เกียวโดนิวส์ (2 ก.ค.) บริษัท เมจิ ยาสุดะ ไลฟ์ อินชัวรันส์ วางแผนที่จะขยายอายุเกษียณภาคบังคับเป็น 70 ปี จากเดิม 65 ปี เริ่มในปี พ.ศ.2570 ท่ามกลางปัญหาการขาดแคลนแรงงานของประเทศ ทั้งที่เพิ่งจะขยายอายุเกษียณเป็น 65 ปีจาก 60 ปีในปี 2562
แหล่งข่าวกล่าวว่า พนักงานประมาณ 10,000 คนของบริษัทประกันชีวิตในโตเกียว ไม่รวมพนักงานขาย จะมีสิทธิภายใต้ระบบจ้างงานใหม่ ขณะนี้บริษัทกำลังเจรจากับสหภาพแรงงานเกี่ยวกับแผนดังกล่าว
ความเคลื่อนไหวดังกล่าวสอดคล้องกับการผลักดันของรัฐบาลในการเพิ่มจำนวนคนงานสูงอายุ เพื่อรักษาแรงงานให้เพียงพอท่ามกลางจำนวนประชากรที่ลดลง
ในเดือนเมษายน ปี 2564 ญี่ปุ่นบังคับใช้กฎหมายเพื่อสนับสนุนบริษัทต่างๆ อนุญาตให้พนักงานทำงานจนถึงอายุ 70 ปีได้หากต้องการ
ภายใต้แผนดังกล่าว พนักงานของเมจิ ยาสุดะ ที่มีอายุ 65 ปีขึ้นไป จะสามารถเลือกทำงานในเวลาที่สั้นลงต่อวัน หรือ 3 วันต่อสัปดาห์ได้ ในขณะที่อาจได้รับเงินเดือนเท่าเดิมเมื่ออายุครบ 65 ปี ขึ้นอยู่กับหน้าที่ของตน
บริษัทญี่ปุ่นหลายแห่ง อายุเกษียณมักกำหนดไว้ที่ 60 ปี แต่บริษัทส่วนใหญ่จ้างพนักงานใหม่จนถึงอายุ 65 ปี โดยทั่วไปแล้วจะได้รับค่าจ้างต่ำกว่าก่อนวัยเกษียณอย่างมาก
ทั้งนี้ จากข้อมูลกระทรวงสาธารณสุขและแรงงาน พบว่า ในสถานการณ์ปัจจุบันจำนวนพนักงานรุ่นหนุ่มสาวเข้าใหม่ทำงานไม่นานมีอัตราการลาออกสูง และมีแนวโน้มเพิ่มขึ้นทั้งในงานพนักงานภาครัฐ และภาคเอกชน
จากผลสำรวจในปี 2565 และปี 2566 คนหนุ่มสาววัย 20 ปี กล่าวถึงเหตุผลที่ลาออก คือ “เงินเดือนน้อย ไม่มีอนาคตว่าเงินเดือนจะขึ้น” รองลงมาคือ “ปัญหาความสัมพันธ์กับเพื่อนร่วมงาน” “สภาพการทำงานไม่เอื้อต่อการเรียนรู้ ฝึกฝนทักษะ” และรู้สึกว่า “มีงานอื่นที่น่าสนใจและอยากทำ” โดยไม่กังวลใจเรื่องความก้าวหน้าในหน้าที่การงาน และความมั่นคงของสายงาน
รูปแบบของการทำงานที่เปลี่ยนจากการระบาดของโควิด-19 หลายปี มีส่วนสำคัญ พนักงานเข้าใหม่ไม่ได้มีปฏิสัมพันธ์โดยตรงกับหัวหน้า หรือเพื่อนร่วมงานอีกแล้ว ความไม่ผูกพันทำให้ลาออกโดยไม่อดทนแก้ปัญหา และไม่ห่วงความก้าวหน้าในอนาคตข้างหน้า ทั้งไม่คิดว่าเป็นคนไม่จริงจัง ไม่สู้งาน อย่างที่เคยเป็นค่านิยมสมัยคนรุ่นก่อน
ในทางกลับกันการที่ตลาดแรงงานในญี่ปุ่นขาดแคลนแรงงานวัยหนุ่มสาว ทำให้คนหนุ่มสาวที่เพิ่งได้งานมีทางเลือกมากขึ้น ลาออกได้ง่ายขึ้น เพราะเชื่อว่าหางานใหม่ได้อีก ไม่จำเป็นต้องอดทนในระบบจ้างงานตลอดชีพ