xs
xsm
sm
md
lg

Senpai–Kōhai: รุ่นพี่รุ่นน้องในแบบญี่ปุ่น บทเรียนเรื่องการให้และถ่อมตัว

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์

ปรัชญาการทำงานแบบ “เจแปนเวย์” ผ่านมุมมองของผู้บริหารชาวไทย ซึ่งผ่านประสบการณ์ทำงานกับชาวญี่ปุ่นมานานกว่า 10 ปี......โดย ดร.ธนศักดิ์ วหาวิศาล 


03

สังคมการทำงานคำว่า รุ่นพี่ รุ่นน้อง คือวัฒนธรรมองค์กร ที่ทำให้เกิดความผูกพันในการทำงานนะครับ บางคนอาจมีรุ่นพี่ที่ทำงาน ที่ยังคงติดต่อหากันแม้ว่าจะออกจากองค์กรมาแล้ว หรือ รุ่นน้องที่ทำงานบางคน ยังคงขอคำปรึกษาจากรุ่นพี่ที่ทำงานเก่า สายสัมพันธ์แบบนี้แตกต่างไปจากรุ่นพี่รุ่นน้องจากสถาบันการศึกษา ซึ่งโดยส่วนตัวผมมองว่าเป็นการสร้างสังคมการทำงานที่ดีให้เกิดขึ้นกับตัวคุณเอง
 
ทีนี้มาทำความรู้จักวัฒนธรรมรุ่นพี่รุ่นน้อง ในการทำงานแบบญี่ปุ่นกันครับ โดยคำว่า “先輩・後輩 (Senpai / Kōhai)” หมายถึง “รุ่นพี่” และ “รุ่นน้อง” แต่ระบบความสัมพันธ์นี้ไม่ใช่แค่เรื่องของลำดับเวลา หรือระดับตำแหน่งในที่ทำงาน หากแต่เป็นความสัมพันธ์ที่ฝังรากลึกในวัฒนธรรมการทำงาน การศึกษา และแม้กระทั่งในชีวิตประจำวัน

Senpai คือผู้ที่มาก่อน มีประสบการณ์มากกว่า และมีหน้าที่ดูแล แนะนำ และถ่ายทอด

Kōhai คือผู้ที่มาทีหลัง ซึ่งแม้จะมีสิทธิ์แสดงความเห็น แต่ต้องเริ่มต้นด้วย “ความถ่อมตน” และความเคารพ

สิ่งที่สวยงามในระบบนี้ไม่ใช่ความเหนือกว่า-ต่ำกว่า แต่คือการ “ให้” กับการ “รับ” อย่างรู้คุณค่า

ผมเติบโตมากับการทำงานในบริษัทสัญชาติอเมริกัน ที่มีวัฒนธรรมแบบ flat organization

ความสัมพันธ์ในทีมมักจะเป็นแบบเสมอภาค ทุกคนพูดได้อย่างตรงไปตรงมาโดยไม่ต้องกังวลเรื่องลำดับรุ่นหรืออาวุโส แม้ผมจะชอบความคล่องตัวและความกล้าแสดงออกแบบตะวันตก แต่ก็เคยรู้สึกว่าในบางครั้ง ความสัมพันธ์ที่ไม่มีโครงสร้างชัดเจน ก่อให้เกิดความรู้สึก “โดดเดี่ยว” ในทีมได้เช่นกัน

กระทั่งผมได้กลับมาทำงานในธุรกิจครอบครัว ที่เป็นการร่วมทุนกับบริษัทญี่ปุ่นที่นี่เองที่ผมได้สัมผัส “ระบบรุ่นพี่รุ่นน้อง” แบบญี่ปุ่นอย่างใกล้ชิดในทีมงานญี่ปุ่นนั้น ไม่มีใครพูดเสียงดัง ไม่มีใครพยายามแสดงว่าตนเก่งที่สุดแต่ทุกคนมีวิธีแสดงความเคารพผ่านการฟัง พยักหน้า และรับผิดชอบในหน้าที่ของตนอย่างแน่วแน่

