xs
xsm
sm
md
lg

"Arrive" จากซาเล้งสู่แชมป์รถอัจฉริยะ

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

โฉมหน้านักศึกษาผู้พัฒนาทีม Arrive
เป็นครั้งที่สองของประเทศไทยกับการจัดการแข่งขันสร้างรถอัจฉริยะไร้คนขับประจำปี 2551 ภายใต้การสนับสนุนของ สมาคมวิชาการหุ่นยนต์ไทย ภาควิชาเมคาโทรนิคส์ สถาบันเทคโนโลยีแห่งเอเชีย (เอไอที) สมาคมวิศวกรรมยานยนต์ไทย และบริษัทซีเกท เทคโนโลยี (ประเทศไทย) จำกัด ซึ่งการแข่งขันดังกล่าวเป็นที่ยอมรับกันทั่วไปว่า จำเป็นต้องอาศัยบุคลากรศักยภาพสูง ไม่ว่าจะเป็นด้านเทคโนโลยียานยนต์ และวิศวกรรมหุ่นยนต์ ซึ่งมีเพียง 2 ประเทศของโลกที่จัดการแข่งขันขึ้นได้ คือประเทศไทยกับสหรัฐอเมริกา

รองศาสตราจารย์ ดร. มนูกิจ พานิชกุล ประธานคณะกรรมการจัดการแข่งขันสร้างรถอัจฉริยะชิงแชมป์ประเทศไทย และอาจารย์ประจำภาควิชาเมคาโทรนิคส์ สถาบันเทคโนโลยีแห่งเอเชีย (เอไอที) กล่าวว่า "การแข่งขันสร้างรถอัจฉริยะเป็นการแข่งขันพัฒนารถไร้คนขับให้วิ่งไปบนเส้นทางที่กำหนดให้ไกลที่สุดและปฏิบัติตามกฎจราจรได้มากที่สุด ซึ่งมีไม่กี่ประเทศเท่านั้นที่มีศักยภาพในการจัดการแข่งขันเช่นนี้ได้ เนื่องจากจำเป็นต้องใช้เทคโนโลยีขั้นสูงของวิศวกรรมหุ่นยนต์ รวมกับเทคโนโลยียานยนต์ ตลอดจนงบประมาณค่อนข้างสูงในการสร้างรถอัจฉริยะ"

สำหรับกติกาของการแข่งขันในปีนี้ ทางคณะกรรมการระบุว่า มีความยากมากขึ้นเมื่อเปรียบเทียบกับปีที่แล้ว เนื่องจากเส้นทางการแข่งขันของแต่ละทีมจะไม่เหมือนกัน อีกทั้งทีมผู้เข้าแข่งขันจะรู้เส้นทางล่วงหน้าก่อนการแข่งขันไม่นาน เมื่อวิ่งอยู่บนเส้นทางแล้ว รถจะต้องปฏิบัติตามคำสั่งจากป้ายจราจรทั้งหมด 7 ประเภท ประกอบด้วย สัญญาณไฟแดง เหลือง เขียว สัญญาณบังคับเลี้ยวซ้าย ขวา และสัญญาณบังคับความเร็วต่ำ สูง และยังต้องหลบหลีกสิ่งกีดขวาง 3 ชิ้น ซึ่งอุปกรณ์ทั้งหมดถูกติดตั้งอย่างสุ่ม การตัดสินทีมชนะเลิศจะพิจาณาจากทีมที่วิ่งได้ระยะทางไกลสุดและปฏิบัติตามกฎจราจรมากที่สุด

และในการแข่งขันปีนี้ ก็ถือเป็นบทพิสูจน์ที่ดีอีกบทหนึ่งเกี่ยวกับศักยภาพของนักศึกษาไทยในมหาวิทยาลัยต่างจังหวัด เมื่อตำแหน่งแชมป์ตกเป็นของทีมม้ามืดอย่าง "Arrive" ผลงานการประดิษฐ์ของนักศึกษาคณะวิศวกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยแม่ฟ้าหลวง ได้แก่ อภิรัตน์ ประสิทธิ์, สุเมธ นาวีรัตนวิทยา, ปฏิวัติ แก้วรากมุข และกิตติวัฒน์ สวาสดิ์มิตรที่สามารถคว้าชัยชนะแซงหน้าทีมนักศึกษานักประดิษฐ์จากมหาวิทยาลัยชื่อดังของเมืองกรุงไปได้อย่างสวยงาม

