xs
xsm
sm
md
lg

ธุรกิจญี่ปุ่นหันลงทุนกัมพูชา หลังเศรษฐกิจไทยเติบโตต่ำ

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์



MGR Online: ธุรกิจญี่ปุ่นขยายการลงทุนในกัมพูชาสร้างเป้าหมายใหม่เพิ่มจากประเทศไทย ด้านรองนายกฯ กัมพูชาชี้ความโดดเด่นคือ ค่าแรงต่ำ มีเสถียรภาพทางการเมืองอย่างมั่นคง และรัฐบาลพร้อมให้การสนับสนุนการลงทุนอย่างเต็มที่

องค์การส่งเสริมการค้าต่างประเทศของญี่ปุ่น (เจโทร) สำนักงานกรุงเทพฯ และเจโทร สำนักงานพนมเปญ ร่วมกับสภาเพื่อการพัฒนาแห่งกัมพูชา ได้จัดงานแนะนำ “การลงทุนในประเทศกัมพูชาในไทย (Thailand+1)” ขึ้นเมื่อวันที่ 1 พ.ย. 2567 โดย นายชุน จันทอล (H.E. Mr. Sun Chanthol) รองนายกฯ และ รองประธานคนที่ 1 ของสภาเพื่อการพัฒนาแห่งกัมพูชาบรรยายความได้เปรียบของการลงทุนในประเทศกัมพูชา พร้อมกับแนะนำสิทธิประโยชน์ด้านการลงทุน

เจโทรได้สนับสนุนให้ธุรกิจของญี่ปุ่นในประเทศไทย ขยายการลงทุนไปยังประเทศเพื่อนบ้านตามแนวคิด Thailand+1 โดยกัมพูชาเป็นหนึ่งในประเทศที่ธุรกิจญี่ปุ่นให้ความสนใจ เนื่องจากมีต้นทุนค่าแรงที่ต่ำ,เศรษฐกิจเติบโตในระดับ 5% อย่างต่อเนื่อง และมีเสถียรภาพทางการเมืองอย่างมั่นคง รวมถึงรัฐบาลกัมพูชายังมีนโยบายสนับสนุนและช่วยแก้ไขปัญหาของบริษัทญี่ปุ่นที่เข้ามาลงทุนอย่างแข็งขัน

นายคุโรดะ จุน ประธาน เจโทร สำนักงานกรุงเทพฯ ระบุว่า มีบริษัทญี่ปุ่นมากกว่า 200 บริษัทลงทุนในกัมพูชาอยู่ในขณะนี้
และมีอีกหลายร้อยบริษัทสนใจเข้าไปลงทุนในกัมพูชา โดยส่วนใหญ่เป็นการขยายการลงทุนจากประเทศไทย เนื่องจากเศรษฐกิจไทยมีการเติบโตที่น้อย ค่าแรงสูงขึ้น ธุรกิจญี่ปุ่นในไทยจึงต้องหาโอกาสทางธุรกิจใหม่ในประเทศเพื่อนบ้านของไทย

นอกจากนี้ ความขัดแย้งระหว่างสหรัฐฯ กับจีน จะทำให้ซัพพลายเชนทั่วโลกต้องปรับเปลี่ยนครั้งใหญ่ โดยภูมิภาคอาเซียนจะเป็นฐานการผลิตและห่วงโซ่อุปทาน ที่สำคัญสำหรับธุรกิจที่ต้องการการย้ายการลงทุนจากประเทศจีนด้วย


นายชุน จันทอล รองนายกฯ และ รองประธานคนที่ 1 ของสภาเพื่อการพัฒนาแห่งกัมพูชา กล่าวถึงความน่าสนใจของกัมพูชาว่า กัมพูชามีสันติภาพและเสถียรภาพทางการเมือง โดยขณะนี้กัมพูชามีรัฐบาลภายใต้การนำของนายกฯ ฮุน มาเน็ต และคณะรัฐมนตรี ซึ่งเป็นคนรุ่นใหม่ และพร้อมสนับสนุนภาคธุรกิจอย่างเต็มที่

ทั้งนี้ ในช่วง 5 ปีที่ผ่านมา กัมพูชามีอัตราการเจริญเติบโตทางเศรษฐกิจเฉลี่ยสูงถึง 5%, มีอัตราเงินเฟ้อเพียงแค่ราว 3%, มีหนี้สินต่อ GDP น้อย, มีอัตราแลกเปลี่ยนที่มีเสถียรภาพ และสามารถใช้เงินดอลลาร์สหรัฐฯ ได้อย่างกว้างขวาง เศรษฐกิจของกัมพูชาจึงมีโอกาสเติบโตได้อีกมาก

