“หนังสือไม่ใช่แค่เพื่อน แต่มันสร้างเพื่อนให้กับคุณ เมื่อคุณครอบครองหนังสือด้วยหัวใจและวิญญาณ คุณจะได้รับสิ่งดีๆจากมัน แต่เมื่อคุณส่งต่อมันให้กับคนอื่น สิ่งดีๆ ที่คุณได้รับนั้นจะเพิ่มขึ้นเป็นสามเท่า” วาทะของศิลปินนักเขียนอีโรติกนาม เฮนรี่ มิลเลอร์ ว่าไว้อย่างนั้น
บ่อยครั้งที่ “ตัวอักษร” ในหนังสือหลายต่อหลายเล่มบนโลกทำหน้าที่เป็นแหล่งกำเนิดแรงซึ่งมีพลังยิ่งใหญ่อย่าง “แรงบันดาลใจ”
เคยสงสัยไหม? กว่าที่นิตยสารสักฉบับจะให้ความรู้ และความบันเทิงแก่ผู้อ่าน ฉบับแรกนั้นหน้าตาเป็นอย่างไร ซึ่งบางคนอาจจะมองข้าม บางคนอาจจะเห็นค่าเป็นเพียงแค่เศษกระดาษ แต่ยังอีกหนึ่งความคิดดีๆ ของชายวัยเกษียณอายุที่ชื่อว่า ศุภชัย ราชพิตร อดีตผู้อำนวยการการท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย (ททท.) สำนักงานกัวลาลัมเปอร์ ประเทศมาเลเซีย ที่ใช้เวลากว่า 20 ปีรวบรวมและสะสมนิตยาสาร วารสาร ฉบับปฐมฤกษ์ทุกประเภททั้งสัญชาติไทยและอีกหลายๆ สัญชาติในโลก
เปิดกรุเล่มแรกของนิตยสาร
เพราะนิตยสารไทยบางหัวมีอายุถึง 30-40 ปี ขนาดไปค้นที่หอสมุดแห่งชาติก็ยังหา "เล่มแรก" อ่านไม่ได้!!
เป็นที่ทราบกันดีว่าของสะสมทุกชนิดมีคุณค่า และราคาสูง ประโยคนี้ไม่น่ามีใครเห็นแย้ง เพราะถึงวันนี้หลายคนคงอยากเห็น 'เล่มแรกของนิตยสาร' แต่ละเล่มว่าหน้าตาเป็นอย่างไร หลังจากที่ทางสมาคมนิตยสารแห่งประเทศไทยเคยมีการรวบรวมและจัดนิทรรศการให้ชมไปแล้วเมื่อหลายปีก่อน แต่นั่นก็มีจำนวนไม่มากมายเท่าไหร่นัก
แล้วตัวการสำคัญที่ทำให้คุณลุงศุภชัยหันมาสะสมนิตยสาร และวารสารฉบับปฐมฤกษ์อย่างจริงจังเช่นทุกวันนี้คืออะไรไปฟังกันเลย
“แต่ก่อนผมทำงานทางด้านการท่องเที่ยวทำให้ได้เดินทางเป็นประจำ สมันนั้นผมอยากอ่านหนังสือตั้งหลายเล่มแต่ไม่มีเวลา ได้แต่เลือกซื้อหามาเก็บไว้ ตอนนี้ก็ถึงวัยเกษียณอายุแล้วทำให้มีเวลาว่างที่จะมอบความสำคัญให้กับการสะสมหนังสือมากขึ้น เมื่อก่อนชอบซื้อนิตยสารมากเหมือนกัน โดยเฉพาะเล่มแรก หรือที่เรียกว่าฉบับปฐมฤกษ์ของแต่ละหัว เวลาไปประเทศไหนก็จะซื้อของที่นั่นเหมือนกัน
“ส่วนแนวคิดในการเริ่มต้นสะสมนิตยสารฉบับปฐมฤกษ์เกิดขึ้นตั้งแต่ปี พ.ศ.2532 เพราะเป็นปีที่หนังสือพิมพ์หัวสีฉบับหนึ่งฉลองครบรอบ 40 ปี ทำให้มีการจัดพิมพ์เป็นฉบับพิเศษถึง 108 หน้า ซึ่งหนามาก เวลาที่เห็นหนังสือพิมพ์ฉบับนั้นจึงเกิดความสงสัยว่า ถ้าเป็นหนังสือฉบับที่ออกครั้งแรกจะหนาสักกี่หน้า ?”คุณลุงศุภชัยกล่าวถึงแรงบันดาลในและที่มาของการสะสมนิตยสาร และวารสารฉบับปฐมฤกษ์
