xs
xsm
sm
md
lg

ต่างจิตต่างใจสไตล์ญี่ปุ่น-อเมริกัน

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์


บริษัทส่งพัสดุของอเมริกามักจะวางทิ้งไว้หน้าบ้าน
คอลัมน์ “เรื่องเล่าสะใภ้ญี่ปุ่น” โดย “ซาระซัง”

สวัสดีค่ะเพื่อนผู้อ่านทุกท่าน ชีวิตประจำวันในญี่ปุ่นกับอเมริกามีอะไรเล็ก ๆ น้อย ๆ ที่ต่างกันเยอะมาก จนบางทีฉันกับสามีเองก็ปรับตัวไม่ค่อยทัน วันนี้ขอยกตัวอย่างบางเรื่องมาเล่าให้ฟังเป็นความรู้รอบตัวเล็ก ๆ น้อย ๆ ค่ะ

ห้องน้ำสาธารณะที่ไม่ธรรมดา

ห้องน้ำสาธารณะในญี่ปุ่นมีบริการที่ดีเยี่ยม แต่ละห้องมักมีน้ำยาทำความสะอาดฝาโถสุขภัณฑ์ เวลาใช้ก็เอากระดาษทิชชู่รองน้ำยาแล้วเช็ดฝาโถก่อนลงนั่ง ด้านหลังของโถสุขภัณฑ์ยังมีที่กว้าง ๆ ให้วางของได้สบาย โดยเฉพาะในห้างสรรพสินค้า ทำให้เวลาซื้อของเต็มไม้เต็มมือก็สามารถวางถุงหรือกระเป๋าได้โดยไม่ต้องกังวล

นอกจากนี้ยังมีที่นั่งสำหรับเด็กเล็กในห้องน้ำเพื่อให้พ่อแม่เข้าห้องน้ำได้สะดวก แต่ต้องคอยดูดี ๆ ไม่ให้เด็กปีนหล่นลงมา ในห้องน้ำหญิงบางแห่งมีกระดานพับติดไว้ข้างฝาสำหรับเปลี่ยนเสื้อผ้าด้วย เวลาใช้ก็เพียงกางกระดานออกมา ถอดรองเท้าออกแล้วขึ้นไปยืนบนกระดาน วิธีนี้ทำให้เท้าไม่เลอะพื้นสกปรก ห้องน้ำในญี่ปุ่นมีอะไรเล็ก ๆ น้อย ๆ แบบนี้เสมอ สะท้อนให้เห็นว่าเข้าใจและตอบสนองต่อความต้องการของผู้ใช้บริการมากทีเดียว

1. ที่นั่งเด็กเล็ก 2. กระดานเปลี่ยนเสื้อผ้า...ภาพจาก facebook.com/hankyu.ex
ห้องน้ำที่อเมริกาไม่มีน้ำยาให้เช็ดทำความสะอาดโถ แต่มักมีกระดาษรองนั่งแบบเดียวกับที่ใช้บนเครื่องบินให้ หลายแห่งไม่มีที่ให้แขวนกระเป๋าหรือสัมภาระใด ๆ เลย ทำให้หลายคนเอากระเป๋าหรือข้าวของวางกับพื้นห้องน้ำทั้งอย่างนั้น เหมือนไม่ค่อยคิดมากเรื่องความสกปรก

ที่น่าตกใจที่สุดคือ ช่องว่างระหว่างบานประตูกับกรอบประตูที่กว้างตั้งแต่ 1 - 2.5 ซม. พร้อมช่องว่างราว 1 ฟุตจากประตูถึงพื้น ทำให้เหลือบมองเห็นภายในได้ เป็นอย่างนี้ทั้งห้องน้ำหญิงและชาย ตอนที่ฉันมาอเมริกาใหม่ ๆ รู้สึกกระอักกระอ่วนมาก ต่อให้รู้ว่าคนอื่นที่ใช้ห้องน้ำเป็นผู้หญิงด้วยกันก็เถอะ บางคนอธิบายว่าที่ต้องมีช่องว่างแบบนี้ก็เพื่อจะได้รู้ว่ามีคนใช้อยู่หรือเปล่า บ้างก็ว่าเผื่อใครเป็นลมเป็นอะไรไปจะได้รู้

