xs
xsm
sm
md
lg

“นิเซโกะ” แดนสวรรค์ของต่างชาติ โอกาสหรือหายนะของญี่ปุ่น?

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์


ภาพจาก nisekoryugaku.com
คอลัมน์ “เรื่องเล่าสะใภ้ญี่ปุ่น” โดย “ซาระซัง”

สวัสดีค่ะเพื่อนผู้อ่านทุกท่าน คนที่ชอบหิมะ สกี หรือสโนว์บอร์ดคงรู้กันดีว่า “นิเซโกะ” คือแหล่งสกีรีสอร์ตชั้นเลิศของญี่ปุ่น ที่ตอนนี้กลายเป็นเสมือนถิ่นต่างชาติไปเรียบร้อยแล้ว แม้ย่านนี้จะได้เม็ดเงินจากต่างชาติเข้ามาเป็นกอบเป็นกำ แต่ในขณะเดียวกันค่าครองชีพก็สูงขึ้นลิบลิ่ว จนคนญี่ปุ่นเองไม่สามารถไปเล่นสกีในนิเซโกะได้ง่ายเหมือนเมื่อก่อนอีก

เมืองนิเซโกะตั้งอยู่ในจังหวัดฮอกไกโด อยู่ห่างจากสนามบินเป็นระยะทาง 2 ชั่วโมงโดยรถยนต์ ขึ้นชื่อเรื่องลานสกีหิมะหนานุ่มแบบที่เรียกกันว่า “powder snow” อีกทั้งยังมีเส้นทางเล่นยาวๆ หลากหลายสำหรับฝีมือการเล่นทุกระดับ และแหล่งออนเซนให้แช่ตัวอุ่นสบายหายเหนื่อยเมื่อกลับโรงแรม นอกจากนี้ ตัวเมืองยังอยู่ใกล้ลานสกีมาก จึงสามารถเดินไปร้านค้าและร้านอาหารโดยรอบได้ ต่างจากหลายประเทศที่ลานสกีตั้งอยู่ห่างจากตัวเมือง

ยุครุ่งเรืองของการดึงดูดลูกค้าจากต่างชาติ

ในยุคเศรษฐกิจฟองสบู่ของญี่ปุ่น นิเซโกะเคยบูมมากจนต้องจองที่พักล่วงหน้าก่อนถึงฤดูกาล ไม่อย่างนั้นเต็มหมดทุกที่ แต่พอฟองสบู่แตกความนิยมเล่นสกีก็ลดลง จนคนท้องถิ่นต้องหาทางทำให้ย่านนี้กลับมาบูมอีกครั้ง ด้วยการดึงดูดนักท่องเที่ยวจากเอเชียตะวันออกอย่างฮ่องกง ไต้หวัน รวมทั้งยุโรป อเมริกา และออสเตรเลีย โดยเน้นจุดขายอยู่ที่ powder snow และฤดูสกีที่ยาวนานถึง 4 เดือนตั้งแต่เดือนธันวาคมถึงมีนาคม ในขณะที่แห่งอื่นจะอยู่ที่ประมาณ 2 เดือน นอกจากนี้ นิเซโกะยังลงทุนเปลี่ยนสมาคมท่องเที่ยวให้เป็นรูปบริษัท เพื่อให้ตัดสินใจดำเนินการอะไรต่างๆ ได้รวดเร็วกว่าให้ราชการท้องถิ่นจัดการเองทั้งหมด

ที่ผ่านมา มีบริษัทข้ามชาติจำนวนมากเข้ามาลงทุนในฮอกไกโด เมื่อมีการพัฒนาเกิดขึ้น ราคาที่ดินก็พุ่งสูงขึ้นยิ่งกว่ายุคเศรษฐกิจฟองสบู่เสียอีก และพอนักท่องเที่ยวต่างชาติเพิ่ม โรงแรมใหม่ๆ ก็ผุดขึ้นมากมาย เฉพาะในนิเซโกะเองมีโรงแรมเพิ่มขึ้น 1.5 เท่า ณ พ.ศ.2566 เมื่อเทียบกับ 4 ปีก่อนหน้าที่ช่วงนั้นยังไม่มีโควิด

