xs
xsm
sm
md
lg

กาลครั้งหนึ่งสมัยที่ญี่ปุ่นยังไม่มี "ห้องอาบน้ำ" ในบ้าน

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์


ภาพจาก tarzanweb.jp
คอลัมน์ “เรื่องเล่าสะใภ้ญี่ปุ่น” โดย “ซาระซัง”

สวัสดีค่ะเพื่อนผู้อ่านทุกท่าน คนญี่ปุ่นได้ชื่อว่าเป็นชนชาติที่รักการแช่น้ำร้อนเอามากๆ จนสามารถแช่ได้ทุกวันเป็นกิจวัตรหลังอาบน้ำเสร็จ ทว่าตามบ้านเรือนของญี่ปุ่นเพิ่งจะมีอ่างอาบน้ำกันทุกบ้านก็เมื่อไม่กี่สิบปีก่อนนี้เองค่ะ แล้วก่อนหน้านั้นพวกเขาอาบน้ำกันอย่างไร เราไปหาคำตอบกันดีกว่า

สมัยโบราณตอนที่ญี่ปุ่นยังไม่มีอ่างอาบน้ำในบ้าน ชาวบ้านจะตักน้ำใส่ถังไว้ แล้วเอากระบวยตักราดตัวเอา แบบเดียวกับบ้านเราสมัยก่อนที่ตักน้ำอาบจากตุ่ม ซึ่งของเราเป็นโอ่งดิน แต่ของเขาเป็นถังไม้ ตัวฉันเองไม่ได้เกิดในยุคอาบน้ำจากตุ่ม แต่ที่บ้านเคยมีโอ่งมังกรอยู่ใบหนึ่ง ผู้ใหญ่เขาใส่น้ำไว้ใช้อะไรต่อมิอะไร บ้านญาติก็มีใบหนึ่ง เอาไว้ตักน้ำล้างเท้าก่อนเดินบันไดขึ้นเรือนไม้ นึกถึงเรื่องย้อนยุคแล้วก็รู้สึกคลาสสิกดีนะคะ

คนญี่ปุ่นอบไอน้ำมาตั้งแต่โบราณ

ก่อนเกิดวัฒนธรรมการแช่น้ำร้อนในญี่ปุ่น คนชั้นสูงในสมัยเฮอันจะทำความสะอาดร่างกายด้วยการอบไอน้ำ (อย่างในภาพแรก) ซึ่งถ้าเป็นสมัยนี้คงเรียกว่าอบซาวน่านั่นเอง สมัยนั้นเรียกห้องอบไอน้ำแบบนี้ว่า “ฟุโระ” (風呂) แต่ในยุคนี้คำเดียวกันนี้จะหมายถึงห้องอาบน้ำที่มีอ่างแช่น้ำร้อน

ห้องอบไอน้ำยุคเฮอันจะมีคนต้มน้ำอยู่นอกอาคาร แล้วปล่อยให้ไอน้ำเข้าไปอยู่ในห้องอบ คนที่อยู่ข้างในจะทำความสะอาดตัวด้วยการเช็ดคราบเหงื่อขี้ไคล ที่น่าสังเกตคือสมัยนั้นคนยังรู้สึกประดักประเดิดกับการแก้ผ้าล่อนจ้อนต่อหน้าคนอื่น จึงสวมชุดที่เรียกว่า “ยุคาตะบาหริ” (湯帷子) เวลาอบไอน้ำ และนั่นคือที่มาของชุดยุคาตะในปัจจุบัน

ห้องอบไอน้ำโบราณที่วัดโชโคะขึจิ จังหวัดเกียวโต
ในบ้านของชนชั้นสูงยังมีห้องอาบน้ำอีกห้องหนึ่ง เรียกว่า “หยุ-โด-โหนะ” (湯殿) มีอ่างเล็กๆ 2 อ่าง อ่างเล็กลึกประมาณ 24 ซม. และอ่างใหญ่ลึกประมาณครึ่งเมตร เวลาอาบน้ำในห้องนี้จะเอาผ้าชุบน้ำมาถูตัว แล้วค่อยราดตัวด้วยน้ำร้อนเป็นอันเสร็จ

