เกียวโดนิวส์ (13 ก.ย.) เมื่อวันพฤหัสบดีที่ผ่านมา นักวิทยาศาสตร์ญี่ปุ่นและสหรัฐฯ จำนวน 11 คน คว้ารางวัลอิก โนเบล (Ig Nobel) สาขาสรีรวิทยาจากการค้นพบว่า สัตว์เลี้ยงลูกด้วยนมหลายชนิดสามารถหายใจทางลำไส้ผ่านทางทวารหนักได้
หัวหน้าคณะวิจัย ทาคาโนริ ทาเคเบะ (Takanori Takebe) ซึ่งเป็นศาสตราจารย์จากมหาวิทยาลัยการแพทย์และทันตกรรมโตเกียว กล่าวสุนทรพจน์เกี่ยวกับการได้รับรางวัลนี้ว่า เขาหวังว่าสักวันหนึ่งการค้นพบนี้จะช่วยรักษาผู้ที่ประสบปัญหาเกี่ยวกับระบบทางเดินหายใจได้
รางวัลอิกโนเบล (Ig Nobel) ย่อมาจาก Ignoble Nobel prizes เป็นรางวัลที่มอบให้แก่ผลงานทางวิทยาศาสตร์ หรืองานวิจัยที่ไม่น่าจะเป็นไปได้ มีมาตั้งแต่ปี 1991 ซึ่งยึดปรัชญา "อารมณ์ขันมา สติปัญญามี" งานวิจัยและความฉลาดไม่จำเป็นต้องขึงขังจริงจังเสมอไป
ผู้จัดงานรางวัล Ig Nobel กล่าวว่า รางวัลนี้มอบให้งานวิจัยที่ "ทำให้ผู้คนหัวเราะและทำให้พวกเขาคิด"
นักวิจัยให้ความสนใจกับปลาไหลทะเลที่สามารถหายใจทางลำไส้ในสภาพแวดล้อมที่มีออกซิเจนต่ำ เช่น โคลนตม
จากการทดลองกับหนูและหมูที่เป็นโรคทางเดินหายใจ พวกเขาพบว่าการให้ของเหลวที่มีออกซิเจนสูงในทวารหนักช่วยบรรเทาอาการได้ ซึ่งผลลัพธ์ดังกล่าวสนับสนุนสมมติฐานของพวกเขาที่ว่าลำไส้สามารถแลกเปลี่ยนออกซิเจนได้
ทีมวิจัยได้ตีพิมพ์ผลการศึกษาในวารสาร Med ในปี พ.ศ.2564
ทาเคเบะ วัย 37 ปี กล่าวกับเกียวโดนิวส์ว่า "โดยธรรมชาติแล้ว ปอดของคนบางคนไม่ทำงานอย่างถูกต้อง โดยเฉพาะอย่างยิ่งเมื่อเป็นทารกแรกเกิด และผมหวังว่าการวิจัยนี้จะพัฒนาเป็นวิธีการรักษาที่มีประสิทธิภาพ สำหรับผู้ที่มีปัญหาในการใช้เครื่องช่วยหายใจ"
รางวัลดังกล่าวจัดโดยนิตยสารวิทยาศาสตร์อารมณ์ขัน "Annals of Improbable Research"
หลังจากจัดพิธีประจำปีทางออนไลน์มาเป็นเวลา 4 ปีเนื่องจากการระบาดของโควิด-19 พิธีดังกล่าวจึงได้กลับมาจัดที่สถาบันเทคโนโลยีแมสซาชูเซตส์ สหรัฐอเมริกาอีกครั้ง
ชาวญี่ปุ่นได้รับรางวัลอิกโนเบลติดต่อกันเป็นเวลา 18 ปีแล้ว