xs
xsm
sm
md
lg

"โอโตนะคาวาอี้" ลุคน่ารักของผู้หญิงญี่ปุ่นที่เลยวัยสาว

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์


ภาพจาก cancam.jp
คอลัมน์ “เรื่องเล่าสะใภ้ญี่ปุ่น” โดย “ซาระซัง”

สวัสดีค่ะเพื่อนผู้อ่านทุกท่าน ครั้งแรกที่ฉันเห็นคำว่า “โอโตนะคาวาอี้” (大人可愛い) อยู่บนปกนิตยสารสำหรับผู้หญิงวัย 30-40 ปี ก็ได้แต่ขมวดคิ้ว “‘ผู้ใหญ่น่ารัก’ เนี่ยนะ?” เพราะรู้สึกว่า “น่ารัก” เป็นคำสำหรับเด็กหรือเด็กสาว ส่วน “ผู้ใหญ่น่ารัก” ชวนให้นึกถึงผู้หญิงที่เลยวัยสาวแล้วแต่ยังอยากแอ๊บแบ๊ว แต่ที่จริงคำนี้ดูเหมือนจะไม่ได้หมายความอย่างที่ฉันคิดในตอนแรก

คำว่า “โอโตนะคาวาอี้” ดูเหมือนจะเพิ่งเกิดมาในช่วงปลายทศวรรษ 2000 นี้เอง เป็นการตลาดอย่างหนึ่งเพื่อสร้างกระแสแฟชั่นประเภทใหม่สำหรับผู้หญิง ทว่าในหมู่ผู้หญิงญี่ปุ่นเองก็ตีความคำว่า “โอโตนะคาวาอี้” ไม่เหมือนกัน ให้เพื่อนผู้อ่านทายว่าจาก 3 ความเห็นข้างล่างนี้ ความเห็นใดใกล้เคียงความหมายของคำนี้มากที่สุด

“คือถึงจะเป็นผู้ใหญ่แล้ว แต่จิตใจยังไม่โต เลยสวมแฟชั่นแบบเด็กสาวเพื่อให้ดูว่าตัวเองน่ารัก หรือยังสวมเสื้อผ้าสีชมพูหวานแหวว”

“หมายถึงแฟชั่นสำหรับสาววัยรุ่นปลายๆ จนถึงวัย 20 ที่อยากเลิกแต่งตัวแนวเจ้าหญิง (เช่น ชุดกระโปรงฟูฟ่อง มีจีบระบาย) แล้วหันมาแต่งตัวให้ดูเป็นผู้ใหญ่ขึ้นหน่อย แต่ยังคงความน่ารักไว้”

“น่าจะเป็นแฟชั่นสำหรับผู้หญิงวัย 30 ขึ้นไปที่ไม่อาจแต่งตัวแบบวัยรุ่นได้อีก แต่ยังคงความน่ารักในแบบที่เหมาะกับผู้ใหญ่ เช่น อาจจะแขนเสื้อมีระบาย กางเกงพองๆ กระโปรงถ้าสั้นสุดก็คือคลุมเข่า มีลายดอกไม้ ถ้าเป็นสีชมพูก็ใช้โทนที่รับกับสีเทาหรือสีเนื้อ อะไรพวกนี้”

มัตสึชิมะ นานาโกะ ภาพจาก candy-room.net
คำตอบคือข้อสุดท้ายนี้เองค่ะ “โอโตนะคาวาอี้” ไม่ได้หมายถึงแฟชั่นของคนอยากดูเป็นเด็กสาวทั้งที่อายุเลยวัย รวมทั้งไม่ได้หมายถึงแฟชั่นของวัยรุ่นที่อยากดูเป็นผู้ใหญ่ด้วย แต่หมายถึงการแต่งตัวของผู้หญิงในวัยผู้ใหญ่ที่ดูไม่ป้าไป ไม่เด็กไป แต่มีความน่ารักที่ดูดีสมวัย มีทั้งลุคหวานแบบผู้ยิ้งผู้หญิง ลุคลำลองสบายๆ และลุคแบบคนทำงาน

ถ้าให้ยกตัวอย่างดาราญี่ปุ่นที่ดู “โอโตนะคาวาอี้” ก็คงจะเป็น มัตสึชิมะ นานาโกะ (ภาพบน) เธอมีทั้งความน่ารักแบบผู้หญิงหวานๆ แต่ก็ดูสุขุมเป็นผู้ใหญ่ ในทางตรงข้าม มัตสึดะ เซโกะ (ภาพล่าง) ไม่ถือว่าอยู่ในเกณฑ์ แต่จะเป็นแนว “คาวาอี้” ที่น่ารักแบบเด็กสาวแทน

