คอลัมน์ “เรื่องเล่าสะใภ้ญี่ปุ่น” โดย “ซาระซัง”
สวัสดีค่ะเพื่อนผู้อ่านทุกท่าน ระหว่างใช้ชีวิตประจำวันไปตามปกติในญี่ปุ่นและอเมริกา บางทีฉันก็เจอสัตว์บางชนิดโดยไม่ได้ตั้งใจ บางอย่างก็น่ารักดี แต่บางอย่างก็น่าถอยกรูด เลยมีเรื่องมาเล่าให้ฟังอีกแล้ว วันนี้คุยกันเล่น ๆ สบาย ๆ นะคะ
แมวจรจัด
สมัยฉันไปเก็บข้อมูลเขียนวิทยานิพนธ์ที่ญี่ปุ่น เคยอยู่อะพาร์ตเมนต์ชั้นล่างกับน้อง วันหนึ่งน้องฉันอุทานขึ้นมาอย่างตื่นเต้น “อ๊ะ แมว” ฉันหันไปดูก็เห็นแมวสามสีที่คนญี่ปุ่นเรียกกันว่า “มิเกะเนะโกะ” (三毛猫) อยู่ที่ระเบียง เราจึงพากันเปิดประตูระเบียงออกไปส่งเสียงเรียกราวกับมันเป็นสหายเก่าแก่ แมวตัวนี้ก็เดินเข้ามาหาอย่างไม่กลัวคน เราเรียกมันง่าย ๆ ว่า “มิเกะ”
หลังจากวันนั้นมา มิเกะก็โผล่หน้ามาให้เห็นเป็นคราว ๆ ครั้งหนึ่งเห็น “มิเกะ” มาอยู่ที่ระเบียง พอเปิดประตูระเบียงออกไปต้อนรับ ก็พบว่ามันมีท่าทีตื่น ๆ เล็กน้อย พอสังเกตดูดี ๆ ถึงได้รู้ว่าเป็นแมวคนละตัวกัน เราก็เลยเรียกมันว่า “มิเกะ 2” จากนั้นคราวหนึ่งมาพร้อมกันทีเดียวสามตัว คาดว่าพวกมันคงเป็นแมวจรจัดซึ่งเป็นพี่น้องครอกเดียวกัน เราเรียกแมวหน้าใหม่ตัวล่าสุดว่า “มิเกะ 3” แต่จากนั้นสักพักพวกมันก็ไม่มาอีกเลย สงสัยไม่ชอบถูกเรียกเป็นเบอร์
น้องหาว่าฉันชอบย่างปลา แมวเลยมา เกี่ยวหรือเปล่าก็ไม่รู้ อะพาร์ตเมนต์นั้นไม่มีเตาย่างปลาในครัวแบบที่เป็นลิ้นชักใต้เตาแก๊ส (แต่บ้านสมัยใหม่น่าจะมีเกือบหมดทุกแห่ง) ฉันเลยซื้อตะแกรงแบบเดียวกับที่เมืองไทยใช้หนีบไก่ย่างบนเตาถ่าน (แต่ฉันย่างบนเตาแก๊ส) มันเลยอาจจะส่งกลิ่นขจรขจายเรียกแมว
แมลงสาบ
ไม่รู้ทำไมหลายคนจึงกลัวแมลงชนิดนี้นัก สำหรับฉันแค่เขียนคำนี้ก็ขนลุกเกรียวแล้ว มีอยู่วันหนึ่งฉันอยู่ในอะพาร์ตเมนต์ที่ญี่ปุ่นตามลำพัง กำลังจะนอนลงบนฟูก ก็เห็นมันไต่กำแพงขึ้นมาหลังทีวี เลยได้แต่ช็อคค้าง ไม่รู้จะทำอย่างไรเลยโทรหาน้องที่รู้จักกันเพื่อเรียกขวัญกำลังใจ น้องซึ่งเป็นผู้ชายก็กลัวแมลงสาบพอกัน แต่อุตส่าห์ใจดีปลอบว่า “พี่ใจเย็น ๆ ไม่เป็นไรนะ ไม่ต้องกลัว เดี๋ยวมันก็ไป” แม้คืนนั้นจะหลับ ๆ ตื่น ๆ ด้วยความกังวล แต่สุดท้ายก็หลับไปจนได้
พอเล่าให้คนญี่ปุ่นคนหนึ่งฟัง เขาก็แนะนำให้ใช้สเปรย์หรือบ้านแมลงสาบ ฉันบอกว่าไม่ฆ่าสัตว์ ส่วนบ้านแมลงสาบนั้นอาจดูปราณีแต่จริง ๆ โหดมาก เพราะครั้งหนึ่งฉันเคยเห็นบ้านแมลงสาบในถังขยะที่ไทย ด้วยความอยากรู้อยากเลยแอบดูแม้จะกลัว เห็นแมลงสาบตัวหนึ่งโดนฝูงมดแทะเหลือเพียงครึ่งตัว แต่มันยังไม่ตาย ตัวสั่นระริก จะหนีก็ไม่ได้เพราะโดนกาวยึดไว้ เห็นแล้วสะเทือนใจมาก ไม่รู้มันจะทรมานแค่ไหนกว่าจะตาย เพราะฉะนั้นฉันเลยไม่ยอมใช้วิธีนี้เด็ดขาด
