คอลัมน์ “เรื่องเล่าสะใภ้ญี่ปุ่น” โดย “ซาระซัง”
สวัสดีค่ะเพื่อนผู้อ่านทุกท่าน วันก่อนฉันได้ทราบข่าวจากสามีว่า มีนักเขียนการ์ตูนดังฆ่าตัวตายหลังเกิดปัญหาละครโทรทัศน์สร้างไม่เหมือนต้นฉบับ ฉันได้ยินข้อมูลสั้นๆ แค่นั้นเลยตกใจ “มันคอขาดบาดตายถึงกับต้องฆ่าตัวตายเลยเหรอ!?” ทว่าเรื่องนี้เป็นที่โจษจันกันในญี่ปุ่นอย่างอึกทึกครึกโครมเลยทีเดียว
สถานการณ์ที่เชื่อว่านำไปสู่การฆ่าตัวตาย
อาชิฮาระ ฮินาโกะ นักเขียนการ์ตูนเรื่องดัง “Sexy Tanaka-san” ซึ่งสร้างเป็นละครทางช่อง NTV ของญี่ปุ่นเมื่อปลายปีที่ผ่านมาเสียชีวิตแล้ว โดยสันนิษฐานว่าเป็นการฆ่าตัวตาย คาดว่าสาเหตุเริ่มมาจากการที่ทีมงานละครโทรทัศน์ละเมิดข้อตกลงกับผู้เขียนที่ว่าจะไม่บิดเบือนเนื้อหา และความขัดแย้งกับนักเขียนบทละครโทรทัศน์ที่โต้ตอบกันผ่านสื่อสังคมออนไลน์ ซึ่งมีคนเข้ามาแสดงความเห็นต่างๆ นานาจนกลายเป็นไฟลามทุ่ง
ก่อนสร้างเป็นละครโทรทัศน์มีการตกลงตามเงื่อนไขว่าละครจะต้องไม่บิดเบือนเนื้อหาต้นฉบับการ์ตูน ไม่อย่างนั้นจะปรับแก้ ทว่านักเขียนบทละครโทรทัศน์กลับไปเปลี่ยนแปลงเนื้อหาอย่างมาก เช่น เปลี่ยนคาแร็กเตอร์ตัวละคร ตัดฉากที่เป็นประเด็นสำคัญของเรื่องไป ทำให้เธอต้องมาปรับแก้เยอะแยะทุกครั้ง ทั้งยังไม่มีโอกาสได้พบกับทีมงานละครโทรทัศน์เลยตั้งแต่ต้นจนจบ มีแค่โปรดิวเซอร์เป็นตัวกลาง จึงไม่มีใครทราบว่าเกิดอะไรขึ้น เธอเล่าว่าเหนื่อยล้าเหลือเกินที่ต้องกัดฟันแก้งานไปด้วยความรู้สึกเช่นนี้
ทั้งนี้ทั้งนั้น ฉันว่าเธอเข้าใจดีอยู่แล้วว่าเวลาเอาการ์ตูนไปทำละครโทรทัศน์ต้องมีการปรับแต่งบางจุดให้เข้ากับความเป็นละครโทรทัศน์ และเธอคงไม่ได้คิดมากในส่วนนี้ เพราะผลงานอื่นของเธอเคยนำไปสร้างละครโทรทัศน์และภาพยนตร์มาแล้ว อาจมีข้อแตกต่างจากต้นฉบับบ้าง แต่เป็นเพียงจุดเล็กๆ ที่ไม่ได้ทำลายเนื้อหาดั้งเดิม ส่วนบทละคร Sexy Tanaka-san นั้น เธอมองว่ามันต่างจากต้นฉบับจนแทบจะเป็นคนละเรื่องกัน
