คอลัมน์ “เรื่องเล่าสะใภ้ญี่ปุ่น” โดย “ซาระซัง”
สวัสดีค่ะเพื่อนผู้อ่านทุกท่าน พวกเราน่าจะมีคนที่กำลังอยู่ในช่วงหัวเลี้ยวหัวต่อของอาชีพการงานหรือเคยผ่านประสบการณ์นั้นมาบ้าง บางคนอยากเดินออกไปจากจุดที่ยืนอยู่แต่ไม่กล้าพอ หลายคนลืมไปแล้วว่าตัวเองอยากใช้ชีวิตแบบไหน ลืมคิดว่าจุดที่อยู่ตรงนี้เอื้อต่อวิถีชีวิตที่ต้องการหรือเปล่า วันนี้ขอยกเรื่องราวของสาวญี่ปุ่นวัยทำงาน 2 คนที่ยอมทิ้งอาชีพการงานที่กำลังรุ่ง เพื่อเดินบนเส้นทางใหม่ที่ไม่คุ้นเคยอย่างเป็นสุขมาเล่าให้ฟังค่ะ
นักขายตัวฉกาจผู้ยอมทิ้งงานที่รักเพราะเหนื่อยเกินไป
คุณคานาโกะ ประสบความสำเร็จในฐานะพนักงานขายของบริษัทด้านทรัพยากรบุคคล เธอสนุกกับงานเพราะได้ใช้ความคิดสร้างสรรค์ในการช่วยลูกค้าคิดแก้ปัญหา นอกจากนี้เธอยังขยันฝึกปรือทักษะความสามารถของตัวเองอยู่เสมอด้วย
แต่งานเรียกร้องเวลาจากเธอมากทีเดียว นอกจากชั่วโมงทำงานที่บริษัทแล้ว เธอยังต้องไปดื่มกับลูกค้าจนดึกดื่นบ่อยครั้ง บางครั้งก็ต้องรับสายจากลูกค้ากลางดึก ชีวิตเช่นนี้ทำให้ในหัวมีแต่เรื่องงานตลอดเวลาที่ตื่น เธอเหนื่อยล้าเสียจนไม่รู้แล้วว่าตัวเองทำงานเพื่อหาเลี้ยงตัวเอง หรือมีชีวิตอยู่เพื่อทำงานกันแน่ เธอถามตัวเองว่า “ในอีก 5 ปีข้างหน้าก็จะยังทำงานที่นี่ต่อหรือ?”
พอร่างกายและจิตใจไม่อาจทนแบกความเหนื่อยล้าได้อีกต่อไป เธอจึงออกจากงานกระทันหัน และเหินฟ้าสู่ฮาวายอย่างไม่มีปี่มีขลุ่ย ในหัวไม่ได้มีแผนการหรือความฝันอะไรทั้งสิ้น แค่อยากไปไหนก็ได้ที่ไม่มีใครรู้จัก
ที่จริงเธอมีชีวิตการงานอย่างที่ใคร ๆ ใฝ่ฝัน ได้เงินเดือนดี ได้เลื่อนตำแหน่ง ได้อยู่ในระดับหัวหน้า ถ้าดูจากมุมมองคนอื่นแล้วก็คงสงสัยว่าทำไมถึงลาออกกลางคันทั้งที่ทุกอย่างกำลังไปได้สวย เธอเองก็รักงานนี้ แต่ก็ตัดสินใจทำตามที่ใจเรียกร้องว่าถ้าไม่ลาออกเสียแต่ตอนนี้ีคงแย่แน่ ๆ
พอคุณคานาโกะไปฮาวายสักพักได้ก็เริ่มเบื่อก็เลยไปเรียนภาษาอังกฤษ ระหว่างเรียนก็พยายามทำความรู้จักกับคนในท้องถิ่นด้วยการไปเป็นอาสาสมัครสอนทำอาหารญี่ปุ่น จนมีคนชมกันปากต่อปากทางสื่อโซเชียล ทั้งยังมีคนแนะนำให้เธอไปเรียนต่อด้านการทำอาหารจากมหาวิทยาลัย ถึงแม้จะพูดอังกฤษได้กระท่อนกระแท่นและไม่ได้เก่งจริงจังเรื่องทำอาหาร แต่เธอก็ไปเรียนเพราะอยากลองทำอะไรใหม่ ๆ ดู ซึ่งถ้าเป็นที่ญี่ปุ่นเธอคงโดนคนรอบข้างตำหนิว่า “อายุจะ 30 แล้วยังไม่เป็นโล้เป็นพายอยู่อีก” แต่ที่ฮาวายไม่มีใครมาสนใจอายุใคร หรือว่าใครจะทำอะไรอยู่บ้าง
