เกียวโดนิวส์ (10 ก.ย.) วันนี้ ผู้ดำเนินการโรงไฟฟ้านิวเคลียร์ฟุกุชิมะ ไดอิจิ ได้เริ่มดำเนินการขุดเอากากเชื้อเพลิงจำนวนเล็กน้อยจากเตาปฏิกรณ์ที่เสียหาย หลังจากความพยายามครั้งแรกเมื่อเดือนที่แล้วถูกระงับเนื่องจากปัญหาในการติดตั้ง
ความพยายามในการขุดเอาเศษเชื้อเพลิงของบริษัท โตเกียว อิเล็กทริกพาวเวอร์ คอมพานี โฮลดิงส์ (Tokyo Electric Power Company Holdings Inc.) หรือ TEPCO ถือเป็นครั้งแรกนับตั้งแต่โรงไฟฟ้านิวเคลียร์ได้รับความเสียหายจากเหตุแผ่นดินไหวและคลื่นสึนามิครั้งใหญ่เมื่อเดือนมีนาคม 2554 และเคยถูกระงับการดำเนินการมาแล้ว 3 ครั้ง นับตั้งแต่มีกำหนดการเปิดตัวแผนเริ่มต้นเมื่อประมาณ 3 ปีก่อน
TEPCO ได้หยุดการทดลองขุดเอาเศษเชื้อเพลิง เมื่อวันที่ 22 สิงหาคม หลังจากพบว่าท่อ 5 ท่อที่ใช้สำหรับใส่เครื่องขุดเอาเศษซากเข้าไปในภาชนะบรรจุของเครื่องปฏิกรณ์หมายเลข 2 ถูกติดตั้งไว้ไม่ถูกต้อง
หลังจากยืนยันว่าท่อได้รับการติดตั้งในลำดับที่ถูกต้องแล้ว บริษัทจึงส่งอุปกรณ์ดังกล่าวผ่านวาล์วแยกซึ่งมีไว้สำหรับปิดกั้นวัสดุกัมมันตภาพรังสีในตอนเช้า
บริษัทมีแผนที่จะใส่อุปกรณ์ซึ่งยาวได้ถึง 22 เมตรเข้าไปในภาชนะเพื่อเก็บเศษซากปริมาณไม่เกิน 3 กรัม คาดว่าจะใช้เวลาประมาณ 2 สัปดาห์กว่าที่หัวจับจะไปถึงและแยกเศษกากฯออกมาได้
ภารกิจในการนำเชื้อเพลิงที่หลอมละลายกลับคืนมา ยังคงเป็นความท้าทายที่สำคัญในแผนการปลดประจำการโรงไฟฟ้านิวเคลียร์ฟุกุชิมะไดอิจิ ที่กินเวลานานหลายทศวรรษกว่าจะเสร็จ โดยมีเศษกากเชื้อเพลิงประมาณ 880 ตันที่เหลืออยู่ในเครื่องปฏิกรณ์หมายเลข 1, 2 และ 3
การสกัดเศษกากกัมมันตภาพรังสีจะดำเนินการจากระยะไกล แต่ยังไม่มีการตัดสินใจเกี่ยวกับวิธีการเฉพาะในการนำเศษกากทั้งหมดกลับคืนมา
การสอบสวนภายหลังการระงับการทดลองขุดเมื่อเดือนที่แล้วพบว่า TEPCO และผู้รับเหมา มิตซูบิชิ เฮฟวี่ อินดัสทรีส์ (Mitsubishi Heavy Industries Ltd.) ได้ว่าจ้างบุคคลภายนอกให้เตรียมท่อ และสุดท้ายก็ล้มเหลวในการตรวจสอบลำดับการติดตั้ง
ต่อมา TEPCO ได้กำหนดมาตรการป้องกันเพื่อป้องกันไม่ให้เกิดเหตุร้าย หรือข้อผิดพลาดอื่นๆ รวมถึงการประเมินคู่มือและคำแนะนำสำหรับพนักงานในการตรวจสอบงานอีกครั้ง