ภาพจาก reddit.com
ปกติหรือประหลาดที่กางร่ม

เป็นเรื่องปกติที่ผู้หญิงญี่ปุ่นจะกางร่มเพื่อกันแดด ในฤดูร้อนจึงมีร่มกันแดดยูวีวางขายกันเกร่อ แบบที่กันแดดได้ดีจะใช้ผ้าทึบแสงรองอยู่ด้านใน ทำให้แสงแดดส่องผ่านไม่ได้ ในห้างมักมีร่มที่ออกแบบสวยงามมากมายจนเลือกไม่ถูก สนนราคาประมาณ 3 พันเยนไปจนถึงหลักหมื่นเยน ขนาดฉันซื้อแบบที่ถูกสุดและค่อนข้างเรียบแล้ว เพื่อนคนไทยยังบอกว่าอย่างกับร่มเจ้าหญิง ส่วนร่มกันฝนฉันไม่กล้าซื้อสวย ๆ เพราะอาจไปลืมไว้บนรถไฟได้ง่ายมาก กลัวทำหายแล้วเสียดาย

พวกร้านค้ามักจะติดตามสภาพอากาศกันแบบเรียลไทม์ บางทีเราเดินซื้อของอยู่ในตึก ไม่รู้ว่าข้างนอกฝนตกแล้ว จะมารู้เอาก็ตอนที่พนักงานเอาของใส่ถุงกระดาษให้ พร้อมทั้งครอบแผ่นพลาสติกให้บนถุงอีกที จะได้ไม่โดนฝนเปียก ความน่ารักแบบนี้คงไม่มีที่ไหนเหมือน และเป็นส่วนหนึ่งที่ทำให้ฉันรักญี่ปุ่นจับใจ

ส่วนที่อเมริกากลับเป็นเรื่องปกติที่จะเจอคนไม่กางร่มตอนฝนตก โดยอาจจะใส่เสื้อแจ็คเก็ตกันฝนหรือไม่ก็สวมแจ็คเก็ตหมวกเอา เดินตากฝนกันอย่างนั้น ส่วนเรื่องกางร่มตอนแดดออกนั้นไม่ต้องพูดถึง หายากมาก

ภาพจาก livinginjapan.net
ฉันเคยเดินกางร่มเดินอยู่ในฤดูร้อน ได้ยินเสียงเด็กฝรั่งที่เดินตามมาข้างหลังถามพ่อเขาว่า “ทำไมฝนไม่ตกแต่เขากางร่มล่ะ ?” พ่อผู้อ่อนโยนตอบแบบให้เกียรติคนกางร่มว่า “เขาจะได้อยู่ในร่ม ไม่ต้องโดนแดดตรง ๆ ไง เป็นวิธีที่ชาญฉลาดดีนะในการหลีกเลี่ยงความร้อน” ทว่าส่วนใหญ่ฉันก็ไม่ค่อยกล้ากางร่มเท่าไหร่ เพราะแทบไม่มีใครทำกัน เลยดูเหมือนตัวประหลาดอยู่คนเดียว เว้นแต่จะไปเดินอยู่แถวไชน่าทาวน์ถึงค่อยรู้สึกมีเพื่อนหน่อย เพราะคุณป้าคุณยายบางคนกางร่มกัน