วีซ่านักเรียนประเภทที่เธอถืออยู่นั้นมีเงื่อนไขว่าต้องทำงานให้ครบกี่ชั่วโมงต่อสัปดาห์ แต่เนื่องจากตอนนั้นโควิดระบาด งานเลยน้อย เธอกลัวว่าชั่วโมงการทำงานจะไม่ครบแล้วต้องกลับญี่ปุ่น จึงตัดสินใจเปิดร้านของตัวเองเสียเลยเพื่อให้มีชั่วโมงการทำงานเพียงพอ โดยเลือกขายชีสเค้กซึ่งเป็นเมนูเดียวที่เธอทำได้ดี ไม่ใช่ว่ามีความผูกพันกับชีสเค้กแต่อย่างใด
พอเปิดร้าน คุณคานาโกะก็เลยเปลี่ยนวีซ่าเป็นวีซ่าธุรกิจ แรก ๆ ลูกค้าเป็นคนญี่ปุ่นแถวนั้น และต่อมาก็เริ่มมีลูกค้าอเมริกันที่ติดชีสเค้กรสบางเบา ไม่เหมือนชีสเค้กอเมริกาซึ่งเข้มข้นจัด เธอเล่าว่าจนถึงจุดนั้นเธอไม่ได้มีแผนการอะไรในชีวิตเลย แค่ตัดสินใจทำในสิ่งที่คิดว่าดีที่สุด ณ จุดที่ยืนอยู่เท่านั้นเอง
เธอคิดว่าคนนอกอาจมองว่าวิถีชีวิตเธอเสี่ยงเกินไป ทว่าการที่เธอไม่ได้อยู่ในโลกแคบ ๆ ของตัวเอง แต่คอยคบหาทำความรู้จักคนใหม่ ๆ กล้าลองผิดลองถูกไปเรื่อย ก็ช่วยเปิดโลกของเธอให้กว้างขึ้น และเปิดทางให้โอกาสใหม่ ๆ เข้ามาด้วย
ปัจจุบันเธอมีครอบครัวอยู่ในฮาวาย มีสามี แม่สามี และลูกจ้างคอยช่วยเหลือ ทำให้เธอสามารถทำงานและเลี้ยงลูกไปพร้อมกันได้ พอนึกถึงสมัยเป็นพนักงานบริษัทที่ญี่ปุ่นแล้ว เธอได้แต่ต้องทำทุกอย่างตัวคนเดียว ไม่เคยมีความคิดว่าจะ “ปล่อยให้คนอื่นทำแทน” หรือ “ไว้ใจให้คนอื่นช่วยดูแล” เมื่อก่อนงานคือทุกสิ่งในชีวิต แต่ตอนนี้เธอมองว่า “งานเป็นเพียงส่วนหนึ่งของชีวิต” ต่างหาก
เธอคิดว่าที่มีวันนี้ได้เป็นเพราะตัวเองตัดสินใจปล่อยมือจากสถานะทางสังคมและค่านิยมที่ยึดถือ เธอได้ข้อสรุปว่าความเป็นไปได้มีอยู่ทุกหนแห่ง ไม่ใช่ว่าอายุเท่านี้เท่านั้นแล้วจะต้องมีข้อจำกัดเสมอไป อยากทำอะไรก็ลองดูก่อน ถ้าไปได้ไม่ดีก็ลองอย่างอื่นต่อ อย่างเธอเองก็คิดว่าถ้าวันหนึ่งเกิดธุรกิจไปไม่รอด ก็จะหาอะไรอย่างอื่นทำแทนเหมือนกัน ไม่ได้ปักหลักว่าจะต้องอยู่ที่เดิมเท่านั้น