เขาเลยเสนอความเห็นสุดท้ายซึ่งเป็นวิธีอัญเชิญมันออกจากบ้าน ด้วยกระป๋องควันสำหรับไล่แมลงรบกวนเวลาจะใช้กระป๋องนี้คนและสัตว์ต้องออกไปจากบ้านก่อน ส่วนข้าวของเครื่องใช้ก็เก็บให้มิดชิด ปิดประตูหน้าต่างทุกบาน จากนั้นเปิดกระป๋องควันตั้งไว้ในที่เหมาะสมแล้วออกจากห้อง ช่วงนี้พวกแมลงหรือสัตว์รบกวนจะเตลิดออกจากบ้านเราไป ผ่านไปสักชั่วโมงหรือนานกว่านั้นเราค่อยกลับมาบ้าน แล้วเอาอุปกรณ์ครัวกับภาชนะใส่และตักอาหารออกมาล้างใหม่หมด
พอแต่งงานแล้ว โชคดีว่าสามีไม่กลัวแมลงสาบ เวลาเจอเลยขอให้เขาช่วยจับมันออกไปทิ้งข้างนอกโดยไม่ทำให้มันเจ็บหรือตาย เขาก็ใจดีมาก หาทางจับด้วยมือเปล่า (บรื๋อ) แล้วโยนออกไปนอกบ้านให้ ที่จริงฉันอยากใช้กระป๋องควันมากกว่า แต่ในอะพาร์ตเมนต์นั้นมีอุปกรณ์ดักจับควัน คนดูแลตึกบอกว่ากลัวอุปกรณ์ร้องเตือน หรือฉีดน้ำกระจายเต็มบ้าน หรือนักดับเพลิงมาจะยุ่งกันใหญ่ ก็เลยไม่ให้ใช้
กระรอก กระต่าย กวาง
ในอเมริกามีกระรอกเยอะเอามาก ๆ แถมยังเป็นกระรอกกล้ามโตเสียด้วยค่ะ พวกมันตัวบึกบึนและอ้วนพี วิ่งหางฟูไปมาตามบริเวณที่มีสนามหญ้าและต้นไม้ และสวนสาธารณะ ถ้าเป็นกระรอกตามสวนสาธารณะที่คนมานั่งกินข้าวกลางวันกันเยอะ อาจจะไม่ค่อยกลัวคนเท่าไหร่ เพราะหวังว่าคนจะแบ่งอะไรให้มันกิน
บางทีเดินอยู่ในสวนสาธารณะที่มีสนามหญ้ากว้าง ๆ ก็อาจเจอกระต่ายป่าสีน้ำตาลตัวเล็ก ๆ น่ารัก บางทีมันก็มาตามบ้านคนในละแวกใกล้ ๆ เหมือนกัน ทีนี้มีบางคนไปเจอรังที่มีลูกกระต่าย แล้วหลงคิดว่าแม่มันคงตายหรือทิ้งลูกไปแล้ว เลยพยายามหาทางช่วย แต่จริง ๆ คือแม่กระต่ายจะอยู่ให้นมลูกแค่วันละประมาณ 5 นาทีเช้ากับเย็น ซึ่งพอเพียงแล้วสำหรับลูกกระต่าย นอกนั้นแม่กระต่ายจะออกจากรังไป หากเราไปเอาลูกกระต่ายออกจากรังจะทำให้โอกาสรอดชีวิตของพวกมันลดลง และแม่กระต่ายจะวนเวียนตามหาลูก ฉะนั้นถ้าเจอรังที่มีลูกกระต่ายแล้วพวกมันดูแข็งแรงปกติดี ก็ควรอยู่ห่าง ๆ ไว้ไม่ต้องไปรบกวน ไม่อย่างนั้นแม่กระต่ายจะไม่กล้ากลับรัง
