เกียวโดนิวส์รายงาน (28 พ.ค.) บริษัทผู้ผลิตรถยนต์โตโยต้า เตรียมยุติข้อตกลงการเป็นสปอนเซอร์กับคณะกรรมการโอลิมปิกสากล (IOC) หลังการแข่งขันกีฬาโอลิมปิกที่กรุงปารีสในปีนี้
โตโยต้ามีสัญญาสนับสนุนมหกรรมกีฬาปารีสปี 2024 ซึ่งมีรายงานว่ามีมูลค่า 835 ล้านดอลลาร์เมื่อมีการประกาศในปี พ.ศ.2558 รวมถึงการแข่งขันกีฬาโอลิมปิก 4 รายการโดยเริ่มด้วยกีฬาฤดูหนาวพย็องชัง 2018 ในเกาหลีใต้และปารีส อันเป็นข้อตกลงการสนับสนุนที่ใหญ่ที่สุดของ IOC
สำนักข่าวเกียวโดของญี่ปุ่น อ้างถึง "แหล่งข่าวที่ใกล้ชิดกับเรื่องนี้" กล่าวว่า โตโยต้าไม่พอใจกับวิธีที่ IOC ใช้จ่ายเงินสนับสนุน สำนักข่าวอ้างแหล่งข่าวกล่าวว่า เงินดังกล่าว "ไม่ได้ถูกใช้อย่างมีประสิทธิผลเพื่อสนับสนุนนักกีฬาและส่งเสริมกีฬา"
โตโยต้าปฏิเสธที่จะแสดงความคิดเห็นและกล่าวว่ารายละเอียดทางการเงินถือเป็นเรื่องภายใน
ก่อนหน้านี้ โตโยต้าถอนโฆษณาโอลิมปิกในญี่ปุ่นในช่วงการแข่งขันโตเกียวเกมส์ที่ล่าช้าไปด้วยโรคระบาดในปี 2021
IOC ไม่ได้แสดงความคิดเห็นเกี่ยวกับการเตรียมถอนตัวของผู้สนับสนุนรายนี้ เพียงกล่าวว่า
“เรามีข้อตกลงกับโตโยต้าจนถึงการแข่งขันกีฬาโอลิมปิกที่ปารีส 2024” IOC กล่าว “เรายังคงทำงานร่วมกันอย่างใกล้ชิดเพื่อเตรียมพร้อมสำหรับปารีส และเราหวังว่าจะนำแผนเหล่านี้ไปใช้จริง”
ทั้งนี้ โตโยต้ากำลังจัดหารถยนต์เซลล์เชื้อเพลิง 3,000 คันสำหรับการแข่งขันกีฬาที่ปารีสเพื่ออวดเทคโนโลยีที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม
“ไม่มีกิจกรรมกีฬาใดที่ทุกประเทศทั่วโลกเข้าถึงได้มากเท่ากับการแข่งขันกีฬาโอลิมปิก” ริค เบอร์ตัน ผู้สอนการตลาดด้านกีฬาที่มหาวิทยาลัย Syracuse กล่าวกับสำนักข่าวเอพี
IOC สร้างรายได้ 91% จากการขายลิขสิทธิ์การออกอากาศ (61%) และการสนับสนุน (30%)
นอกจาก Toyota แล้ว ผู้สนับสนุนอันดับต้นรายอื่นๆ ได้แก่ ABInBev, Airbnb, Alibaba, Allianz, Atos, Bridgestone, Coca-Cola, Deloitte, Intel, Omega, Panasonic, P&G, Samsung และ Visa
การแข่งขันกีฬาโอลิมปิกที่โตเกียว ญี่ปุ่นใช้เงินอย่างเป็นทางการ 1.3 หมื่นล้านดอลลาร์ ซึ่งอย่างน้อยครึ่งหนึ่งเป็นเงินสาธารณะ จากการตรวจสอบของรัฐบาลพบว่าค่าใช้จ่ายที่แท้จริงสูงเป็น 2 เท่าของเงินสนับสนุนของ IOC
การแข่งขันโตเกียวเกมส์ติดหล่มอยู่ในเรื่องอื้อฉาวเกี่ยวกับการคอร์รัปชันที่เชื่อมโยงกับการสนับสนุนในท้องถิ่นและการลงนามในสัญญา บริษัท เดนท์สุ ซึ่งเป็นบริษัทการตลาดและประชาสัมพันธ์ขนาดใหญ่ของญี่ปุ่น เป็นหน่วยงานด้านการตลาดของการแข่งขันกีฬาโอลิมปิกที่โตเกียว และระดมทุนได้ 3.3 พันล้านดอลลาร์จากการสนับสนุนในท้องถิ่น
ทั้งยังมีกรณีอัยการฝรั่งเศส พิจารณาส่งฟ้องคดีการซื้อเสียงในการตัดสินใจของ IOC ในปี 2556 ที่เลือกโตเกียวเป็นเจ้าภาพการแข่งขันกีฬาโอลิมปิก