“ผมเคยพูดไว้ครั้งหนึ่งว่า ผมชอบสะสมหรือซื้อหนังสือและนิตยสารฉบับพิมพ์ครั้งแรก หรือที่เรียกกันว่า "ฉบับปฐมฤกษ์" เหตุผลจูงใจคือ เพื่อเป็นกำลังใจให้คณะจัดทำ หรือกองบรรณาธิการ และผมยังมีความเชื่อส่วนตัวว่า หนังสือหรือนิตยสารฉบับปฐมฤกษ์จะต้องจัดทำให้ดีที่สุด เพื่อเป็นการจูงใจผู้ซื้อ นอกเหนือไปจากนั้นหากหนังสือหรือนิตยสารฉบับนั้นสามารถอยู่รอดไปได้นานๆ หนังสือฉบับปฐมฤกษ์ก็จะมีค่ามีราคาขึ้นมาอย่างอัตโนมัติ
“เมื่อไม่สามารถจะหาดูได้ เพราะหนังสือยิ่งเก่ายิ่งหาดูยาก เลยมีความคิดว่าน่าจะได้สะสม หนังสือพิมพ์ นิตยสาร และวารสารที่เป็นฉบับปฐมฤกษ์ ตั้งแต่บัดนี้ เพื่อว่าในอีก 5 ถึง 10 หรืออาจจะ 50 ปีข้างหน้าก็จะมีฉบับปฐมฤกษ์ได้ดู ได้เห็นตามที่ต้องการ”
“ใครได้เห็นปกนิตยสารสกุลไทยเล่มแรก เล่มละ 3 บาท รู้สึกว่ามันเป็นอาหารตาอาหารใจ”นักสะสมนิตยสารฉบับปฐมฤกษ์เชื่อมั่นอย่างนั้น
เอกลักษณ์พิเศษของฉบับพิเศษ
ทุกวันนี้ถึงแม้ว่าการกลับไปหาอ่านนิตยสารเล่มเก่าๆ เล่มแรกที่เคยมอบแรงบันดาลใจแก่เราเมื่อครั้งเก่าก่อนนั้นจะถือเป็นความลำบากมากก็ตามที แต่สำหรับคนในวงการหลายๆ คนต่างรู้ดีว่านิตยสารเล่มแรกเหล่านี้ ถือเป็นของสะสมที่มีราคาค่างวด บางเล่มราคาวิ่งไปถึง 2-3 หมื่น เพราะความหายาก อย่างเช่น ต่วย’ตูน หรือนิตยสารสารคดี เป็นต้น
“เอกลักษณ์พิเศษอีกประการหนึ่งของ ฉบับปฐมฤกษ์ ที่น่าสะสม นอกเหนือจากจะเป็นฉบับที่คณะผู้จัดทำ ได้ร่วมกันวางแผน สรรหาเรื่อง บทความจากนักเขียนที่มีชื่อต่างๆ ตลอดจนออกแบบรูปเล่มแล้ว ด้านการผลิต การส่งเสริม และทำการตลาดให้ออกมาดูดีก็เป็นสิ่งที่ควรให้ความสำคัญ เพื่อนิตยสารหัวนั้นๆจะได้เป็นที่รู้จักและติดตลาดให้มากที่สุดเท่าที่จะมากได้ จึงถือได้ว่าฉบับปฐมฤกษ์เป็นฉบับที่ดีที่สุดฉบับหนึ่งในการดำเนินการ
“หนังสือที่ผมสะสมต้องระบุให้ชัดเจนว่าเป็น ฉบับปฐมฤกษ์ หรือในความหมายเดียวกันอาทิเช่น ฉบับเปิดตัว ฉบับแนะนำตัว หรือ ปีที่ 1 ฉบับที่ 1 ถ้าเป็นภาษาอังกฤษจะต้องระบุอย่างใดอย่างหนึ่งว่า PREMIERE ISSUE, FIRST ISSUE, INAUGURAL ISSUE, หรือ VOL. 1 NO. 1 เป็นต้น
