แม่รำพึงในทิวทัศน์ของกลางคืนไม่ได้มีสิ่งใดพิเศษกว่าชนบทในที่อื่นๆ สงบเงียบ น่าหนุนนอน และมีประกายดาว แต่ในเม็ดสีดำๆ ของกลางคืน-ความคุกรุ่น หวาดระแวง ระวังภัย และสั่นไหวต่อชะตากรรมที่เอาแน่เอานอนไม่ได้-มันผสมอยู่ในความสงบงามด้วยความเข้มข้นที่พอๆ กัน...หรืออาจจะมากกว่า
เรานั่งอยู่บนเก้าอี้ที่ล้อมเป็นวงกลม ตรงกลางมีเตาไฟแก่ๆ เปลวไฟแดงๆ และกาต้มน้ำสีดำๆ ตั้งอยู่ เบื้องบนเป็นแผ่นฟ้ากว้าง ถอยไปห่างๆ มีท้องทะเลที่มองจากตรงนี้ไม่เห็น บนพื้นมีกองฟืนเล็กๆ วางไว้คอยป้อนเตาไฟ บรรยากาศเกือบเหมือนเพลง ‘คนเก็บฟืน’ ของ เล็ก คาราบาว
เกือบเหมือน ใช่, แค่เกือบเหมือน มันคงจะเหมือนมากกว่านี้ถ้าด้านหนึ่งของจุดที่เรานั่งจะไม่มีกระสอบทรายวางเป็นแนวยาวและสูงเกือบท่วมหัว มันเป็นบังเกอร์ที่ชาวบ้านสร้างไว้ป้องกันอะไรก็ตามที่จะพุ่งมาจากถนน-คำด่า เสียงเร่งเครื่อง เสียงแตร หรือกระสุน-คิดเล่นๆ ก็เป็นความรู้สึกที่ตื่นเต้นดี เหมือนการจิบน้ำอุ่นๆ กลางสมรภูมิ
การต่อสู้คัดค้านระหว่างชาวบ้านแม่รำพึง อำเภอบางสะพาน จังหวัประจวบคีรีขันธ์กับโรงถลุงเหล็ก 5 แสนล้านของเครือสหวิริยายังยืดเยื้อ ขณะที่ฝั่งหนึ่งมีอำนาจรัฐหนุนหลัง แต่ฝั่งชาวบ้านก็พยายามหาแนวร่วมทางสังคมเพื่อยืนหยัดอยู่ให้ได้ ยืนหยัดท่ามกลางความเคลือบแคลงสงสัยของคนภายนอก ท่ามกลางความบีบคั้นของการเลี้ยงชีพ และต้องกลายเป็นคนกึ่งเร่ร่อนที่แม้จะมีบ้าน แต่ก็ต้องนอนนอกบ้าน นอนในศูนย์เฝ้าระวังป่าพรุแม่รำพึงทั้ง 2 แห่ง มานอนเฝ้าป่า มานอนเป็นเพื่อนกัน เป็นเพื่อนทั้งที่บางคนไม่เคยรู้จักกันมาก่อน
“มาเกือบทุกวันแหละ มานอน มาทนลำบากกัน แฟนก็มาด้วยกัน เพื่อความอยู่รอด มันจะถมดินสูงตั้ง 7 เมตร แล้วบ้านป้าจะเหลือเรอะ น้ำจะท่วมกวาดลงทะเลหมดสิ ถ้ามันสร้างได้ ควันพิษเยอะ” ป้าสุภาพ สุดสวาท บอกกับเรา
...................
