xs
xsm
sm
md
lg

จากความสิ้นหวังสู่การพัฒนา : แรงบันดาลใจจากชาวฟุกุชิมะนักสู้

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์


ภาพจาก blog.livedoor.jp/ojiya_genki
คอลัมน์ “เรื่องเล่าสะใภ้ญี่ปุ่น” โดย “ซาระซัง”

สวัสดีค่ะเพื่อนผู้อ่านทุกท่าน นับตั้งแต่เกิดอุบัติเหตุโรงไฟฟ้านิวเคลียร์ระเบิด จังหวัดฟุกุชิมะก็ประสบวิกฤตซ้ำซ้อนมากมายจนกระทบการใช้ชีวิตของชาวบ้านจำนวนมาก บางพื้นที่กลายเป็นเมืองร้าง บางอาชีพท้องถิ่นก็ทำไม่ขึ้นอีกต่อไป ทว่าแม้เศรษฐกิจบางส่วนของฟุกุชิมะจะซบเซา แต่ชาวฟุกุชิมะไม่ใช่คนที่ล้มแล้วยอมแพ้ แต่ลุกขึ้นสู้ใหม่ซ้ำแล้วซ้ำเล่า

ฟุกุชิมะเป็นจังหวัดใหญ่เป็นอันดับ 3 ของญี่ปุ่น ก่อนเกิดภัยพิบัติเมื่อ พ.ศ.2554 ฟุกุชิมะมีผลผลิตในภาคการผลิตสูงเป็นอันดับหนึ่งของภูมิภาคโทโฮขุ มีแหล่งอุตสาหกรรมหลายแห่งซึ่งเน้นการออกแบบและผลิตชิ้นส่วนอิเล็กทรอนิกส์ และยังเป็นที่เลื่องชื่อด้านเกษตรกรรมและการประมง ผลผลิตสำคัญได้แก่ ข้าว ลูกท้อ สาลี่ ลูกพลับ เชอรี่ องุ่น แอปเปิล เนื้อวัว อาหารทะเล เหล้าสาเกระดับพรีเมียม และยังเป็นต้นตำรับของ “ราเม็งคิตะคาตะ” ซึ่งเป็นหนึ่งในสามราเม็งดังของญี่ปุ่น (อีกสองชนิดคือ ราเม็งฮาคาตะ และราเม็งฮอกไกโด) เรียกว่า จังหวัดฟุกุชิมะเป็นหนึ่งในอู่ข้าวอู่น้ำสำคัญของประเทศญี่ปุ่นก็ว่าได้

เรื่องเล่าจากคนไปเยือนฟุกุชิมะ

เมื่อปีกลายเพื่อนฉันไปเป็นล่ามให้หน่วยงานหนึ่งในฟุกุชิมะ ซึ่งเชิญตัวแทนบริษัทท่องเที่ยวจากต่างประเทศมาศึกษาดูงาน เพื่อนเล่าให้ฟังว่า ทั้งสงสารและทึ่งในความพยายามของชาวฟุกุชิมะที่สู้ชีวิตแม้จะเจออุปสรรคมากมาย เช่น โรงเหล้าสาเกในพื้นที่เจอสึนามิถล่มแต่พยายามตั้งขึ้นมาใหม่ ที่พักหรือสถานที่ท่องเที่ยวก็ซ่อมแซมไปเยอะ แต่ทำไปลูกค้าก็ไม่กลับมา ซึ่งแรกๆ เป็นเรื่องที่พวกเขาทำใจไม่ได้เลย

ตามพื้นที่ชายฝั่งทะเลได้รับผลกระทบมาก อย่างเมืองโซมะ มีแหล่งเรียวคัง (โรงแรมแบบญี่ปุ่น) ทั้งที่รีโนเวตและสร้างใหม่ แต่ไม่มีลูกค้า ผู้ประกอบการพยายามรวมตัวทำกิจกรรมเพื่อให้คนกลับมาเที่ยว เช่น ถ้าพักในเรียวคังของเขาจะได้รับประทานบาร์บีคิวอาหารทะเลที่เพิ่งตกได้มาปิ้งย่าง ซึ่งสดมากและให้เต็มที่ มีอีเวนต์ให้นักท่องเที่ยวมาสนุกกับคนในท้องถิ่น แต่ยังมีอุปสรรคคือ ชาวเมืองยังพูดภาษาอังกฤษไม่ค่อยได้ จึงสื่อสารกับคนต่างชาติไม่เข้าใจมากนัก

