สวัสดีครับผม Mr.Leon มาแล้ว เพื่อนๆ ชอบดื่มชาไหมครับ ผมเป็นคนที่ชอบดื่มชามาก จะเป็นชาเขียวญี่ปุ่นเอามาชงกับน้ำร้อน ผมจึงต้มน้ำบ่อยๆ เพื่อเอามาชงชา เท่าที่ผมมาอยู่เมืองไทยหลายปีผมสังเกตมาสักพักหนึ่งแล้วว่าเวลาผมต้มน้ำในกาจะมีตะกรันคือคราบหรือเศษตะกอนในน้ำตลอดเลย ตอนแรกผมก็สงสัยว่ามันคืออะไร? เพราะผมไม่เคยเห็นอย่างนี้ที่ญี่ปุ่นครับ
2 ปีที่แล้วที่ผมซื้อกาต้มน้ำมาใหม่ ผมต้มน้ำที่จังหวัดหนึ่งที่ผมเคยไปทำงานอยู่แล้วมันมีเศษตะกรันอย่างที่บอกไป ตอนแรกผมคิดว่าเป็นเศษที่หลุดมาจากกาต้มน้ำไหม แต่พอผมย้ายไปหลายจังหวัดแล้วเอากาต้มน้ำนี้ติดไปด้วย พอต้มน้ำเสร็จมันก็มีเศษๆ อะไรเหลืออยู่เหมือนกันทุกจังหวัดเลย เลยคิดว่าไม่ใช่เศษจากกาต้มน้ำแล้วมั้ง หรืออาจจะเป็นเพราะน้ำหรือเปล่า? พอคิดอย่างนี้ผมเริ่มรู้สึกว่ามันน่ากลัวไหมเนี่ย? ทำไมถึงมีเศษอะไรเหลืออยู่?!
เมื่อผมไปหาข้อมูลจากอินเทอร์เน็ตอ่านๆ ดูก็เห็นคนญี่ปุ่นหลายคนออกมาพูดในประเด็นเดียวกันว่ามันมีเศษอะไรเหลืออยู่ในกาต้มน้ำแบบที่ผมกลัวเลย แล้วหลายคนมาถามกันว่ามันคืออะไร?! และกลัวกันเหมือนกัน!! เมื่อลองหาข้อมูลเพิ่มเติมพบว่าน้ำประปาที่ญี่ปุ่นจะเป็นน้ำที่มีแร่ธาตุน้อย ไม่ค่อยมีความกระด้างทำให้มีความอ่อนโยนมากกว่า เวลาต้มจึงไม่มีตะกรันตกค้าง แต่ว่าที่เมืองไทยอาจจะมีแร่ธาตุต่างๆ เหลืออยู่จึงเกิดปฏิกิริยาตอนต้มกลายเป็นคราบหินปูนที่เกิดจากสารละลายต่างๆ เช่น เกลือแคลเซียม แมกนีเซียมคาร์บอเนต ซึ่งตะกรันพวกนี้จะไปจับติดกับพื้นผิวและพอกหนาขึ้นเรื่อยๆ นั่นเอง บางทีหลุดลอยอยู่ในน้ำ
สำหรับน้ำประปาที่ญี่ปุ่นในแต่ละจังหวัดแต่ละภูมิภาคจะต่างกันไปด้วยครับ น้ำประปาทั่วประเทศญี่ปุ่นมีการจัดการระบบสาธารณูปโภคด้านการประปาและระบบกรองน้ำอย่างดี ทำให้ได้น้ำคุณภาพที่สามารถดื่มได้โดยไม่ต้องกังวล น้ำในญี่ปุ่นส่วนใหญ่จึงเป็นน้ำอ่อนเป็นน้ำที่มีความกระด้างต่ำครับ
ด้วยความที่สภาพน้ำแต่ละภูมิภาคของประเทศญี่ปุ่นมีความแตกต่างกันอย่างที่บอกครับ มีตัวอย่างของพืชผลทางการเกษตรอย่างหนึ่งที่มีความพิเศษกว่าจังหวัดอื่นๆ คือ หัวไชเท้ายักษ์ครับ ถือว่าเป็นหัวไชเท้าที่ใหญ่ที่สุดในโลกที่จะเห็นได้เฉพาะที่จังหวัดคาโกชิมาเท่านั้น ไม่ว่าจะเอาไปปลูกที่ไหน หรือจังหวัดอื่นๆ ในญี่ปุ่นไม่สามารถโตใหญ่ได้เท่าที่ปลูกที่จังหวัดนี้ ว่ากันว่าส่วนหนึ่งเกี่ยวกับน้ำในดินที่มีโพแทสเซียมเยอะนั่นเอง