สุพจน์ ส่งเสียง รองประธานกลุ่มอนุรักษ์แม่รำพึง เล่าให้ฟังว่ามันเริ่มต้นจากการที่วันหนึ่งชาวบ้านเห็นเครื่องยนต์หนักถูกส่งลงไปในพื้นที่ป่าพรุแม่รำพึง ความสงสัยจึงต้องเฝ้าดู เมื่อมันเดินเครื่อง ต้นเสม็ดก็ถูกถากถางด้วยแรงเครื่องจักร กลายเป็นจุดเริ่มต้นการต่อสู้ของชาวแม่รำพึงที่มีคู่ชกเป็นยักษ์ตัวโต
ประมาณต้นปี 2550 ชาวบ้านจึงช่วยกันตั้ง ‘ศูนย์เฝ้าระวังป่าพรุแม่รำพึง 1’ ขึ้นในบริเวณป่าช้าสาธารณะ ธงสีเขียว เพิงไม้ยกพื้น ถ้วยชามรามไห หอคอย ป้อมยาม ไม้ยกปิด-เปิดทางเข้า และบังเกอร์ ดูไปก็ไม่ผิดกับค่ายผู้อพยพ มันกลายเป็นบ้านหลังที่ 2 ที่ชาวบ้านจะต้องผลัดเปลี่ยนกันมากิน-นอน บ้างก็มาคนเดียว บ้างก็มากับคู่ชีวิต และบ้างก็มากับลูกหลานตัวน้อยๆ
น่าจะเกือบปีแล้วที่ ป้าเมียด ร่วมดี วัย 55 ปี ต้องมานอนเฝ้าศูนย์ฯ 1 อาชีพปอกมะพร้าวที่เคยทำต้องหยุดลง โดยยกภาระการทำมาหากินให้กับลูกชายและลูกสะใภ้ ป้าเมียดบอกว่านอนที่นี่ทุกคืน เช้าก็กลับบ้านไปอาบน้ำ เปลี่ยนเสื้อผ้า แล้วก็กลับมาอีก บางทีก็กระเตง น้องมาย หลานสาววัยซนมาด้วย เพราะทนเสียงงอแงขอตามมาไม่ได้ ป้าเมียดเป็นเหมือนแม่ครัวของศูนย์ฯ 1 ตื่นเช้าขึ้นมาจัดแจงทำอาหารเผื่อไว้สำหรับชาวบ้านที่จะเข้ามาเฝ้าศูนย์ฯ 1 และคอยนำข้าวปลาถ้วยเล็กๆ ไปไหว้ต้นตะเคียนใหญ่เอนเอียงจากการถูกเครื่องยนต์หนักถางไถ แต่ชาวบ้านแม่รำพึงไม่ยอมให้ล้ม พวกเขาใช้เชือกมาขึง ใช้ไม้มาค้ำ และใช้ผ้าแพรหลากสีห่อหุ้มรอบโคนต้น ป้าเมียดยกมือไหว้ เราไม่รู้ว่าเธอขออะไรจากตะเคียนใหญ่
“เข้าใจว่าถ้ามันเกิดขึ้นมาเราก็อยู่ไม่ได้ เขาก็บอกว่าถ้าแม่ไม่สู้ก็ขายที่หนีสิ แม่บอกว่าไม่หนี แม่ไม่หนี ลูกก็ไม่หนี ญาติพี่น้อง 11 คนอยู่ฝั่งนี้หมดเลย ส่วนเพื่อนบ้านเราจะพูดยังไงเขาไม่ฟัง เขาบอก เขาจะเอาโรงงาน ความเจริญจะเข้ามา พูดยังไงเขาก็ไม่เข้าใจ บอกว่าถ้าโรงงานมันลงได้ สับปะรดเราก็ไม่รอด มะพร้าวตอนนี้ยอดเล็กหมดเลย ลูกก็ไม่ดก แต่ไม่มีทะเลาะกัน เขาไม่มากับเรา เราก็ไม่สนใจเขา แต่พยายามพูดบ่อยๆ ว่าอันตรายมันจะมา แบบว่าโรงงานเก่าที่ขึ้นมาแล้ว เรากินน้ำไม่ได้ ต้องซื้อน้ำกินตลอด”
แม้วันนี้โรงงานถลุงเหล็กจะยังไม่ปรากฏ แต่วิถีชีวิตเดิมของชาวบ้านแม่รำพึงก็เปลี่ยนไปแล้ว ที่แย่ยิ่งกว่าคือสายสัมพันธ์ของผู้คนที่ถูกความคิดต่างบั่นทอนลงไปทุกวี่วัน
ถามถึงเหตุการณ์ในวันที่ 24 มกราคม ป้าเมียดบอกว่าวันนั้นวิ่งไปที่เกิดเหตุ แต่ไปไม่ถึงเพราะมีฝั่งตรงข้ามอยู่ และมีคนส่งข่าวว่าฝั่งตรงข้ามจะส่งคนมายึดศูนย์ฯ 1 ป้าเมียดจึงต้องวิ่งกลับ
“บางครั้งอยู่ในค่ายคนเดียว มืดแล้วไม่มีใคร กลัว ร้องเลย จะไปก็ไปไม่ได้ ของอยู่เต็ม ต้องโทรตาม”
....................