มัตสึดะ เซโกะ ภาพจาก zakzak.co.jp
ฉันเคยเห็นผู้หญิงทั้งคนไทยและญี่ปุ่นที่อยู่ในวัย 40 ปลายๆ หรือเลย 50 ไปแล้ว แต่ยังแต่งตัวด้วยเสื้อผ้าวัยรุ่น บางคนอาจถูกตำหนิว่าแต่งตัวไม่สมวัย แต่ในความเห็นฉันว่าน่าจะแล้วแต่กรณี คืออย่างบางคนหน้าเด็ก แถมยังไม่ค่อยมีรอยย่น ตีนกา หรือผมหงอก และมีความร่าเริงสดใส ถ้าใส่เสื้อผ้าวัยรุ่นแล้วเข้ากับบุคลิก ก็ไม่น่าจะเป็นอะไร คงดีกว่าแต่งตัวให้ดูมีอายุแน่นอน แต่ถ้าคนไหนไม่เหมาะกับแฟชั่นวัยรุ่นแล้ว ในขณะเดียวกันก็ไม่อยากดูแก่ แนว “โอโตนะคาวาอี้” ก็อาจเป็นทางออกหนึ่ง

ที่จริงคนฝรั่งเองที่แต่งตัวแนวโอโตนะคาวาอี้ก็มีเหมือนกัน และทั่วโลกก็คงมีเสื้อผ้าที่เข้าข่ายนี้ได้ เพียงแต่อาจจะไม่มีคำเรียกแฟชั่นแนวนี้โดยเฉพาะเหมือนญี่ปุ่น ตัวอย่างเช่น ชุดกระโปรงสำหรับฤดูร้อน กางเกงเอี๊ยมผ้าฝ้าย จัมพ์สูทหลวมๆ ทำจากผ้าทิ้งตัว เสื้อเชิ้ตหลวมๆ และกางเกงผ้าลินิน เป็นต้น

ภาพจาก beautifullyseaside.com
ฉันเคยเห็นสาวฝรั่งผมทองคนหนึ่งสวมเสื้อคาร์ดิแกนสีกรมท่า กระโปรงทรงเอสีขาวยาวคลุมถึงหน้าแข้ง และรองเท้าส้นสูงหุ้มส้น เธอดูดีมากทีเดียว และทำให้ฉันนึกถึงแฟชั่นผู้หญิงอเมริกันยุค 1950-1960 ที่สวมชุดเดรสหรือกระโปรงดูหวานๆ สมเป็นผู้หญิง แบบนี้ก็น่าจะเรียกเป็นแนวโอโตนะคาวาอี้ได้

สำหรับคนญี่ปุ่นแล้ว หลายคนมองว่าสีชมพูหวานๆ ไม่เหมาะสำหรับคนวัยผู้ใหญ่ แต่ฉันเห็นคนฝรั่งทั้งหญิงชายที่เป็นผู้ใหญ่แต่สวมสีชมพูขึ้นมีเยอะแยะออก อย่างโดโรเรส อัมบริดจ์ อาจารย์สุดโหดในแฮรี่พ็อตเตอร์ก็ดูเหมาะกับสีชมพูหวานๆ ดีทั้งที่เป็นหญิงมีอายุ เพราะฉะนั้นเรื่องสี หรือสไตล์จะเหมาะหรือไม่เหมาะกับใคร ก็น่าจะแล้วแต่เป็นคนคนไป

ภาพจาก twitter.com/PotterWorldUK
ส่วนฉันกับเพื่อนสาวคนไทยที่รู้จักกันที่อเมริกาชอบกระโปรงยาวพอดีเข่า แต่ไม่ค่อยมีโอกาสได้ใส่ เพราะพอวันไหนสวมจะโดนคนที่บ้านถามว่า “จะไปไหน?” หรือถ้าไปเจอเพื่อนๆ คนอื่นเขาก็มักแต่งตัวตามสบาย สวมเสื้อยืดหรือสเวตเตอร์ กางเกงยีนส์ รองเท้าผ้าใบกัน ถ้าตัวเองสวมกระโปรงมาอยู่คนเดียวอาจโดนเพื่อนถามอีกว่า “ไปไหนมาเหรอ” และรู้สึกเหมือนตัวเองแต่งตัวเกินความจำเป็น และแล้วกระโปรงแสนรักเลยได้แต่แช่อิ่มอยู่ในตู้เสื้อผ้าจนมันกลายเป็นแฟชั่นเลยวัยในที่สุด และฉันต้องโบกมืออำลาพวกมันไปด้วยความอาลัย