ร้านอาหารแห่งหนึ่งในนิเซโกะ ภาพจาก jp.quora.com
สิบกว่าปีก่อนฉันมักเจอคนต่างชาติเป็นประจำเวลาไปนิเซโกะ แต่ยังรู้สึกว่าคนญี่ปุ่นเยอะกว่า ตอนนี้กลายเป็นว่าในฤดูสกีมีคนต่างชาติเยอะถึง 80% เลยทีเดียว ซึ่งส่วนใหญ่จะเป็นคนฝรั่ง เจ้าของร้านอาหารแห่งหนึ่งบอกว่าลูกค้าเกือบ 100% เป็นต่างชาติ คนทำงานร้านอาหารบอกว่าวันๆ ใช้ภาษาอังกฤษเกือบหมด แทบไม่ได้พูดภาษาญี่ปุ่นเลย นอกจากนี้ป้ายต่างๆ รวมทั้งตัววิ่งบอกปลายทางบนรถเมล์ก็เป็นภาษาอังกฤษ จนคนท้องถิ่นบอกว่านิเซโกะกลายเป็นต่างประเทศไปแล้ว

ลำพังใน พ.ศ.2565 มีนักท่องเที่ยวต่างชาติมานิเซโกะถึง 2.6 ล้านคน ร้านอาหารพากันแน่นขนัดจนล้น ทำให้บางคนหาอาหารกินได้ยาก ทำให้มีการตั้งย่านรถขายอาหารเพื่อให้บริการนักท่องเที่ยวกลุ่มนี้ ซึ่งมีอยู่ประมาณ 10 ร้าน ขายอาหารง่ายๆ จำพวกราเม็งวีแกน แฮมเบอร์เกอร์ ข้าวหน้าหมู คีบับ ซึ่งจะเปิดเฉพาะช่วงพีกของฤดูสกีเท่านั้น ส่วนในร้านสะดวกซื้อและร้านขายยามีไวน์ราคาแพงขายเอาใจลูกค้าต่างชาติด้วย

คว้าโอกาสขึ้นราคาสูงลิบ


ในเมื่อนักท่องเที่ยวต่างชาติหลั่งไหลเข้ามาเยอะขนาดนี้ บวกกับค่าเงินเยนที่อ่อนตัวลงซึ่งทำให้ต่างชาติรู้สึกว่าค่าครองชีพในญี่ปุ่นถูกมาก สินค้าและบริการต่างๆ ในย่านนี้จึงพากันขึ้นราคาสูงลิ่วเสียเลย โดยอ้างว่า “คนต่างชาติรู้สึกว่าราคาขนาดนี้ยังถูกกว่าบ้านเขา” อย่างอาหารพื้นๆ ที่ปกติถือเป็นของถูกสำหรับคนญี่ปุ่น เช่น ข้าวหน้าเนื้อ (ปกติไม่ถึง 500 เยน) หรือโอเด็ง (ปกติเฉลี่ย 100 เยนต่อชิ้น) ก็ราคาปาเข้าไปถึง 2 พันเยน ค่าจอดรถวันละ 2 หมื่นเยน และอื่นๆ ซึ่งราคาขนาดนี้สำหรับคนญี่ปุ่นหรือคนที่อาศัยอยู่ในญี่ปุ่นคงรู้สึกว่ารับไม่ได้ ส่วนคนฝรั่งจะบอกว่าถูกกว่าไปเล่นสกีประเทศอื่นเยอะ และราคาอาหารก็ยังถูกกว่าบ้านเขา

