xs
xsm
sm
md
lg

โอกาสและความเชื่อใจ เบื้องหลังที่ยิ่งใหญ่ของโลกหุ่นยนต์(ไทย)

เผยแพร่:   โดย: MGR Online


การปลูกต้นไม้ให้งอกงาม นอกจากน้ำ ดิน และอากาศ ที่เหมาะสมแล้ว บางครั้งยังต้องมีการใส่ปุ๋ยเพิ่มเติมเพื่อ ให้ต้นไม้เติบโตไปในทิศทางที่ควรจะเป็น การพัฒนาศักยภาพ ของมนุษย์สักคนหนึ่งก็เช่นกัน เราอาจต้องอาศัยหลายสิ่งหลายอย่างประกอบกัน ทั้งจากศักยภาพของมนุษย์คนนั้น การสนับสนุนจากครอบครัว การได้รับการศึกษาที่เหมาะสม และที่ขาดไม่ได้คือ กำลังใจ และความไว้เนื้อเชื่อใจจากผู้ที่เกี่ยวข้อง

หากใครได้มีโอกาสแวะเวียนไปชมการแข่งขันหุ่นยนต์ระดับประเทศของไทย คงจะคุ้นชินกับภาพของเหล่านิสิตนักศึกษา ที่ง่วนกับการปรับแต่งฮาร์ดแวร์และซอฟต์แวร์ก่อนการแข่งขัน แต่ก็ไม่บ่อยนักที่เราจะได้เห็นภาพของอาจารย์ที่ปรึกษามาให้กำลังใจในฐานะของผู้อยู่เบื้องหลังคอยให้การสนับสนุน และเป็นสิ่งที่ผู้ใหญ่ไทยน้อยคนจะมีกำลังใจ กำลังแรงสามารถทำได้ ผศ.ดร. มานพ วงศ์สายสุวรรณ อาจารย์ประจำภาควิชาวิศวกรรมไฟฟ้า คณะวิศวกรรมศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย เป็นหนึ่งในผู้ใหญ่ น้อยคนที่เราจะขอกล่าวถึงในโอกาสนี้

"เดิมผมรู้จักกิจกรรมชมรมนี้มาก่อนบ้าง แต่ไม่ได้ใกล้ชิดมากนัก ก็จะเห็นนิสิตรวมตัวทำกิจกรรมต่างๆ กันอยู่เสมอ เช่น ทำค่ายหุ่นยนต์สำหรับเด็กๆ ในช่วงนั้นกิจกรรมหุ่นยนต์ของไทย ยังเป็นหุ่นยนต์ที่มีระบบการทำงานไม่ยากนัก เช่น บังคับให้หุ่นวิ่งตามเส้นเอาเข็มไปจิ้มลูกโป่งให้แตก แข่งหุ่นกระโดดไกล ฟลาย-อิ้งโรบอต ฯลฯ"

จากอาจารย์ประจำที่เพียงสัมผัสกิจกรรมการประดิษฐ์ หุ่นยนต์ของนักศึกษาในวงนอก วันนี้ อาจารย์มานพกลับเข้ามารับหน้าที่ดูแลทีมอย่างถอนตัวไม่ขึ้น

"ผมประทับใจตั้งแต่ได้เข้ามามีส่วนร่วมในการแข่งขันโรโบคัพของนิสิตเมื่อ 4 ปีที่แล้ว ตอนนั้นเราได้เป็นตัวแทนประเทศไทยไปแข่งที่ญี่ปุ่น ต้องขอบคุณอาจารย์วิทยาที่มอบหมายให้ผมได้เข้ามาดูแลทีม ซึ่งมันทำให้ผมเห็นว่า เด็กกลุ่มนี้เขาทุ่มเท อดหลับอดนอน แล้วก็ช่วยกันทำงานหลายคนมาก ทั้งฝ่าย Vision ฝ่าย AI ฝ่าย Mechanics ฯลฯ แต่เวลาไปแข่งระดับโลก กลับไปได้แค่สามคนเพราะติดเงื่อนไขด้านค่าใช้จ่าย ซึ่งทางผู้สนับสนุนอย่างซีเกทก็ต้องขอบคุณเขาแล้วที่เขาเห็นความสำคัญ แต่หากมองให้ดีจะเห็นว่า คนสามคนมันไม่สามารถจัดการปัญหาที่เกิดขึ้นทั้งหมดในการแข่งขันระดับโลกได้ แถมการดูดซับความรู้จากการแข่งขันมันทำได้น้อย ทีมไทยจะไม่ก้าวหน้า ผมเลยตั้งใจว่าเราจะต้องพานิสิตไปให้ได้สัก 10 คน จึงเริ่มหาสปอนเซอร์เพื่อทำความหวังครั้งนี้ให้สำเร็จ"

จากการสนับสนุนของจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย และคณะวิศวกรรมศาสตร์ ทีมโรโบคัพของไทยในยุคนั้นจึงมีงบประมาณ 1 ล้านบาทพกติดกระเป๋าเพิ่มความอุ่นใจให้แก่เหล่านิสิต 10 ชีวิต

เมื่อวางแผนจะพานิสิตไปร่วมการแข่งขันในหลักสิบคนแล้ว สิ่งที่อาจารย์มานพตั้งเป้าไว้อีกประการหนึ่งก็คือ ต้องพารุ่นน้องไปด้วย เพื่อให้เกิดการส่งต่อความรู้ไปยังรุ่นถัดไป

"การที่พารุ่นน้องไปเพราะผมรู้สึกว่าความรู้มันต้องมีการสืบต่อ ปีนั้นเลยพารุ่นน้องไป 6-7 คน ก็พยายามดูแลค่าที่พัก ค่าอาหาร ฯลฯ ให้เพียงพอ พยายามประหยัดงบให้มากที่สุดเท่าที่จะมากได้ รวมถึงตัดบริการออแกไนเซอร์ออกไปเพื่อลดค่าใช้จ่าย เพราะผมเคยเรียนที่ญี่ปุ่น จึงพอสามารถหาที่พักในราคาถูกได้ครับ"

จากวันนั้นจนถึงวันนี้ ทีมพลาสม่าซีในความรับผิดชอบของ อาจารย์มานพ ก้าวมาถึงอีกหนึ่งจุดสำคัญ ก็คือ การเป็นตัวแทน ประเทศไทยไปชิงอันดับหนึ่งของโลกกับคู่แข่งที่แข็งแกร่ง ไม่ว่าจะเป็นสหรัฐอเมริกา ญี่ปุ่น หรือประเทศเจ้าภาพอย่างสาธารณรัฐ ประชาชนจีน โดยมีศักดิ์ศรีของรองแชมป์โลกเป็นเดิมพัน

"ค่อนข้างกดดัน เพราะเราอยู่ใกล้กับตำแหน่งแชมป์โลกมากพอสมควร ญี่ปุ่นเป็นอีกประเทศหนึ่งที่จับตาดูเรามาตลอด เขามีเขียนรายงานเกี่ยวกับทีมไทยไว้ด้วยว่าเป็นทีมที่มีการพัฒนาก้าว กระโดดมาก และจากความสามารถตรงนี้ ญี่ปุ่นจัดเราไว้ในกลุ่มทีมระดับท็อปคลาสของโลก ซึ่งสิ่งที่ทำให้เราก้าวมาถึงจุดนี้ได้คือ ศักยภาพของเด็กล้วนๆ เด็กไทยเก่งนะครับ แต่เราไม่ให้การสนับสนุนเขาเท่าที่ควร เราไม่ยอมผลักดัน ถ้าเราให้โอกาส ให้ ทุนทรัพย์ ให้เขาได้ในสิ่งที่อยากได้มาทดลอง แน่นอนว่ามันเปลือง ทั้งมอเตอร์ ชิ้นส่วนต่างๆ ฯลฯ แต่ให้เขาได้ลองเถอะครับ แล้วผู้ใหญ่ก็ต้องเชื่อใจว่าเด็กทำได้ เปิดโอกาสให้เขาสร้างสรรค์ สิ่งที่ได้รับกลับมามันคุ้มค่ามากครับ เพราะเขาจะมั่นใจในตัวเองว่าเขาก็ก้าวสู่การเป็นทีมระดับโลกเหมือนกัน ในอนาคตเด็กๆ เหล่านี้จะเป็นกำลังสำคัญด้านเทคโนโลยีชั้นสูงของประเทศได้แน่ ส่วนทีมจากมหาวิทยาลัยอื่นๆ ผมจะพยายามบอกให้เขาหารุ่นน้องมาทำด้วย อย่าเพิ่งท้อ เหมือนฟุตบอลไทย ถ้ามีแต่เกียรติศักดิ์ หรือปิยะพงษ์ เราอาจแข่งชนะ แต่ปีต่อๆ ไปเราจะไม่มีผู้สืบทอดน่ะครับ"