แถวอะพาร์ตเมนต์ที่ฉันอยู่ตอนนี้มีต้นไม้เยอะ บางส่วนเป็นพื้นที่ป่า เลยมีกวางมาเดินเล่นเป็นบางคราว ตอนเห็นครั้งแรกตื่นเต้น พอเริ่มชินก็เฉย ๆ เหมือนเห็นนกพิราบ แต่มีคืนหนึ่งในฤดูหนาวกำลังจะเข้านอนช่วงใกล้เที่ยงคืน สามีเหลือบมองนอกบ้านผ่านช่องม่านมูลี่แล้วบอกฉันว่า “ดูข้างนอกสิ สุดยอด” ฉันเลยดูบ้าง เห็นกวางฝูงหนึ่งประมาณสิบกว่าตัวอยู่ในพื้นที่สนามหญ้า มันเดินบ้าง นอนบ้าง วิ่งไล่จับกันบ้าง เหมือนอยู่ในห้องนั่งเล่นตัวเองก็ไม่ปาน แล้วเดี๋ยวก็มีกวางตามมาสมทบเพิ่ม ตัวผู้จะตัวใหญ่และมีเขาเป็นกิ่ง ๆ สวยทีเดียว ฉันไม่เคยเห็นกวางตัวผู้ตัวเป็น ๆ มาก่อน วันนั้นเลยตื่นเต้นมากเหมือนมีซาฟารีส่วนตัว
เวลามีสัตว์ป่าอยู่อาศัยใกล้เคียงแบบนี้ จะมีคนชอบให้อาหารพวกมัน เลยทำให้มีหนูโผล่มาแถวบ้านด้วย จนสำนักงานของอะพาร์ตเมนต์ต้องส่งจดหมายห้ามไม่ให้ให้อาหารสัตว์ป่า และในสวนสาธารณะบางแห่งก็มีป้ายห้ามให้อาหารสัตว์ป่าเช่นกัน ไม่อย่างนั้นมีความผิดตามกฎหมาย แต่ก็เห็นคนชอบโยนขนมปังให้เป็ดและห่านในสวนสาธารณะทุกที สำหรับที่ญี่ปุ่นนั้นยังไม่เคยเจอหนูแม้แต่ครั้งเดียว แมลงวันสักตัวในร้านอาหารก็เจอเพียงน้อยครั้ง คงเพราะระวังและรักษาความสะอาดดีมาก
นกน้อยบาดเจ็บ
เมื่อสัปดาห์ก่อนระหว่างเดินเล่นตอนเช้ากับสามี ฉันเหลือบไปเห็นนกนอนจุ้มปุ๊กอยู่ที่พื้นหญ้าข้างทางเดิน ปากทิ่มดินและตาปิดอยู่ เลยกระโดดเหย็งด้วยความตกใจเพราะนึกว่านกตาย แต่พอมองใกล้ ๆ ก็เห็นตัวมันกระเพื่อมขึ้นลงน้อย ๆ “อ๊ะ ยังหายใจอยู่เลย ยังไม่ตาย!” ฉันลองยื่นมือไปสัมผัสนกเบา ๆ มันสะดุ้งเล็กน้อยก่อนจะปล่อยให้ฉันลูบตัว แล้วฉันก็ค่อย ๆ อุ้มมันขึ้นมาวางบนฝ่ามืออย่างเบามือที่สุด นกตัวเบามากราวกับก้อนสำลี ดวงตาข้างหนึ่งกลายเป็นสีแดงเหมือนเลือดออก ท่าทางเจ็บน่าดู ส่วนอีกข้างลูกตาสีดำปกติ
“ทำไงดีนะ น่าจะมีหน่วยงานที่ดูแลสัตว์ป่าอยู่ เธอช่วยเช็คให้หน่อยได้ไหม” ฉันไม่ได้เอามือถือมา สามีฉันจึงช่วยค้นกูเกิลให้จากมือถือเขา เจอชื่อศูนย์ดูแลนกป่าโดยเฉพาะ ฉันโทรไปสอบถามว่าเจอนกบาดเจ็บ ต้องทำอย่างไรบ้าง เขาถามว่านกตัวใหญ่ไหม ฉันบอกตัวเล็ก ๆ เอง เขาว่าถ้างั้นหากล่องใส่แล้วพามาที่ศูนย์เขา
เราจึงรีบกลับบ้าน หากล่องใส่นก สามีส่งลิงค์แผนที่ของศูนย์ให้ แล้วฉันก็ขับรถไปเป็นระยะทาง 60 กว่ากิโลด้วยความเร่งรีบ เพราะไม่รู้ว่านกบาดเจ็บอะไรอย่างไรแค่ไหน กลัวจะเป็นอะไรไปเสียก่อนระหว่างทาง พอไปถึงเขาก็มารับนกไปแล้วให้กรอกแบบฟอร์ม จากนั้นก็ให้หมายเลขแอดมิทนกมาด้วย เผื่อว่าถ้าอยากตรวจสอบว่านกในความดูแลเป็นอย่างไรบ้างแล้ว ก็สามารถเช็คทางออนไลน์ได้ หรือไม่ก็อีเมลไปถามถ้าต้องการรายละเอียด ฉันถามเขาว่านกจะได้กลับไปอยู่ในธรรมชาติไหม เขายิ้มตอบว่าหวังว่าจะเป็นอย่างนั้น
