เกียวโดนิวส์ (19 เม.ย.) ผู้ดำเนินการโรงไฟฟ้านิวเคลียร์ฟุกุชิมะ ไดอิจิ กล่าวเมื่อวันศุกร์ว่า ได้เริ่มปล่อยน้ำกัมมันตภาพรังสีที่ผ่านการบำบัดชุดที่ 5 ลงทะเล ท่ามกลางการต่อต้านจากจีน
บริษัทโตเกียวอิเล็กทริกพาวเวอร์ (Tokyo Electric Power Company Holdings Inc.หรือ TEPCO) จะทยอยปล่อยน้ำปริมาณ 7,800 ตัน จนถึงวันที่ 7 พฤษภาคม และเริ่มการระบายครั้งแรกของปีงบประมาณปัจจุบันในเดือนนี้
ในปีงบประมาณนี้ โโรงไฟฟ้าวางแผนที่จะระบายน้ำบำบัด 7 ครั้ง รวมประมาณ 54,600 ตัน คาดว่าระดับไอโซโทปจะอยู่ที่ประมาณ 14 ล้านล้านเบเคอเรล ซึ่งต่ำกว่าระดับสูงสุดประจำปีที่ 22 ล้านล้านเบคเคอเรล
ก่อนปล่อยน้ำ TEPCO จะตรวจสอบให้แน่ใจว่าระดับกัมมันตภาพรังสีเป็นไปตามมาตรฐานที่กำหนดโดยบริษัท และรัฐบาล
น้ำได้รับการบำบัดโดยใช้ระบบแปรรูปของเหลวขั้นสูง หรือ ALPS เพื่อกำจัดสิ่งปนเปื้อนส่วนใหญ่นอกเหนือจากไอโซโทปที่ค่อนข้างไม่เป็นพิษ
นับตั้งแต่เริ่มปฏิบัติการเมื่อวันที่ 24 ส.ค.ปีที่แล้ว มีการปล่อยน้ำบำบัดแล้วประมาณ 31,200 ตัน แม้จะมีการต่อต้านจากจีน รัสเซีย และชาวประมงท้องถิ่น เนื่องจากความกังวลเรื่องความปลอดภัย ปัญหาสุขภาพ และทำให้ชื่อเสียงของอาหารทะเลในท้องถิ่นเสื่อมเสีย
จีนยังคงสั่งห้ามนำเข้าผลิตภัณฑ์อาหารทะเลทั้งหมดจากญี่ปุ่นเพื่อตอบสนองต่อการปล่อยของเสีย
ในระหว่างการปล่อยน้ำระลอกที่ 4 ก่อนหน้านี้ เท็ปโกกล่าวว่า ตรวจพบไอโซโทปกัมมันตภาพรังสี 22 เบคเคอเรลต่อน้ำทะเลหนึ่งลิตรในตัวอย่างที่นำมาจากพื้นที่ใกล้กับโรงไฟฟ้า ซึ่งต่ำกว่าขีดจำกัดขององค์การอนามัยโลกที่ 10,000 เบคเคอเรลสำหรับน้ำดื่ม
หน่วยงานสาธารณูปโภคมองว่าการปล่อยน้ำบำบัดที่เก็บกักไว้นี้เป็นขั้นตอนสำคัญในการรื้อถอนโรงไฟฟ้าฟุกุชิมะ ไดอิจิ ซึ่งเครื่องปฏิกรณ์ 3 เครื่องเสียหายหนักหลังเกิดแผ่นดินไหว และสึนามิครั้งใหญ่ในปี 2554