รองนายกฯ กัมพูชา ยังพูดถึงโครงการขุดคลอง “ฟูนันเตโช” ว่าจะเป็นจุดเปลี่ยน หรือ Game Changer ที่สำคัญของระบบคมนาคมและโลจิสติกส์ของกัมพูชา เปลี่ยนสถานะจากปัจจุบันที่การขนส่งสินค้าจากกรุงพนมเปญ จะต้องใช้เส้นทางอ้อมผ่านแม่น้ำโขง และพึ่งพาท่าเรือเวียดนาม สูงกว่าร้อยละ 33 ของการขนส่งทั้งหมด แต่เมื่อมีคลองฟูนันเตโชการขนส่งสินค้าผ่านเวียดนามจะลดลงเหลือแค่ 10% เท่านั้น และยังช่วยลดต้นทุนการขนส่งสินค้าได้มากถึง 16%

นอกจากนี้ กัมพูชายังกำลังปรับปรุงท่าเรือสีหนุวิลล์, ขยายถนนจากกรุงพนมเปญถึงปอยเปตที่เชื่อมโยงประเทศไทย และถนนที่เชื่อมโยงเมืองโฮจิมินท์ของเวียดนาม โดยการปรับปรุงโครงสร้างพื้นฐานต่าง ๆ จะทยอยเสร็จสิ้นตั้งแต่ปี 2026-2029

H.E. Mr. Sun Chanthol : Deputy Prime Minister and First Vice-Chairman of the Council for the Development of Cambodia
นายซวน โสพาล รองเลขาธิการ สภาการพัฒนาแห่งกัมพูชา และคณะกรรมการการลงทุนกัมพูชา กล่าวว่า สาขาที่รัฐบาลกัมพูชามุ่งให้ความสำคัญในการส่งเสริมการลงทุน คือ อุตสาหกรรมยานยนต์และชิ้นส่วนอิเล็กทรอนิกส์ รวมถึงการแปรรูปอาหาร โดยรัฐบาลกัมพูชาจะให้สิทธิพิเศษทั้งการลดภาษี, การหักค่าเสื่อมราคา,การยกเว้นภาษีมูลค่าเพิ่มสำหรับการซื้อปัจจัยการผลิตในท้องถิ่น, การลดหย่อนภาษีสำหรับค่าใช้จ่ายในการวิจัยและพัฒนา, การฝึกอบรมพนักงาน, สวัสดิการพนักงาน และการปรับปรุงเครื่องจักรให้ทันสมัย 


ด้านตัวแทนของบริษัทญี่ปุ่นที่ลงทุนในกัมพูชา คือ ห้างสรรสินค้า AEON MALL, บริษัทผลิตอะไหล่ยานยนต์ DENSO และบริษัท Royal Group Poipet Special Economic Zone ซึ่งบริหารจัดการนิคมอุตสาหกรรมในเมืองปอยเปต ให้ความเห็นว่า กัมพูชามีความได้เปรียบคือค่าแรงที่ถูกกว่าประเทศไทยกว่าครึ่งหนึ่ง, มีแรงงานวัยหนุ่มสาวจำนวนมาก,ไม่ค่อยมีภัยพิบัติ และมีระบบโลจิสติกส์ที่เชื่อมโยงกับไทยได้

แต่ปัญหาของกัมพูชาคือ ค่าไฟฟ้าที่แพงกว่าไทยและเวียดนาม, โครงสร้างพื้นฐานและระบบคมนาคมยังไม่พัฒนา โดยบริษัทส่วนใหญ่ใช้หัวหน้างานคนไทยไปฝึกอบรมให้กับชาวกัมพูชา และยังต้องพึ่งพาสายการผลิตหลัก และระบบโลจิสติกส์ของประเทศไทย

ทั้งนี้ ตัวแทนของรัฐบาลกัมพูชาและกลุ่มธุรกิจญี่ปุ่นย้ำว่า ประเทศไทยยังคงเป็นฐานการลงทุนหลัก การขยายการผลิตไปยังเพื่อนบ้านด้วยแนวทาง Thailand+1 ไม่ได้เป็นการย้ายฐานการผลิต และไม่ส่งผลกระทบต่อการผลิตประเทศไทย แต่ว่าจะเป็นส่วนสนับสนุนซึ่งกันและกัน และสร้างประโยชน์ให้กับทุกฝ่าย.


กำลังโหลดความคิดเห็น