เฒ่าทะเลวัย 53 ปี-อำพันธ์ เรือนจันทร์ ยกกาสีดำขึ้นจากเตาค่อยๆ ถ่ายน้ำสีอำพันลงแก้วใบเล็ก เฒ่าทะเลบอกว่าครั้งหนึ่งตำรวจเข้ามาตรวจที่ศูนย์ฯ 2 จ้องมองน้ำในแก้วอย่างไม่แน่ใจ จนชาวบ้านต้องยื่นแก้วให้จิบเพื่อคลายความสงสัยว่ามันไม่ใช่เหล้า แต่เป็นน้ำสมุนไพรที่ต้มจากชุมเห็ด เถาวัลย์เปรียง และกำแพงเจ็ดชั้น (ชื่อเท่มาก) การไม่มีสิ่งเสพติดมึนเมาในศูนย์ฯ เป็นข้อตกลงร่วมกันของชาวบ้านเพื่อป้องกันตัวเองจากสงครามข่าวลือ
ศูนย์ฯ 2 ซึ่งอาศัยศาลาประจำหมู่บ้านแห่งนี้เป็นที่ตั้งเพิ่งจะเกิดขึ้นประมาณ 3 เดือน ธัญลักษณ์ ส่งเสียง ภรรยาของสุพจน์ บอกว่าที่ต้องมาตั้งอีกศูนย์เพราะว่าศูนย์แรกอยู่ในป่า ห่างไกลความเคลื่อนไหว และฝ่ายตรงข้ามก็มักปล่อยข่าวว่าชาวบ้านไปจ้างพวกพม่า มอญมาอยู่ ชาวบ้านจึงตกลงกันว่าต้องตั้งอีกศูนย์หนึ่งเพื่อคอยดูความเคลื่อนไหวฝ่ายตรงข้ามและยืนยันว่าพวกเขาคือชาวบ้านแม่รำพึงตัวจริง เสียงจริง
วงจรชีวิตของที่นี่เกิดขึ้นซ้ำๆ กันทุกวัน ชวน โพธิ์ทอง แม่ครัวหัวป่าก์ประจำศูนย์ฯ 2 จะตื่นเช้าขึ้นมาเตรียมอาหารสำหรับสหายร่วมรบ จากนั้นจึงกลับบ้านจัดแจงธุระส่วนตัวเพื่อกลับมาเฝ้าศูนย์ฯ 2 คอยถามไถ่ว่ากินข้าวหรือยัง เอาไข่ทอดเพิ่มอีกมั้ย มีน้ำพริกอยู่ตรงนั้นนะ ข้าวสารอาหารแห้งที่ได้ก็มาจากการบริจาคของชาวบางสะพานที่ไม่อยากให้มีโรงถลุงเหล็ก ที่แม้จะยังไม่กล้าออกหน้าแต่ก็คอยส่งเสบียงกรังให้ตลอด เราเห็นกล้วยดิบกองโตวางอยู่ข้างๆ ศูนย์ฯ 2 ชาวบ้านบอกว่ามีคนเขาเอามาให้ ใครมีข้าวก็เอาข้าวมาให้ ใครจับปลาก็เอาปลามาฝาก พอตกค่ำชาวบ้านผู้ชายก็จะมาอยู่เฝ้าศูนย์คอยดูแลความปลอดภัย ใครง่วงก็นอน ใครตื่นก็มานั่งเฝ้าเป็นเพื่อนกัน
กวาดตาดู มันไม่ใช่เรื่องของคนรุ่นใดรุ่นหนึ่ง เพราะตั้งแต่เด็กหัดเดินจนถึงวัยเฒ่าต่างก็มารวมกันที่นี่ มากบ้าง น้อยบ้าง ตามแต่ภาระชีวิตของแต่ละคน
“เคยไปร่วมนิทรรศการหยุดโลกร้อนด้วยชีวิตพอเพียงที่เมืองทองธานีกับกลุ่มอนุรักษ์ป่าแม่รำพึง ไปยื่นหนังสือต่อต้านการสร้างโรงงานถลุงเหล็กด้วย แล้วมีหนังสือพิมพ์ไปลงว่าหนูเป็นคนยื่นหนังสือระงับการสร้างโรงงาน ทางบริษัทสหวิริยาก็มาพบหนูที่โรงเรียน มีการสอบปากคำจากทางบริษัท 4 คน เขาถามวกไปวนมา ว่าใครเป็นคนจ้างให้ทำ บ้านทำอาชีพอะไร หนูรู้สึกกลัวที่ถูกรุมถามอยู่คนเดียวโดยไม่มีครูเข้ามาดูแลเลย แต่หลังจากนั้นก็ไม่มีอะไรเกิดขึ้น” พวงแข ร่วมดี นักเรียนโรงเรียนบางสะพานวิทยา วัย 18 ปี เล่าให้ฟัง
เธอบอกอีกว่าไม่อยากให้มีการตั้งโรงงานที่บ้านของเธอเพราะมันทำให้วิถีการดำเนินชีววิตชาวบ้านเปลี่ยน หากนำโรงงานมาสร้างยังผืนป่า แล้วเธอจะเอาวัวควายไปเลี้ยงที่ไหน ทำไมไม่ไปสร้างที่บ้านพวกเขา
คำถามนี้ใครจะตอบ?
