คอลัมน์ “เรื่องเล่าสะใภ้ญี่ปุ่น” โดย “ซาระซัง”
สวัสดีค่ะเพื่อนผู้อ่านทุกท่าน กิจกรรมปีใหม่ยอดฮิตอย่างหนึ่งของคนญี่ปุ่นคือการได้ซื้อถุงความสุขจากห้างร้านโปรดเพราะคุ้มราคา แม้ว่าบางทีจะไม่รู้เลยว่าข้างในมีของอะไรอยู่บ้าง และนอกจากถุงความสุขแล้ว ก็ยังมีคนหัวใสทำถุงอับโชคออกมาขาย แล้วก็มีคนซื้อเสียด้วย เรามาดูกันดีกว่าว่าถุงพวกนี้มีอะไรน่าสนใจอย่างไรบ้าง
พอถึงปีใหม่ห้างร้านก็พากันเริ่มปีใหม่อย่างสดใสด้วยการขายครั้งแรกของปีที่เรียกว่า “ฮัตสึ-อุหริ” (初売り) ซึ่งถุงความสุข หรือ “ฟุกุบุขุโระ” (福袋) ก็รวมอยู่ในนั้นด้วย ในอดีตถุงความสุขจะเป็นถุงสีทึบซึ่งมองไม่เห็นข้างใน มีหลายราคาด้วยกัน ตั้งแต่ประมาณพันเยนไปจนถึงร้อยล้านเยนเลยทีเดียว (เช่น ถุงความสุขของร้านอัญมณี เป็นต้น)
ส่วนมูลค่าสินค้าภายในถุงความสุขจะสูงกว่าราคาขายมาก อย่างเช่น ถุงราคา 1 หมื่นเยนอาจมีสินค้ามูลค่ารวม 3-5 หมื่นเยน ห้างร้านไหนเป็นที่นิยมจะมีลูกค้าพากันมาเข้าแถวยาวเหยียดกันตั้งแต่ร้านเปิด เพื่อไม่ให้พลาดโอกาสซื้ออันสุดคุ้มที่มีแค่ปีละครั้งเช่นนี้ แต่อย่างไรก็ตาม ไม่ได้หมายความว่าพอเป็นแบรนด์ที่ชอบแล้ว เราจะได้สินค้าที่ชอบหมดทุกอย่าง เพราะฉะนั้นการซื้อถุงความสุขแบบที่ไม่รู้ว่าข้างในมีอะไรบ้างจึงเป็นการวัดดวงล้วนๆ ถ้าเกิดได้ของไม่ถูกใจขึ้นมา หรือได้เสื้อผ้าไซส์ที่ใส่ไม่ได้ต้องไปแลกกับเพื่อนเอา หรือขายต่อออนไลน์
สมัยก่อนดูเหมือนว่าถุงความสุขจะเป็นวิธีการโละของที่ขายไม่ออกของร้าน และลูกค้าก็ได้ของราคาถูกสุดคุ้มไป แต่จะเสี่ยงได้ของตกรุ่นหรือของที่คนไม่นิยมด้วยเหมือนกัน เดี๋ยวนี้พอมีสื่อโซเชียล ลูกค้าที่ซื้อของไปก็พากันเอามารีวิว เลยทำให้ร้านค้าชักจะใช้วิธีนี้เลขายของไม่ได้อีกต่อไป แต่อาจต้องใส่ของดีๆ หรือสินค้ายอดนิยมไปในถุงความสุขด้วย เพราะถ้าในถุงมีแต่ของที่คนไม่อยากได้ จะทำให้ทางร้านเสียชื่อเอง จากเดิมที่เคยมีลูกค้าประจำ ก็โดนลูกค้าหนีหมดเพราะรู้สึกเหมือนโดนหลอก
