xs
xsm
sm
md
lg

Taishoku Daikō: บริการรับจ้างลาออก วัฒนธรรมการทำงานญี่ปุ่นเปลี่ยนไป

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์

ปรัชญาการทำงานแบบ “เจแปนเวย์” ผ่านมุมมองของผู้บริหารชาวไทย ซึ่งผ่านประสบการณ์ทำงานกับชาวญี่ปุ่นมานานกว่า 10 ปี......โดย ดร.ธนศักดิ์ วหาวิศาล


ในวัฒนธรรมการทำงานของญี่ปุ่นยุคใหม่ มีคำศัพท์หนึ่งที่สะท้อนการเปลี่ยนแปลงของสังคมได้อย่างลึกซึ้ง คือคำว่า “退職代行 (たいしょくだいこう | Taishoku Daikō)” หมายถึง “บริการรับจ้างลาออก” 

บริการรูปแบบนี้เกิดขึ้นเพื่อช่วยเหลือพนักงานที่ต้องการลาออกจากองค์กร โดยที่ไม่ต้องเผชิญหน้ากับหัวหน้า หรือผ่านกระบวนการที่กดดันในบริษัทด้วยตัวเอง เพียงแค่ติดต่อบริษัทที่ให้บริการ Taishoku Daikō บริษัทเหล่านี้ก็จะดำเนินการแจ้งลาออกแทนอย่างเป็นทางการ

หนึ่งในบริษัทที่ประสบความสำเร็จที่สุดคือ Moumuri (モームリ) ซึ่งมาจากคำว่า “もう無理” หรือแปลตรงตัวว่า “ทนไม่ไหวแล้ว!”

Moumuri ก่อตั้งขึ้นในปี 2022 โดยคุณ Shinji Tanimoto ผู้เล็งเห็นว่ามีคนทำงานจำนวนไม่น้อยที่อยากลาออก แต่ติดกับวัฒนธรรม “เกรงใจ” และ “กลัวการเผชิญหน้า” จึงไม่กล้าแจ้งลาออกด้วยตัวเอง ไอเดียของ Moumuri ไม่ได้เกิดจากการมองตลาด แต่เกิดจากการเข้าใจ “ความรู้สึกที่ไม่มีใครกล้าพูด” ในวัฒนธรรมญี่ปุ่น

และเพียงไม่นานหลังเปิดตัว Moumuri ก็มียอดผู้ใช้บริการกว่า 20,000 ราย จนกลายเป็นหนึ่งในผู้นำของธุรกิจที่มูลค่าตลาดสูงถึง 6,000 ล้านบาทในปี 2023 Moumuri ให้บริการแบบครบวงจร ตั้งแต่การโทรแจ้งลาออกแทนลูกค้า ติดต่อฝ่ายบุคคล ประสานเรื่องการส่งของส่วนตัวจากบริษัท รวมถึงให้คำปรึกษาด้านอาชีพใหม่หลังลาออก

แล้วทำไมคนญี่ปุ่นถึงต้องใช้บริการรับจ้างลาออก
1. วัฒนธรรมการเกรงใจ และความกลัวการเผชิญหน้า ผลสำรวจโดย Mynavi ในปี 2023 พบว่า 62.8% ของพนักงานอายุต่ำกว่า 30 ปี รู้สึกเครียดเมื่อต้องแจ้งลาออกกับหัวหน้าโดยตรง

2. ระบบซีเนียร์ที่ให้ความสำคัญกับอายุงานมากกว่าความสามารถ พนักงานใหม่ในบริษัทญี่ปุ่นมักไม่มีสิทธิ์แสดงความคิดเห็นอย่างเปิดเผย การลาออกจึงเป็นเรื่องละเอียดอ่อนและเต็มไปด้วยแรงกดดันทางจิตใจ

3. การเปลี่ยนแปลงของคนรุ่นใหม่ คนรุ่น Gen Z ให้ความสำคัญกับสุขภาพจิตมากกว่าการทนทำงานในองค์กรที่กดขี่ หากรู้สึกว่าถูกละเมิดสิทธิ์ เช่น การบังคับทำงานล่วงเวลา หรือโดนกดดันทางอารมณ์ ก็จะตัดสินใจลาออกทันที

4. กฎหมายแรงงานที่เอื้อต่อการลาออก กฎหมายญี่ปุ่นอนุญาตให้พนักงานลาออกได้ทันทีหลังแจ้งล่วงหน้า 2 สัปดาห์ จึงเปิดช่องให้ธุรกิจอย่าง Moumuri ดำเนินการแทนลูกค้าได้อย่างถูกต้องตามกฎหมาย

เมื่อวัฒนธรรม “อดทนทำให้ถึงที่สุด” ถูกตั้งคำถาม
ผมเองเติบโตมากับวัฒนธรรมการทำงานที่ “อดทนให้ถึงที่สุด” คือสิ่งที่น่าชื่นชม ในบริษัทญี่ปุ่นที่ผมร่วมงานด้วย ผมเคยเห็นพนักงานอาวุโสที่อยู่ที่เดิมกว่า 30 ปี ทุ่มเททำงานอย่างไม่มีข้อแม้และผมก็เคารพสิ่งนั้นอย่างจริงใจ แต่เมื่อเวลาผ่านไป และได้เห็นโลกเปลี่ยนไป ผมเริ่มเข้าใจว่า ความอดทนที่ดี ต้องเป็นความอดทนที่ยังรักษา “ตัวตน” และ “หัวใจ” ของเราไว้ได้ ไม่ใช่ความอดทนที่ทำลายสุขภาพจิต หรือความฝันของตัวเอง

เด็กญี่ปุ่นรุ่นใหม่ไม่ได้ “อ่อนแอ” อย่างที่ใครบางคนมอง แต่พวกเขาแค่ “กล้า” ที่จะไม่ทนอยู่ในที่ที่ทำร้ายตัวเอง และกล้าเลือกทางเดินที่เหมาะกับหัวใจของตัวเองมากกว่า

Moumuri ไม่ได้เป็นแค่ธุรกิจ แต่มันคือ “กระจก” ที่สะท้อนความเปลี่ยนแปลงทางความคิดของสังคมญี่ปุ่นอย่างลึกซึ้ง การเลือกลาออกไม่ใช่การหนี แต่คือการเลือกอนาคตของตัวเอง โลกไม่เหมือนเดิมแล้ว และการทำงานก็ไม่จำเป็นต้องแลกมาด้วยความทุกข์เสมอไป การยอมเดินออกจากที่ที่ไม่ใช่…บางครั้งอาจเป็นการเริ่มต้นเส้นทางใหม่ที่งดงามกว่าเดิม

“ในวันที่เราเลือกเดินออกจากที่ที่ไม่ใช่… นั่นแหละ คือวันที่เราเริ่มเดินเข้าสู่เส้นทางของตัวเองจริง ๆ”


กำลังโหลดความคิดเห็น