กาญจนา แสงเพชร อายุ 26 ปี เธอทำสวนยางกับปลูกมะพร้าว เล่าว่า เธอเลี้ยงลูกอย่างเดียวสามีจะเป็นคนทำงานหาเลี้ยง มีรายได้เดือนหนึ่งไม่ต่ำกว่า 2 หมื่นบาท แต่เมื่อเธอและสามีมาเข้าร่วมกับกลุ่มเสื้อเขียวประมาณ 2 เดือนได้ พวกเสื้อแดงก็มายิงปืนขู่ที่สวนซึ่งก็เป็นญาติพี่น้องกันนี่แหละ แต่เราก็ยังไม่หยุดตามคำขู่ จนกระทั้งเกิดเหตุวันที่ 24 ที่ผ่านมา สามีเธอก็หายตัวไปพร้อมกับบำรุง (สุดสวาท) ซึ่งสนิทกันมาก หายไปโดยเพียงแค่โทรมาบอกว่าไม่ต้องห่วงเดี๋ยวก็กลับมา ทางเราก็รอเขาอย่างเดียว ยางก็ตัดไม่ได้ ตนก็อยู่บ้านเลี้ยงลูกเพียงลำพัง
ไม่ใช่แค่กาญจนาที่การทำมาหาเลี้ยงชีพต้องสะดุด ชาวบ้านคนอื่นๆ ก็คล้ายกัน มลเทียน พิมสอ บอกว่า
“ก่อนจะเกิดเรื่องนี้ อาชีพหลักคือทำสวนมะพร้าว สวนนี่เราไม่ต้องทำทุกวัน เดือนละ 10 วัน 40 วันก็สอยทีหนึ่ง สวนรกๆ ก็ไปถาง ไปทำ แฟนก็มีเรือเล็ก ออกเรือเป็นอาชีพเสริม ไว้ตักปลากระบอก คืนหนึ่งจะตักได้เป็นเงินอย่างน้อยก็ 500 บาท แต่ว่าจะไม่ได้ทุกคืนนะเพราะเป็นอาชีพเสริม เราเหนื่อย เราก็ไม่ไป มาปีนี้แหละ ไม่ได้ออกเรือเลย ต้องจอด มีการขู่กัน ขู่จะทำร้ายคนที่มาอยู่เสื้อเขียว กลางค่ำกลางคืนก็เลยไม่กล้าไปกัน กลัวอันตราย
“ตอนนั้นรู้ว่าเขาค้านโรงถลุง แต่เรายังไม่รู้ว่ามีสารพิษแบบไหน อะไร เขาก็ตั้งเวทีตรงกลางหมู่บ้าน ก็มานั่งฟัง อยู่ไม่ได้ โรงงานสร้างงานจริง แต่งานไม่ยั่งยืน บ้านฉันมีอยู่ 5 คน เด็ก คนแก่ มีฉัน ทำสวน เลี้ยงปู่ย่าตายายได้ ถ้าทำงานทำแค่คนเดียว ไม่พอหรอก ทำสวนได้เยอะกว่ารับจ้างโรงงานอีก”
ถามว่าเบื่อมาย?
