เกียวโดนิวส์ (5 พ.ย.) คณะที่ปรึกษาของยูเนสโก มีมติให้ความรู้และทักษะแบบดั้งเดิมของญี่ปุ่นในการทำสาเกและสุรากลั่น "โชจู" ถูกรวมไว้ในรายการมรดกทางวัฒนธรรมที่จับต้องไม่ได้ และจะเข้าสู่รายชื่อเพื่อการรับรองอย่างเป็นทางการในปลายปีนี้ หน่วยงานวัฒนธรรมของญี่ปุ่น กล่าวเมื่อวันอังคาร
การประชุมคณะกรรมการระหว่างรัฐบาลขององค์การการศึกษา วิทยาศาสตร์ และวัฒนธรรมแห่งสหประชาชาติ (ยูเนสโก)ระหว่างวันที่ 2-7 ธันวาคม ในเมืองอะซุนซิออง ประเทศปารากวัย ได้อนุมัติทักษะการผลิตสาเกอย่างเป็นทางการแล้ว โดยจะรอขึ้นเป็นมรดกโลก รายการที่ 23 ของญี่ปุ่น
การกลั่นสาเกแบบดั้งเดิมเป็นเทคนิคโบราณในการหมักข้าวและส่วนผสมอื่นๆ โดยใช้ "โคจิ" ซึ่งเป็นวิธีการผลิตที่หาได้ยาก ผ่านการหมักหลายครั้งที่ดำเนินการไปพร้อมๆ กันในภาชนะเดียว
หลายคนในอุตสาหกรรมสาเกยินดีกับการเคลื่อนไหวนี้ โดยหวังว่าจะดึงดูดความสนใจไปที่เครื่องดื่มการผลิตแบบดั้งเดิมนี้
“ถือเป็นเกียรติสำหรับการผลิตสาเกของญี่ปุ่น” ฮิเดฮารุ โอตะ ประธานบริษัทไดชิจิ สาเก บริวเวอรี (Daishichi Sake Brewery) โรงผลิตเหล้าสาเกในจังหวัดฟุกุชิมะทางตะวันออกเฉียงเหนือของญี่ปุ่น กล่าว “ผมหวังว่าผู้คนจะกลับมาสนใจญี่ปุ่นอีกครั้ง เมื่อสาเกได้รับการยอมรับ”
เกนเอมอน ซูโด หัวหน้าคนที่ 55 ของบริษัท ซูโดฮอนเกะ กิจการอายุเก่าแก่ตั้งแต่ปี ค.ศ.1141 ในจังหวัดอิบารากิ ทางตะวันออกเฉียงเหนือของโตเกียว กล่าวว่าคำรับรองนี้คือ "การค้นพบคุณค่าวัฒนธรรมดั้งเดิมของญี่ปุ่นอีกครั้ง"
“ผมคงจะดีใจมากถ้ารายชื่อนี้จะช่วยดึงดูดความสนใจของผู้คน และช่วยป้องกันไม่ให้การผลิตสาเกแบบดั้งเดิมสูญหายไป” เขากล่าว
ทั้งนี้ รัฐบาลญี่ปุ่นได้เคยเสนอชื่อการผลิตสาเกในปี 2565 เพื่อเข้าจดทะเบียนในรายชื่อของยูเนสโก
ในบรรดามรดกที่จับต้องไม่ได้ของญี่ปุ่นที่ได้รับการระบุไว้แล้วนั้น ได้แก่ ศิลปะการแสดงละครโนะและคาบูกิ และอาหารแบบดั้งเดิม "วาโชกุ"
ยูเนสโก หน่วยงานของสหประชาชาติจัดให้มีการคัดกรองผู้เสนอรายการขึ้นทะเบียนทุกๆ 2 ปี ญี่ปุ่นยังรอผลักดันให้อักษรพู่กัน "โชโด" ขึ้นทะเบียนเป็นมรดกทางวัฒนธรรมที่จับต้องไม่ได้อีกรายการในปี 2569