“การได้มาซึ่งหนังสือเก่าๆ นั้นต้องเขียนจดหมายไปขอจากทางสำนักพิมพ์ หรือกองบรรณาธิการ ซึ่งวิธีนี้ยากมากกว่าจะได้การตอบรับที่ดี แต่สำหรับหนังสือหัวนอกมักจะได้รับการตอบกลับมากกว่า บางก็ต้องไปเดินหลายๆ แผงหนังสือ เพราะแต่ละแผงจะรับหนังสือจากสายส่งที่แตกต่างกัน ไปตลาดนัดหนังสือเก่าที่จตุจักรบ้าง นอกจากนี้ยังได้ผู้อ่านและผู้ที่รับรู้เรื่องการสะสมนี้จำนวนหนึ่ง ที่เป็นผู้มีพระคุณคอยสนับสนุนเราอยู่ ทั้งที่บางคน แค่ได้พบปะพูดคุยกันในช่วงเวลาสั้นๆ แต่กลับช่วยเหลือเราในเรื่องต่างๆ มากมาย เอาหนังสือมาให้บ้าง แลกเปลี่ยนกันบ้าง เพื่อให้ได้หนังสือที่เรารักหลากหลายมากขึ้น”
มองย้อนไปเห็นความเปลี่ยนแปลง
“งานอดิเรกอีกอย่างหนึ่งก็คือ ‘การอ่าน’ โดยเฉพาะพวกที่เป็นนิตยสาร และวารสารต่างๆ ซึ่งสมัยตอนทำงานไม่ค่อยมีเวลาได้อ่านมากนัก เมื่ออ่านจบก็ไม่รู้จะเอาหนังสือพวกนี้ไปทำอะไร เก็บไว้ก็รกบ้าน จะทิ้งก็เสียดาย เวลานี้บ้านผมก็เป็นเหมือนห้องสมุดธรรมดา ที่มีนิตยสารฉบับปฐมฤกษ์เวลานี้ทั้งสิ้น 5,500 ฉบับ การย้อมกลับไปดูที่มาของหนังสือแต่ละหัว และนำมาเปรียบเทียบกับปัจจุบันนั้นสามารถดูได้ถึงการพัฒนา การเปลี่ยนแปลงของนิตยสารฉบับนั้นๆ
เพราะนิตยสารบนแผง ปัจจุบันนี้อยู่ได้ด้วยโฆษณาเป็นหลักทั้งนั้น เพื่อธุรกิจดำเนินต่อไปสิ่งที่คนทำหนังสือต้องคำนึงคือการหาความสมดุลระหว่างรายรับ กับรายจ่าย และในความเป็นสื่อที่ดีก็ยังต้องหาจุดสมดุลระหว่างอุดมการณ์กับการอยู่ในโลกแห่งความเป็นจริงด้วยเช่นกัน โดยในแง่นี้คุณลุงศุภชัยมองว่า
“อย่างไรก็ตามในนิตยสาร หรือวารสารฉบับแรกมักพบว่าจะมีความแตกต่างบางอย่างที่สอดแทรกอยู่อีกมากมาย เช่นไม่มีวันที่ ไม่มีเลขหน้า หรือนับเลขหน้าไม่เหมือนกัน มันเป็นเรื่องเล็กๆ ที่บางทีคนอ่านไม่รู้สึกขัดเขิน หรือขัดแย้งอะไรเลย ซึ่งอาจจะเป็นการพิสูจน์ได้อย่างหนึ่งว่า
“อาจเป็นด้วยเหตุผลที่ว่า การทำหนังสือก็เหมือนงานศิลปะ แล้วแต่มุมมอง ส่วนตัวผมมีความสนใจเรื่องการออกแบบจัดวางที่สวยงาม และมีแนวความคิดที่แตกต่างกัน ผมว่าเรื่องนี้น่าทำการศึกษาถึงความถูกต้อง และความแตกต่างที่ชัดเจน เพื่อพัฒนาและส่งเสริมการจัดทำนิตยสารให้มีคุณภาพสูง และกว้างขวางยิ่งขึ้น”คุณลุงศุภชัยพูดด้วยน้ำเสียงและสีหน้าจริงจัง
สะสมจนเห็นสัจธรรม