“เบื่อก็ต้องทน ใครก็อยากทำงานเป็นปกติ แต่มันเกิดพันนี่ เราก็ต้องยอมสละ ทิ้งงาน แฟนหายไปตั้งแต่วันที่ 25 นี่แหละ เขาก็มีคนมาขู่ หายกันไปเลย เขาโทรมาบอกว่าเขาปลอดภัยดี อย่าไปบอกใคร”
ครั้นหนึ่งบนรถกะบะที่บรรทุกชาวบ้าน 7-8 คน เราบอกว่า
“คนเมืองเขาคิดว่าพวกลุงๆ น้าๆ รับเงินมาประท้วง พวกลุงๆ น้าๆ เอาเงินจากไหน? ไม่ทำงานเหรอ?”
ชาวบ้านยิ้มพร้อมกับเล่าแทนคำอธิบายว่าตื่นเช้ามาก็ไปวางอวนไว้ กลางคืนถึงไปเอาขึ้น บางคนทำสวน สวนมันไม่ต้องทำทุกวัน แล้วของที่ศูนย์ฯ ก็มีคนเขาบริจาคมาให้
จริงสินะ ถ้าคิดผ่านสายตาพนักงานกินเงินเดือนจะเอาเวลาที่ไหนมาประท้วงได้ แต่เพราะชีวิตชาวบ้านไม่ได้ผูกพันกับการตอกบัตรเข้า-ออก มนุษย์ตอกบัตรอย่างเราจึงไม่ค่อยไว้วางใจ
.....................
รอบกาต้มน้ำที่มีเปลือกไม้กำแพงเจ็ดชั้นว่ายอยู่ข้างใน เรากับชาวบ้านผู้ชายทั้งวัยกลางคนและใกล้ชรานั่งล้อมวงซดน้ำอุ่นๆ สีเหมือนเหล้าอย่างสงบอารมณ์ ชาวบ้านบอกว่ามันมีสรรพคุณช่วยในการระบาย ว่ากันแบบบ้านๆ พอตื่นเช้า เสียงตดเป็นต้องมีให้ได้ยิน บางครั้งก็คุยทับกันว่าใครตดเสียงดังกว่า ขณะที่เล่าก็มีรอยยิ้มและเสียงหัวเราะเป็นกับแกล้มไปด้วย
เป็นอารมณ์สนุกแบบหน่วงๆ คล้ายจังหวะเร็กเก้ หน่วงด้วยความหวาดระแวง เพราะทุกครั้งที่มีรถยนต์หรือมอเตอร์ไซค์วิ่งผ่านหน้าศูนย์ฯ 2 ชาวบ้านเป็นต้องชะเง้อหัวให้พ้นแนวบังเกอร์ทุกครั้ง ดูว่าจะมีใครทำอะไรหรือยิงอะไรเข้ามา แม่รำพึงแปลงสภาพเป็นอาณาจักรแห่งความกลัวไปแล้ว
“อยู่ที่นี่จะมีหน้าที่คอยเป็นเวรยาม ผลัดปลี่ยนหมุนเวียนกับเพื่อนๆ ผู้ชายในศูนย์” บุญเทิญ อาจหาญ เล่าเรื่องราวของศูนย์ยามค่ำคืนให้เราฟัง “ต้องจัดเวรยาม บางคืนมีเสียงปืนยิงขู่บ้าง และมีเหมือนกันที่มีคนจากฝ่ายตรงข้ามจะบุกเข้ามา แต่ทางเราไหวตัวทันเลยไม่มีอะไรรุนแรง แต่มันทำให้เราไม่ไว้ใจคนแปลกหน้าที่เข้ามาติดต่อเพราะไม่รู้ว่าหวังดีหรือเปล่า ช่วงหลังๆ นี้พอมีตำรวจมาเฝ้าก็ไม่มีเสียงปืนดังแล้ว”
จะจริงหรือเปล่าไม่รู้ แต่ชาวบ้านบางคนบอกว่าได้ยินเสียงปืนจนชินไปแล้ว ตอนแรกก็กลัว แต่เดี๋ยวนี้ถ้าไม่ได้ยินแล้วเหมือนจะนอนไม่หลับ
“เราคิดซะว่าถ้ากลัวก็ตายลำบาก อาจจะป่วยตาย แต่ถ้าไม่กลัวอาจจะโดนปืนโป้งเดียวตาย จบ สบายหน่อย” สมบัติ ศรีเภาโชค คมคายตามประสาชาวบ้าน