ต่อมา นักเขียนบทละครโทรทัศน์ก็ถูกถอดจากทีมกลางคัน ส่วนคุณอาชิฮาระกลายเป็นผู้เขียนบทละครโทรทัศน์ 2 ตอนสุดท้ายเอง ซึ่งเธอยอมรับว่าตัวเองไม่มีประสบการณ์ อีกทั้งเวลากระชั้นชิดมาก แถมยังต้องเขียนตอนต่อของการ์ตูนเรื่องนี้ส่งสำนักพิมพ์ไปด้วยพร้อมกัน จึงกังวลว่าอาจจะเขียนบทละครโทรทัศน์ได้ไม่ดีพอ และขอโทษผู้ชมด้วยหากทำให้ผิดหวัง เธอบอกว่าสุดท้ายแล้วไม่รู้เหมือนกันว่าอะไรเป็นทางออกที่ดีที่สุด
ฝ่ายนักเขียนบทละครโทรทัศน์ที่ถูกปลดก็เขียนลงโซเชียลว่า “มีคนมาถามฉันเยอะแยะเรื่องตอนจบของละครโทรทัศน์ ฉันขอบอกอีกครั้งว่า 8 ตอนแรกฉันเขียน แต่ 2 ตอนสุดท้ายนักเขียนการ์ตูนเป็นคนเขียน อย่าเข้าใจผิด เหตุการณ์ครั้งนี้ทำให้ฉันสับสนเรื่องวิธีการสร้างละครโทรทัศน์และความหมายของการเป็นนักเขียนบทละครโทรทัศน์ ได้แต่บอกตัวเองว่าจะสู้ต่อไป และเอาประสบการณ์อันขมขื่นนี้มาเป็นประโยชน์ในการทำงานครั้งหน้า ขอให้อย่าให้เกิดเรื่องอย่างนี้อีกเป็นครั้งที่สอง”
จากนั้นคุณอาชิฮาระ นักเขียนการ์ตูนเจ้าของผลงาน ก็อธิบายในโซเชียลว่าทำไมเธอถึงมาเป็นคนเขียนบทละครโทรทัศน์ 2 ตอนสุดท้าย จากนั้นชาวเน็ตจึงพากันแสดงความเห็นแบ่งฝักฝ่ายจนเป็นประเด็นร้อน สุดท้ายคุณอาชิฮาระก็ลบโพสต์ทั้งหมดของเธอ เหลือข้อความสุดท้ายเอาไว้ว่า “ไม่ได้เจตนาจะโจมตีใคร ขอโทษด้วยค่ะ” ก่อนที่เธอจะหายตัวไป และพบว่าเสียชีวิตในเวลาต่อมา
“นาฬิกาทราย” (砂時計) กับคุณอาชิฮาระ
ฉันเคยอ่านงานของคุณอาชิฮาระมาบ้าง โดยเฉพาะเรื่อง “นาฬิกาทราย” (砂時計) ซึ่งได้รับรางวัลและเคยสร้างเป็นละครโทรทัศน์กับภาพยนตร์มาแล้ว เนื้อหาของเรื่องสะท้อนถึงปัญหาด้านจิตใจของตัวละคร ซึ่งเคยผ่านเหตุการณ์กระทบกระเทือนจิตใจรุนแรง ส่งผลให้พวกเขาเปราะบางกับเรื่องบางอย่างเป็นพิเศษ และทำให้มีพฤติกรรมที่อาจเข้าใจยากสำหรับคนอื่น แม้เนื้อเรื่องจะมีมุมมืด แต่ก็เขียนได้สนุกน่าติดตาม ในขณะเดียวกันมันก็ทำให้ฉันตั้งคำถามทุกครั้งที่อ่านเรื่องนี้ว่า “หรือว่าคนเขียนจะเป็นโรคซึมเศร้า?” พอได้ทราบข่าวการฆ่าตัวตายของเธอ ใจหนึ่งก็ไม่รู้สึกแปลกใจ แต่อีกใจหนึ่งก็เสียใจและเสียดายเธอมากเหลือเกิน