พอกลับมาบ้านอ่านเว็บไซต์เขาแล้ว ถึงเพิ่งรู้ว่าควรเอานกใส่กล่องกระดาษ เจาะรูเพื่อให้นกหายใจได้ แล้วเอาผ้าขนหนูรองไว้ที่ก้นกล่อง นกจะได้ไม่กระเด็นกระดอนระหว่างเดินทาง เสียดายที่ฉันรู้เรื่องนี้ในภายหลังตอนอ่านเว็บไซต์ของศูนย์นี้ ตอนนั้นเลยใส่แค่กล่องผลไม้เล็ก ๆ ใส ๆ ที่มีรูระบายอากาศ นอกจากนี้ในเว็บยังบอกว่านกจะสบายใจถ้าอยู่ในที่มืดและเงียบ ฉันไม่รู้ก็เลยเปิดเสียงพระเทศน์เบา ๆ ให้นกฟังในรถ คิดในใจว่าเผื่อมันเป็นอะไรไปก็อาจจะได้ไปดี
อีกอย่างที่ทางศูนย์เขาเตือนไว้คือ อย่าพยายามให้น้ำให้อาหารนก หรือรักษาด้วยตัวเอง เพราะบางทีเราตั้งใจดีแต่ไปทำให้นกยิ่งทรมานด้วยความไม่รู้ และถ้าหากนกดูเชื่องหรือนิ่ง ๆ ก็เป็นเพราะนกกำลังหวาดกลัวหรือไม่ก็เพราะมันป่วยมากหรือบาดเจ็บมาก ไม่ได้แปลว่ามันชอบเรา และตามกฎหมายก็ห้ามมีนกป่าในครอบครองด้วยหากไม่ใช่คนที่ทำงานเกี่ยวกับนกโดยตรง
บางคนก็พานกพิราบ นกเขา เป็ดป่า ห่านป่า และนกป่าอื่น ๆ มาที่ศูนย์ มีนกหลายตัวที่อาการหนักเกินเยียวยา หรือไม่สามารถดูแลตัวเองได้ถ้ากลับสู่ธรรมชาติ ทางศูนย์ก็จะฉีดยาให้มันจากไปโดยไม่ทรมานมาก ตอนที่ฉันรู้ว่ามีแบบนี้ด้วยก็กังวล กลัวว่านกน้อยที่เอาไปส่งจะโดนฉีดยา แต่จนถึงวันนี้ผ่านมา 10 วันแล้ว นกยังอยู่ในความดูแลเขา แสดงว่ามันน่าจะมีทางรอดและตอบสนองต่อการรักษาอยู่พอสมควร ก็สบายใจขึ้น
หากตอนนั้นพวกเราทิ้งนกไว้ที่เดิม ก็คงมีหมาแมวมาคาบไป หรือไม่ก็คงมีใครเดินไปเหยียบมันเข้า หรือต่อให้รอดมาจนวันถัดไปซึ่งฝนตกหนักจนน้ำเจิ่งนอง มันก็คงจมน้ำตาย เลยคิดว่าโชคดีที่อุ้มนกน้อยขึ้นมาแล้วรีบพาไปหาคนที่อาจจะช่วยมันได้ รู้สึกขอบคุณเหลือเกินที่มีหน่วยงานแบบนี้คอยดูแลสัตว์ป่าโดยตรง ไม่อย่างนั้นก็ไม่รู้จะช่วยอย่างไร อย่างดีที่สุดก็คงได้แต่พาไปหาสัตวแพทย์
ชีวิตประจำวันที่อยู่ร่วมกับสัตว์ตามธรรมชาติก็มีสีสันดี และให้ได้เรียนรู้อะไรใหม่ ๆ อีกเช่นเคย แล้วพบกันใหม่สัปดาห์หน้า สวัสดีค่ะ.
------------------------------------------------------------------------------------------------------------------------------------------------
"ซาระซัง" เธอเคยใช้ชีวิตอยู่ที่กรุงโตเกียวนานกว่า 5 ปี ปัจจุบันติดตามสามีไปทำงาน ณ สหรัฐอเมริกา ติดตามคอลัมน์ “เรื่องเล่าสะใภ้ญี่ปุ่น” ที่ MGR Online ทุกวันอาทิตย์.