เกียวโดนิวส์ (11 พ.ย.) ทีมนักวิจัยญี่ปุ่น ศึกษาการส่งแรงสั่นสะเทือนไปยังผิวหนังผ่านอุปกรณ์มาสก์หน้าสามารถส่งผลกับสุขภาพจิตของคนได้หรือไม่
นักวิจัยจากมหาวิทยาลัยนาโกยา และบริษัท ลอนดอนทรัสต์ เทอราพี (London Trusted Therapy) ซึ่งเป็นบริษัทด้านการศึกษาและการวิจัยตั้งเป้าที่จะสร้างแนวทางการดูแลสุขภาพจิตที่ปราศจากยาและไม่เป็นอันตราย
การศึกษาทางคลินิกร่วมกันของพวกเขาที่สถาบันการแพทย์แห่งหนึ่งในลอนดอนจะทดลองกับผู้ป่วยประมาณ 30 คนที่มีสภาวะจิตต่างๆ เช่น สมาธิสั้น (ADHD)) โรคเครียดภายหลังเผชิญเหตุการณ์สะเทือนขวัญ (PTSD) และภาวะซึมเศร้า
ผู้เข้าร่วมจะสวมอุปกรณ์ใบหน้าพลาสติกวันละ 2 ครั้ง ครั้งละ 10 ถึง 20 นาที และบันทึกการเปลี่ยนแปลงของอาการและคุณภาพการนอนหลับ
เสียงความถี่ต่ำที่ไม่ได้ยินจากสภาพแวดล้อมทางธรรมชาติ เช่น เสียงป่าไม้ ชายหาด รวมถึงดนตรีคลาสสิก จะถูกส่งไปยังสมองในรูปแบบของการสั่นสะเทือนในการศึกษานี้
นักวิจัยยังวางแผนที่จะใช้อุปกรณ์บนใบหน้าในยูเครนในปีหน้ากับพลเรือนและทหาร 15 ถึง 20 คนที่มีอาการ เช่น PTSD เนื่องจากสงครามกับรัสเซีย
“ผมอยากสำรวจความเป็นไปได้ของการดูแล (ด้านสุขภาพ) ที่สร้างภาระน้อยที่สุดให้ผู้ป่วยในพื้นที่ที่มีความขัดแย้ง ซึ่งการให้ความช่วยเหลือทางการแพทย์เป็นเรื่องยาก” ยาสุฮิโระ ซูซูกิ รองศาสตราจารย์จากมหาวิทยาลัยนาโกยา กล่าว
การวิจัยที่ร่วมกันดำเนินการโดยมหาวิทยาลัยนาโกยา และมหาวิทยาลัยอาคิตะ พบว่าผู้สูงอายุ 35 รายที่มีความบกพร่องทางสติปัญญาระดับเล็กน้อยหรือภาวะสมองเสื่อมเล็กน้อยมีการทำงานของการรับรู้ที่ดีขึ้น เช่น ความจำ หลังจากการรักษาด้วยเสียงความถี่ต่ำร่วมกับการสั่นสะเทือนระดับไมโครเป็นเวลาหนึ่งเดือน
การทดลองอีกอย่างหนึ่งที่ใช้หนูยังแสดงให้เห็นการเผาผลาญ ความแข็งแรงของกล้ามเนื้อ และการทำงานของร่างกายที่เพิ่มขึ้นอีกด้วย