นึกถึงถ้อยคำของแม่ทัพจาง เหวิน เฉียง ใน The Warlord ‘ความตายง่ายนิดเดียว ชีวิตต่างหากที่ยาก’ ความตายเป็นเรื่องง่ายดายแล้วทำไมต้องลำบากก่อนตาย
“แต่คนในเมืองเขาว่าพวกน้าเป็นพวกขวางความเจริญ” เราโต้
“จุดยืนของเราชัดเจนว่าไม่เอาโรงถลุงเพราะรู้ว่ามันมีมลพิษ ถ้าเจริญแล้วตาย จะเอาอย่างไหน ที่มาบตาพุด เจริญมั้ย เจริญแล้วตายเอายังไงล่ะ ตัวอย่างมันมีให้เห็นอยู่ อาชีพประมงก็จบ แล้วที่แม่รำพึงมันเป็นแหล่งวางไข่ของปลาทูในอ่าวไทย ถ้ามันสร้าง มันกระทบกับแหล่งวางไข่ของปลาทู แล้วต่อไปประเทศไทยจะเอาปลาทูที่ไหนกิน ป่าพรุ ป่าชุ่มน้ำก็เป็นแหล่งอาหารของปลาทู ชาวบ้านรู้นะ เพราะข้อมูลกรมประมงชาวบ้านศึกษามา ลูกปลาทูก็กินแพลงตอนที่มาจากคลองแม่รำพึง มันจะไปโตเต็มที่ที่มหาชัย แล้วก็หมุนเวียนกลับมาไข่ที่นี่ เพราะชาวบ้านรู้ไง ถึงต้องลุกขึ้นมาคัดค้าน ขอบอกไว้ก่อนว่าถ้าไม่มีข้อมูลที่ชัดเจน ถ้าไม่เดือดร้อนก็จะไม่ค้านหรอก อย่างคนกรุงเทพ ไม่ต้องอะไรมากหรอก หมาไปขี้กองหนึ่งอยู่หน้าบ้านยังไม่พอใจ เหม็น ที่นี่ก็เหมือนกัน”
เฒ่าทะเลมาดนุ่มพูดขึ้นบ้าง
“ถ้าเราไม่ทำอย่างนี้ต่อไปเราอยู่ไม่ได้ ปลาก็ไม่มี หมึกก็ไม่มี สู้มาอยู่แบบนี้ก่อนแล้วไปสบายทีหลังดีกว่า แต่ก่อนนี้แถวชายหาดปลาหมึกเยอะแยะ แต่ตอนนี้มันไม่มีแล้ว ต้องออกไปอย่างน้อย น้ำลึก 25 เมตร 30 เมตร เรือเล็กๆ มันออกไม่ได้ แล้วถ้าโรงงานสร้างได้ 25 กิโลรอบโรงถลุงนี่ไม่ต้องอยู่นะ”
ลุงอำพันธ์บอกว่าบางทีกำลังปลดเชือกวัวออกจากคอก ถ้ามีคนส่งข่าวว่าทางกลุ่มอนุรักษ์ต้องการคนด่วนก็ต้องทิ้งเชือก ทิ้งวัวเอาไว้ก่อน
“ในหลวงบอกว่าเศรษฐกิจพอเพียง แล้วทำไมเขาถึงไม่พอเพียง มีอยู่แล้ว โรงเก่าเราไม่ว่า กระทบตั้งเท่าไหร่ น้ำต้องซื้อกิน แต่ก่อนกินน้ำฝนได้ เดี๋ยวนี้กินไม่ได้ แสดงว่าบริษัทไม่ได้ฟังคำของในหลวงเลย เราจะพอเพียง เขาเอาแต่โลภอย่างเดียว”
แกจิบน้ำกำแพงเจ็ดชั้น เมื่อปลดแก้วจากริมฝีปาก เฒ่าทะเลฝากคำถามผ่านทางเราว่า
“ถ้าคนกรุงไม่พอใจหาว่าเราสร้างความวุ่นวาย ขัดขวางความเจริญ ถามคำซิว่าถ้าเขาไปสร้างในเมืองได้ คนในเมืองจะยอมมั้ย เขาบอกว่าคุณต้องเสียสละแล้ว โรงงานจะไปอยู่ในที่คุณแล้ว คุณจะไปมั้ย ฝากถามคนในเมืองด้วยนะ ถ้าเขาจะมาทุบตึกคุณเพื่อสร้างความเจริญ ให้โรงถลุงไปลงในที่คุณ คุณจะยอมมั้ย ฝากไปถามด้วย”
คำถามนี้ใครจะตอบ?