ว่ากันว่าการอาบน้ำสมัยนั้นไม่ได้มีวัตถุประสงค์เพื่อความสะอาดของร่างกาย แต่เพื่อให้ “เป็นมงคล” โดยเฉพาะอย่างยิ่งเวลาก่อนเข้าร่วมพิธีกรรม ส่วนอ่างอาบน้ำแบบที่ลงไปแช่ตัวก็มีเหมือนกัน แต่ไว้สำหรับพระสงฆ์เท่านั้น เพราะต้องคอยประกอบพิธีกรรมต่างๆ จึงต้องชำระล้างเพื่อความเป็นสิริมงคล

ส่วนวัฒนธรรมการแช่น้ำร้อนเกิดขึ้นในสมัยเซ็งโงขุ (ยุคสงครามกลางเมือง) โดยต้มน้ำแล้วหาบมาใส่อ่าง รอให้เย็นลงก่อนจึงจะได้แช่ แต่ตอนนั้นคนยังไม่กล้าเปลือยกายต่อหน้าคนอื่น เลยรู้สึกสบายใจกับห้องอบไอน้ำที่สามารถสวมยุคาตะได้มากกว่า

กำเนิดโรงอาบน้ำสาธารณะ

ในเวลาต่อมา “เซ็นโต” (銭湯) หรือโรงอาบน้ำสาธารณะ ถือกำเนิดขึ้นช่วงปลายยุคอาซึจิ-โมโมยามะ (ราวปี ค.ศ.1600) จากนั้นจึงแพร่หลายไปทั่วญี่ปุ่นในยุคเอโดะ (ค.ศ.1603-1867) ให้ชาวบ้านได้เพลิดเพลินจำเริญใจ ทว่าส่วนใหญ่ยังเป็นห้องอบไอน้ำเสียเยอะ โดยเรียกว่าเป็น “โท-ดา-นะ-บุ-โหระ” (戸棚風呂) หรือห้องอาบน้ำแบบตู้ เพราะต้องเข้าไปในห้องคล้ายตู้ มีประตูเลื่อนเปิดปิดได้ ภายในมีอ่างน้ำร้อนที่ลึกเพียง 1 ฟุต แช่ตัวได้อย่างมากที่สุดก็ถึงเอว พอเหงื่อออกแล้วค่อยออกไปนั่งเช็ดเหงื่อไคล และตักน้ำราดตัวที่บริเวณอาบน้ำอีกที

ภาพจาก jac-web.org
แต่การอาบน้ำแบบนี้มีปัญหาตรงที่เข้าตู้ได้ทีละไม่กี่คน แถมการเปิดปิดประตูยังทำให้ไอน้ำเล็ดลอดออกมาอีกด้วย ต่อมาจึงมีการคิดค้นประตูทางเข้าแบบใหม่ที่มีความสูงราว 1 เมตรเท่านั้น เวลาจะเข้าออกต้องก้มตัว ภายในเป็นอ่างอาบน้ำขนาดประมาณ 3 เสื่อญี่ปุ่น พอจะจุคนได้มากกว่าเดิมหน่อย แต่ค่อนข้างมืดและเต็มไปด้วยไอน้ำ ก่อนจะเข้าไปจึงต้องส่งเสียงสักนิด เช่น ตะโกน หรือกระแอมไอ เพื่อให้คนข้างในรู้ตัวก่อนว่าจะมีคนเข้าไปเพิ่ม กลายเป็นมารยาทของการอาบน้ำในยุคนั้นไป

(ดูเหมือนสมัยนั้นหญิงชายใช้โรงอาบน้ำสาธารณะร่วมกันเป็นเรื่องปกติ)
อ่างอาบน้ำในบ้านมีที่มาจากวิธีประหารชีวิต!?

