คอลัมน์ “เรื่องเล่าสะใภ้ญี่ปุ่น” โดย “ซาระซัง”
สวัสดีค่ะเพื่อนผู้อ่านทุกท่าน เวลาเราเห็นนักท่องเที่ยวญี่ปุ่น หรือคนญี่ปุ่นในไทยอาจจะรู้สึกว่าเขาดูสบายๆ แต่พอเป็นเรื่องของการทำงานในญี่ปุ่นแล้ว คำว่า “สบายๆ” น่าจะหาได้ยากมาก เพราะมีกฎเยอะแยะที่ไม่ได้ระบุไว้แต่รู้กันเอง และเป็นที่คาดหวัง แถมยังเป็นที่ยอมรับกันด้วยแม้ว่าบางอย่างจะขัดต่อกฎหมายก็ตาม
อย่าพูดคำนี้กับคนญี่ปุ่น!
เพื่อนฉันเล่าเรื่องสามีชาวไทยและภรรยาชาวญี่ปุ่นคู่หนึ่งให้ฟัง สมัยที่พวกเขายังไม่ได้แต่งงาน ฝ่ายหญิงทำงานบัญชีให้บริษัทอเมริกา โดยอยู่ฝ่ายดูแลลูกค้าญี่ปุ่น นอกจากเธอจะทำงานหนักเกือบวันละ 12 ชั่วโมงแล้ว ยังหอบงานกลับมาทำที่บ้านเป็นประจำด้วย ทำงานแบบทุ่มเทจนเครียดลงกระเพาะบ่อยๆ โดยเฉพาะช่วงภาษี
ปกติเวลาเกิดพายุหิมะในนิวยอร์ก รัฐมักประกาศภาวะฉุกเฉินเพื่อให้คนอยู่บ้าน จะได้ไม่ไปขับรถแล้วเกิดอุบัติเหตุเป็นเรื่องวุ่นวาย ทว่าในขณะที่คนจำนวนมากทำงานจากบ้านกันนั้น สาวญี่ปุ่นผู้นี้กลับขับรถฝ่าหิมะออกไปหาลูกค้า เพราะ “นัดเขาไปแล้ว” ไม่ไปไม่ได้
คราวหนึ่งเธอโหมงานหนักจนเครียด ฝ่ายชายเลยปลอบเธอว่า “Take it easy” (อย่าซีเรียส) กลับกลายเป็นเรื่องทะเลาะกันใหญ่โต เพราะเธอบอกว่าเป็นไปไม่ได้ที่จะให้คนญี่ปุ่น “Take it easy” และคำนี้ไม่มีอยู่ในพจนานุกรมของคนญี่ปุ่นด้วย!
วันหนึ่งฝ่ายชายคงทนเห็นเธอใช้ชีวิตอย่างนี้ต่อไปไม่ไหว เลยขอร้องให้เธอลาออกมาอยู่บ้านเฉยๆ และขอเธอแต่งงานในโอกาสนี้เสียเลย เธอเลยยอม ต่อมาทั้งคู่ย้ายไปอยู่รัฐฟลอริดา พอภรรยาเห็นครอบครัวอื่นๆ มีลูกกันหมด จากตอนแรกที่ไม่ได้คิดจะมีก็เลยมีกับเขาบ้าง ตอนนี้อยู่บ้านเลี้ยงลูกเต็มเวลา และเลิกเครียดแล้ว
การที่เธอทุ่มเทกับงานหนัก ไม่หวั่นแม้กระทั่งในสภาพอากาศไม่เป็นใจ ถือเป็นเรื่องปกติมากและเป็นที่คาดหวังในสังคมญี่ปุ่นด้วย เพราะต่อให้หิมะตกหนักจนการจราจรเป็นอัมพาต รถไฟไม่วิ่ง รถเมล์แน่นจนขึ้นไม่ได้อย่างไร บริษัทต่างๆ ในญี่ปุ่นก็ไม่ประกาศหยุดงาน ทุกคนจึงพยายามมาทำงานกันแม้ว่าจะสายมากแค่ไหนก็ตาม คงเพื่อแสดงว่าตนมีความมุ่งมั่นต่อการทำงาน ทุ่มเทให้บริษัท และจะได้ไม่โดนนินทาหรือดุด่าว่าเห็นแก่ตัวเองมากกว่าองค์กร อย่างไรก็ตาม โควิดทำให้คนเริ่มรู้จักการทำงานจากบ้านมากขึ้น จึงอาจมีบางแห่งที่อะลุ่มอล่วยให้ทำงานจากบ้านได้