มีคนบอกว่า “คนที่เคยอ่านเรื่อง ‘นาฬิกาทราย’ น่าจะรู้ดีว่าการที่คนสำคัญในชีวิตฆ่าตัวตายจากไป มันมีผลกระทบต่อชีวิตของคนที่ถูกทิ้งไว้ข้างหลังแค่ไหน แต่แล้วคนเขียนเรื่องราวอย่างนี้กลับเลือกหนทางเดียวกันเสียเอง แสดงว่าเธอต้องทุกข์ใจสาหัสมาก”
นักเขียนบทละครโทรทัศน์คนหนึ่งเล่าว่า “ในฐานะนักเขียนบทให้ผลงานมานับไม่ถ้วน สิ่งหนึ่งที่ฉันต้องปฏิบัติตามอย่างยิ่งคือการเคารพผู้เขียนต้นฉบับ และพยายามสร้างให้ละครน่าสนใจยิ่งกว่าเดิม…งานของเราจะต้องไม่คร่าชีวิตใคร”
นักเขียนบทละครโทรทัศน์ทำลายการ์ตูนต้นฉบับกันมานานแล้ว
พอมีข่าวคุณอาชิฮาระฆ่าตัวตาย คนในหลายวงการต่างก็เสียใจ นักเขียนการ์ตูนสลดหดหู่ไปตามๆ กัน เพราะเสียดายความสามารถของคุณอาชิฮาระ และเข้าใจความรู้สึกของเธอดี เนื่องจากทุกคนทราบว่าผลงานคือจิตวิญญาณของนักเขียนการ์ตูน มันคือผลงานที่พวกเขาบรรจงสร้างขึ้นจากศูนย์ แต่ที่ผ่านมามีต้นฉบับการ์ตูนจำนวนมากที่ถูกดัดแปลงเสียยับเยินหลังทำเป็นละครโทรทัศน์หรือภาพยนตร์
คุณซาโต ชูโอ นักเขียนการ์ตูนดัง “อุมิซาหรุ” (海猿) และ “Black Jack” ก็เคยเจอประสบการณ์นี้มาแล้ว วันหนึ่งเขาทราบว่าจะมีการสร้าง “อุมิซาหรุ” เป็นภาพยนตร์ และแผนงานก็เดินหน้าไปเรียบร้อยแล้ว เหลือเพียงเขาประทับตราลงในหนังสือสัญญายินยอมเท่านั้น เขาไม่เคยได้เจอทีมสร้างภาพยนตร์เลย ไม่เคยเห็นแม้แต่บทภาพยนตร์ และรู้สึกเหมือนถูกคนขโมยผลงานตัวเองไปจากมือ
เขาบอกว่าพอเห็นฉบับภาพยนตร์แล้วรู้สึกว่ามันเป็น “หนังเฮงซวย” แตกต่างจากสิ่งที่เขาตั้งใจจะสื่อไปเป็นคนละเรื่อง จากนั้นสถานีโทรทัศน์ก็ขอสัมภาษณ์เขาโดยไม่นัดหมาย มีการตีพิมพ์หนังสือที่เกี่ยวข้องโดยไม่ได้รับอนุญาตจากเขา เมื่อถึงเวลาเขาเลยปฏิเสธการต่อลิขสิทธิ์ ทำให้ไม่สามารถสร้างเป็นละครโทรทัศน์หรือภาพยนตร์ได้อีก ทำให้แฟนๆ ภาพยนตร์โกรธแค้น ด่าทอเขาเสียๆ หายๆ เช่นอ้างว่าอุมิซาหรุเป็นของแฟนๆ ผู้อ่าน ไม่ใช่ของเขาที่เป็นผู้เขียน เป็นต้น
ทำไมคนญี่ปุ่นถึงยอมอดทนโดยไม่ฟ้องร้อง
