xs
xsm
sm
md
lg

ฮิโรชิมาครบรอบ 79 ปี ปรมาณู​ในโลกที่ยังไม่เคยมีสันติ​

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์


นกพิราบถูกปล่อยที่สวนอนุสรณ์สันติภาพในเมืองฮิโรชิมา ทางตะวันตกของญี่ปุ่น เมื่อวันที่ 6 สิงหาคม 2567 ในระหว่างพิธีฉลองครบรอบ 79 ปีของการทิ้งระเบิดปรมาณูของสหรัฐฯ ในเมืองนี้ (เกียวโด)
เกียว​โด​นิวส์​ เมื่อวันอังคาร (6​ ส.ค.)​ ฮิโรชิมาเฉลิมฉลองครบรอบ 79 ปีของการทิ้งระเบิดปรมาณูโดยสหรัฐฯ​ นายกเทศมนตรีเรียกร้องให้ผู้นำโลกเลิกใช้อาวุธนิวเคลียร์ ท่ามกลางความขัดแย้งระดับโลก รวมถึงการรุกรานยูเครนของรัสเซีย และสงครามอิสราเอล-ฮามาสในตะวันออกกลาง

ในปฏิญญาสันติภาพ ซึ่งมีการอ่านระหว่างพิธีประจำปีในสวนอนุสรณ์สันติภาพ คาซุมิ มัตสึอิ นายกเทศมนตรีเมืองฮิโรชิมา เรียกร้องให้มีความสามัคคีและความไว้วางใจผ่านการสนทนาเพื่อสนับสนุนการเปลี่ยนจากการป้องปรามด้วยนิวเคลียร์

“สำหรับผมแล้ว ดูเหมือนว่าโศกนาฏกรรมที่เกิดขึ้นทั่วโลกกำลังเพิ่มความหวาดระแวงไม่ไว้วางใจในหมู่นานาประเทศ ตอกย้ำความแคลงใจของสาธารณชนที่ว่า การแก้ไขปัญหาระหว่างประเทศ เราต้องพึ่งพากำลังทหาร ทั้งที่เราควรปฏิเสธ” เขากล่าว

นายกเทศมนตรีกล่าวว่า​ สงครามเย็นในอดีต​ยุติลงด้วยการเจรจาระหว่างมิคาอิล กอร์บาชอฟ ผู้นำคนสุดท้ายของสหภาพโซเวียต และประธานาธิบดีโรนัลด์ เรแกนของสหรัฐฯ

“เพื่อขจัดความระแวงสงสัย​ที่ก่อให้เกิดความขัดแย้ง ภาคประชาสังคมจะต้องสร้างวงจรแห่งความไว้วางใจผ่านการแลกเปลี่ยนและการเจรจาโดยคำนึงถึงทุกฝ่าย” มัตซุยกล่าว

นายกรัฐมนตรีฟูมิโอะ คิชิดะ ซึ่งเป็นตัวแทนจากเขตเลือกตั้งในฮิโรชิมา กล่าวในสุนทรพจน์ว่าแรงผลักดันสู่โลกที่ปราศจากอาวุธนิวเคลียร์กำลังจวนจะพลิกผันอีกเป็นครั้งแรกนับตั้งแต่ช่วงสงครามเย็น

“เป็นหน้าที่ของเราในฐานะประเทศเดียวที่ผ่านประสบการณ์ในการใช้อาวุธนิวเคลียร์ในสงคราม และมุ่งมั่นทำงานอย่างต่อเนื่องเพื่อให้โลกปราศจากอาวุธนิวเคลียร์” เขากล่าว

ช่วงเวลาแห่งความเงียบงันเกิดขึ้นเมื่อเวลา 8.15 น. ซึ่งเป็นเวลาที่ระเบิดนิวเคลียร์ถูกทิ้งโดยเครื่องบินทิ้งระเบิดของสหรัฐฯ อีโนลา เกย์​ เมื่อวันที่ 6 สิงหาคม พ.ศ.2488 คร่าชีวิตผู้คนไปประมาณ 140,000 คน