ภาพจาก ameblo.jp/chimupu
แล้วคนญี่ปุ่นมองเรื่องนี้อย่างไรบ้าง? บางคนก็เห็นดีเห็นงามกับการขึ้นราคาโดยมองว่าเป็นโอกาสดี ส่วนบางคนก็ว่าเป็นเรื่องน่าเศร้าที่ไม่มีหนทางอื่นนอกจากฉวยโอกาสโก่งราคากับต่างชาติ ในขณะที่บางคนอยากให้มีราคาสำหรับคนญี่ปุ่นกับราคาสำหรับต่างชาติแยกกัน ฉันเลยนึกถึงสถานที่ท่องเที่ยวบ้านเราที่เก็บเงินคนไทยกับคนต่างชาติไม่เท่ากัน ซึ่งสำหรับหลายคนรู้สึกว่าไม่ยุติธรรม เคยได้ยินว่ามีคนฝรั่งที่รู้สึกแย่กับระบบอย่างนี้เพราะรู้สึกเหมือนโดนฉวยโอกาส หรือบางทีคนไทยเป็นเจ้าบ้านพาคนต่างชาติเที่ยวก็ต้องควักสตางค์จ่ายแพงหูฉี่ พอมาเห็นคนญี่ปุ่นที่เห็นดีงามกับการขึ้นราคาสำหรับนักท่องเที่ยวต่างชาติแล้ว ก็สงสัยว่าถ้าเขาไปเมืองนอกแล้วต้องจ่ายแพงกว่าเพียงเพราะเป็น “ต่างชาติ” บ้างจะว่าอย่างไร

พอเห็นคนฝรั่งมีเงินจ่ายให้ทริปสกีสบายๆ ในขณะที่คนญี่ปุ่นหลายคนรู้สึกว่าเกินกำลังที่จะจ่ายได้ ทำให้คนญี่ปุ่นรู้สึกว่าประเทศตนจนลง มีคนหนึ่งเล่าว่าเพิ่งไปนิเซโกะมา และเจอคนนิวยอร์กเข้ามาคุยด้วย พอเธอทักว่ามาไกลโขเลยทีเดียว อีกฝ่ายบอกว่า “ก็มันถูกดี” เธอเลยอายจนพูดอะไรไม่ออก 

นอกจากนี้ มีหลายคนที่บ่นว่าต่อไปนี้คนญี่ปุ่นเองจะเที่ยวในประเทศก็ไม่สนุกแล้ว อะไรๆ ก็ขึ้นราคา เพราะจะขายแต่ต่างชาติอย่างเกียวโตก็แพงกว่าเดิมมาก ส่วนต่างประเทศไปไม่ได้อีกเพราะค่าครองชีพสูงกว่าญี่ปุ่น อีกทั้งค่าเงินเยนก็ต่ำมาก กระทั่งประเทศในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ก็ชักจะแพงสำหรับคนญี่ปุ่นไปแล้ว

ราคาอาหารในซูเปอร์มาร์เก็ตย่านนิเซโกะพุ่งกระฉูด
เศรษฐกิจดีขึ้นหรือถูกต่างชาติซื้อ?

การที่นิเซโกะเฟื่องฟูแบบนี้มีคนญี่ปุ่นหลายคนที่เป็นกังวล เช่น “ถึงจุดสิ้นสุดของญี่ปุ่นแล้ว” “เป็นเพราะต่างชาติเข้ามาลงทุนหรอก ถึงได้เฟื่องฟูแบบนี้ ไม่ใช่ว่าคนญี่ปุ่นมองการณ์ไกล แต่เห็นว่าทำเงินได้เลยเข้ามาสมทบมากกว่า” “ผู้บริหารเป็นต่างชาติ แต่คนงานเป็นญี่ปุ่น” “เหมือนการตั้งถิ่นฐานของชาวตะวันตกในโยโกฮามะและโกเบสมัยต้นเมจิเลย” “ถ้ามีที่ไหนเป็นเหมือนนิเซโกะเพิ่มขึ้นอีกละก็น่าเป็นห่วง ไม่รู้ว่าเศรษฐกิจดีจริง หรือว่าถูกต่างชาติซื้อไป รู้สึกเหมือนโดนยึดดินแดน” “กังวลว่าญี่ปุ่นกำลังกลายเป็นสาธารณรัฐกล้วย (Banana Republic) หรือเปล่านะ”  (หมายถึงประเทศที่เป็นเผด็จการ ไร้ความมั่นคง ถูกต่างชาติครอบงำ)

ในขณะเดียวกัน มีคนญี่ปุ่นจำนวนหนึ่งเอานิเซโกะไปเปรียบกับภูเก็ตบ้านเรา “เหมือนเมืองไทยเลย ภูเก็ตมีแต่คนต่างชาติกับคนไทยที่มีเงิน แต่ไทยนำหน้าญี่ปุ่นไปก่อนแล้ว”