อดีตบัณฑิตมหาวิทยาลัยโตเกียวผู้ผันตัวมาทำร้านข้าวปั้น
คุณมิยูกิจบการศึกษาจากมหาวิทยาลัยโตเกียว สถาบันการศึกษาอันดับ 1 ที่บรรดาผู้ปกครองทั้งหลายใฝ่ฝัน เธอทำงานในบริษัทแพลตฟอร์มสื่อโซเชียลใหญ่แห่งหนึ่ง และประสบความสำเร็จในการสร้างยอดขายได้ถึง 600 ล้านเยนต่อเดือน แต่พอทำงานได้ 2 ปีก็ลาออก หลังตอบรับคำชวนของเพื่อนที่ถามว่า “สนใจมาทำร้านข้าวปั้นให้เป็นอันดับ 1 ของโลกไหม”
ที่่ผ่านมาเธอมีความมุ่งมั่นว่าถ้าทำอะไรก็จะทำให้สิ่งนั้นยืนอยู่ในจุดสูงสุดให้ได้ เธอเคยตั้งเป้าจะให้บริษัทที่ทำงานอยู่เป็นแพลตฟอร์มอันดับ 1 ของญี่ปุ่น แต่ความที่เป็นองค์กรใหญ่เลยอาจต้องใช้เวลา ส่วนการทำให้ข้าวปั้นซึ่งเป็นอาหารจานด่วนยอดนิยมของคนญี่ปุ่น กลายเป็นที่นิยมของโลกแบบเดียวกับแฮมเบอร์เกอร์หรือแซนวิชนั้น อาจมีทางทำให้เป็นไปได้
แน่นอนว่าคนรอบข้างพากันบ่นเสียดายว่า “อุตส่าห์จบมหาวิทยาลัยอันดับ 1 ของญี่ปุ่นทั้งที” “อุตส่าห์ได้ทำงานบริษัทใหญ่โตทั้งที” “อุตสาหกรรมอาหารและเครื่องดื่มมันไม่ง่ายนะ” แต่เธอเป็นคนที่ไม่หวั่นไหวกับคำพูดของคนรอบข้างอยู่แล้ว แม้ว่าคนในครอบครัวจะไม่เห็นด้วยกับเธอประจำ กระทั่งคิดด้วยซ้ำว่าเป็นเด็กบ้านนอกคงไม่มีทางเข้ามหาวิทยาลัยอันดับ 1 ได้
ทว่าคุณมิยูกิไม่ได้เสียดายชื่อเสียงเกียรติยศเหล่านั้นเลย เธอไม่ได้คิดว่าตัวเองน่าทึ่ง “เพราะทำงานบริษัทใหญ่” หรือ “เพราะจบมหาวิทยาลัยโตเกียว” แต่น่าทึ่ง “เพราะเพียรพยายาม” จนได้สิ่งเหล่านั้นมาเป็นของแถมต่างหาก แม้ผลลัพธ์จะสำคัญ แต่เธอคิดว่ากระบวนการทำเพื่อให้บรรลุเป้าหมายมีคุณค่ายิ่งกว่า ส่วนผลลัพธ์เป็นทางผ่าน ไม่ได้มีอะไรมากกว่านั้น และไม่ได้เป็นสิ่งที่ต้องพยายามรักษาไว้
เธอเชื่อว่าคุณค่าของคนไม่ได้ผูกอยู่กับงานหรือชื่อบริษัท อย่างตอนเข้าบริษัทใหญ่ได้เธอก็แค่ได้ชื่อว่าเป็นพนักงานบริษัทดัง แต่คุณค่าตัวเองไม่ได้เปลี่ยน และการที่เธอไม่เอาคุณค่าตัวเองไปผูกติดกับชื่อเสียงเกียรติยศ ก็ทำให้เธอไม่กลัวความท้าทาย กล้าเดินหน้าลุยในสิ่งที่ตัวเองอยากทำจริง ๆ
