xs
xsm
sm
md
lg

จัดบ้านครั้งเดียวสำเร็จ เบ็ดเสร็จบ้านรกไม่รีเทิร์น

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์


ภาพจาก diamond.jp
คอลัมน์ “เรื่องเล่าสะใภ้ญี่ปุ่น” โดย “ซาระซัง”

สวัสดีค่ะเพื่อนผู้อ่านทุกท่าน เชื่อว่าหลายท่านน่าจะเคยพยายามจัดบ้านด้วยวิธีของนักเขียน หรือมินิมอลลิสต์ชื่อดังกันมาบ้าง แม้จะเลือกเก็บเลือกทิ้งก็แล้ว แต่ไม่นานก็กลับมารกใหม่อีก วันนี้เรามาหาสาเหตุกันดีกว่าว่าเพราะอะไรบ้านถึงรกไม่เลิกสักที และดูสิว่าจะมีแนวทางปรับเปลี่ยนให้บ้านน่าอยู่อย่างยั่งยืนขึ้นบ้างไหม

เพื่อนๆ ทราบไหมคะว่าบ้านมีส่วนสัมพันธ์กับความสุขแค่ไหน อย่างในหนังสือ My Hygge Home: จัดบ้านน่าอยู่ด้วยปรัชญาความสุขแบบฮุกกะ เขียนโดย ไมก์ วิกิง ได้กล่าวถึงการวิจัยโดยสถาบันวิจัยความสุขร่วมมือกับ King Fisher เมื่อ พ.ศ.2561 พบว่า 73% ของคนที่มีความสุขกับบ้านตัวเองจะมีความสุขโดยรวม และมูลนิธิ Realdania ของเดนมาร์กศึกษาพบว่ามีคนเพียง 7.5% เท่านั้นที่คิดว่าบ้านแทบไม่มีอิทธิพลต่อคุณภาพชีวิต สิ่งเหล่านี้ทำให้เชื่อว่าบ้านจะยิ่งทวีความสำคัญยิ่งขึ้นเมื่อเราแก่ตัวลง ดังนั้น สถานที่จึงส่งผลต่อความอยู่ดีมีสุข และการเปลี่ยนแปลงพื้นที่รอบตัวก็ยกระดับชีวิตเราได้

ทว่าบ้านของคนจำนวนมากเต็มไปด้วยข้าวของล้นหลาม เช่น ครัวเต็มไปด้วยอุปกรณ์ที่ไม่เคยใช้ เช่น ตะเกียบ ช้อนแบบใช้แล้วทิ้ง ถุงพลาสติก และจานชามอีกมากมาย ต่อให้บ้านที่ดูสะอาดและเป็นระเบียบตั้งแต่แรกเห็น แต่เมื่อเปิดประตูตู้อาจพบข้าวของล้นทะลัก ซึ่งแม้แต่เจ้าของก็อาจไม่รู้ว่ามีอะไรอยู่บ้าง ยิ่งปิดประตูแล้วมองไม่เห็นความรก เลยยิ่งทำให้กักตุนข้าวของได้ง่ายขึ้น

บางคนมีอาชีพการงานดี ได้รับการยกย่องสูง แต่พอกลับถึงบ้านก็หงุดหงิดกับพื้นที่รกรุงรัง เวลาออกไปข้างนอกพกแต่ของหรูๆ แต่ห้องกลับเต็มไปด้วยของรกมากมายจนเหมือนเป็นสลัม

ภาพจาก note.com
ไม่แน่ชัดว่าตัวเองต้องการอะไร

เมื่อพูดถึงการจัดบ้าน คนญี่ปุ่นมักพูดถึงคำว่า “断捨離” (ดัน-ชา-หริ) ซึ่งหมายถึง ไม่เพิ่มข้าวของใหม่ ทิ้งของไม่จำเป็น และไม่ยึดติดกับข้าวของ เป้าหมายคือเพื่อใช้ชีวิตอย่างมีความสุขมากขึ้น แต่ไม่ใช่เพื่อลดของให้เหลือน้อยที่สุดอย่างที่หลายคนเข้าใจ

