xs
xsm
sm
md
lg

เที่ยวญี่ปุ่น​เตรียมใจ​ ระบบราคาสองมาตรฐาน​​นักท่องเที่ยว-คนท้องถิ่น

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์


นักวิ่งกูลิโกะเป็นหนึ่งในแลนด์มาร์กที่มีชื่อเสียงที่สุดในโอซากา (ภาพเอเจนซี)
เกียว​โด​นิวส์​ (24​ ก.ค.)​ ในขณะที่ญี่ปุ่นต้อนรับนักท่องเที่ยวจำนวนมากซึ่งหลั่งไหลเข้ามาโดยได้รับแรงหนุนจากค่าเงินเยนที่อ่อนลง ผู้ประกอบการร้านอาหารและสถานที่ท่องเที่ยวจำนวนมากขึ้นเรื่อยๆ ต่างก็ต้องการเรียกเก็บเงินจากนักท่องเที่ยวต่างชาติมากขึ้น การแยกมาตรฐาน​โดยขึ้นราคาสำหรับนักท่องเที่ยวอาจขัดแย้งกับวิธีที่ประเทศต้องการทำการตลาด

การที่นักท่องเที่ยวชาวต่างชาติถูกเรียกเก็บเงินในราคาที่สูงกว่าคนในท้องถิ่นนั้น ส่วนใหญ่มักพบเห็นตามสถานที่ท่องเที่ยวในประเทศกำลังพัฒนา ทำให้เกิดความกังวลว่าญี่ปุ่นอาจต้องสูญเสียภาพลักษณ์ของตนในฐานะจุดหมายปลายทางการท่องเที่ยวระดับไฮเอนด์

แต่ธุรกิจและหน่วยงานบางแห่งแย้งว่าระบบราคาคู่ไม่ได้หมายถึง "โกงหรือเอาเปรียบ" นักท่องเที่ยว แต่ทำไปเพราะ "ความจำเป็นเร่งด่วน" โดยอ้างถึงค่าแรงที่เพิ่มขึ้นและค่าใช้จ่ายอื่นๆ เนื่องจากจำนวนนักท่องเที่ยวเพิ่มขึ้น

“เราจะตั้งราคาเมนูเดียวกันสำหรับคนท้องถิ่นที่พูดภาษาญี่ปุ่นและนักท่องเที่ยวชาวต่างชาติที่ต้องการความช่วยเหลือพิเศษเป็นภาษาอังกฤษได้อย่างไร” โชโกะ โยเนมิตสึ เจ้าของร้านอาหารทะเลสไตล์บุฟเฟต์ทามาเทบาโกะ ตั้งอยู่ในย่านชิบุยะอันพลุกพล่านในกรุงโตเกียว กล่าว

นับตั้งแต่เปิดทำการในเดือนเมษายน ร้านอาหารได้เรียกเก็บเงินนักท่องเที่ยวชาวต่างชาติ 7,678 เยนสำหรับเมนู​บุฟเฟต์อาหารทะเลแบบกินได้ไม่อั้นสำหรับมื้อเย็นวันธรรมดา ในขณะที่ชาวญี่ปุ่นและชาวต่างชาติที่อาศัยอยู่ในญี่ปุ่นสามารถรับประทานเมนู​เดียวกันได้ในราคา​ 1,100 เยน

โยเนมิตสึกล่าวว่า ร้ร้านจำเป็นต้องขึ้นค่าจ้างเพื่อจ้างพนักงานที่พูดภาษาอังกฤษได้ และยังต้องมีค่าใช้จ่ายในการฝึกอบรมพนักงานเพื่อให้บริการลูกค้าชาวต่างชาติอีกด้วย

“โดยที่เรามีลูกค้าวันละ 100 ถึง 150 คน ในขณะที่ร้านอาหารจุได้ 35 ที่นั่ง ต้องใช้เวลามากขึ้นไปเอาใจใส่ลูกค้าต่างชาติ เช่น การอธิบายว่า บุฟเฟต์ วิธีย่าง และกินอาหาร​ในภาษาอังกฤษ” โยเนมิตสึกล่าว

"ข้อเสนอที่ดี"
สตรีชาวญี่ปุ่นที่ทำงานร้านอาหารไทยในโตเกียวยินดีกับระบบนี้ โดยเรียกว่าเป็น "ข้อเสนอที่ดี"

