xs
xsm
sm
md
lg

เจโทร กรุงเทพฯ ครบรอบ 70 ปี ญี่ปุ่นยืนหยัดลงทุน ไม่ทิ้งไทย

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์



MGR Online : องค์การส่งเสริมการค้าต่างประเทศแห่งญี่ปุ่น หรือ เจโทร กรุงเทพฯ จัดงานฉลองครบรอบ 70 ปี โดยญี่ปุ่นเป็นนักลงทุนอันดับ 1 ของประเทศไทยต่อเนื่องเกือบ 40 ปี นำเงินลงทุนมายังประเทศไทยแล้วมากกว่า 4 ล้านล้านบาท

งานครบรอบ 70 ปี เจโทร กรุงเทพฯ เมื่อวันที่ 24 กันยายน 2567 มีบุคคลสำคัญเข้าร่วมงาน เช่น นายพิชัย นริพทะพันธุ์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์ นายพิพัฒน์ รัชกิจประการ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงแรงงาน นายชัชชาติ สิทธิพันธุ์ ผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร นายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ อดีตนายกรัฐมนตรี รวมทั้งนักธุรกิจ นักลงทุนชาวญี่ปุ่น


นายพิชัย นริพทะพันธุ์ รมต.พาณิชย์ ได้ขอบคุณการมีส่วนร่วมอย่างต่อเนื่องของเจโทร กรุงเทพฯ ในการกระชับความสัมพันธ์ทางการค้าและการลงทุนระหว่างประเทศไทยและญี่ปุ่น ตลอดระยะเวลา 70 ปี ถือเป็นสิ่งที่มีคุณค่าอย่างยิ่งต่อการพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมไทย เจโทร กรุงเทพฯ จึงเปรียบเสมือนกัลยาณมิตรของคนไทยมายาวนาน

รมต.พาณิชย์ยังได้ชักชวนนักลงทุนมาลงทุนในธุรกิจ PCB (แผงวงจรอิเล็กทรอนิกส์) ในไทย ซึ่งจะเป็นธุรกิจใหม่ที่มีอนาคตและประเทศไทยมีศักยภาพ รัฐบาลพร้อมส่งเสริมการลงทุนจากญี่ปุ่น ซึ่งจะต่อยอดไปเป็นเซมิคอนดักเตอร์อื่นๆ เป็นอุตสาหกรรมที่มีการจ้างงานสูง

นายพิพัฒน์ รัชกิจประการ รมต.แรงงาน กล่าวว่า ผลสำรวจแนวโน้มทางเศรษฐกิจของบริษัทร่วมทุนญี่ปุ่นในประเทศไทย ซึ่งจัดทำโดย เจโทร กรุงเทพฯ ร่วมกับหอการค้าญี่ปุ่น - กรุงเทพ ที่เป็นตัวชี้วัดสำคัญ ช่วยสะท้อนความคิดเห็นของบริษัทญี่ปุ่นในประเทศไทยได้เป็นอย่างดี มีผลงานประจักษ์จากตัวเลขการจ้างงานของบริษัทญี่ปุ่นในไทยที่เพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง


นายคุโรดะ จุนอิจิโร ประธานเจโทร กรุงเทพฯ ระบุว่า ตลอด 70 ปีที่ผ่านมา เจโทร กรุงเทพฯ ได้ปรับเปลี่ยนการดำเนินกิจกรรมเพื่อให้สอดคล้องกับความเปลี่ยนแปลงในแต่ละยุคสมัย

เจโทรยังจะสนับสนุนการลงทุนของไทยในญี่ปุ่น เช่น โรงแรมเครือดุสิตธานี ซึ่งจะเปิดที่เมืองเกียวโต, การขยายการส่งออกสินค้าญี่ปุ่นจากไทยไปยังประเทศที่ 3 ในอาเซียน อินเดีย บังกลาเทศ, สนับสนุนธุรกิจสตาร์ทอัพและนวัตกรรม, ส่งเสริมการส่งออกอาหารญี่ปุ่นมาประเทศไทย และเผยแพร่เทคโนโลยีของญี่ปุ่นเพื่อลดคาร์บอนในไทยและอาเซียน


เปิด 8 ธุรกิจศักยภาพญี่ปุ่น-ไทย

นายกลินท์ สารสิน ประธานกิตติมศักดิ์หอการค้าไทยและสภาหอการค้าแห่งประเทศไทย บอกถึงธุรกิจใหม่ ๆ ที่ไทยมีโอกาสที่จะร่วมมือกับญี่ปุ่น ได้แก่

1.  ธุรกิจที่เกี่ยวข้องกับผู้สูงอายุ เนื่องจากญี่ปุ่นและไทยเข้าสู่สังคมผู้สูงวัยเหมือนกัน
2.  เปลี่ยนห่วงโซ่อุปทานของอุตสาหกรรมเดิม เป็นอุตสาหกรรมใหม่ เช่น นำเทคโนโลยีในอุตสาหกรรมรถยนต์ มาใช้ผลิตเครื่องมือแพทย์ต่าง ๆ
3.  ธุรกิจอาหารเพื่อสุขภาพ และอาหารแห่งอนาคต
4.  ธุรกิจด้านสุขภาพ และการพยาบาลดูแล
5.  การบริหารจัดการท่องเที่ยว 
6.  การออกแบบ Universal Design คือการสร้างสภาพแวดล้อม ที่สบายและปลอดภัยสำหรับคนทุกๆกลุ่ม ทั้งผู้สูงอายุ ,ผู้พิการ, คนทั่วไป สามารถเคลื่อนที่และใช้พื้นที่ได้อย่างไม่มีอุปสรรค (Barrier-free)
7.  การจัดการจราจร เชื่อมโยงระบบคมนาคมต่างๆ
8.  ซอฟท์ พาวเวอร์

ขณะนี้ญี่ปุ่นกับไทยก็เผชิญความท้าทายร่วมกันในหลายเรื่อง เช่น สังคมผู้สูงอายุ และการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ เรื่องเหล่านี้อาจจะเป็นโอกาสทางธุรกิจใหม่ และความร่วมมือระหว่าง 2 ประเทศได้.


กำลังโหลดความคิดเห็น