เรื่องน่าสนใจอย่างหนึ่งที่ผู้เชี่ยวชาญในการจัดบ้านของญี่ปุ่นพูดคล้ายกันคือว่า คนที่จัดบ้านครั้งเดียวไม่สำเร็จ หรือกระทั่งเสพติดการทิ้งมากเกินไป เป็นเพราะลืมไปว่าเป้าหมายเดิมของการทิ้งและจัดบ้านคืออะไร หรืออีกอย่างคือไม่ชัดเจนกับตัวเองว่าต้องการอยู่ในสภาพแวดล้อมแบบไหน จึงทำให้เมื่อทิ้งข้าวของไปแล้วครั้งหนึ่ง เดี๋ยวก็กลับมารกอย่างเดิมอีก

บางคนอาจรู้สึกดีถ้าในบ้านมีแต่สิ่งของที่ชอบ ส่วนบางคนรู้สึกสบายใจที่ได้อยู่ในบ้านสะอาดตา ดังนั้น ต้องถามตัวเองให้ดีว่าเราต้องการแบบไหน อยากอยู่กับข้าวของน้อยชิ้น หรืออยากให้บ้านน่าอยู่ ส่วนคนที่บ้านไม่รกเลย เป็นเพราะรู้ว่าต้องการอยู่ในบ้านแบบไหน ชอบให้บ้านเป็นอย่างไร จะอยู่แบบของน้อยเป็น หรือบางคนข้าวของเยอะ แต่ขยันทำความสะอาด จัดบ้านให้เป็นระเบียบเนืองๆ บ้านก็น่าอยู่

ภาพจาก goodrooms.jp
มีอะไรซ่อนอยู่ในใจ

นักจัดบ้านชาวญี่ปุ่นคนหนึ่งบอกว่า ปกติแล้วถ้าบ้านสะอาด ใจจะปลอดโปร่งไปด้วย แต่ถ้าเราไม่รู้ว่าใจตัวเองเต็มไปด้วยขยะมากมาย เราจะสะสมข้าวของโดยไม่รู้ตัวด้วยเช่นกัน

ทีแรกบางคนอาจจะรู้สึกโล่งอกที่ได้ทิ้งของไปมากมาย รวมทั้งอาจตั้งใจไว้ว่าจะไม่ทำบ้านรกอีกแล้ว แต่พอผ่านไปสักพักจะเริ่มสะสมของใหม่อีก เช่น อาจมีงานอดิเรกใหม่เลยซื้อของมาหลายชิ้น พอเบื่อแล้วจะทิ้งก็เสียดาย เลยปลอบใจตัวเองว่าอีกหน่อยอาจได้ใช้ แล้วก็เก็บไว้อย่างนั้นเพื่อไม่ให้รู้สึกผิด ทีนี้พอมีสิ่งใหม่ที่สนใจอีก จะมีของมาเก็บเพิ่มไปเรื่อย ๆ จนรกบ้าน

หรือบางคนติดนิสัยชอปปิ้งตอนเครียด เพราะเสพติดความตื่นเต้นดีใจที่จะได้เป็นเจ้าของสิ่งใหม่ บ่อยครั้งที่ของพวกนี้ไม่ใช่สิ่งที่เราอยากได้จริง แต่แค่อยากได้ความสุขจากการลืมความเครียดชั่วคราวเท่านั้นเอง พอซื้อมาแล้วไม่ได้ใช้ก็เสียดายไม่กล้าทิ้ง แต่พอเครียดก็จะซื้อใหม่อีก ทำให้ของเพิ่มเข้ามาในบ้านไม่หยุดหย่อน

(โปรดอย่าชอปตอนเครียดค่ะเพื่อนๆ) ภาพจาก homemate-research-shopping.com
คนนิยมความสมบูรณ์แบบและใส่ใจรายละเอียดยังมีแนวโน้มจะมีข้าวของเยอะด้วย เช่น คนที่ต้องการทำอาหารให้สมบูรณ์แบบอาจมีหม้อและกระทะที่มืออาชีพใช้ มีเครื่องมือพิเศษไว้หั่นผัก ส่วนคนที่รักษาความสะอาดมาก อาจมีอุปกรณ์และน้ำยาทำความสะอาดหลายประเภท เป็นต้น