อย่างไรก็ดี ทีมผู้พัฒนาหุ่นยนต์ไทยก็ต้องเผชิญกับคำถาม ซ้ำๆ กันบ่อยครั้งว่า ถ้าประเทศไทยมีคนเก่งจริง เหตุใดจึงไม่พัฒนา หุ่นยนต์ส่งไปช่วยปัญหาความไม่สงบทางสามจังหวัดชายแดนภาค ใต้บ้าง ในจุดนี้ไม่ใช่เรื่องง่ายนักที่จะอธิบาย

"ตอนนี้การพัฒนาหุ่นยนต์ของไทยยังเป็นงานที่ต้องวิจัยอย่างต่อเนื่อง ยกตัวอย่าง หุ่นยนต์กู้ภัย ส่วนมากก็ยังเป็นรุ่นทดสอบ เราจำเป็นต้องพัฒนาให้มากกว่านี้เพื่อให้เหมาะสมกับการ ช่วยงานด้านการทหาร แต่หากมองในอีกมุมหนึ่ง การทำงาน หุ่นยนต์เป็นการพัฒนาการศึกษา และพัฒนาทรัพยากรมนุษย์ ถ้าเราทำได้ ผลตอบแทนคืนสู่ประเทศก็คือเราจะได้ทรัพยากรมนุษย์ที่มีคุณค่ากลับคืนมาในระยะยาวด้วยเหมือนกัน"

เมื่อถามถึงสิ่งที่คาดหวังในอนาคต อาจารย์มานพกล่าวทิ้งท้ายพร้อมรอยยิ้มว่า "สำหรับผม แน่นอนว่าต้องเป็นอาจารย์วิศวะ อนาคตก็คงจะสอนหนังสือต่อไป แต่ผมก็อยากจะเห็นลูกศิษย์เขารวมทีมกัน ตั้งบริษัทด้านเทคโนโลยี มีการพัฒนาสิ่งประดิษฐ์ที่ทันสมัย ทำเงินเข้าประเทศ ไม่จำเป็นต้องเป็นเด็กวิศวะทั้งหมดก็ได้ แต่ถ้ามีเพื่อนๆ ในวงการที่หน่วยก้านดี มีความสามารถก็มา ร่วมพัฒนาผลงานด้วยกัน แล้วเอาผลงานนั้นไปแข่งในระดับโลก ไปขายทำเงินเข้าประเทศ ถ้ามีบริษัทแบบนั้นเกิดขึ้นได้ก็คงเป็นความภาคภูมิใจในฐานะอาจารย์คนหนึ่งแล้วครับ"

แม้ว่าเส้นทางของวงการหุ่นยนต์ไทยยังมีอุปสรรคอีกมากมายให้ก้าวผ่าน แต่สำหรับผู้ที่เข้ามาสัมผัส จะพบว่าเบื้องหลังของอุปสรรคเหล่านี้เต็มไปด้วยประสบการณ์ที่มีค่า เต็มไปด้วยบทเรียนที่หาได้ยากจากห้องเรียน แม้วันนี้การสนับสนุนจากภาครัฐหรือภาคเอกชนจะมีไม่มากดังใจหวัง แต่เราก็เชื่อว่า เขาเหล่านั้นจะยังคง "พัฒนา" ต่อไป
กำลังโหลดความคิดเห็น