อภิรัตน์ ประสิทธิ์ (อาร์ม) หัวหน้าทีม Arrive นักศึกษาชั้นปีที่ 3 คณะวิศวกรรมศาสตร์ สาขาวิศวกรรมการสื่อสารและสารสนเทศ (หลักสูตรภาษาอังกฤษ) มหาวิทยาลัยแม่ฟ้าหลวง เปิดเผยว่า จุดเด่นของ Arrive มาจากความเรียบง่ายทั้งในด้านแนวคิดและการปฏิบัติ เนื่องจากทีมไม่มีงบประมาณในการพัฒนามากนัก หลายครั้งต้องนำวัสดุที่หาได้ในท้องถิ่นมาประยุกต์แทนการสั่งซื้อจากในเมืองกรุง หรือการสั่งซื้อจากเว็บไซต์ต่างประเทศแบบทีมอื่น

"จุดเด่นของเราคือการประยุกต์ใช้ของในท้องถิ่น เรามีงบประมาณในการพัฒนารถยนต์เพื่อส่งเข้าแข่งขันรอบแรก 6,000 บาทครับ ได้เงินจำนวนนี้มาจากรุ่นพี่ที่คณะและเจ้าหน้าที่ของมหาวิทยาลัยช่วยกันสมทบทุน ซึ่งยอมรับครับว่า ชิ้นส่วนหลายอย่างมีราคาแพง แต่สำหรับทีมเราเรื่องเงินไม่ใช่ปัญหาใหญ่ มันอยู่ที่ไอเดียมากกว่า เราเลือกหยิบสิ่งที่มีในท้องถิ่นมาใช้ประโยชน์ เซนเซอร์ตัวไหนที่แพงเราก็ไม่ใช้ แต่จะหันมองสิ่งที่อยู่รอบ ๆ ตัวแทน เซนเซอร์บางตัวเราไปแกะมาจากวิทยุก็มีครับ"

ส่วนรูปลักษณ์ของตัวรถนั้น ทางทีมได้ไอเดียมาจากรถซาเล้ง หรือรถสามล้อเก็บขยะที่วิ่งอยู่ในรั้วมหาวิทยาลัยนั่นเอง

"บางทีมอาจพุ่งเป้าไปที่การประดิษฐ์รถ 4 ล้อ แต่ผมสังเกตว่า รถสามล้อแบบนี้เลี้ยวง่ายดี การขับเคลื่อนก็ทำได้ง่าย จึงเริ่มจากรถสามล้อที่เราคุ้นเคย และทำให้ผลงานของทีมเรามีจุดที่แตกต่างจากทีมอื่น ๆ ด้วยเช่นกันครับ"

ส่วนผสมของความเป็น "ท้องถิ่น"

"ส่วนหนึ่งอาจเป็นเพราะเชียงรายเป็นจังหวัดที่เงียบสงบ เรียบง่าย และคนที่นี่มีมุมมองความคิดแตกต่างจากคนในกรุงเทพ ซึ่งเราได้นำแนวคิดเหล่านั้นมาใช้ประโยชน์ได้มากในการแข่งขันครั้งนี้ ที่สำคัญเราไม่ได้เน้นว่าต้องใช้ของดีราคาแพงเสมอไป ผมมองว่า ของในท้องถิ่น ถ้าประยุกต์ใช้ให้ดี ก็ให้ผลได้ไม่แพ้เซนเซอร์ราคา 200,000 บาทครับ ทั้งหมดจึงทำให้รถของทีมเรามีส่วนผสมของสิ่งแวดล้อม และบรรยากาศของเชียงรายอยู่พอสมควร"

ความคุ้นเคยกับตลาดสินค้าจีนในอำเภอแม่สายกลายเป็นอีกหนึ่งสถานที่ที่บ่มเพาะไอเดียต่าง ๆ ให้กับทีม Arrive ได้เป็นอย่างดี

"พวกเราเคยไปเดินดูสินค้าจีนราคาถูกที่วางขายอยู่บริเวณตลาดแม่สาย ซึ่งทำให้พวกเราทึ่งมากกับแนวคิดของวิศวกรจีน หรือคนที่คิดค้นแผงวงจรในสินค้าต่าง ๆ ซึ่งไม่ซับซ้อน และใช้งานได้จริง แถมทำให้ราคาสินค้าไม่แพงมาก เลยนำแนวคิดนี้มาใช้กับงานประดิษฐ์รถอัจฉริยะด้วยครับ"

เทคนิคในการเขียนโปรแกรมก็เป็นอีกส่วนหนึ่งที่สำคัญ หัวหน้าทีม Arrive เล่าว่า เทคนิคของทีมคือการนำภาพวิดีโอที่ถ่ายได้จากกล้องมาวิเคราะห์ส่วนที่เป็นถนน ขอบถนน และสิ่งกีดขวาง จากนั้นก็แค่ควบคุมให้รถวิ่งไปตามทางที่เป็นถนน และไม่ชนสิ่งกีดขวางเท่านั้น ซึ่งเขาบอกว่า เป็นเทคนิคที่คิดอย่างง่าย ๆ และก็มีสนามของการแข่งขันเป็นบททดสอบที่ดี

