป็นงานบรรยาย งานสัมมนา และกำลังเขียนหนังสือเพื่อถ่ายทอดประสบการณ์ให้คนรุ่นหลังได้อ่านกันทั้งแนวทางการบริหารงาน ตลอดจนหนังสือเกี่ยวกับประวัติชีวิตของของตนเอง ในชื่อ “ความรักในแผ่นดินเกิดของฉัน“


ย้อนประวัติชีวิต

ประวัติของ ศ.ระพี สาคริก เกิดเมื่อวันที่ 4 ธันวาคม พ.ศ. 2465 ที่วรจักร เขตป้อมปราบ กรุงเทพมหานคร เป็นบุตรของขุนตำรวจเอกพระมหาเทพกษัตรสมุห (เนื่อง สาคริก) ข้าราชสำนักพระบาทสมเด็จพระมงกุฏเกล้าเจ้าอยู่หัว (อดีตอธิบดีตำรวจวัง) กับนางสนิท ภมรสุต

การศึกษา อาจารย์ระพี ในช่วงประถมและมัธยม อาจารย์เข้ารับการศึกษาหลายที่ด้วยกัน ทั้ง โรงเรียนสามเสนวิทยาคาร โรงเรียนเซนต์คาเบรียล โรงเรียนจิตรลดา โรงเรียนนาฏศิลป์ โรงเรียนวัดเบญจมบพิตร และโรงเรียนเกษตรกรรมแม่โจ้ จ.เชียงใหม่

ก่อนที่จะมาเรียนระดับปริญญาตรีกสิกรรมและสัตวบาลบัณฑิต สาขาปฐพีวิทยา (ดินและปุ๋ย) จากวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ ซึ่งต่อมายกระดับเป็นมหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ เมื่อวันที่ 2 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2486 ถือว่าอาจารย์จบเป็นรุ่นแรกพร้อมกับเพื่อนร่วมรุ่นอีก 1 คนคือ ปราณี แจ้งเจนกิจ ซึ่งขณะนั้นการเรียนระดับปริญญาตรี ตามหลักสูตรต้องเรียน 5 ปี และต้องทำวิทยานิพนธ์ด้วย

พอเรียนจบ ทางมหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ ทาบทามให้เป็นอาจารย์ แต่ปฏิเสธ โดยเลือกกลับไปทำงานที่ สถานีทดลองการเกษตร แม่โจ้ ซึ่งในตอนนั้นไข้ป่ายังชุกชุม น้ำประปา ไฟฟ้าไม่มี ทำงานอยู่แม่โจ้ 2 ปี ทางหน่วยงานต้นสังกัดบังคับให้กลับ โดยอ้างเหตุผลต้องการนักวิจัยฝีมือดีมาทำงานเรื่องข้าว

อาจารย์เริ่มต้นการสอนหนังสือ จากการเป็นผู้ช่วยสอนให้กับ หม่อมเจ้าจักรพันธ์เพ็ญศิริ จักรพันธุ์ สอนวิชาพฤกษศาสตร์ อาจารย์สอนวิชาสถิติและการวางแผนวิจัยการเกษตรและวิชาข้าว จนกระทั่งได้เป็นอาจารย์ที่มีความเชี่ยวชาญทางด้านการเกษตรหลายแขนง

ในปีพ.ศ. 2511 ได้รับพระราชทานเหรียญดุษฎีมาลาเข็มศิลปวิทยา ซึ่งเป็นเครื่องราชอิสริยาภรณ์ชั้นสูงสุดทางวิชาการ อีกสองปีถัดมาก็ได้รับพระมหากรุณาธิคุณโปรดเกล้าให้ดำรงตำแหน่งศาสตราจารย์ โดยไม่ต้องผ่านตำแหน่งผู้ช่วยและรองศาสตราจารย์ก่อน




กำลังโหลดความคิดเห็น