พนักงานที่เคยทำงานบรรจุสินค้าในถุงความสุขเล่าว่า ทางบริษัทจะบอกคร่าวๆ มาว่าถุงความสุขแต่ละราคาต้องใส่อะไรบ้าง เช่น ต้องใส่แจ็กเก็ตไปด้วยหนึ่งตัวในถุงราคาหมื่นเยน และพนักงานคนนี้ยังพยายามใส่สินค้ายอดนิยมหรือสีมาตรฐานไว้ในถุงความสุขทุกใบ เพื่อป้องกันไม่ให้เกิดข้อผิดพลาดใหญ่ๆ นอกจากนี้ ยังมีร้านค้าบางแห่งที่ทำถุงความสุขแบบ “แจ็กพอต” เพื่อเพิ่มความสนุกและน่าสนใจด้วย โดยในถุงจะบรรจุด้วยสินค้ายอดนิยมทั้งหมด ถ้าใครได้ถุงนี้ไปถือว่าโชคดีตั้งแต่ต้นปีเลย
เดี๋ยวนี้ถุงความสุขพัฒนาไปไกลโข มีทั้งถุงความสุขแบบที่บอกไว้ชัดเจนว่าเราจะได้อะไรบ้าง และแบบที่บอกคร่าวๆ ส่วนรายละเอียดไปรอลุ้นตอนได้ของแล้ว นอกจากนี้ หลายแบรนด์ยังผลิตสินค้าพิเศษขึ้นมาสำหรับถุงความสุขประจำปีนั้นๆ โดยเฉพาะ เพื่อดึงดูดใจลูกค้าให้อยากซื้อ เช่น ตุ๊กตาหรือถ้วยลายปีนักษัตรนั้นๆ ซึ่งจะมาพร้อมกับสินค้าปกติที่แบรนด์นั้นขายอยู่ด้วย โดยลูกค้าแต่ละคนอาจจะได้รับของที่รายละเอียดแตกต่างกันไป อย่างถุงความสุขของร้านกาแฟ หรือร้านขนมก็อาจมีทั้งกาแฟบดบรรจุห่อ ถ้วยเซรามิก แก้วกาแฟพกพา คลิปหนีบห่อกาแฟเก๋ไก๋ ถุงผ้า บัตรกำนัลแลกซื้อเครื่องดื่มหรือขนม เป็นต้น
ไม่เพียงเท่านั้น เดี๋ยวนี้ยังมีถุงความสุขแบบเปิดให้สั่งจองล่วงหน้าตั้งแต่ช่วงปลายปี หรือให้ส่งชื่อไปจับฉลากก่อนว่าจะมีสิทธิได้ซื้อหรือเปล่า ถ้าได้สิทธิก็ค่อยสั่งซื้อออนไลน์ แล้วทางแบรนด์จะส่งมาให้ถึงบ้านตอนปีใหม่ ทำให้สะดวกกับลูกค้าขึ้นมาก ไม่ต้องไปต่อแถววัดดวงกลางอากาศหนาว และรู้สึกดีใจเหมือนได้รับของขวัญปีใหม่ ในขณะที่บางแบรนด์ยังคงขายที่ร้านสาขาตั้งแต่วันที่ 1 หรือ 2 มกราคม ใครมาก่อนได้ก่อน หมดแล้วหมดเลย
แต่ถึงแม้จะคุ้มราคาแค่ไหน ถ้าได้ของที่ไม่ต้องการเป็นส่วนใหญ่ก็คงรู้สึกอับเฉาเหมือนโดนลอตเตอรี่กิน ดังนั้น บางคนจึงอาจเลือกใช้วิธีเลือกซื้อถุงความสุขแบบที่รู้ว่าได้ใช้ประโยชน์แน่นอนดีกว่า อย่างเช่น ถุงความสุขของซูเปอร์มาร์เกตอาจมีบัตรกำนัลมูลค่าเท่ากับราคาถุงความสุข พร้อมสินค้าอาหารหรือของใช้ในชีวิตประจำวันมาให้ด้วย หรือถุงความสุขราคา 2,500 เยนของร้านข้าวหน้าเนื้อด้านล่างนี้ ให้กล่องข้าว ถ้วย ที่หนีบถุง และคูปองส่วนลดมูลค่า 3 พันเยน แบบนี้ก็เป็นการซื้อที่คุ้มค่าและไม่เสียเงินฟรี