ชาร์จแบตมือถือได้ไหม

อยู่ที่อเมริกาคนมักจะชาร์จแบตมือถือกันตามร้านกาแฟหรือร้านอาหารโดยไม่ขอ บางร้านคนมานั่งทำงานจากคอมพิวเตอร์กันเยอะมาก มีอยู่ร้านนึงมีโต๊ะยาวนั่งได้หลายคน และมีปลั๊กใหญ่ 3-4 ตัวอยู่ตรงนั้น คนก็ต่อสายมาเสียบกันแน่นขนัด บางคนถึงกับเอาสายพ่วงมาจากบ้านเลยเพราะปลั๊กอยู่ไกล เพื่อนฉันคนหนึ่งมักจะมาพร้อมมือถือที่แบตใกล้หมดอยู่เสมอ ถ้าหาปลั๊กใกล้ ๆ โต๊ะไม่เจอ เธอก็จะขอทางร้านเอาไปชาร์จให้

ทีนี้พอชินอย่างนี้แล้วไปญี่ปุ่น มีวันหนึ่งฉันรอสามีทำแว่นตาใหม่อยู่ เห็นใกล้ ๆ ที่นั่งมีปลั๊ก ก็กะจะเอามือถือมาชาร์จแบตตามความเคยชิน แต่สามีเตือนว่าจะดีหรือ เพราะอยู่ญี่ปุ่นเราจะทำอะไรตามความเคยชินจากที่อื่นไม่ได้ ถ้าจำเป็นต้องชาร์จจริง ๆ ก็ควรจะไปขอทางร้านก่อน ไม่ใช่เสียบปลั๊กเอาเองดื้อ ๆ ส่วนเวลาอยู่เมืองไทยฉันจะขอทางร้านก่อนถ้าจะชาร์จแบต

ภาพจาก packinglighttravel.com
สำหรับคนที่ชอบชาร์จแบตเตอรี่ด้วยสาย USB โดยไม่มีหัวปลั๊ก เช่น ตามสนามบินหรือโรงแรม อาจต้องระวังมิจฉาชีพดูดเอาข้อมูลจากมือถือไปด้วย วิธีป้องกันคือให้ซื้อ USB data blocker (แบบรูปบน) มาเสียบเข้ากับสาย USB เราแล้วค่อยเสียบเข้าช่องชาร์จ หรือไม่อย่างนั้นก็ใช้หัวปลั๊กเสียบจากปลั๊กไฟดีกว่า

ความเป็นส่วนตัวของดารา

ดาราไทยหรือดาราฝรั่งอาจไม่ค่อยถือสาเวลามีแฟน ๆ มาขอถ่ายรูปด้วย ตอน รัสเซลล์ โครว์ (Russell Crowe) มาเมืองไทย มีคุณแม่คนหนึ่งเห็นเขาเดินผ่านมา พอรู้ว่าเป็น รัสเซลล์ โครว์ ก็ตกใจยกมือไหว้ก่อนเลย เขาก็น่ารักมากไหว้ตอบ แล้วคุณแม่ก็นึกได้เลยวิ่งไปขอถ่ายรูปด้วย เขาก็ให้ถ่ายพร้อมรอยยิ้มอบอุ่น

ส่วนที่ญี่ปุ่นเข้มงวดมาก เคยเห็นดาราญี่ปุ่นมาร้องเพลงบนเวทีสาธารณะ คนมาดูก็ถ่ายรูปถ่ายวีดีโอกันใหญ่ แต่เจ้าหน้าที่จะห้ามปรามไม่ให้คนถ่ายรูป นอกจากนี้ยังดูเหมือนว่าทางค่ายของดาราเองก็จะไม่อนุญาตให้ดาราถ่ายรูปกับแฟน ๆ ได้ เพราะฉะนั้นเวลาเจอดาราญี่ปุ่น อย่างมากที่สุดที่ได้คือขอลายเซ็นหรือขอจับมือ