ซึ่งหัวไชเท้าซากุระจิมา 桜島大根 Sakurajima Daikon เป็นหัวไชเท้าที่ใหญ่ที่สุดในโลกที่ได้รับการรับรองโดย Guinness Book of Traditional Vegetables แหล่งปลูกอยู่ในจังหวัดคาโกชิมา มีน้ำหนักประมาณ 6 กก. ถึงหนัก 30 กก. มีขนาดใหญ่ และเส้นผ่านศูนย์กลางประมาณ 40-50 ซม.เลยทีเดียวครับ ใหญ่ยักษ์มากครับ
นอกจากนั้น ถ้าพูดถึงน้ำคงจะต้องพูดถึงเรื่องน้ำพุร้อนกันบ้างนิดหน่อย ที่ญี่ปุ่นมีโรงอาบน้ำพุร้อน มีรีสอร์ตน้ำพุร้อนที่มีชื่อเสียงในเกือบทุกจังหวัด ตั้งแต่ฮอกไกโดทางตอนเหนือไปจนถึงโอกินาวาทางตอนใต้ ในบรรดาเหล่านี้จังหวัดคาโกชิมาเป็นหนึ่งในแหล่งน้ำพุร้อนที่ดีที่สุดในประเทศครับ
ถ้าพูดถึงคาโกชิมา จากมุมมองของคนนอกจังหวัดอย่างผม ผมจะเห็นพื้นที่ที่มียังมีการปะทุของภูเขาไฟและเกิดควันพวยพุ่งขึ้นมาอยู่เสมอ อันที่จริงจังหวัดคาโกชิมาจะมีการคาดการณ์ฝุ่นและมีคําเตือนเรื่องอันตรายจากการปะทุของภูเขาไฟคล้ายกับการพยากรณ์อากาศประจำวันด้วย และแม้แต่ในเมืองหลวงของจังหวัดยังมีเศษละอองฝุ่น หากลองทิ้งรถไว้ข้างนอกสักพักจะพบว่ามีเถ้าถ่านร่วงหล่นเป็นสีขาวๆ บนกระจกหน้ารถ มันเหมือนหิมะแต่เป็นเถ้าภูเขาไฟครับ มีคนจังหวัดอื่นเคยเอาหัวไชเท้าซากุระจิมาไปปลูกที่อื่น แต่หัวไชเท้าจะไม่ใหญ่มากถ้าไม่ได้ปลูกด้วยดินและน้ําในพื้นที่นี้ ซึ่งอาจเกี่ยวข้องกับดินจากเถ้าภูเขาไฟและน้ำของแผ่นดินที่มีแร่ธาตุพิเศษ เพราะผักกินรากอย่างหัวไชเท้าเติบโตจากคุณลักษณะพิเศษทางธรรมชาติ ที่ทําให้รากโตใหญ่ด้วยสารอาหารหลักที่จำเป็นสําหรับพืช คือ ฟอสฟอรัส ไนโตรเจน
และโพแทสเซียมจำเป็นสําหรับการเจริญเติบโตของราก แต่ผมคิดว่าในแหล่งพื้นที่นั้นแร่ธาตุนั้นๆ ได้ละลายไปได้เกือบหมดในน้ำ น้ำที่ญี่ปุ่นจึงเป็นน้ำอ่อน และปริมาณแร่ธาตุในน้ำน้อยกว่าประเทศอื่นๆ นอกจากนี้ ยังมีทฤษฎีที่ว่าสาเหตุที่คนญี่ปุ่นมีขนาดตัวที่เล็กกว่าชาวยุโรปก็เพราะปริมาณแร่ในน้ำต่ำ แต่ไม่เกี่ยวกับน้ำพุร้อนนะครับ น้ำพุร้อนมีแร่ธาตุที่แตกต่าง
นอกจากนี้ โพแทสเซียมก็ยังเป็นส่วนผสมหนึ่งของน้ำพุร้อนอีกด้วย มีเรื่องราวเกี่ยวกับยูโนะฮานะ 湯の花 yu no hana ที่สามารถเก็บมาขายเป็นของที่ระลึกได้เสมอ ดูเหมือนว่าบางคนเข้าใจผิดว่ายูโนะฮานะเป็นขยะและสิ่งสกปรก น้ำพุร้อนในฮาโกเน่มีความร้อนใกล้ถึง 44 องศา และร้อนมากจนผมไม่สามารถลงน้ำได้ ดังนั้นผมจึงเก็บยูโนะฮานะที่ติดอยู่กับก๊อกน้ำที่ดูเหมือนขยะและนำกลับบ้านไป (: ゚д゚) วันนี้เล่าสู่กันฟังครับ พบกันใหม่สัปดาห์หน้า สวัสดีครับ