อย่างไรก็ตาม ในฤดูร้อนคนจะอาบน้ำกันที่บ้านด้วยการเอาน้ำราดตัวอย่างเดียว โดยไม่ได้เข้าไปอาบน้ำตามเซ็นโตทุกวัน ต่อมาเมื่อมีการคิดค้นอ่างอาบน้ำแบบที่เรียกว่า “โก-เอ-มอน-บุ-โหระ” (五右衛門風呂 อ่างอาบน้ำโกเอมอน) วัฒนธรรมการแช่น้ำร้อนอาบน้ำในบ้านจึงเกิดขึ้น และค่อยๆ ได้รับความนิยมต่อเนื่องมาถึงปัจจุบัน

สาเหตุที่เรียกว่า “อ่างอาบน้ำโกเอมอน” ก็เพราะมีตำนานว่าหัวขโมยเลื่องชื่อแห่งศตวรรษที่ 19 อย่างนายอิชิคาวะ โกเอมอน วางแผนลอบสังหารโทโยโทมิ ฮิเดโยชิ ไดเมียวผู้ยิ่งใหญ่ที่เป็นลูกน้องใกล้ชิดของโอดะ โนบุนางะ เลยถูกสั่งประหารชีวิตด้วยการโดนต้มในหม้อเหล็ก ดังนั้น “อ่างอาบน้ำโกเอมอน” จึงมีลักษณะคล้ายหม้อขนาดใหญ่ตั้งอยู่เหนือเตาฟืน แต่ทั้งนี้ทั้งนั้นการจะมีอ่างอาบน้ำในบ้านได้ในยุคนั้นต้องมีฐานะพอสมควร

ภาพจาก nate-hospital.com
สมัยก่อนที่ฉันเห็นรูปคนอาบน้ำในถังโดยก่อฟืนรองไว้ในเตาข้างใต้ ก็อดตกใจไม่ได้ว่าลงไปแช่ทั้งอย่างนั้นมิโดนต้มจนสุกไปหรือ ภายหลังได้ทราบว่าเขาไม่ได้ลงไปทั้งอย่างนั้น แต่จะเตรียมไม้กระดานขนาดเส้นผ่าศูนย์กลางเล็กกว่าอ่างไว้ด้วย เรียกว่าเป็น “ฝาลอย” เวลาจะลงไปแช่ก็เหยียบไม้กระดานยันลงไปก้นอ่าง เพื่อไม่ให้เท้าสัมผัสก้นอ่างที่เป็นเหล็กโดยตรง สมัยก่อนเป็นฝาไม้ เดี๋ยวนี้ใช้เป็นเรซินกันมากขึ้น แต่ฉันยังสงสัยอยู่ดีว่าเวลาตัวไปโดนข้างอ่างแล้วทำไมถึงไม่พอง

เขาว่าการแช่น้ำในอ่างที่จุดเตาฟืนแบบนี้ดีกว่าน้ำร้อนที่ผ่านระบบทำความร้อนยุคใหม่เยอะ เพราะแม้จะดับฟืนแล้ว แต่ถ่านก็ยังคุต่อไปอีกสักพักใหญ่ อีกทั้งอ่างเป็นเหล็กหล่อ จึงทำให้น้ำคงความร้อนไปได้นาน นอกจากนี้ยังใช้งานง่าย เคลื่อนย้ายได้ เพื่อนผู้อ่านอาจเคยเห็นภาพคนอาบน้ำในถังต้มน้ำกลางแจ้ง อย่างในรูปข้างล่างนี้ก็เรียกเป็น “อ่างอาบน้ำโกเอมอน” เช่นกัน

ภาพจาก prtimes.jp
ห้องอาบน้ำในบ้านเพิ่งแพร่หลายไม่ถึงร้อยปีก่อน

พอมาถึงยุคไทโช (ค.ศ.1912-1926) เริ่มมีการสร้างอาคารแบบตะวันตก และห้องอาบน้ำแบบที่เรียกว่า “ยูนิตบาร์ธ” (unit bath) ซึ่งติดตั้งมาพร้อมกับอพาร์ตเมนต์ก็เป็นที่เลื่องลือกันไปทั่ว ยูนิตบาร์ธคือห้องอาบน้ำแบบประกอบสำเร็จรูปมา (มีทั้งแบบมีโถสุขาอยู่ในห้องอาบน้ำด้วย กับแบบมีแต่ห้องอาบน้ำ) แล้วเอามาติดตั้งในบ้านหรืออพาร์ตเมนต์ ถ้าเพื่อนผู้อ่านเคยไปพักโรงแรมธุรกิจของญี่ปุ่นน่าจะคุ้นเคยก้บห้องอาบน้ำแบบนี้ดี