"การแข่งขันครั้งนี้สอนอะไรพวกเราได้หลายอย่าง เช่น ทีมผู้ชนะอาจไม่ใช่ทีมที่แข็งแกร่งที่สุด แต่เกิดจากองค์ประกอบหลายอย่างผสมกัน ทีม Arrive เราอาจจะมาไกล ตัวรถก็คิดขึ้นอย่างง่าย ๆ เพราะงบสนับสนุนเราไม่มากนัก แต่เราก็เต็มที่ในการแข่ง โดยเราอาศัยการสังเกตสิ่งแวดล้อมรอบ ๆ ตัวก่อนการแข่งขัน เพื่อปรับให้รถของเราสามารถปฏิบัติหน้าที่ได้อย่างไม่บกพร่อง เช่น คืนก่อนหน้าการแข่งมีฝนตกหนักมาก เราก็ช่วยกันนำพลาสติกมาคลุมรถ คลุมเซนเซอร์เอาไว้ นอกจากนั้น การมีผู้ให้การสนับสนุนที่ดี ก็เป็นอีกเหตุผลหนึ่งที่ทำให้ทีมเรามาได้ถึงจุดนี้ เราได้รับความช่วยเหลือจากอาจารย์ที่ปรึกษา รุ่นพี่ เพื่อน ๆ ตลอดจนเจ้าหน้าที่ในห้องปฏิบัติการอย่างดีมาก ทำให้ผมและเพื่อน ๆ อยากนำกำลังใจที่ได้รับมาพัฒนาความรู้ความสามารถในสาขาเทคโนโลยีอัตโนมัตินี้ต่อไป เพื่อให้วันหนึ่ง เราจะมีเทคโนโลยีที่ก้าวหน้าสำหรับช่วยเหลือผู้พิการ หรือสังคมส่วนอื่น ๆ ได้ครับ"

"พวกเราโชคดีที่มีอาจารย์ที่ปรึกษาอย่าง อาจารย์อภิชาติ เหล็กงาม และอาจารย์รังสรรค์ ชัยศรีเจริญ และมีพี่ ๆ คอยให้การสนับสนุนอย่างดี โดยเฉพาะพี่สุทิน ตัณฑุลาวัฒน์ หัวหน้าศูนย์เครื่องมือของมหาวิทยาลัย ที่คอยอยู่ดูแลเราจนดึกดื่นทุกวันครับ"

สำหรับเงินรางวัล 300,000 บาทนั้น ทางทีมตั้งใจว่าจะเก็บไว้เป็นทุนสำหรับการวิจัยและพัฒนารถอัจฉริยะรุ่นต่อไปเพื่อการแข่งขันในปีหน้า รวมถึงจะกันเงินส่วนหนึ่งเอาไว้สำหรับกลุ่มเพื่อน ๆ นักศึกษาในมหาวิทยาลัยที่ต้องการทำกิจกรรมแต่ขาดงบสนับสนุนด้วย

จากความคาดหวังของคณะผู้จัดการแข่งขัน ไม่ว่าจะเป็น รศ.ดร. มนูกิจ พานิชกุล, ผศ.ดร. จักรกฤษณ์ ศุทธากรณ์ ตลอดจนบริษัท ซีเกท ที่ต้องการให้การแข่งขันนี้เป็นตัวกระตุ้นศักยภาพของนิสิตนักศึกษา ตลอดจนช่วยสร้างบุคลากรที่มีความรู้ความสามารถด้านรถอัจฉริยะให้เกิดขึ้นในประเทศไทย แต่มาในวันนี้ดูเหมือนว่า สิ่งที่คณะผู้จัดได้สร้างขึ้นจะก่อให้เกิดแรงสั่นสะเทือนได้ "มาก" กว่าสิ่งที่เคยคาดหวังไว้ในตอนต้นเสียแล้ว ซึ่งเราก็หวังว่า เด็กยุคใหม่ซึ่งยังอาจเป็นฟันเฟืองชิ้นเล็ก ๆ เหล่านี้จะมุ่งหน้าขับเคลื่อนสังคมให้ไปในทิศทางที่ดียิ่ง ๆ ขึ้นต่อไปอย่างแน่นอน

Company Related Links :
มหาวิทยาลัยแม่ฟ้าหลวง
Seagate
สมาคมวิชาการหุ่นยนต์ไทย
กำลังโหลดความคิดเห็น