ผมเริ่มเห็นว่า “Senpai” ไม่ใช่แค่คนที่มีประสบการณ์มากกว่าแต่เป็นคนที่เลือก “อยู่ข้างหลัง” เพื่อดันรุ่นน้องให้ก้าวหน้า Senpai ที่ผมเคยร่วมงานด้วย ไม่เคยสั่งการด้วยอารมณ์ ไม่เคยโชว์อำนาจ

แต่กลับคอยอยู่หลังฉาก ช่วยประคองการตัดสินใจ และเฝ้ามองการเติบโตของทีมอย่างเงียบ ๆ

ในขณะเดียวกัน ผมเห็นว่า “Kōhai” ในวัฒนธรรมญี่ปุ่น ไม่ใช่คนที่นิ่งเฉยหรือแค่รอรับคำสั่ง

แต่คือคนที่พร้อมเรียนรู้ด้วยใจที่เปิดกว้าง พร้อมก้มศีรษะก่อนจะยกมือถาม Kōhai ที่ดีจะไม่แย่งซีน แต่จะทำให้คนเป็น Senpai ภูมิใจในความพยายามของเขา

มีครั้งหนึ่งที่ผมเคยแนะนำพนักงานรุ่นใหม่คนหนึ่งให้ไปฝึกงานกับผู้จัดการญี่ปุ่น เมื่อเขากลับมา เขาไม่ได้พูดถึงว่าได้เทคนิคอะไรใหม่ แต่เขากลับเล่าให้ผมฟังว่า

“ผมเห็นหัวหน้าตรวจและเรียบเรียงเอกสารให้ทุกคนก่อนกลับบ้าน เขาไม่พูดอะไร…แต่ผมรู้สึกว่าอยากทำงานให้เต็มที่เพื่อให้เขาภูมิใจครับ”

นั่นคือพลังของ “Senpai” ที่สอนโดยไม่ต้องพูด และนั่นคือหัวใจของ “Kōhai” ที่เรียนรู้จากความเงียบ

เมื่อเวลาผ่านไป ผมเองก็ได้กลายเป็น “Senpai” ในสายตาของคนรุ่นใหม่โดยไม่รู้ตัวเป็นการก้าวขึ้นสู่ตำแหน่งรุ่นพี่ โดยไม่ได้อ้างอิงถึงอายุหรือตำแหน่ง แต่เป็นการทำหน้าที่จากคนที่เคยได้รับ…แล้วถึงเวลา “ส่งต่อ”

และผมก็เริ่มเข้าใจว่า หากเราทำหน้าที่ของรุ่นพี่ด้วยใจที่อยากเห็นคนรุ่นใหม่เติบโต ความสัมพันธ์ในทีมจะไม่ใช่แค่การทำงานร่วมกันแต่จะเป็นความผูกพันที่หล่อเลี้ยงกันด้วยความเคารพและความหวัง

ในความสัมพันธ์ระหว่างรุ่นพี่และรุ่นน้อง ไม่มีใครสูงหรือต่ำกว่าใคร มีแต่คนที่ “มาก่อน” และ “ตามมา” เพื่อเรียนรู้และส่งต่อ Senpai–Kōhai จึงไม่ใช่ระบบที่จำกัดคน แต่เป็นวัฒนธรรมที่เปิดโอกาสให้การเรียนรู้เกิดขึ้นทุกวัน และทำให้การทำงานมีหัวใจ…ไม่ใช่แค่เป้าหมาย

Senpai ที่แท้จริง ไม่ใช่คนที่ยืนอยู่สูงกว่า แต่คือคนที่ก้มลงมาแบ่งประสบการณ์ให้เรา

และ Kōhai ที่น่ารัก…คือคนที่พร้อมยกมือไหว้ก่อนจะยกมือถาม



กำลังโหลดความคิดเห็น