“เมื่อพิจารณาจากค่าเงินเยนที่อ่อนค่าอย่างน่าตกใจ ฉันคิดว่าการเรียกราคาจากชาวต่างชาติเพิ่มอีกสักหน่อยก็ไม่เสียหาย” ผู้หญิงคนนั้นกล่าว

“ฉันได้ยินจากเพื่อนร่วมงานว่ามีการตั้งสองราคาในวัดของไทย เราพูดว่า อ่า ในที่สุดญี่ปุ่นก็เป็นด้วย (เรียกเก็บเงินเพิ่มสำหรับชาวต่างชาติ)” เธอกล่าวเสริม

ผู้ประกอบการสถานที่ท่องเที่ยวยอดนิยมในญี่ปุ่นกำลังชั่งน้ำหนักทางเลือกในการเรียกเก็บเงินจากนักท่องเที่ยวชาวต่างชาติมากขึ้น เนื่องจากการไหลเข้าของนักท่องเที่ยวทำให้ค่าธรรมเนียมการบำรุงรักษาและการตกแต่งใหม่เพิ่มขึ้น

เมื่อเร็วๆ นี้ นายกเทศมนตรีเมืองฮิเมจิกล่าวว่าเมืองทางตะวันตกของญี่ปุ่นกำลังพิจารณาค่าธรรมเนียมแรกเข้า "4 เท่า" สำหรับนักท่องเที่ยวชาวต่างชาติที่มาเยือนปราสาทฮิเมจิ ซึ่งเป็นมรดกโลกขององค์การยูเนสโกโดยเฉพาะ เพื่อตอบสนองต่อการท่องเที่ยวขาเข้าที่เพิ่มขึ้น

ค่าเข้าชมปราสาทซึ่งเป็นสมบัติประจำชาติซึ่งเป็นส่วนหนึ่งของโครงสร้างไม้ที่มีอายุตั้งแต่ต้นศตวรรษที่ 17 ปัจจุบันกำหนดไว้ที่ 1,000 เยน สำหรับผู้ที่มีอายุ 18 ปีขึ้นไป

แต่นายกเทศมนตรีกล่าวว่า เมืองนี้ต้องเรียกเก็บเงินประมาณ 30 ดอลลาร์สำหรับชาวต่างชาติ และประมาณ 5 ดอลลาร์สำหรับคนท้องถิ่น แม้ว่าผู้เยี่ยมชมจำนวนมากเกินไปอาจสร้างความเสียหายให้การบำรุงรักษาปราสาท แต่เขาต้องการหลีกเลี่ยงการขึ้นค่าธรรมเนียมการเข้าชมสำหรับคนในท้องถิ่นที่มองว่าปราสาทเป็น "สถานที่พักผ่อน"

รัฐบาลประจำจังหวัดโอซากากำลังหารือเกี่ยวกับการบังคับใช้ภาษีที่กำหนดเป้าหมายนักท่องเที่ยวชาวต่างชาติโดยเฉพาะ ซึ่งอาจเป็นไปได้ในช่วงเริ่มต้นของงานนิทรรศการโลก​ เอ็กซ์โป​โอซากาในเดือนเมษายน พ.ศ.2568 เพื่อเป็นเงินทุนสำหรับมาตรการในการจัดการกับจำนวนนักท่องเที่ยวที่เพิ่มขึ้น

ผู้เชี่ยวชาญกล่าวว่า ธุรกิจและผู้ประกอบการสถานที่ท่องเที่ยวที่เรียกเก็บเงินนักท่องเที่ยวชาวต่างชาติมากขึ้นนั้นควรระมัดระวังในการอธิบายเหตุผลและวิสัยทัศน์ของตน

“ราคาเปลี่ยนแปลงกะทันหันนี้อาจจะเป็นการคิดสั้นๆ​ เพียงว่าชาวต่างชาติไม่กระทบในช่วงที่เงินเยนร่วงลง แต่อาจกระตุ้นให้เกิดภาวะชะลอจับจ่ายในระยะยาว” โทโมยะ อูเมคาวะ ศาสตราจารย์จากมหาวิทยาลัยโคคุกาคุอิน ซึ่งเชี่ยวชาญด้านนโยบายการท่องเที่ยว กล่าว