เราจับได้ชัดเจนว่ามีความอึดอัดคับข้องแจมเจือในน้ำเสียง แต่เฒ่าทะเลจะรู้หรือเปล่าว่า ธูซิดิดิส (Thucydides) นักปรัชญากรีกกล่าวเอาไว้ตั้งแต่หลายพันปีก่อนว่า ความยุติธรรมไม่มีตำแหน่งแห่งที่ในความคิดคำนึงของมนุษย์เลย ความยุติธรรมจะถูกตัดสินในคำพูดหรือในการใคร่ครวญของมนุษย์บนพื้นฐานของอำนาจในการบังคับที่เท่าเทียมกัน ในขณะที่ผู้ซึ่งเหนือกว่าล้วนทำสิ่งที่พวกเขาสามารถทำได้หรือสิ่งที่เป็นไปได้ และผู้ที่อ่อนแอกว่าก็ต้องยอม (เรียบเรียงจาก ‘ปรัชญาการเมือง เล่มที่ 1’ แปลโดย ดร.สมบัติ จันทรวงศ์)
บังเอิญว่าชาวบ้านที่นี่ไม่ยอม
ราตรีคุกคาม ความง่วงงุนค่อยๆ แย่งชิงสติ วงน้ำกำแพงเจ็ดชั้นเริ่มวาย คนที่ง่วงก็แยกย้ายไปนอน คนที่ยังมีกำลังวังชาก็นั่งกันต่อรอเพื่อนมาผลัดเปลี่ยน กาต้มน้ำสีดำวางนิ่งบนเตาแก่ๆ ที่ไฟสีแดงกำลังแห้งเหือด...
....................
คืนสุดท้าย เรามีโอกาสได้นั่งรถกะบะไปส่งชาวบ้านขึ้นรถเพื่อไปให้กำลังใจบำรุงที่กรุงเทพ ชาวบ้านเล่าว่าเวลาจะเข้าบางกอกแต่ละครั้งก็จะรวบรวมเงินกันตามกำลัง บางทีคนในตลาดบางสะพานก็ร่วมสมทบมาด้วย
รถวิ่งลัดเลาะไปตามถนนเรียบชายทะเล เหม่อมองบนท้องฟ้า...ดาวสวยมาก คลื่นลมส่งเสียงตามธรรมชาติ ทุกคนพูดกันอย่างสนุกสนานทั้งที่รู้ดีว่าเป้าหมายคืออะไร ระหว่างทางก็ต้องคอยมองรถที่วิ่งตามหลังเพราะกลัวว่าจะเป็นฝ่ายตรงข้ามติดตามมา แต่ชาวบ้านก็ไม่ยอมถอย เป็นบรรยากาศที่เคล้ากันระหว่างความอบอุ่นอ่อนหวาน ร่าเริง และเกรี้ยวกราด เหมือน Moonlight Sonata ของบีโธเฟ่น
รถเมล์คันใหญ่เคลื่อนจากไป เรานั่งรถกะบะคันเดิมกลับศูนย์ฯ 2 บนรถเราพูดคุยกับพี่ชายร่างท้วมที่เป็นบัณฑิตด้านเกษตรจากแม่โจ้ เขาเป็นชาวสวนมะพร้าวอินทรีย์อยู่ที่นี่ โห...พี่เนียนมาก ถ้าไม่บอกก็คิดว่าเป็นชาวบ้านธรรมดาๆ
ที่ศูนย์ฯ 2 คืนนั้น ชาวบ้านบางคนนั่งกินข้าวอยู่ด้านหลังศูนย์ฯ 2 อีกหลายคนนอนซุกผ้าห่มบนเสื่อ หมา 2 ตัวที่อยู่กับศูนย์แยกย้ายกันไปนอน ธงสีเขียวผืนใหญ่บนยอดเสาไม้ไผ่ขยับตัวเล็กน้อยอย่างอ่อนโยน
ชาวบ้านสองสามคนนั่งเฝ้ายามคุยกันเหมือนเคย แต่ไม่มีการตั้งวงรอบกาต้มน้ำสีดำ เรากวาดตามองหามันอย่างคิดถึง...
******************
เรื่อง-กฤษฎา ศุภวรรธนะกุล, ออรีสา อนันทะวัน