ส่วนการทำงานที่อเมริกานั้นค่อนข้างยืดหยุ่นตามสถานการณ์ อย่างมีอยู่วันหนึ่งเจ้านายสามีบอกทุกคนในทีมว่า “ช่วงนี้ไม่ต้องเข้ามาที่บริษัทนะ ทำงานจากบ้านไปก่อน เพราะมันมี bed bugs แถวที่ทำงาน” แมลงดูดเลือดชื่อน่าเอ็นดูแต่ปราศจากความน่ารักนี้เป็นสิ่งที่คนอเมริกันผวามาก ถ้ามันติดเสื้อผ้าเรามา หรือหลบซ่อนอยู่ในกระเป๋าเสื้อผ้าเรา (เช่น อาจจะติดมาจากเตียงโรงแรม หรือโซฟาที่เราไปนั่ง) มันสามารถมาแพร่พันธุ์ต่อในบ้านเราได้ คราวหนึ่งเคยมีคนแจ้งว่าเจอเจ้า bed bugs บนรถเมล์ของนิวยอร์ก เท่านั้นแหละรถเมล์สายนั้นหลายคันเลยต้องหยุดวิ่งชั่วคราวเพื่อตรวจสอบความปลอดภัย
กฎมีไว้เพื่อทำตามเสมอ
คนฝรั่งบอกว่าสำหรับคนตะวันตกแล้ว กฎระเบียบมีไว้เพื่อแหกในยามเหมาะสม ส่วนญี่ปุ่นกฎระเบียบมีไว้เพื่อทำตามโดยไม่มีข้อยกเว้น
อย่างในนิวยอร์กถือเป็นเรื่องปกติที่คนจะข้ามถนนตอนไฟจราจรห้ามข้าม ถ้าไม่มีรถวิ่งมาก็ยังพอเข้าใจได้ แต่บางคนคือต่อให้มีรถวิ่งอยู่ในระยะกระชั้นชิดก็ยังจะข้ามอยู่ดี บางทีฉันนึกสงสัยว่าถึงกับต้องยอมเอาชีวิตไปเสี่ยงเพราะอดทนรอแค่นาทีเดียวไม่ได้เลยหรือ แถมบางทีตำรวจอยู่ใกล้ๆ ก็ยังกล้าข้ามถนนกันต่อหน้าต่อตา แต่ไม่เคยเห็นตำรวจจับสักที ส่วนในญี่ปุ่นนั้นแทบทุกคนจะยืนรอสัญญาณไฟจราจรจนกว่าจะข้ามได้ แม้ว่าถนนจะโล่งขนาดไหนก็ตาม
การยึดมั่นรักษากฎของคนญี่ปุ่นนั้น ดูเผินๆ อาจดูเหมือนเพื่อส่วนรวม แต่ที่จริงยังมีอีกหลายแง่มุมซ่อนอยู่ด้วย เช่น เพราะไม่อยากเป็นผู้กล้าทำตัวแหกกฎแล้วกลายเป็นเป้าสายตาบ้าง เพราะอายคนอื่นบ้าง เพื่อให้ทุกอย่างเป็นไปตามความคาดหมาย จะได้ไม่ต้องเจอเซอร์ไพรส์แล้วเงอะงะรับมือไม่ถูกบ้าง เพราะไม่ชอบความเปลี่ยนแปลงบ้าง เป็นต้น
แม้กระทั่งความเปลี่ยนแปลงที่น่าจะดีอาจถูกเมิน มีคนต่างชาติเล่าว่าโรงเรียนมัธยมญี่ปุ่นที่เขาทำงานอยู่มักประชุมทีละหลายชั่วโมง แต่เนื้อหายาวเหยียดและไม่ได้มีสาระสำหรับทุกคน อีกทั้งบางอย่างใช้วิธีส่งอีเมลเพื่อประหยัดเวลาประชุมเอาก็ได้ พอบอกกับเพื่อนร่วมงานดังนั้น ก็ได้รับคำตอบว่าพวกเขาทราบดีว่าการประชุมแบบนี้ไม่มีประสิทธิภาพ แต่ “ช่วยไม่ได้นี่นา ก็มันเป็นกฎ” สุดท้ายเลยไม่มีอะไรดีขึ้น
ในทำนองเดียวกัน เคยมีผู้ใหญ่คนไทยไปซื้อขนมของฝากในห้างที่ญี่ปุ่น ปกติเวลาซื้อคนขายจะห่อกล่องอย่างสวยงามให้ วันนั้นท่านรีบเลยบอกเขาว่าไม่ต้องห่อ ปรากฏว่ารอนานกว่าเดิมอีก เพราะพนักงานเกิดความโกลาหลกับการทำอะไรนอกกฎระเบียบ ถึงกับถามท่านด้วยความสับสนว่าทำไมถึงไม่ให้ห่อ ท่านเลยบอกพวกฉันว่า อย่าได้ไปเปลี่ยนอะไรของคนญี่ปุ่นเชียว ไม่งั้นเสียกระบวน กลายเป็นเรื่องยุ่งเลยทีเดียว