ในขณะเดียวกันดาราญี่ปุ่นจะไม่เอารูปลูกหรือคนในครอบครัวมาเปิดเผยให้คนอื่นเห็น ถ้าเกิดมีถ่ายทำรายการสารคดีชีวิตดารา ทางผู้ผลิตก็อาจปิดหน้าลูกของดาราไว้ ทั้งนี้ก็อาจเพื่อป้องกันไม่ให้มีการลักพาตัวเรียกค่าไถ่ หรือไม่ก็ปกป้องความเป็นส่วนตัว แต่พ่อแม่ดาราบางคนที่ลูกโตหน่อยก็อาจจะไม่คิดมาก เลยปล่อยให้ถ่ายรายการไปตามปกติ


เรื่องนี้ต่างจากเมืองไทยมากเพราะบางทีเราแทบจะรู้หมดว่าสมาชิกในครอบครัวของดาราคนนี้คนนั้นเป็นใครบ้าง ตอนนี้ใครเป็นแฟนกับใครบ้าง ของญี่ปุ่นจะปิดมาก บางทีกว่าจะรู้ว่าดาราคนไหนคบหากันอยู่ก็คือตอนประกาศแต่งงานแล้ว หรือไม่ก็ตอนปาปารัสซี่ไปแอบถ่ายมาออกข่าว

บริการใจดีของร้านค้า

ตั้งแต่ยุคโควิดเป็นต้นมา คนอเมริกันดูจะนิยมใช้บริการสั่งซื้อสินค้าออนไลน์แล้วมารับของที่ร้านกันมากขึ้น ไม่ว่าจะรับที่เคาน์เตอร์ให้บริการลูกค้า หรือจุดจอดรถซึ่งพนักงานจะยกสินค้ามาใส่ให้ถึงท้ายรถ สะดวกรวดเร็วและไม่ต้องไปเดินหาสินค้าเอาเอง ซึ่งหลายแห่งในโลกก็คงมีระบบคล้ายกันแบบนี้เยอะขึ้น

แต่ที่ญี่ปุ่นนั้นมีบริการคล้ายกันตั้งแต่ก่อนโควิดเสียอีก เราสามารถโทรไปถามซูเปอร์มาร์เก็ตหรือร้านค้าได้ว่าเขามีขายสินค้าชนิดนี้ ๆ หรือเปล่า เขาจะช่วยตรวจสอบให้เราได้ในเวลาอันรวดเร็ว ถ้าไม่มีเขาก็จะบอกว่าต้องสั่งเข้ามา อาจจะช้าหน่อยนะจะเอาหรือเปล่า หรือถ้ามีสินค้าอยู่แล้ว เขาก็ใจดีถามว่าจะให้เก็บไว้ให้ไหม

ประเทศอื่นก็อาจมีบริการคล้ายกันอย่างนี้แล้วแต่ร้าน แต่สำหรับญี่ปุ่นแล้วฉันรู้สึกว่าทุกร้านที่เคยโทรไปถามจะเป็นแบบนี้หมด เป็นระบบและเกื้อกูลลูกค้าดีมาก ๆ

นัดแล้วเบี้ยว

คนญี่ปุ่นมักตรงต่อเวลาและรักษาคำพูด จึงอาจไม่ค่อยเจอคนที่นัดหมอหรือนัดร้านตัดผมไว้แล้วไม่มาดื้อ ๆ ยกเว้นนักท่องเที่ยวต่างชาติในญี่ปุ่นที่มีมากขึ้น ซึ่งชอบจองร้านอะไรไว้แล้วก็หายต้อยโดยไม่แจ้งล่วงหน้า ทำให้ผู้ประกอบการเดือดร้อน