พูดถึงเรื่องเลยวัยแล้ว นึกถึงอดีตเพื่อนร่วมงานชาวอเมริกันที่เคยกังวลเรื่องแฟชั่นเลยวัยของลูกสาว เธอบ่นว่า “เฮ้อ ลูกสาวฉันยังชอบชุดเจ้าหญิงอยู่เลย ไม่รู้จักโตสักที” ฉันถามว่า “ลูกอายุเท่าไหร่” เธอตอบ “8 ขวบ” ฉันหัวเราะ “แค่ 8 ขวบเอง ก็เหมาะกับวัยเขานี่ ถ้าเขาอายุ 20 แล้วยังชอบอยู่นี่สิ เธอค่อยกลุ้ม” จะว่าไปแล้วก็อยากรู้เหมือนกันว่าเธอจะคิดอย่างไร หากทราบว่าญี่ปุ่นมีแฟชั่นแนวโลลิต้า ซึ่งเป็นที่่นิยมสำหรับวัยรุ่นไปจนถึงผู้ใหญ่บางกลุ่ม (แนวนี้ไม่จัดว่าเป็น “โอโตนะคาวาอี้” นะคะ)

แฟชั่นแนวโลลิต้า ภาพจาก popsitecute.theshop.jp
ทำไมคนญี่ปุ่นถึงชอบความ “น่ารัก”

ฉันไม่ค่อยเห็นคนอเมริกันที่โตแล้วสนใจแต่งตัวให้ดูน่ารักกันสักเท่าไหร่ คงเพราะอยากดูเป็นผู้ใหญ่มากกว่าดูเป็นเด็กๆ แต่คนญี่ปุ่นดูจะนิยมความน่ารักเป็นพิเศษ จนคนฝรั่งคนหนึ่งถึงกับตั้งข้อสังเกตว่า “ผู้หญิงที่สดใส ใจดี และไม่เคยลืมความน่ารักของตัวเองไม่ว่าจะอายุเท่าไหร่ก็ตาม เป็นสิ่งที่คนญี่ปุ่นปรารถนา แต่สำหรับชาวต่างชาติแล้วมองว่าพวกเธอดูเหมือนเด็กๆ”

แม้คนเราอาจจะอยากมองสาวสวยจนเหลียวหลัง แต่ถ้าถามว่าชอบแบบไหนมากกว่าระหว่าง “สาวสวย” กับ “สาวน่ารัก” คนญี่ปุ่นหลายคนบอกว่า ถ้าดูจากรูปลักษณ์ภายนอกแล้ว ชอบสาวสวยมากกว่า แต่ถ้าให้เลือกเป็นแฟนก็อยากได้คนที่อยู่ด้วยแล้วชื่นใจสบายใจ เพราะฉะนั้นแทนที่จะมองหาสาวสวยที่อาจดูเหมือนดอกฟ้าไกลเกินเอื้อม จึงสนใจสาวน่ารักที่ทำความรู้จักได้ง่ายกว่าและให้ความรู้สึกคุ้นเคย ซึ่งความรู้สึกแบบนี้เองที่ทำให้คนเกิดความรู้สึกโรแมนติกกับคนที่สนิทสนมหรือมีอะไรคล้ายกัน นอกจากนี้ สาวน่ารักยังมีความเป็นเด็กๆ ที่กระตุ้นให้ผู้ชายเกิดความรู้สึกปกป้องด้วย

การที่ผู้หญิงน่ารักดูจะเป็นที่หมายปองมากกว่าเช่นนี้ อาจมีส่วนอยู่บ้างที่ทำให้ผู้หญิงญี่ปุ่นอยากแต่งตัวให้มีความน่ารักเอาไว้ หรือบางคนก็จงใจแสดงท่าทางให้ดูเป็นเด็กๆ บางเว็บไซต์ถึงกับแนะนำว่าถ้าผู้หญิงคนไหนกำลังหาแฟนหรือหาคู่แต่งงาน ก็ให้ลองศึกษาวิธีแต่งหน้าแนวน่ารัก หรือสร้างบุคลิกที่ดูน่ารักไว้ จะมีชัยกว่า

แต่แน่นอนว่าผู้หญิงหลายคนไม่ว่าจะอยู่ในวัยไหนก็ยังชอบของน่ารัก อยากแต่งตัวน่ารัก ดังนั้น การที่มีแฟชั่นแนวโอโตนะคาวาอี้ออกมาก็คงตอบโจทย์ความต้องการของผู้หญิงกลุ่มนี้ได้ดี ไม่อย่างนั้นคงไม่ได้เป็นที่นิยมทั่วไปอย่างที่เห็นทุกวันนี้

สัปดาห์นี้ลาไปแต่เพียงเท่านี้นะคะ แล้วพบกันใหม่สัปดาห์หน้า สวัสดีค่ะ.
------------------------------------------------------------------------------------------------------------------------------------------------
"ซาระซัง"  เธอเคยใช้ชีวิตอยู่ที่กรุงโตเกียวนานกว่า 5 ปี ปัจจุบันติดตามสามีไปทำงาน ณ สหรัฐอเมริกา ติดตามคอลัมน์ “เรื่องเล่าสะใภ้ญี่ปุ่น” ที่ MGR Online ทุกวันอาทิตย์.


กำลังโหลดความคิดเห็น