เห็นคนญี่ปุ่นทำงานแบบมีขั้นตอนชัดเจนแบบนี้ พอมาดูคนไทยในที่ทำงานฉันซึ่งไม่ค่อยพูดถึงวิธีการทำงาน แต่ให้รับมือตามสถานการณ์กันเอาเอง ก็น่าประหลาดใจอยู่เหมือนกันที่คนไทยกับคนญี่ปุ่นในหน่วยงานฉันทำงานด้วยกันรอดมาได้ ทั้งที่วัฒนธรรมการทำงานต่างกันขนาดนี้ อย่างที่รุ่นพี่ชาวญี่ปุ่นเคยเปรยว่า “แปลกนะ เวลาทำงานคนไทยไม่กำหนดอะไรให้แน่ชัดว่าจะทำอะไรยังไง ปล่อยให้ไปจัดการกันเอง ทำให้กังวลไม่รู้ว่าจะลงเอยแบบไหน แต่ก็ผ่านมาได้โดยไม่เห็นเป็นอะไรทุกที”
ฉันคิดว่าเหตุผลหนึ่งคงเป็นเพราะการให้ความสำคัญต่างจุดกัน อย่างคนญี่ปุ่นจะให้ความสำคัญกับกระบวนการทำอย่างละเอียดยิบ ในขณะที่คนไทยดูจะให้ความสำคัญกับผลลัพธ์มากกว่า นอกจากนี้ คนญี่ปุ่นยังออกจะคาดหวังความสมบูรณ์แบบชนิดไม่ให้มีอะไรพลาดเลย แต่คนไทยค่อนข้างจะมองว่าความบกพร่องนิดๆ หน่อยๆ ไม่ใช่เรื่องใหญ่โตถ้าไม่กระทบงานใหญ่ อันนี้เป็นเพียงมุมมองจากประสบการณ์ส่วนใหญ่ที่ฉันเจอนะคะ อาจจะไม่ได้เป็นแบบนี้ทุกคน
ขาดงาน อาจร้ายแรงกว่าที่คิด
การขาดงานค่อนข้างเป็นเรื่องคอขาดบาดตายสำหรับคนญี่ปุ่น ต่อให้มีสิทธิลาหยุดตามกฎหมาย คนก็ไม่ค่อยกล้าหยุดกันแม้จะป่วยก็ตาม เพราะนอกจากจะโดนมองแง่ลบหรือถูกตำหนิแล้ว ยังอาจเสี่ยงต่อการถูกประเมินไม่ได้รับโบนัส หรืออาจโดนสั่งย้ายไปประจำอยู่สำนักงานอื่นที่ไม่มีใครอยากไปด้วย
ดังนั้น จึงเป็นเรื่องธรรมดาที่คนญี่ปุ่นจะมาทำงานทั้งที่ไม่สบาย เคยมีคนท้องลาไปหาหมอช่วงเช้าเพราะครรภ์มีความผิดปกติ พอกลับมาที่ทำงานต้องขอโทษเพื่อนร่วมงานทุกคน เพราะทำให้พวกเขาต้องทำงานแทนส่วนของเธอ เรื่องนี้สร้างความประหลาดใจให้คนต่างชาติมาก เพราะมองว่าการที่พนักงานรักษาสุขภาพให้ดีน่าจะให้ประโยชน์กับที่ทำงาน ดีกว่าให้เขาป่วยแล้วต้องลายาวหลายสัปดาห์ แต่ถึงแม้กฎหมายญี่ปุ่นจะคุ้มครองคนทำงานแค่ไหน ในความเป็นจริงแล้ววัฒนธรรมการทำงานแบบนี้ยังมีอยู่ทั่วไป บางคนยังถือว่าเป็นเรื่องน่าภาคภูมิใจอีกด้วยที่ตนไม่เคยใช้วันลาเลย