แถบทะเลบางจุดเคยเป็นแหล่งตกปลาชั้นดีของคนญี่ปุ่น มีปลาเข้ามาเยอะมาก เหวี่ยงเบ็ดไปก็ได้ปลาเลย เพื่อนฉันไปดูริมทะเลเห็นปลาเยอะจริง ธรรมชาติยังสมบูรณ์ นอกจากนี้ทางจังหวัดยังพยายามตรวจสอบข้าวและอาหารทะเลทุกล็อต เพื่อให้แน่ใจว่าไม่มีอันตราย แต่ว่าแม้แต่คนญี่ปุ่นเองก็ไม่อยากรับประทานอาหารฟุกุชิมะ กระทั่งร้านซูชิไม่กล้าใช้อาหารทะเลของฟุกุชิมะ เพราะต้องใช้เวลาในการตรวจสอบ จึงอาจสูญเสียความสดใหม่ แต่ถ้าเอาของฮอกไกโดมาคนจะสบายใจ

ในเมื่อญี่ปุ่นได้ชื่อว่าเข้มงวดเรื่องคุณภาพ และมีความภาคภูมิใจกับอาชีพที่ตัวเองทำ หากเขาบอกว่าตรวจสอบแล้วว่าอาหารเขาปลอดภัย ฉันคิดว่าน่าจะเป็นอย่างนั้นจริง เผลอๆ อาจปลอดภัยกว่าอาหารบ้านเราไม่รู้กี่เท่า เพราะของเราปล่อยให้แช่ฟอร์มาลีนกันแบบไม่สนใจว่าใครกินแล้วจะเป็นอะไร และที่น่าเศร้าคือรัฐบาลไม่สามารถขจัดปัญหานี้ได้ กลายเป็นว่าผู้บริโภคต้องปกป้องตัวเอง อีกหน่อยพอตายแล้ว ศพของพวกเราคงไม่เน่าเปื่อย เพราะอิ่มเอิบด้วยฟอร์มาลีน

ภาพจาก huffingtonpost.jp
ฟุกุชิมะที่หวังพัฒนาแต่ล้มซ้ำแล้วซ้ำเล่า

ในอดีตจังหวัดฟุกุชิมะเคยติดตั้งป้ายสโลแกน “พลังงานนิวเคลียร์เพื่ออนาคตที่สดใส” ไว้หน้าถนนชอปปิ้งของเมืองฟุตาบะ สมัยก่อนจังหวัดฟุกุชิมะคาดการณ์ไว้ว่าหากมีโรงไฟฟ้านิวเคลียร์จะนำการพัฒนามาสู่ภูมิภาคไปด้วย แต่ราว 60 ปีหลังการก่อสร้าง โรงไฟฟ้านิวเคลียร์ฟุกุชิมะไดอิจิก็ระเบิดขึ้น เกิดปัญหารังสีรั่วไหล ทำให้ต้องรื้อถอนโรงไฟฟ้าซึ่งคาดว่าจะใช้เวลาไม่ต่ำกว่า 40 ปี

อุตสาหกรรมเศรษฐกิจหลัก เช่น เกษตรกรรม การผลิต และการท่องเที่ยวเสียหาย ลูกค้าหนี ขาดคนงาน และธุรกิจปิดตัว ที่แย่ที่สุดคือ "เสียชื่อ" ผ่านมาเกือบ 13 ปีแล้วคนยังกังวลเรื่องรังสีปนเปื้อน แม้หน่วยงานของจังหวัดจะตรวจสอบรังสีปนเปื้อนในผลผลิตการเกษตรและอาหารทะเลอย่างเข้มงวดแล้วก็ตาม ความกังวลเรื่องรังสีปนเปื้อนเป็นอุปสรรคร้ายแรง และเป็นปัญหาสำคัญที่ทำให้ฟุกุชิมะฟื้นตัวช้า