ได้ยินมาจากคนไทยเหมือนกันว่าค่าครองชีพในภูเก็ตแพง บางคนเล่าว่าแพงกว่ากรุงเทพฯ เสียอีก แต่บางคนก็บอกว่าแล้วแต่ย่าน ถ้าเป็นนอกเมืองที่คนต่างชาติน้อยจึงราคาถูกลง ก็คงคล้ายกับนิเซโกะในมุมนี้ เพราะพอออกห่างจากย่านสกีรีสอร์ตในนิเซโกะไปเป็นกิโลๆ ค่าครองชีพก็ค่อยดูเป็นปกติ

ภาพจาก nisekoryugaku.com
ค่าแรงสูงกับโอกาสเรียนภาษาอังกฤษ

แต่ถึงแม้ค่าครองชีพในนิเซโกะจะแพง แต่ค่าจ้างพาร์ทไทม์ต่อชั่วโมงก็เพิ่มขึ้นไปด้วย ไม่ว่าจะเป็นร้านอาหาร รีสอร์ต หรือในลานสกี บางแห่งให้ค่าจ้างทำความสะอาดชั่วโมงละ 2 พันเยน (ประมาณ 500 บาท) ซึ่งสูงกว่าค่าจ้างในเมืองใหญ่ๆ เช่น โตเกียว โอซากา ถึงเกือบเท่าตัว ส่วนคนที่ทำงานประจำอยู่แล้วได้เงินเดือนสูงขึ้น แต่อาจเป็นไปได้ว่าถ้าค่าแรงสูงขึ้นเกือบเท่าหนึ่งเช่นนี้ คนทำงานอาจจะต้องมีคุณสมบัติดีหน่อย เช่น อย่างน้อยต้องพูดภาษาอังกฤษได้ เป็นต้น

ด้วยความที่นิเซโกะกลายสภาพเป็นเมืองต่างชาติไปแล้วเช่นนี้เอง เลยเกิดคำว่า “เรียนต่างประเทศที่นิเซโกะ” ขึ้นมา คือมีคนญี่ปุ่นไปเรียนภาษาอังกฤษกับอาจารย์ต่างชาติในนิเซโกะเยอะขึ้น ซึ่งการเรียนที่นี่มีข้อได้เปรียบคือมีโอกาสได้ใช้ภาษาทุกวันเพราะนักท่องเที่ยวต่างชาติเยอะ อีกทั้งยังง่ายกว่าไปเรียนต่างประเทศจริงๆ เพราะไม่ต้องใช้พาสปอร์ต ไม่ต้องขอวีซ่า ปลอดภัยสบายใจด้วย หรือบางคนก็อาศัยไปทำงานพาร์ทไทม์ในรีสอร์ตสกี ได้ทั้งค่าจ้างสูงๆ มีที่ให้พัก และได้ฝึกภาษาไปในตัว เหมือนยิงปืนนัดเดียวได้นกหลายตัว

ความเฟื่องฟูของนิเซโกะมีทั้งข้อดีข้อเสียสำหรับแต่ละคนต่างกันไป ทว่าหากญี่ปุ่นหวังกระตุ้นเศรษฐกิจโดยอาศัยนักท่องเที่ยวต่างชาติเป็นหลักไปเรื่อยๆ ก็น่าเป็นห่วงเรื่องความยั่งยืนอยู่เหมือนกัน เพราะต้องพึ่งพาปัจจัยภายนอกเยอะ อีกทั้งยังอาจต้องแลกกับการสูญเสียวัฒนธรรมดั้งเดิมและวิถีชีวิตของคนท้องถิ่นบางอย่างไปด้วย.
------------------------------------------------------------------------------------------------------------------------------------------------
"ซาระซัง"  เธอเคยใช้ชีวิตอยู่ที่กรุงโตเกียวนานกว่า 5 ปี ปัจจุบันติดตามสามีไปทำงาน ณ สหรัฐอเมริกา ติดตามคอลัมน์ “เรื่องเล่าสะใภ้ญี่ปุ่น” ที่ MGR Online ทุกวันอาทิตย์.


กำลังโหลดความคิดเห็น