ที่อเมริกามีแบบนี้บ่อยมาก อย่างร้านตัดผมของชาวญี่ปุ่นในนิวยอร์กที่ฉันไปใช้บริการบ่อย ๆ จะใช้ระบบจองล่วงหน้าทั้งหมด ช่างตัดผมเล่าให้ฟังว่าเมื่อก่อนนี้ลูกค้าชอบนัดไว้ แล้วถึงวันก็ไม่มา ทำให้เขาเสียรายได้ช่วงเวลานั้นไปเปล่า ๆ ดังนั้นทางร้านเลยเปลี่ยนมาใช้ระบบจองโดยต้องแจ้งเบอร์บัตรเครดิตกับทางร้านไว้ ถ้าจะไม่มาก็ต้องแจ้งล่วงหน้าไม่ต่ำกว่า 24 ชั่วโมง ไม่อย่างนั้นจะตัดบัตรค่าผิดนัด ตั้งแต่นั้นมาเลยไม่มีลูกค้าเบี้ยวนัดอีกเลย

เวลานัดหมอในอเมริกาก็เหมือนกัน แทบทุกที่จะมีนโยบายว่าหากต้องการยกเลิกให้ยกเลิก 24 หรือ 48 ชั่วโมงล่วงหน้าก่อนเวลานัด ไม่อย่างนั้นจะมีค่าผิดนัดตามที่ทางคลีนิกหรือโรงพยาบาลกำหนดไว้ เท่าที่เคยเห็นโดยเฉลี่ยจะอยู่ที่ประมาณ 50 เหรียญขึ้นไป แต่มีบางกรณีเหมือนกันที่สุดวิสัย เช่น เจ้าตัวไม่สบายมากหรือมีเหตุฉุกเฉินก็อาจคุยกันได้

นอกจากนี้ยังมีบ่อยครั้งที่หมอเป็นฝ่ายผิดนัด เช่น พอใกล้ถึงวันเวลานัดแล้วหมอติดธุระอื่น หรือลาพักร้อน หรือหมออยากจะออกจากที่ทำงานเร็วหน่อย ก็จะโทรมาถามว่าขอเลื่อนเวลานัดเร็วขึ้นได้หรือเปล่า หรือขอเลื่อนเป็นวันอื่นแทนได้ไหม เคยเจอครั้งหนึ่งไปหาหมอฟัน คลีนิกบอกว่าภรรยาหมอคลอดลูกวันนี้พอดี หมอเลยไปโรงพยาบาลแล้ว ขอเปลี่ยนเป็นหมอคนอื่นแทนได้ไหม อย่างนี้ก็มีเช่นกัน

ภาพจาก jorc.livedoor.blog
เมื่อรถไฟกำลังจะปิดประตู

เพื่อนคนไทยเคยเล่าว่าตอนอยู่บนรถไฟฟ้าที่ไทย พอประตูกำลังจะปิดลงก็เห็นผู้ชายคนหนึ่งเหวี่ยงกระเป๋าเข้าใส่ประตู เพื่อให้ประตูหนีบแล้วเด้งเปิดออก เธอมองหน้าชายคนนั้นแล้วรู้ว่าเป็นคนญี่ปุ่นก็นึกขำ มาเล่าให้ฉันฟังว่าสมเป็นคนญี่ปุ่นที่เชี่ยวชาญการขึ้นรถไฟเสียจริง ๆ แต่ฉันว่าคงไม่ใช่ทุกคน และถ้าอยู่ญี่ปุ่นทำแบบนี้ละก็ รับรองโดนเจ้าหน้าที่ดุด่าเอาแน่นอน เพราะรถไฟต้องออกตรงเวลา

ตอนอยู่อเมริกาเคยเห็นประตูรถไฟปิดแล้ว มีคนกลุ่มหนึ่งขึ้นไม่ทัน คนที่อยู่ในรถไฟก็ใจดีเกินเหตุ ช่วยกันง้างประตูให้เปิดออกเพื่อให้คนกลุ่มนั้นได้ขึ้น พอขึ้นมาแล้วก็ได้ยินเสียงคนขับรถไฟปรามเบา ๆ อย่างใจดีว่า “ทีหลังอย่าง้างประตูเปิดเองนะ”