สำหรับการวางแผนอนาคตว่าอีกกี่ปีข้างหน้าจะทำอะไรนั้น เธอบอกว่าไม่ได้คิดล่วงหน้า เพราะขืนวางแผนอาชีพเป๊ะ ๆ ว่าจะต้องเป็นอย่างนั้นอย่างนี้ เธอจะมีภาระในใจว่า โน่นก็ต้องทำ นี่ก็ต้องทำ เลยกลายเป็นเครียดแทน สำหรับเธอแล้วอยากใช้ชีวิตด้วยการทำ “สิ่งที่อยากทำ” มากกว่า “สิ่งที่ต้องทำ” เพราะฉะนั้นถ้าอยากทำอะไรก็จะลงมือเลย ไม่รอไว้ทำในอนาคต และถ้าหากมันไปได้ไม่สวย ก็แสดงว่าตัวเองยังความสามารถไม่ถึง คราวหน้าก็พยายามให้มากกว่าเดิม เท่านั้นเอง
สิ่งที่ฉันเห็นว่าสาวสองคนนี้มีเหมือนกัน คือการไม่เอาคุณค่าตัวเองไปผูกไว้กับค่านิยมที่สังคมมองว่าดี พอพวกเธอไม่จับตัวเองขังไว้ในกรอบ ก็เลยเห็นความเป็นไปได้อันหลากหลาย ราวกับมีประตูแห่งโอกาสเปิดรออยู่ตรงนั้นตรงนี้เต็มไปหมด ทุกอย่างกลายเป็นเรื่องน่าลองน่าเรียนรู้ แถมยังต่อยอดไปสู่โอกาสใหม่ ๆ อีกด้วย
นอกจากนี้การที่พวกเธอรู้จักยืดหยุ่นปรับเปลี่ยนไปตามสถานการณ์ ไม่มัวแต่กังวลว่าจะทำได้หรือเปล่า ไม่ห่วงว่าทางข้างหน้าจะดีหรือแย่กว่าเดิม ไม่ได้คิดมากเรื่องภาพลักษณ์ว่าตัวเองจะดูเป็นอย่างไร ทำให้พวกเธอก้าวเดินต่อไปข้างหน้าได้อย่างสบายใจ และเป็นตัวของตัวเอง
หลายครั้งเราอาจพลาดโอกาสดี ๆ ในชีวิตเพราะความกลัวฉุดรั้งเอาไว้ แต่ถึงจุดหนึ่งเราก็ต้องเลือก ต้องยอมเดินออกจากคอมฟอร์ตโซน ไปสู่อนาคตที่ไม่รู้ว่าจะออกหัวหรือก้อย แม้ความไม่แน่นอนอาจเป็นเรื่องน่ากลัว แต่มันก็เต็มไปด้วยโอกาสดี ๆ ให้ไขว่คว้าด้วยเช่นกัน อยู่ที่ว่าเราจะเปิดใจไหม กล้าเรียนรู้จากการลองผิดลองถูกไหม
ชีวิตสั้นนิดเดียว และมีค่าเกินกว่าจะเอาไปผูกไว้กับสิ่งที่ไม่ตอบโจทย์ชีวิต ถ้ารู้สึกว่าไม่มีความสุขกับสิ่งที่กำลังทำอยู่ หรือมันทำให้เราต้องแลกมาด้วยสิ่งอื่นที่ไม่คุ้มกัน ก็อาจหมายความว่าได้เวลาเดินออกจากคอมฟอร์ตโซน ออกไปค้นหาความเป็นไปได้ใหม่ ๆ ให้ชีวิตแล้วก็เป็นได้นะคะ.
------------------------------------------------------------------------------------------------------------------------------------------------
"ซาระซัง" เธอเคยใช้ชีวิตอยู่ที่กรุงโตเกียวนานกว่า 5 ปี ปัจจุบันติดตามสามีไปทำงาน ณ สหรัฐอเมริกา ติดตามคอลัมน์ “เรื่องเล่าสะใภ้ญี่ปุ่น” ที่ MGR Online ทุกวันอาทิตย์.