ว่ากันว่าคนที่เป็นนักสะสมหนังสือ หรือนิตยสารคนพวกนี้มีความกระตือรือร้นดีมากๆ เลย แล้วก็เป็นคนที่อยากรู้อยากเห็น มีความเป็นส่วนตัวสูง ชอบที่จะอ่านหนังสือหรือไม่ก็เปิดเพลงเพราะๆ ฟัง อยู่คนเดียวหรืออาจจะอยู่กับใครสักคนที่รู้ใจ พวกนี้จะมีวาทะดีเยี่ยมยอดมากใครได้ฟังรับรองเคลิ้มตามแน่ๆ และหากเจอใครที่ถูกอกถูกใจล่ะก็ คนที่ปกติจะเป็นคนเงียบๆ ขรึมๆ ก็จะคุยจ้อขึ้นมาเลยทีเดียว แบบไม่น่าเชื่อ
“การสะสมหนังสือทำให้ผมได้ประสบการณ์อย่างหนึ่งที่ชัดเจนคือ เห็นสัจธรรมของชีวิต เพราะชีวิตของหนังสือกับชีวิตมนุษย์ก็คล้ายคลึงกัน บางคนเกิดมาได้ใช้เวลาผ่านร้อน ผ่านหนาว กว่าจะถึงกาลดับขันธ์ก็ก้าวไป 70-80 ปี บางคนเกิดมาเพียงแค่ 2-3 ปีก็ดับขันธ์ไปเฉยๆ ซึ่งหนังสือก็เหมือนกัน บางหัวอยู่ในท้องตลาดเพียงแค่ 3-4 เล่มก็หายไปแล้ว
“การสะสมอะไรก็ตามมันขึ้นอยู่ที่ว่าเราจะหาความสุขให้ตัวเองยังไงเราชอบอะไรก็ต้องหา เพราะว่าพูดกันตามตรงแล้วชีวิตไม่ค่อยยาวเท่าไหร่หรอก ถ้าเราช่วยให้คนอื่นมีความสุขได้เราก็ต้องช่วย จนกว่าเราจะไม่มีแรงช่วย”
ในฐานะประชาชนคนธรรมดาที่รักการสะสมนิตยสารเป็นชีวิตจิตใจ เขาเชื่อว่าการทำผลิตหนังสือไม่ว่าจะประเภทไหนสามารถให้อะไรกับเพื่อนมนุษย์ได้ ทั้งในเชิงความคิด และความรู้ และเวลานี้คุณลุงศุภชัยอยากรู้จักกับผู้ที่สะสมฉบับปฐมฤกษ์ หรือผู้สนใจทั่วไป เพื่อแลกเปลี่ยนฉบับของที่ฝ่ายใดฝ่ายหนึ่งยังไม่มี แลกเปลี่ยนความคิดเห็น หรือแลกเปลี่ยนของสะสมระหว่างกัน
“สำหรับเพื่อนที่มีหนังสือเล่มอื่นที่คนอื่นไม่มี จะได้แลกกันอ่านก็ได้เพื่อขยายโลกทัศน์ให้กว้างขึ้นในวัยชรา แถมประหยัดได้ด้วย ไม่ต้องซื้อหรือสมัครเป็นสมาชิกให้ซ้ำซ้อนกัน ก่อนจะหาทางบริจาคต่อไป เราพร้อมจะแลกกันอ่านกับเพื่อน ๆ ซึ่งขณะนี้เรามีหนังสือต่อไปนี้อยู่แล้ว คือ 1 อนุสาร อ.ส.ท. (รายเดือน) 2 ต่วย’ตูน (รายปักษ์) 3 READER’S DIGEST – สรรสาระ (รายเดือน) ฯลฯ ใครสนใจก็ติดต่อเพื่อแลกเปลี่ยนกันได้เลย
“ขณะนี้เราไม่ได้ทำงานแต่อย่างใด เป็นมนุษย์กินบำเหน็จ แต่เพียงอย่าง เมื่อไม่ได้ทำงานก็ต้องหางานอดิเรกทำเหมือนเพื่อน ๆ คนอื่น ที่อาจเหมือนหรือต่างกันก็ได้ สำหรับตัวผมเองบอกได้เลยว่ามีหลายอย่าง เป็นต้นว่า สะสมหนังสือฉบับปฐมฤกษ์ ซึ่งสิ่งที่ผมต้องทำให้เร็ววันที่สุดตอนนี้คือ หาคนทำเว็บไซต์เพื่อรวบรวมข้อมูลของสะสมที่มีอยู่ในตอนนี้ เพราะนอกจากหนังสือฉบับปฐมฤกษ์แล้ว ผมยังสะสมป้ายแขวนประตูโรงแรม DON’T DISTURB และ PLEASE MAKE UP ROOM ฉะนั้นจึงอยากขอร้องเพื่อนๆ ที่ชอบเดินทางท่องเที่ยวทั้งในและต่างประเทศ ได้ทราบ และอนุเคราะห์เก็บป้ายแขวนประตูโรงแรมที่ไปพักมาฝากด้วย ถ้ารักกันจริง ซึ่งถ้าใครอยากร่วมสนุก และมาช่วยดูแลความสุขของกันและกันก็ยินดีมาก“คุณลุงแสดงความคิดเห็นในฐานะคนอยู่ร่วมสังคม
