xs
xsm
sm
md
lg

ศิลปะของการ “รอ” แบบญี่ปุ่น

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์

ปรัชญาการทำงานแบบ “เจแปนเวย์” ผ่านมุมมองของผู้บริหารชาวไทย ซึ่งผ่านประสบการณ์ทำงานกับชาวญี่ปุ่นมานานกว่า 10 ปี......โดย ดร.ธนศักดิ์ วหาวิศาล


01

ในวัฒนธรรมญี่ปุ่นคำว่า “和 (Wa)” หมายถึง ความกลมเกลียวในความสัมพันธ์ หรือ ความสามัคคี ซึ่งเป็นปรัชญาการทำงานของที่ให้ความสำคัญกับความปรองดอง ความสงบเรียบร้อย และการทำงานร่วมกันอย่างราบรื่นโดยไม่ก่อให้เกิดความขัดแย้งในทีม อันเป็นจุดเร่ิมต้นของการรู้จัก “รอ” เพื่อให้เกิดผลลัพธ์ที่ดีที่สุด

จากประสบการณ์การทำงานที่ผมเติบโตมากับบริษัทต่างชาติจากยุโรป และ สหรัฐอเมริกา ทำให้ผมคุ้นเคยกับแนวคิดแบบฝรั่งที่เชื่อมั่นในพลังของ “ความเร็ว” และ “ความชัดเจน” การทำงานที่ถูกสอนให้พูดตรง คิดเร็ว ทำเร็ว กล้าตัดสินใจ กลายเป็นเส้นเริ่มต้นมาตรฐานความเป็นมืออาชีพที่ผมเชื่อมั่น

จนกระทั่งผมได้กลับมาร่วมงานกับ บริษัทญี่ปุ่น อันเป็นธุรกิจร่วมทุนของครอบครัว ทำให้ผมได้เรียนรู้วิถีการทำงานที่ต่างออกไปจากตะวันตก และลึกซึ้งกว่าที่ผมเคยรู้จักจากระบบการทำงานแบบคนไทย

ช่วงเริ่มต้นของการร่วมงานกับทีมญี่ปุ่น ผมมักรู้สึกอึดอัดในทุกเช้าของการประชุม ส่วนหนึ่งมาจากที่ต้องปรับจังหวะของตนเองให้เข้ากับ วัฒนธรรมการทำงานที่ไม่รู้สึกคุ้นชิน

ผมเชื่อว่าคนที่เคยร่วมงานกับ ชาวญี่ปุ่นมา คงพอนึกภาพตามกันได้ว่าบรรยากาศในห้องประชุม แบบญี่ปุ่นนั้น มักจะเงียบเกินไป ไม่มีเสียงถกเถียง ไม่มีการตั้งคำถาม หรือ ข้อโต้แย้งจากความเห็นต่าง ….จำได้ว่าเมื่อผมได้สัมผัสกับบรรยากาศดังกล่าว ในยุคเริ่มแรกนั้น เมื่อเสนอความเห็นอะไรไป ทุกคนพยักหน้ารับอย่างสุภาพ ทำให้ผมนึกสงสัยในใจว่า “พวกเขาคิดเหมือนนกับที่เสนอไปจริง หรือไม่กล้าคัดค้านเพราะกลัวที่ผมเป็นผู้บริหาร”

ในเวลานั้นคำพูดที่เคยได้ยินบ่อยที่สุดในที่ประชุมคือ “ขอเวลาอีกนิดครับ” หรือ “ทางเราขอไปคุยภายในก่อน” สำหรับผมในเวลานั้นรู้สึกว่า เป็นคำตอบที่ไม่เข้าท่าเพราะทำให้การดำเนินงานเชื่องช้า และเสียเวลา จนหลายครั้งที่ทำให้รู้สึกหงุดหงิด เหมือนต้องวิ่งในสนามที่มีเชือกพันขาไว้

ท่ามกลางความรู้สึกสงสัยในวัฒนธรรมการทำงานที่ต่างไปจากที่เคยพบมา ผมเก็บความข้องใจเอาไว้และเดินหน้าทำงานต่อไป จนกระทั่งผมได้รับคำตอบจากเพื่อนร่วมงานชาวญี่ปุ่น และเป็นฝ่ายบริหารที่พูดภาษาไทยได้ดี เขาอธิบายให้ผมเข้าใจถึงวิถีการทำงานสไตล์ญี่ปุ่น ที่ผมปรารภกับเขาไปว่าเป็นการทำงานที่ค่อนข้างช้า ทำให้เสียเวลารอ

ซึ่งเพื่อนร่วมงานของผมท่านนี้รับฟังด้วยความเข้าใจและอธิบายอย่างตั้งใจว่า “ที่เราตัดสินใจกันช้า เพราะอยากแน่ใจว่าจะไม่ทำให้ใครต้องเสียหน้า เพราะปรัญชาการทำงานที่มาจากวัฒนธรรมญี่ปุ่นข้อหนึ่ง คือคำว่า “和 (Wa)” อันหมายถึง ความสัมพันธ์มาก่อนผลลัพธ์ การตัดสินใจต้องผ่านการไตร่ตรองหลายมุม เพื่อให้ทุกฝ่าย “รู้สึกดี” ไม่ใช่แค่ “ได้ผลดี”

คำอธิบายดังกล่าวทำให้ผมเริ่มเห็นความหมายของ “ความเงียบ” ในที่ประชุม ที่พวกเขาเงียบไม่ใช่เพราะพวกเขาไม่มีอะไรจะพูด แต่เพราะพวกเขากำลังฟังด้วยใจ เมื่อได้รับคำอธิบายผมเริ่มเห็นว่าการ “รอให้พร้อม” ไม่ใช่ความล่าช้า แต่มันคือการเคารพกระบวนการร่วมคิดร่วมตัดสินใจของทีม

และที่สำคัญที่สุดผมเริ่มเข้าใจว่า“ความเป็นมืออาชีพ” ในแบบญี่ปุ่น ไม่ได้วัดกันที่ความเร็ว แต่ดูกันที่ความลึก ความเคารพ และความมั่นคงในระยะยาว

จากที่เริ่มต้นด้วยวัฒนธรรมการทำงานที่แตกต่างกันแบบสุดขั้ว เมื่อได้เรียนรู้และปรับตัวทำให้ผมเข้าใจว่า ในโลกการทำงานของคนญี่ปุ่นนั้น ไม่ได้ดุดัน อย่างที่เคยเข้าใจ แต่กลับลึกซึ้ง และ และเปี่ยมด้วยปรัชญาแห่งการเคารพผู้อื่นเหมือนกับ คำว่า Wa ที่ให้ความสำคัญกับการ “รอ” อย่างมืออาชีพ และนับเป็นประสบการณ์เรียนรู้จากวัฒนธรรมญี่ปุ่นที่ผมเอามาปรับใช้กับการทำงานของตนเอง

การ “รอ” ที่มีความหมายทำให้ผม “หยุดความเร่งรีบ” ของตนเองและหันกลับมามองภาพรวมได้อย่างเข้าใจ

“เพราะในบางครั้งการเดินให้ช้าลง อาจพาเราไปถึงจุดหมายที่มั่นคงกว่าเดิม”.



กำลังโหลดความคิดเห็น