พิธีดังกล่าวมีผู้เข้าร่วมราว 50,000 คน รวมถึงตัวแทนจาก 109 ประเทศและสหภาพยุโรป ในช่วงเวลาที่รัสเซียขู่คุกคามด้วยอาวุธนิวเคลียร์ซ้ำแล้วซ้ำเล่าในการรุกรานยูเครน​ ขณะเดียวกัน สงครามของอิสราเอลกับกลุ่มฮามาสมีความเสี่ยงที่จะทำให้เกิดความขัดแย้งในวงกว้างขึ้น

รัฐบาลเมืองฮิโรชิมาได้เชิญอิสราเอล ซึ่งถูกกล่าวหาว่าเป็นรัฐติดอาวุธนิวเคลียร์ ควบคู่ไปกับการเรียกร้องให้มีการหยุดยิงทันทีต่อความขัดแย้งในดินแดนปาเลสไตน์ ซึ่งก่อให้เกิดการต่อต้านจากนานาชาติเพิ่มมากขึ้น

แต่คำเชิญดังกล่าวถูกบางคนวิพากษ์วิจารณ์ว่าเป็นสองมาตรฐาน เนื่องจากรัสเซียและเบลารุสถูกห้ามจากพิธีดังกล่าวเป็นเวลา 3 ปีติดต่อกันจากการรุกรานยูเครน สถานทูตปาเลสไตน์ยังวิพากษ์วิจารณ์ฮิโรชิมาเลือกปฏิบัติ​ที่ไม่เชิญปาเลสไตน์เข้าร่วมพิธี

ในระหว่างพิธี อิซูมิ นากามิตสึ ปลัดกระทรวงสหประชาชาติและผู้แทนระดับสูงด้านการลดอาวุธ ได้อ่านคำแถลงของเลขาธิการสหประชาชาติ อันโตนิโอ กูเตอร์เรส ซึ่งเขาตั้งข้อสังเกตว่า "ตั้งแต่ปีที่แล้ว ความหวาดระแวงและความแตกแยกทั่วโลกได้เพิ่มมากขึ้น จุดชนวนปัญหา​นิวเคลียร์อีกครั้ง”

“โลกต้องยืนหยัดร่วมกันเพื่อประณามพฤติกรรมที่ยอมรับไม่ได้นี้ และเราต้องค้นหาวิธีแก้ปัญหาใหม่ๆ เพื่อนำสู่การลดอาวุธ” คำแถลงระบุ

ในคำประกาศ นายกเทศมนตรียังเรียกร้องให้ผู้นำโลกทุกคนไปเยือนฮิโรชิมาด้วยความหวังว่าพวกเขาจะ "เข้าใจอย่างลึกซึ้งยิ่งขึ้นเกี่ยวกับระเบิดปรมาณู" และ "ออกแถลงการณ์เรียกร้องให้มีการยกเลิกอาวุธนิวเคลียร์"

นอกจากนี้ มัตซุยในสุนทรพจน์ยังพูดถึงความล้มเหลวของการประชุมทบทวนสนธิสัญญาอาวุธนิวเคลียร์ในการรับเอกสารฉบับสุดท้ายเป็นครั้งที่ 2 ติดต่อกัน โดยกล่าวว่า​ "เจอทางตัน"

3 วันหลังจากระเบิดซึ่งมีฉายาว่า "ลิตเติลบอย" ทำลายฮิโรชิมา ระเบิดปรมาณูลูกที่ 2 ก็ถูกทิ้งที่นางาซากิ ญี่ปุ่นยอมจำนนต่อกองกำลังพันธมิตรในอีก 6 วันต่อมา ถือเป็นการสิ้นสุดสงครามโลกครั้งที่สอง

ปัจจุบัน จำนวนผู้รอดชีวิตอย่างเป็นทางการจากการโจมตีด้วยนิวเคลียร์ 2 ครั้งหรือที่เรียกว่า ฮิบาคุชะ รวมอยู่ที่ 106,825 คน โดยมีอายุเฉลี่ยเกิน 85 ปีแล้ว​ ณ เดือนมีนาคมปีนี้ ลดลง 6,824 คนจากปีก่อนหน้า ตามการระบุของกระทรวงสาธารณสุข แรงงาน และสวัสดิการ 


กำลังโหลดความคิดเห็น