ในอนาคตคุณลุงศุภชัยคิดไว้ว่า อาจจะหาสถานที่บริจาคหนังสือเหล่านี้ตามเวลาอันสมควร ส่วนตัวเขาอยากเสนอ โครงการแยกกันซื้อ-แลกกันอ่าน อันนี้ยังไม่รู้ว่าจะดีไหม? แต่ถ้าเป็นการบริจาคคิดไว้ว่าอยากทำการบริจาคให้กับทางหอสมุดแห่งชาติ เพราะสามารถให้ทุกคนเข้าไปดูได้ และเรื่องการดูแลรักษาก็ไม่น่าเป็นห่วงอะไรมาก แต่ถ้าต้องไปบริจาคกับทางสถาบันการศึกษาหรือมหาวิทยาลัยคาดว่าจะไปเป็นการเพิ่มภาระค่าใช้จ่ายในการดูแลรักษาให้กับเขา ไม่ว่าจะเป็นการลงทุนหาสถานที่ และชั้นว่างหนังสือ ไหนจะเรื่องการเก็บรักษา และการป้องกันอีก
“วันนี้ขอเพียงนี้ก่อนจะไปอ่านหนังสือและเก็บป้ายแขวนประตูโรงแรมที่ได้มาใหม่เข้าแฟ้ม และถ้าเพื่อนผู้ใดสนใจอยากชมของสะสมเหล่านี้ ขอต้อนรับด้วยความยินดี” คุณลุงนักสะสมกล่าวทิ้งท้ายไว้ด้วยถ้อยคำที่สวยงาม และเป็นมิตร
การได้สะสมหนังสือเหล่านี้ถือเป็นความสุขเล็กๆ ของคุณลุงศุภชัย ผู้ซึ่งเห็นว่าเพียงแค่เรื่องเล็กๆ น้อยๆ ก็สามารถทำให้ชีวิตครบถ้วนสมบูรณ์ได้ ไม่ว่าความคิดนี้จะเป็นจริงได้หรือไม่ มันก็แสดงให้เห็นถึงความตั้งใจ ซึ่งบางครั้งการกระทำที่เล็กน้อยจนเราคิดว่าไม่มีค่าอาจมีค่ามหาศาลเมื่อกาลเวลาล่วงเลย....
***********
นิตนสารฉบับเก่าๆ ที่น่าสนใจ
"สตรีสาร" "ลลนา" "แฟชั่นรีวิว"? "ช่อชัยพฤกษ์" "เธอกับฉัน" "เดอะบอย" “เมืองโบราณ” “สารคดี” “คู่สร้างคู่สม” ฯลฯ
ภาษาไทย สมุทสาร 2457 (ค.ศ. 1914) 88 ปี ศรีไทย 2463 (ค.ศ.1920) 81 ปี ข่ายเพ็ชร์ 2468 (ค.ศ. 1925) 77 ปี วรรนคดีสาร 2485 (ค.ศ.1942) 60 ปี สยามรัฐ สัปดาห์วิจารณ์ 2497 (ค.ศ.1954) 48 ปี
ภาษาอังกฤษ ILLUSTRATED (UK) 2482 (ค.ศ. 1939) 63 ปี
ภาษาจีน WORLD PHOTOGRAPHY(HKK) 2475 (ค.ศ.1932) 70 ปี ENTERTAINMENT(?) 2493 (ค.ศ.1950) 52 ปี UNION PICTORIAL, THE (HKK) 2498 (ค.ศ.1955) 57 ปี MODERN FILM (HKK) 2498 (ค.ศ. 1955) INTERNATIONAL SCREEN (HKK) 2498 (ค.ศ.1955)
*****************
ใครสนใจสามารถแวะไปชมนิตยสารฉบับปฐมฤกษ์ได้ที่
บ้านเลขที่ 99/113 หมูบ้านพฤกษชาติ ซอยรามคำแหง 118 แยก 13 ถนนรามคำแหง เขตสะพานสูง กรุงเทพฯ 10240
**************
เรื่อง – นาตยา บุบผามาศ