ฉันเคยยืนรอจะข้ามทางรถรางไฟฟ้า เพราะไฟจราจรสำหรับคนข้ามยังเป็นสีแดง แต่พอคนขับเห็นฉัน ก็จอด แล้วโบกมือเป็นเชิงให้ไปก่อน ฉันประหลาดใจมากว่ารถรางมีการหยุดให้คนข้ามไปก่อนได้ด้วยหรือ อีกไม่กี่เมตรก็จะถึงสถานีอยู่แล้วเชียว เลยทำไม้ทำมือถามเขาว่า “จะให้ฉันข้ามไปก่อนจริงเหรอ?” เขาก็พยักหน้ายิ้ม ฉันเลยขอบคุณอย่างงง ๆ และเดินข้ามไปขำไป

ภาพจาก woman.excite.co.jp
คนส่งของเขียนใบแจ้งผู้รับที่ไม่อยู่บ้านว่า ใส่ของไว้ในล็อกเกอร์ให้แล้ว พร้อมมีน้ำใจบอกด้วยว่า ของหนักและมีหลายชิ้น ถ้ายกไม่ไหวให้โทรมาบอกได้

พัสดุกับขโมย

ญี่ปุ่นให้ความสำคัญกับเรื่องขนส่งพัสดุเอามาก ๆ ถ้าเราไม่อยู่บ้าน คนส่งของจะไม่ทิ้งของเอาไว้หน้าบ้านแล้วจากไปเฉย ๆ แต่จะเอาของกลับไปพร้อมหย่อนใบแจ้งในตู้จดหมายให้ เขียนรายละเอียดไว้ว่าต้องการให้มาส่งอีกทีวันไหนและช่วงเวลาใด โดยเราสามารถโทรไปตามเบอร์ที่ระบุ และทำตามขั้นตอนที่เสียงตอบรับอัตโนมัติบอก เท่านี้พอถึงเวลาเขาก็จะมาส่งให้ถึงมือ

ถ้าเป็นอะพาร์ตเมนต์ที่มีล็อคเกอร์ให้ใส่พัสดุ คนส่งของจะใส่ไว้ในนั้น แล้วหย่อนใบแจ้งในตู้รับจดหมายเล็ก ๆ ของเราอีกที เพื่อบอกว่ามีของมาส่ง อยู่ล็อกเกอร์เบอร์อะไร รหัสอะไร เราก็ไปเปิดเอาเอง

ส่วนอเมริกาจะวางพัสดุไว้หน้าบ้าน ถ้าโชคร้ายที่หน้าบ้านไม่มีหลังคา พัสดุก็อาจโดนฝนเปียก โดนลมแรงพัดกระเด็น รวมทั้งโดนคนขโมย ที่สำคัญคือคนส่งของมักจะส่งผิดที่อยู่เสมอ เช่น บ้านเลขที่ถูกต้องแต่ส่งผิดถนน แต่บางคนใจดีก็เอาไปส่งคืนให้บ้านที่ถูกถ้าไม่ได้อยู่ไกลกัน จึงเป็นเรื่องปกติที่ร้านค้าจะบอกให้เรารออีกสัก 1 วันเต็ม เผื่อว่าอาจจะมีคนที่เอามาส่งคืนให้ แต่ถ้าไม่ได้รับของจริง ๆ ทางร้านจะส่งมาให้ใหม่หรือคืนเงิน

วันนี้ขอลาไปแต่เพียงเท่านี้นะคะ พบกันใหม่สัปดาห์หน้า สวัสดีค่ะ.

------------------------------------------------------------------------------------------------------------------------------------------------
"ซาระซัง"  เธอเคยใช้ชีวิตอยู่ที่กรุงโตเกียวนานกว่า 5 ปี ปัจจุบันติดตามสามีไปทำงาน ณ สหรัฐอเมริกา ติดตามคอลัมน์ “เรื่องเล่าสะใภ้ญี่ปุ่น” ที่ MGR Online ทุกวันอาทิตย์.


กำลังโหลดความคิดเห็น