อาจจะมีคนสงสัยว่าทำไมนักเขียนการ์ตูนถึงยอมอดทน น่าจะฟ้องร้องให้รู้ดำรู้แดงกันไปเลย ฉันคิดว่าการฟ้องร้องทำได้ตามกฎหมายก็จริง แต่ในทางปฏิบัติแล้วน่าจะยากมาก สาเหตุเป็นเพราะการจะมีตัวตนในสังคมญี่ปุ่นได้นั้น จำเป็นต้องมีกลุ่มให้สังกัดในทางใดทางหนึ่ง เมื่อสังกัดกลุ่มแล้วต้องจงรักภักดี เห็นแก่กลุ่มก่อนเรื่องส่วนตัว นอกจากนี้ คนญี่ปุ่นไม่ค่อยแสดงออกตรงๆ แต่จะระมัดระวังเรื่องการวางตัวในสังคม ชนิดบัวไม่ให้ช้ำน้ำไม่ให้ขุ่น เพื่อรักษาความสัมพันธ์ที่ดีต่อกันไว้ เพื่อรักษาหน้าตัวเองด้วย รักษาหน้าอีกฝ่ายด้วย
อย่างในกรณีนี้ สำนักพิมพ์โชงะขุคังซึ่งเป็นต้นสังกัดของคุณอาชิฮาระ กับสถานีโทรทัศน์ NTV ที่ผลิตผลงานของเธอออกมาเป็นละคร ต่างก็ถ้อยทีถ้อยอาศัยซึ่งกันและกันมานาน มีการ์ตูนของสำนักพิมพ์จำนวนมากที่ทำเป็นแอนิเมชัน ละครโทรทัศน์ หรือภาพยนตร์ จึงต้องสร้างความสัมพันธ์ที่ดีกับสถานีโทรทัศน์ไว้ ยิ่งสถานีโทรทัศน์มีเส้นสายในแวดวงต่างๆ กว้างขวาง อาจยิ่งต้องระวังเป็นพิเศษ
สมมติเกิดคุณอาชิฮาระไปฟ้องร้องดำเนินคดีกับทีมงานละครโทรทัศน์ ต่อให้ชนะขึ้นมา สำนักพิมพ์คงถูกสถานีโทรทัศน์มองแง่ลบ อาจถูกมองว่า “อยู่ไม่เป็น” คือเอาบริษัทมาเสี่ยงกับเรื่องของคนคนเดียว และไม่เห็นแก่หน้าอีกฝ่าย หากโดนแบนขึ้นมา นักเขียนคนอื่นๆ จะได้รับผลกระทบไปด้วย งานอะไรต่างๆ ของสำนักพิมพ์ที่นอกเหนือจากงานการ์ตูนก็คงพลอยดำเนินต่อไปได้ยาก และเธอคงถูกประณามว่าเป็นต้นเหตุของเรื่องทั้งหมด
ต่อให้นักเขียนการ์ตูนจะพากันชื่นชมที่เธอกล้าต่อสู้ แต่สังคมก็อาจมองว่าเธอเป็น “คนหัวร้อน” “ทำตัวเด่น” “ดื้อรั้น” “เอาเรื่องส่วนตัวมาก่อนองค์กร” อยู่ดี ซึ่งทั้งหมดเป็นลักษณะแบบที่คนญี่ปุ่นน่าจะมองว่า “ไม่ทำตัวให้กลืนกับชาวบ้านเขา” ตามสำนวนญี่ปุ่น "出る杭は打たれる" (เด-หรุ-คุย-วะ-อุ-ตา-เร-หรุ) ซึ่งหมายถึง คนที่ทำตัวเด่นจะเป็นที่รังเกียจของผู้อื่น
เพราะฉะนั้นหากเธอชนะคดีไปก็คงไม่อาจหวนกลับไปเขียนการ์ตูนอย่างที่เธอรักได้ง่ายนัก หากขาดการสนับสนุนอย่างที่ผ่านมาเธอก็คงอยู่ยาก แล้วในสังคมญี่ปุ่นนั้นการไม่มีกลุ่มให้สังกัดก็ไม่ได้ต่างอะไรจากการไร้ตัวตนในสังคม เว้นแต่ว่าเจ้าตัวจะไม่แคร์อะไรใครเลย ซึ่งคนแบบนี้คงไม่ค่อยมี