นอกจากนี้ ของบางอย่างอาจตัดใจทิ้งไม่ลง เช่น ของที่มีคนให้ อุปกรณ์งานอดิเรกเก่าที่เคยทำ ภาพที่เคยวาด หรือของที่คิดว่าอาจได้ใช้ในอนาคต แต่ถ้าปัจจุบันมันไม่มีความหมายแล้ว เก็บเอาไว้เฉยๆ ก็จะกินพื้นที่ในบ้านเราไปอย่างเปล่าประโยชน์ ทั้งยังทำให้เราวางอดีตไม่ลง กังวลกับอนาคต อยู่กับปัจจุบันไม่ได้เต็มที่ และก้าวไปข้างหน้าไม่ได้เสียที

วิธีป้องกันบ้านรกรีเทิร์น


1.มีเป้าหมายในการจัดบ้านที่ชัดเจน - บางคนไม่มีแผนอะไรเลย แต่อยู่ดีๆ นึกครึ้มอยากทิ้งข้าวของขึ้นมา พอทำไปได้ครึ่งทางก็เลิกเสียก่อน หรืออาจเสียใจภายหลังที่ทิ้งของบางอย่างไปโดยไม่คิดให้ดีก่อน เรื่องของเรื่องคือเราไม่ได้ทิ้งข้าวของเพื่อสักแต่ว่าจะทิ้ง แต่เพื่อเผชิญหน้ากับตัวเองและตัดสินใจว่าสิ่งไหนจำเป็นจริง และสิ่งไหนไม่จำเป็นจริงต่อชีวิตของเรา ดังนั้น ถ้าเราตอบตัวเองให้ได้ก่อนว่าทำไมถึงอยากทิ้งข้าวของ และหลังทิ้งข้าวของไปแล้วอยากใช้ชีวิตอย่างไร อยากอยู่ในสิ่งแวดล้อมแบบไหน จะทำให้ตัวเองมีทิศทางชัดเจน เมื่อออกนอกลู่นอกทางก็ย้อนนึกถึงเป้าหมายที่ตั้งไว้ จะได้เบนเข็มกลับมาง่ายขึ้น

ภาพจาก goodrooms.jp
2.จัดบ้านตอนใจกำลังสบาย - อย่ารีบร้อนทำรวดเดียวเสร็จ เพราะความเครียดจะทำให้เราตัดสินใจได้ไม่ดี ให้ทำตอนที่ใจสบายๆ มีเวลามากพอ จะทำให้เราตัดสินใจเลือกได้ดีขึ้นว่าจะเก็บอะไรและจะทิ้งอะไร นอกจากนี้ การแบ่งสิ่งของออกเป็นประเภทต่างๆ แล้วจัดการทีละประเภทมีส่วนช่วยให้เลือกเก็บเลือกทิ้งง่ายขึ้นเช่นกัน

3.ประเมินและจัดการข้าวของในบ้านเป็นระยะ - อาจกำหนดไว้ว่าทุกไตรมาสจะคอยประเมินว่าข้าวของและพื้นที่ในบ้านเหมาะกับวิถีชีวิตในปัจจุบันไหม เพราะบางทีเราก็ต้องปรับเปลี่ยนข้าวของและพื้นที่ในบ้านไปตามวิถีชีวิตที่เปลี่ยนไปด้วย และสำหรับคนที่ชอบทำบ้านรกเพราะผัดวันประกันพรุ่งไปเรื่อย ก็อาจกำหนดเวลาที่แน่นอนไว้ว่าจะทำตอนไหนของวัน ตอนไหนของสัปดาห์ หรือตอนไหนของเดือน แล้วทำให้ได้ตามนั้น