มิหนำซ้ำฟุกุชิมะยังถูกซ้ำเติมด้วยวิกฤตโควิด แม้จะโปรโมตการท่องเที่ยวฟุกุชิมะในต่างประเทศในโอกาสที่ญี่ปุ่นเป็นภาพโอลิมปิก 2020 และสร้างสนามแข่งกีฬาโอลิมปิกไว้ แต่การระบาดของโควิดในเวลานั้นทำให้มีเพียงนักกีฬาที่เข้าแข่ง แต่ไร้ผู้เข้าชมทั้งจากในและต่างประเทศ ดังนั้น แทนที่โอลิมปิกจะสร้างความคึกคัก ภาพลักษณ์ที่ดี และกระตุ้นเศรษฐกิจ ฟุกุชิมะต้องเสียโอกาสนั้นไปอีกครั้ง

“โออุจิ-จุขุ” อาคารโบราณที่ยังอนุรักษ์ไว้ อยู่ในเมืองไอสึ-วากามัตสึ จังหวัดฟุกุชิมะ ภาพจาก tohokukanko.jp
แต่ขึ้นชื่อว่าเป็นชาวญี่ปุ่นแล้วย่อมพยายามทำทุกอย่างให้ดีที่สุดเท่าที่จะทำได้ พวกเขาหันมาปรับกรอบความคิดใหม่ โดยเน้นสร้างกลยุทธ์ที่ยืดหยุ่นแต่ยั่งยืนในระยะยาวเพื่อลูกหลานในอนาคต

หันมาใช้พลังงานหมุนเวียน

ก่อนเกิดภัยพิบัติจังหวัดฟุกุชิมะเคยเป็นหนึ่งในผู้จ่ายไฟฟ้าหลักให้เมืองใหญ่ๆ ของญี่ปุ่น แต่หลังเกิดภัยพิบัติ พลังงานนิวเคลียร์ถูกคว่ำบาตร จังหวัดฟุกุชิมะเลยเปลี่ยนมาวิจัยและพัฒนาพลังงานหมุนเวียนแทน จะได้เป็นแหล่งพลังงานที่ปลอดภัยและยั่งยืน โดยไม่ต้องพึ่งพลังงานนิวเคลียร์หรือพลังงานนำเข้า

ทางจังหวัดเน้นพลังงานแสงอาทิตย์เป็นพิเศษ นอกจากจะจัดสรรพื้นที่ขนาดใหญ่ให้โรงไฟฟ้าพลังงานแสงอาทิตย์แล้ว รัฐกับองค์กรพัฒนาเอกชนยังมีนโยบายรับซื้อไฟฟ้าจากพลังงานหมุนเวียน (Feed-in Tariff หรือ FIT) ด้วย จึงส่งเสริมให้ชาวบ้านติดตั้งแผงโซลาร์เซลล์ในบ้านและไร่นาของตน ซึ่งเงินที่ลงทุนและกำไรที่ได้จากพลังงานหมุนเวียนในฟุกุชิมะจะสามารถหมุนเวียนได้เฉพาะในจังหวัดเท่านั้น นโยบายนี้จะช่วยส่งเสริมอุตสาหกรรมอื่นๆ ที่เกี่ยวข้อง และสร้างโอกาสในการทำงานให้คนในท้องถิ่น และช่วยฟื้นฟูฟุกุชิมะได้