บางคนอาจจะคิดว่าถ้าได้ค่าเสียหายมหาศาลแล้วไม่ดีอย่างไร ในเมื่อสุขสบายบนกองเงินกองทองไปได้ทั้งชีวิต แต่ฉันเชื่อว่าผลงานของนักเขียนคือ “อิคิไก” ของพวกเขา มันคือตัวตน คือความภาคภูมิใจ และเป็นทุกสิ่งทุกอย่าง เมื่อสูญสิ้นโอกาสทำในสิ่งที่รักอีก ชีวิตคงมืดมนอับเฉาไปทันที
บางทีคุณอาชิฮาระเองก็อาจจะรู้สึกอย่างนี้ เธอคงเสียใจที่โดนปฏิเสธตัวตนและความภาคภูมิใจที่มี และคนตัวเล็กๆ อย่างเธอก็คงไร้กำลังจะไปต่อกรกับอิทธิพลที่ใหญ่เกินตัว เธอจึงหมดกำลังใจที่จะเขียนผลงานต่อ เพราะสิ่งที่เธอเขียนโดยตั้งใจว่าจะเป็นกำลังใจให้หลายๆ คน และทะนุถนอมมันมาเป็นอย่างดีได้แตกสลายไปหมดแล้ว แถมเธอคงรู้สึกผิดกับหลายๆ เรื่อง ทั้งสิ้นหวัง และไม่รู้ว่าควรทำอย่างไรต่อไป
มองในแง่หนึ่งการฆ่าตัวตายของเธออาจเป็นการโต้ตอบความอยุติธรรมของแวดวงนี้ ไม่อย่างนั้นสังคมไม่ตื่นตัวเสียที ปล่อยให้เจ้าของผลงานถูกเอาเปรียบเพื่อผลประโยชน์ทางการค้าต่อไปเรื่อยๆ
ตอนนี้แวดวงนักเขียนการ์ตูนพากันเรียกร้องให้สำนักพิมพ์สืบหาและเปิดเผยข้อเท็จจริงที่เกิดขึ้น เพราะยิ่งนิ่งเงียบก็ยิ่งทำให้คนระแวงเข้าไปใหญ่ และใครๆ ก็ไม่อยากทำงานให้ที่นี่อีก เพราะกลัวว่าพอเกิดปัญหาแล้วจะไม่ปกป้องนักเขียน
หากเรื่องราวทั้งหมดจะกระตุ้นให้มีการสร้างมาตรการเพื่อปกป้องเจ้าของผลงานต้นฉบับ ไม่ใช่ถูกละเมิดสิทธิโดยเรียกร้องอะไรไม่ได้อย่างที่ผ่านมาก็คงจะดี แต่อย่างไรก็ยากจะปฏิเสธว่ามีผู้มีอิทธิพลในวงการคงไม่ยอมเสียประโยชน์ง่ายๆ อีกทั้งสังคมญี่ปุ่นไม่ค่อยพูดเรื่องสิทธิมนุษยชนเสียด้วย สาเหตุคงมาจากเรื่องการให้ความสำคัญกับกลุ่มมากกว่าตัวบุคคลนี่เอง
ฉันได้แต่ไว้อาลัย และหวังว่าความตายของคุณอาชิฮาระจะไม่สูญเปล่า…
------------------------------------------------------------------------------------------------------------------------------------------------
"ซาระซัง" เธอเคยใช้ชีวิตอยู่ที่กรุงโตเกียวนานกว่า 5 ปี ปัจจุบันติดตามสามีไปทำงาน ณ สหรัฐอเมริกา ติดตามคอลัมน์ “เรื่องเล่าสะใภ้ญี่ปุ่น” ที่ MGR Online ทุกวันอาทิตย์.