สังคมญี่ปุ่นส่วนหนึ่งแนะนำให้หลีกเลี่ยง “บุ-รัก-ขุ-คิ-เงียว” (ブラック企業 หรือ Black Companies) ซึ่งเป็นบริษัทที่ละเมิดสิทธิแรงงาน เช่น ให้ทำงานหนักเกินไป ไม่จ่ายค่าล่วงเวลาหรือค่าแรงอย่างเหมาะสม มีสภาพการทำงานที่ไม่ปลอดภัย หรือละเมิดกฎหมายแรงงานด้านต่างๆ ซึ่งกระทรวงแรงงานญี่ปุ่นจะประกาศรายชื่อบริษัทเหล่านี้ทุกปี แต่ก็ไม่ได้หมายความว่าบริษัทที่ไม่ได้มีรายชื่ออยู่ในนี้จะไม่ได้อยู่ในข่าย บ่อยครั้งที่บริษัทดังหรือมีภาพลักษณ์ดีอาจเป็นหนึ่งในธุรกิจสีดำเหล่านี้ด้วยเช่นกัน ดังนั้น จึงเป็นหน้าที่ของคนหางานที่จะต้องตรวจสอบบริษัทนั้นๆ ด้วยตัวเองจากหลายแง่มุม ไม่อย่างนั้นหากไปทำงานที่นั่นแล้วคิดจะลาออกไปหางานใหม่ ก็ไม่ได้ง่ายเหมือนเมืองไทยหรืออเมริกา โดยเฉพาะถ้าประสบการณ์ทำงานยังน้อยและไม่มีทักษะซึ่งเป็นที่ต้องการของตลาด
ไม่อยากขาดงาน ก็ต้องลงทุน !
มีดาราดังของญี่ปุ่นคนหนึ่ง เป็นทั้งดาราตลก นักแสดง และพิธีกร วันหนึ่งเพื่อนๆ ดาราตลกไปถ่ายทำรายการอยู่ในคิวชู ซึ่งเขาก็ตามไปร่วมแจมด้วย (ถ้าจำไม่ผิดคือไม่เกี่ยวกับงานเขา) พอรู้ตัวอีกทีก็เลยเวลาเที่ยงคืนไปแล้ว เขาต้องไปออกรายการทีวีตอน 6 โมงเช้าเช้าวันรุ่งขึ้นที่โตเกียว แต่เที่ยวบินเที่ยวสุดท้ายก็ไม่มีแล้ว
รู้ไหมคะว่าเขาหาทางออกอย่างไรเพื่อให้ไปทำงานทันในเช้าวันรุ่งขึ้น เพื่อนเขาบอกว่าทางเลือกเดียวที่เป็นไปได้คือเช่าเครื่องบินเจ็ทส่วนตัว! และเขาก็เลือกหนทางนี้จริงๆ เพื่อให้ไปทำงานทัน ยอมลงทุนควักกระเป๋าตัวเองจ่ายค่าเดินทางถึง 4.4 ล้านเยน! ยิ่งสมัยนั้นค่าเงินเยนไม่ได้อ่อนเท่าปัจจุบัน คิดเป็นเงินไทยก็ยิ่งแพงลิบลิ่ว
แม้เขาจะไม่ได้เป็นมหาเศรษฐีหรือเซเลบ แต่ก็จำเป็นต้องลงทุนขนาดนั้น เพราะเป็นพิธีกรรายการข่าวยามเช้า ขืนไม่ไปทำงานล่ะก็ ชีวิตการทำงานของเขาอาจจบเห่ และตกเป็นขี้ปากชาวบ้านไปอีกนาน เพราะฉะนั้นการยอมจ่ายขนาดนั้นเพื่อรักษาหน้าและงานในแวดวงสื่อเอาไว้คงถือว่าคุ้มกว่ากันมาก เว้นแต่เขาจะทำใจว่าต้องหันเหไปประกอบอาชีพอื่น ก็อาจเป็นอีกเรื่องหนึ่ง
สังคมญี่ปุ่นให้คุณค่ากับความเอาจริงเอาจังและการทำตามบรรทัดฐานสังคมเช่นนี้เอง ต่อให้คนญี่ปุ่นอยากจะเครียดน้อยลง ทำตัวสบายๆ ขึ้น ก็คงทำได้ยาก ตราบใดที่กรอบสังคมอันเข้มงวดนี้ยังมีบทบาทโดยตรงต่อวิถีชีวิต.
------------------------------------------------------------------------------------------------------------------------------------------------
"ซาระซัง" เธอเคยใช้ชีวิตอยู่ที่กรุงโตเกียวนานกว่า 5 ปี ปัจจุบันติดตามสามีไปทำงาน ณ สหรัฐอเมริกา ติดตามคอลัมน์ “เรื่องเล่าสะใภ้ญี่ปุ่น” ที่ MGR Online ทุกวันอาทิตย์.