ภาพจาก agri-agri.work
นวัตกรรมเกษตรกรรมไร้ดิน

น่าเศร้าอย่างยิ่งที่หลังเกิดอุบัติเหตุโรงไฟฟ้า นาข้าวบริเวณใกล้เคียงได้รับรังสีปนเปื้อนสูงจนเกษตรกรต้องอพยพออกไป แม้ว่าบางคนสามารถใช้ที่ดินได้ แต่หลายคนต้องหางานอื่นทำ ส่วนเกษตรกรที่สามารถผลิตพืชผลได้ ก็ยังลำบากในการขายเพราะคนกลัวรังสีปนเปื้อน เกษตรกรผู้หนึ่งกล่าวว่า “ภัยพิบัติทำลายบ้านและวิถีชีวิตผมไป ผมไม่เหลืออะไรเลย ไม่รู้วิธีทำมาหากินแบบอื่น และไม่มีบ้านให้อยู่ แต่ผมยังคงเดินหน้าต่อไปและพยายามคิดในแง่บวกไว้”

แต่อย่างไรก็ตาม มีการแก้ปัญหาขาดแคลนที่ดินเพราะรังสีปนเปื้อน ด้วยการใช้นวัตกรรมเกษตรแบบไร้ดิน ช่วยให้การเพาะปลูกปลอดภัยและยั่งยืนในสภาพแวดล้อมที่มีการควบคุม ซึ่งขจัดความเสี่ยงของการปนเปื้อนรังสีได้อย่างมีประสิทธิภาพ จึงช่วยให้เกษตรกรบางส่วนสามารถฟื้นฟูวิถีชีวิตของตัวเองได้ อีกทั้งยังสร้างแหล่งอาหารที่ปลอดภัยและเชื่อถือได้สำหรับชาวฟุกุชิมะ แต่ข้อเสียคือมีค่าใช้จ่ายสูง

พัฒนาเทคโนโลยีชั้นสูงและหุ่นยนต์

จังหวัดฟุกุชิมะกล้าหาญถึงกับคิดเปลี่ยน “ความท้าทาย” ให้เป็น “ความเชี่ยวชาญ” ในการบรรเทาภัยพิบัติเลยทีเดียว หนึ่งในโครงการคือการพัฒนาหุ่นยนต์เพื่อใช้ยามเกิดภัยพิบัติ เช่น ใช้ดับเพลิง ช่วยเหลือผู้ประสบภัย และกำจัดซากปรักหักพัง การใช้หุ่นยนต์ยังช่วยให้การรื้อถอนโรงไฟฟ้านิวเคลียร์ฟุกุชิมะ ไดอิจิมีประสิทธิภาพมากขึ้นด้วย

ไม่เพียงเท่านั้นฟุกุชิมะยังพัฒนาจังหวัดตัวเองโดยมองอนาคตของประเทศไปพร้อมกัน เช่น ญี่ปุ่นมีประชากรสูงวัยมากขึ้น เลยพัฒนาหุ่นยนต์ด้านการแพทย์เพื่อรักษาพยาบาลคนชรา และเพื่อให้ประชาชนมีรายได้สูงขึ้น มีการพัฒนาเทคโนโลยีกับหุ่นยนต์เพื่อใช้ในการเกษตร การผลิตและขนส่งจะได้มีประสิทธิภาพสูงขึ้น

ทางจังหวัดมองการณ์ไกลเช่นนี้เอง จึงพยายามสร้างบุคลากรท้องถิ่นให้มีความรู้ด้านเทคโนโลยี และดึงดูดผู้เชี่ยวชาญทั้งในระดับประเทศและระดับนานาชาติมาพัฒนาร่วมกัน

หุ่นยนต์ที่ใช้ในการเก็บกวาดซากและรื้อถอนโรงไฟฟ้านิวเคลียร์ฟุกุชิมะ ภาพจาก science.org
กระตุ้นการท่องเที่ยว

ฟุกุชิมะอยากสร้างการท่องเที่ยวที่ยั่งยืน สร้างงาน และสร้างสมดุลระหว่างความต้องการของชาวบ้านกับนักท่องเที่ยว จึงเอาทรัพยากรที่มีอยู่มาใช้ประโยชน์ เช่น สถานที่ท่องเที่ยวทางธรรมชาติ ประวัติศาสตร์ วัฒนธรรม งานเทศกาลท้องถิ่น รวมทั้งฟื้นฟูสถานที่ท่องเที่ยวและแหล่งชอปปิ้งเดิมให้ดีขึ้น เพื่อรองรับนักท่องเที่ยวต่างชาติ