“ประสบการณ์ที่พิเศษจับต้องได้”
“หากผู้ประกอบการจำเป็นต้องขึ้นราคาเนื่องจากค่าใช้จ่ายสำหรับชาวต่างชาติที่สูงขึ้น ควรส่งเสริมการบริการในลักษณะที่จะโน้มน้าวนักท่องเที่ยวว่าคุ้มค่ากับราคา” เช่น โดยการเพิ่ม “ประสบการณ์ที่พิเศษจับต้องได้และแท้จริง” เขากล่าว

การสำรวจเรื่องการกำหนดราคาแบบคู่สำหรับนักเดินทางขาเข้าในญี่ปุ่น ซึ่งจัดทำโดย Loyalty Marketing Inc. ผู้ให้บริการจุดสะสมคะแนนในเดือนกุมภาพันธ์ แสดงให้เห็นว่าเกือบร้อยละ 60​ ของผู้ตอบแบบสอบถามในประเทศเห็นด้วยหรือค่อนข้างเห็นด้วยกับระบบ 2 ราคานี้

แต่การสำรวจยังแสดงให้เห็นว่ามากกว่าครึ่งหนึ่งของผู้ตอบแบบสอบถามมีความกังวลเกี่ยวกับอิทธิพลเชิงลบที่อาจมีต่อนักเดินทางขาเข้า

ผู้ตอบแบบสอบถามเรียกร้องให้เพิ่มบริการเสริมแก่นักท่องเที่ยวชาวต่างชาติเมื่อถูกเรียกเก็บเงินมากขึ้น เช่น การให้บริการในภาษาต่างๆ ไกด์ การต้อนรับที่เพิ่มขึ้น หรือของขวัญพิเศษ

นิค ซาเกลลาริโอว ซึ่งเดินทางมาญี่ปุ่นจากสวีเดนกล่าวว่า เขาสนับสนุนแนวคิดที่จะเรียกเก็บเงินจากนักท่องเที่ยวมากขึ้น

“นักท่องเที่ยวก็ดีในระดับหนึ่ง แต่เมื่อเยอะเกินไปอาจเกิดปัญหาได้” ซาเกลลาริโอกล่าว พร้อมเสนอแนะว่าอาจใช้ระบบ​ 2​ ราคาขึ้นอยู่กับช่วงเวลาของปี เช่น ใในช่วงที่ไฮซีซันที่มีนักท่องเที่ยวมาก

แต่เขายังเสนอว่าหากระบบนี้ถูกนำมาใช้ในประเทศบ้านเกิดของเขา ระบบนี้จะถูกวิพากษ์วิจารณ์ว่าเป็น "การเหยียดเชื้อชาติ" หรือ "เลือกปฏิบัติ"

สถานที่ท่องเที่ยวต่างประเทศอื่นๆ ที่ใช้ระบบ​ 2​ ราคา​ แยกคนในท้องถิ่นและผู้มาเยือน ได้แก่ อุทยานแห่งรัฐไดมอนด์เฮดในฮาวาย ซึ่งผู้อยู่อาศัยของรัฐสามารถเข้าได้ฟรี ในขณะที่นักท่องเที่ยวชาวต่างชาติและนักท่องเที่ยวจากรัฐอื่นๆ ของสหรัฐฯ จะถูกเรียกเก็บเงินอีกราคา การเคลื่อนไหวดังกล่าวทำให้เกิดเสียงโวยวายเล็กน้อย

อุเมคาวะ​จากมหาวิทยาลัยโคคุกาคุอิน​ กล่าวว่ากลยุทธ์การกำหนดราคาในการท่องเที่ยวกำลังอยู่บนทางแพร่ง​ โดยเรียกร้องให้ธุรกิจและผู้ประกอบการละทิ้งกรอบความคิดที่ว่าพวกเขาจำเป็นต้องคงราคาให้ต่ำและเสนอบริการแบบมาตรฐาน​เดียวกันให้ลูกค้าทั้งชาวญี่ปุ่นและไม่ใช่ชาวญี่ปุ่น

"พวกเขาควรภาคภูมิใจในการนำเสนอบริการการต้อนรับคุณภาพสูง โดยที่นักท่องเที่ยวสามารถจ่ายค่าใช้จ่ายได้อย่างเพียงพอ" เขากล่าว "บริการพิเศษดังกล่าวเป็นที่ต้องการของนักท่องเที่ยวชาวต่างชาติ และจะส่งผลให้มีผู้มาเยี่ยมชมซ้ำ (เพิ่มขึ้น)"


กำลังโหลดความคิดเห็น