แต่กว่าแทบทุกบ้านจะมีห้องอาบน้ำก็เข้าสู่ยุคโชวะแล้ว (ค.ศ.1926-1989) โดยเฉพาะช่วงเศรษฐกิจเฟื่องฟู (ค.ศ.1954-1973) ที่คนมีเงินจับจ่าย การสร้างบ้านหรืออะพาร์ตเมนต์ที่มาพร้อมห้องอาบน้ำจึงเกิดขึ้นเป็นดอกเห็ด ส่วนคนที่ยังอยู่บ้านหรืออะพาร์ตเมนต์ที่ไม่มีห้องอาบน้ำซึ่งค่าเช่าถูกกว่า ก็สามารถไปอาบน้ำได้จากโรงอาบน้ำสาธารณะที่เรียกว่า “เซ็นโต” ซึ่งไม่ใช่แบบสมัยก่อนที่มีให้อบไอน้ำแล้วนะคะ แต่จะมีพื้นที่อาบน้ำจากฝักบัวหรือเติมน้ำจากก๊อกใส่กะละมังเล็กแล้วราดตัว ต้องสระผม ฟอกสบู่ สะอาดแล้วค่อยลงแช่ในอ่างน้ำร้อน เรียกว่าสลับขั้นตอนกับการอาบน้ำแบบโบราณก็ว่าได้

เมื่อก่อนแถวบ้านฉันมีเซ็นโตอยู่แห่งหนึ่ง บางทีฉันเบื่อๆ กับการอาบน้ำในยูนิตบาร์ธที่บ้านก็จะไปใช้บริการที่นั่น เพราะรู้สึกสดชื่นสบายตัวคล้ายกับการไปออนเซ็น แต่สามีซึ่งเป็นคนญี่ปุ่นกลับไม่ค่อยชอบเซ็นโต หรือออนเซ็นเสียอย่างนั้น เพราะไม่ชอบการอาบน้ำรวมกับคนอื่นๆ

ภาพจาก nippon.com
สมัยนี้นวัตกรรมห้องอาบน้ำของญี่ปุ่นรุ่งเรืองมาก มีทั้งอ่างอาบน้ำแบบที่กดปุ่มให้ระบบเติมน้ำเองและหยุดเองอัตโนมัติ ทั้งยังรักษาอุณหภูมิ หรือต้มน้ำเก่าในอ่างให้ร้อนใหม่ได้ พอถึงอุณหภูมิพอเหมาะแล้ว จะมีเสียงเจื้อยแจ้วจากระบบแจ้งว่า “ต้มน้ำอาบเสร็จแล้วค่ะ” นอกจากนี้ ยังมีฟังก์ชันเสริม เช่น พ่นไอน้ำอุ่นๆ กระเซ็นเป็นฝอยให้อารมณ์แบบซาวน่า และอื่นๆ ที่ช่วยสร้างความเพลิดเพลินในการอาบน้ำมากขึ้น

พอนึกถึงวัฒนธรรมการอาบน้ำของคนญี่ปุ่นโบราณแล้ว ยุคนี้จะอาบน้ำทีสบายและง่ายดายกว่ากันมาก อีกทั้งการอาบน้ำและแช่น้ำร้อนยังดีต่อสุขภาพและช่วยให้ผ่อนคลาย จึงไม่น่าแปลกใจเลยว่าทำไมคนญี่ปุ่นถึงให้ความสำคัญกับการแช่น้ำร้อนขนาดนี้

แล้วพบกันใหม่สัปดาห์หน้านะคะ สวัสดีค่ะ.
------------------------------------------------------------------------------------------------------------------------------------------------
"ซาระซัง"  เธอเคยใช้ชีวิตอยู่ที่กรุงโตเกียวนานกว่า 5 ปี ปัจจุบันติดตามสามีไปทำงาน ณ สหรัฐอเมริกา ติดตามคอลัมน์ “เรื่องเล่าสะใภ้ญี่ปุ่น” ที่ MGR Online ทุกวันอาทิตย์.


กำลังโหลดความคิดเห็น