เกียวโดนิวส์ (24 ก.ย.) ญี่ปุ่นยังคงต้องมีโทษประหารชีวิต แม้ว่าจะมีการยกเลิกลงโทษประหารชีวิตในหลายประเทศที่พัฒนาแล้วก็ตาม ก่อความกังวลผลกระทบทางการทูตต่อประเทศต่างๆ ในความพยายามเสริมสร้างความร่วมมือกับระบอบประชาธิปไตยที่ให้ความสำคัญกับสิทธิมนุษยชน
ทากาโกะ ซูซูกิ สมาชิกสภานิติบัญญัติวัย 38 ปี จากพรรคเสรีนิยมประชาธิปไตย ซึ่งเป็นพรรครัฐบาลและยังเป็นอดีตรองรัฐมนตรีต่างประเทศอาวุโสกล่าวว่า “ญี่ปุ่นเน้นย้ำว่าพันธมิตรเป็น 'หุ้นส่วนที่มีคุณค่าร่วมกัน' แต่นั่นมักจะไม่ใช่เมื่อพูดถึงโทษประหารชีวิต”
ตามข้อมูลขององค์กรสิทธิมนุษยชน แอมเนสตี้ อินเตอร์เนชั่นแนล ญี่ปุ่นและสหรัฐอเมริกาเป็นประเทศอุตสาหกรรมเพียงกลุ่มเดียวใน 7 ประเทศที่ยังคงใช้โทษประหารชีวิต ขณะที่มี 144 ประเทศได้ยกเลิกโทษประหารชีวิตทั้งในทางกฎหมายและทางปฏิบัติ
ซูซูกิ ซึ่งเรียกร้องให้มีการอภิปรายสาธารณะเกี่ยวกับโทษประหารชีวิต กล่าวว่า ญี่ปุ่นอาจถูกมองว่ามี "สองมาตรฐาน" เนื่องจากญี่ปุ่นตำหนิพวกเผด็จการที่เหยียบย่ำสิทธิ แต่ในขณะเดียวกัน ก็ยังคงโทษประหารชีวิต ซึ่งเป็นการลงโทษที่นักวิจารณ์มองว่าโหดร้าย และการละเมิดสิทธิในการมีชีวิต
“นี่เป็นประเด็นทางการเมืองที่สำคัญซึ่งเกี่ยวข้องกับการทูตและความมั่นคง” ซูซูกิกล่าว
แม้ญี่ปุ่นไม่ได้ประหารชีวิตใครเลยนับตั้งแต่เดือนกรกฎาคม พ.ศ.2565 แต่ประเทศในยุโรป ซึ่งยกเลิกโทษประหารชีวิตเพื่อเข้าร่วมสหภาพยุโรป ได้เรียกร้องให้ญี่ปุ่นทบทวนจุดยืนของตน
เบลารุสเป็นประเทศเดียวในยุโรปที่ยังคงใช้มาตรการดังกล่าว อังกฤษ ซึ่งถอนตัวออกจากสหภาพยุโรปในปี พ.ศ.2563 ได้ยกเลิกโทษประหารตั้งแต่ พ.ศ.2512 แม้ว่าคนเกือบร้อยละ 80 ของประเทศจะสนับสนุนการลงโทษในขณะนั้นก็ตาม
ประชาชนชาวญี่ปุ่นมีโอกาสน้อยมากที่จะทราบรายละเอียดของโทษประหารชีวิต เช่น กระบวนการและวิธีการกำหนดโทษประหารชีวิตของนักโทษประหารชีวิต ข้อมูลเดียวที่เปิดเผยหลังจากการประหารชีวิตคือชื่อนักโทษ สถานที่ประหารชีวิต หรือรายละเอียดเกี่ยวกับอาชญากรรมที่ก่อขึ้น
การสำรวจที่จัดทำโดยรัฐบาลญี่ปุ่นในปี 2562 พบว่าร้อยละ 80.8 ของผู้ตอบแบบสอบถามสนับสนุนโทษประหารชีวิต โดยบางคนเห็นพ้องกันว่าผู้คนที่ถูกตัดสินว่ามีความผิดในอาชญากรรมร้ายแรงสมควรได้รับการลงโทษดังกล่าว และคนอื่นๆ รู้สึกว่าระบบโทษประหารนี้ช่วยป้องกันการเพิ่มขึ้นของอาชญากรรมร้ายแรง
“ผมคิดว่าการสำรวจความคิดเห็นของประชาชนนั้นไม่เพียงพอต่อการคงโทษประหารชีวิตไว้ แต่เป็นข้อแก้ตัวสำหรับรัฐบาลที่จะไม่จัดการกับโทษประหารชีวิต”
"สิ่งที่สำคัญมากกว่าการลงโทษประหารชีวิตคือการเสริมสร้างการสนับสนุนด้านจิตใจและการเงินแก่เหยื่อของอาชญากรรม" เขากล่าวเสริม
ในอดีต โทษประหารชีวิตของญี่ปุ่นเป็นอุปสรรคในการเจรจาความร่วมมือด้านกลาโหมกับออสเตรเลีย ซึ่งยกเลิกโทษประหารชีวิตในปี 2528
แม้ว่าในที่สุดทั้งสองประเทศจะตกลงที่จะลงนามในสนธิสัญญาเพื่ออำนวยความสะดวกในการเข้าถึงซึ่งกันและกัน และความร่วมมือระหว่างกองกำลังป้องกันตนเองของญี่ปุ่นและกองทัพในปี 2565 แต่ความกังวลของแคนเบอร์รา ยังมีอยู่ตรงที่ว่าสมาชิกกองทัพออสเตรเลียอาจต้องเผชิญกับโทษประหารชีวิตหรือไม่ หากพวกเขาก่ออาชญากรรมร้ายแรงต่อญี่ปุ่น
ญี่ปุ่นประนีประนอมในประเด็นที่ให้การผ่อนปรนบางอย่าง แต่ไม่ใช่การยกเว้นโดยสิ้นเชิงสำหรับบุคลากรของออสเตรเลีย
แนวทางปฏิบัติซึ่งเป็นวิธีเดียวในการประหารผู้ต้องโทษประหารชีวิตของญี่ปุ่นคือแขวนคอ ก็ถูกวิพากษ์วิจารณ์จากภายนอกเช่นกัน
“สำหรับชาวอเมริกัน การแขวนคอนั้น แม้แต่ผู้สนับสนุนโทษประหารชีวิตก็ยังรู้สึกว่าเป็นสิ่งที่น่ารังเกียจ” คาโอริ ซากากามิ ผู้กำกับภาพยนตร์ วัย 59 ปี ซึ่งผลงานของเขาประกอบด้วยสารคดีเกี่ยวกับนักโทษสหรัฐฯ ที่ต้องโทษจำคุกตลอดชีวิตในคุกญี่ปุ่น
“การแขวนคอนี้มีมาเป็นเวลา 150 ปี และด้วยการเสนอรายละเอียดเล็กน้อยเกี่ยวกับการประหารชีวิตบุคคล ผู้คนในสหรัฐอเมริกาที่เกี่ยวข้องกับกระบวนการยุติธรรมและประเด็นอื่นๆ ต่างก็สงสัยว่าทำไมสังคมญี่ปุ่นจึงไม่ถกเถียงเรื่องนี้” ซากากามิ กล่าว