4.ซื้อของอย่างมีสติ โดย 1) พิจารณาถึงความจำเป็นมากกว่าความอยากได้ 2) เลือกของที่คุณภาพสูง ใช้ทนนาน และใช้ได้หลายโอกาส แทนที่จะซื้อมากมาย 3) จดรายการของที่จะซื้อล่วงหน้า ไม่ซื้อเพียงเพราะเห็นแล้วอยากซื้อ 4) ไม่ซื้อของแก้เครียดหรือแก้เซ็ง 5) ไม่ซื้อของเพราะ “คุ้ม” ไม่ว่าจะลดราคา มีของแถม หรือซื้อเยอะถูกกว่า เพราะอาจไม่ใช่ของจำเป็นหรือต้องการจริง หรือไม่ก็ทำให้เรากักตุนไว้เยอะเกินไป (สำหรับรายละเอียดเพิ่มเติม ลองกูเกิลคำว่า mindful shopping )

“ซื้อน้อยลง เลือกให้ดี ใช้ให้นาน” ภาพจาก linenme.com
เรื่องการซื้อของอย่างมีสตินั้นอาจเป็นหนึ่งในข้อสำคัญที่สุดเลยก็ว่าได้ เพราะไม่ว่าเราจะจัดบ้านกี่ครั้ง ทิ้งของไปมากเท่าไหร่ แต่หากยังคงมีนิสัยชอบซื้อ ชอบสะสมของไปเรื่อยๆ ก็คงยากที่จะได้ใช้ชีวิตอย่างที่อยากมีจริงๆ เพราะเรายังไม่สามารถแยกแยะได้ว่าสิ่งไหนมีคุณค่าแก่ชีวิตเรา และสิ่งไหนไม่ได้เพิ่มคุณค่าในชีวิตเรา

ลองคิดดูสิคะว่า ถ้าเราได้อาศัยอยู่ในบ้านที่ข้าวของแต่ละชิ้นมีอยู่อย่างมีความหมาย ปราศจากของที่ไม่สร้างความสุข ปราศจากของที่ไม่มีประโยชน์กับชีวิต มันจะรู้สึกปลอดโปร่งแค่ไหน เราจะหาของเจอได้ง่ายขนาดไหน ทำความสะอาดบ้านง่ายดายเพียงใด ทั้งยังมีสมาธิดีขึ้น และมีเวลาเพิ่มขึ้นกว่าเดิมไม่รู้เท่าไหร่ เพราะไม่ต้องเสียเวลาวุ่นวายกับของที่ไม่จำเป็น

พอเราแยกแยะเป็นว่าอะไรสำคัญ และทำบ้านให้น่าอยู่อย่างมีความหมายแล้ว มีหรือที่เราจะไม่กลับมาย้อนมองชีวิตตัวเอง และรู้ด้วยตัวเองว่าอะไรที่ควรรักษาไว้ในชีวิต อะไรที่เราควรปล่อยไป ถ้าไปถึงจุดนั้นได้เมื่อไหร่ เราก็คงรู้แล้วว่าจะใช้ชีวิตอย่างไรให้มีความหมายและมีความสุขกว่าเดิม

ทั้งหมดนี้เริ่มต้นได้จากการเลือกทิ้งของไม่จำเป็น เลือกเก็บเฉพาะสิ่งที่มีความหมายต่อชีวิต และไม่เพิ่มของใหม่ที่ไม่จำเป็นนี่เอง.

ย้อนอ่านเรื่องที่เกี่ยวข้อง :  เมื่อ “วิถีชีวิต” แบบมินิมอลกลายเป็น “โรคจิต” เสพติดการทิ้ง

--------------------------------------------------------------------------------------------------------
"ซาระซัง"  เธอเคยใช้ชีวิตอยู่ที่กรุงโตเกียวนานกว่า 5 ปี ปัจจุบันติดตามสามีไปทำงาน ณ สหรัฐอเมริกา ติดตามคอลัมน์ “เรื่องเล่าสะใภ้ญี่ปุ่น” ที่ MGR Online ทุกวันอาทิตย์.


กำลังโหลดความคิดเห็น