ที่น่าสนใจคือ ฟุกุชิมะยังพยายามทำให้ “ข้อเสีย” ของจังหวัดมาเป็น “โอกาส” ด้วยการเอาเมืองตนเองมาเป็นแม่แบบว่าเจอเหตุร้ายและผ่านมาอย่างไรบ้าง มีการออกแบบทัวร์ที่ให้ความรู้เรื่องปัญหาสิ่งแวดล้อม มลพิษจากกัมมันตรังสี และการฟื้นตัวจากภัยพิบัติ มีทั้งอนุสรณ์สถานซึ่งบอกเล่าเรื่องราวภัยพิบัติ โรงเรียนร้างที่ยังคงสภาพเดิมหลังโดนสึนามิทำลาย ชาวบ้านเล่าว่าอยากให้คนนอกรู้เรื่องราวที่เกิดขึ้นกับฟุกุชิมะ อยากให้เห็นถึงความเข้มแข็งและความมุ่งมั่นของพวกเขาที่เอาชนะความทุกข์ยากมากมาย และยังคงเดินต่อไปข้างหน้า

เชื่อว่าการท่องเที่ยวจะเป็นวิธีหนึ่งที่ช่วยฟื้นฟูและสร้างงานใหม่ในฟุกุชิมะได้ เพราะหากมีงานให้ทำ ชาวฟุกุชิมะจะกลับมาบ้านเกิด ซึ่งการที่คนท้องถิ่นกลับคืนสู่ภูมิลำเนานั้นจะช่วยเสริมสร้างและรักษาวัฒนธรรมและชุมชนดั้งเดิมของพวกเขาเอาไว้ได้ด้วย

เทศกาลโซมะ-โนะ-มะโอย ของเมืองมินามิโซมะ ที่มีความเป็นมายาวนานกว่าพันปี
สำหรับฟุกุชิมะแล้ว แม้จะเจอเรื่องร้ายๆ มามากเพียงใด แต่หาทางฟื้นฟูอย่างยั่งยืนและสร้างสรรค์ผ่านความยืดหยุ่นและเรียนรู้สิ่งใหม่ หาทางสร้างงานให้คนท้องถิ่นโดยใช้ทรัพยากรที่มีอยู่ให้เป็นประโยชน์ และยังสร้างนวัตกรรมใหม่ๆ ที่จะไม่เพียงให้ประโยชน์กับท้องถิ่นเอง แต่ยังจะเป็นประโยชน์กับญี่ปุ่น และกับโลกต่อไปด้วย

ถ้าวันหนึ่งฟุกุชิมะพัฒนาไปถึงจุดที่ยืนหยัดได้ด้วยตัวเองแล้ว น่าจะเรียกได้ว่าเป็นเมือง “แม่แบบ” แห่งการฟื้นฟูและพัฒนาที่น่าศึกษาเรียนรู้ เมืองแห่งภัยพิบัติอาจกลายเป็นเมืองแห่งนวัตกรรม ฟุกุชิมะมีอะไรที่ให้ข้อคิดเยอะ และเป็นแรงบันดาลใจของการสู้ชีวิตอันน่าทึ่ง

ต้องขอบคุณเพื่อนที่เก็บเรื่องมาเล่าให้ฉันฟัง วันนี้เลยได้มีเรื่องความเข้มแข็งของชาวฟุกุชิมะมาบอกต่อกับเพื่อนผู้อ่านค่ะ แล้วพบกันสัปดาห์หน้านะคะ.
------------------------------------------------------------------------------------------------------------------------------------------------
"ซาระซัง"  เธอเคยใช้ชีวิตอยู่ที่กรุงโตเกียวนานกว่า 5 ปี ปัจจุบันติดตามสามีไปทำงาน ณ สหรัฐอเมริกา ติดตามคอลัมน์ “เรื่องเล่าสะใภ้ญี่ปุ่น” ที่ MGR Online ทุกวันอาทิตย์.


กำลังโหลดความคิดเห็น