นอกจากถุงความสุขที่บรรจุสินค้าแล้ว เดี๋ยวนี้ยังมีถุงความสุขภาคบริการด้วย เช่น ถุงความสุขของโรงแรมที่ให้บัตรกำนัลเข้าพักห้องสวีทพร้อมคูปองภัตตาคารในโรงแรม ถุงความสุขที่ให้สัมผัสประสบการณ์พิเศษ เช่น ได้ลองเป็นนายสถานีรถไฟ เรียนถ่ายรูปกับช่างกล้องมือโปร เรียนเตะบอลส่วนตัวกับนักบอลมืออาชีพ และให้พ่อครัวซูชิมาทำซูชิอย่างดีให้ถึงบ้าน เป็นต้น ซึ่งยิ่งถุงความสุขให้ของเด็ดเท่าไหร่ สนนราคาก็ยิ่งแพงขึ้นเท่านั้น และมักต้องจับฉลาก หรือจองล่วงหน้า
ดูไปแล้วรู้สึกว่าถุงความสุขยุคนี้ค่อยๆ แปรสภาพจากการเป็นถุง “สินค้าที่ทางร้านต้องการโละทิ้ง” กลายเป็นกลยุทธ์การค้าอันหลากหลาย ไม่ว่าจะเพื่อให้ได้รับเงินก้อนล่วงหน้าตั้งแต่ต้นปี (เช่น ร้านอาหาร ซูเปอร์มาร์เกต และโรงแรมที่ให้บัตรกำนัล) ได้โอกาสขายของตามเทศกาล (เช่น ร้านกาแฟที่อุตส่าห์ผลิตสินค้าเฉพาะกิจมาทำถุงความสุข และถือโอกาสขายสินค้าปกติไปด้วย) ได้ขายของทีเดียวแบบเป็นเซต (เช่น ร้านขายของส่วนใหญ่ที่ได้ขายสินค้าทีละมากๆ) รวมทั้งขายบริการแบบหายาก (ถุงความสุขที่ให้สัมผัสประสบการณ์พิเศษ) และถุงความสุขพวกนี้ก็เป็นการขายขาด ซื้อแล้วไม่สามารถเปลี่ยนหรือคืนเงินได้
ถ้าคนไหนไม่อยากเสียเงินให้ถุงความสุข ก็ยังมีวิธีซื้อของราคาสุดคุ้มตอนปีใหม่ได้อยู่ ด้วยการใช้ประโยชน์จาก “ฮัตสึ-อุหริ” หรือการขายครั้งแรกของปีนี่เอง โดยเฉพาะอย่างยิ่งพวกสินค้าฤดูหนาวมักลดกระหน่ำ อย่างแบรนด์เสื้อผ้าจะทุ่มเทให้การขายนี้มาก เพราะต้องเปลี่ยนสต๊อกสินค้าเป็นเสื้อผ้าฤดูใบไม้ผลิแล้ว จึงต้องเคลียร์เสื้อผ้าฤดูหนาวอย่างเสื้อสเวตเตอร์ หรือเสื้อโค้ทออกไป ซึ่งมีลูกค้าที่อยากซื้อไม่น้อยเพราะเดือนมกราคมยังเป็นฤดูหนาวอยู่ บางคนก็รอซื้อเสื้อกันหนาวใหม่ที่ยังไม่ตกรุ่นในราคาถูกกันช่วงนี้เอง
และนอกจากการซื้อสุดคุ้มเหล่านี้แล้ว ยังมีร้านค้าที่พยายามจะทำเงินจากสินค้าที่ขายไม่ออกอยู่จนได้ แทนที่จะเรียกมันว่าเป็นถุงความสุขแล้วโดนลูกค้าด่า ก็หันมาเรียกมันตรงๆ ว่า “ถุงอับโชค” ซึ่งบางร้านจะบอกรายละเอียดไว้ล่วงหน้าเลย เช่น “ของในถุงนี้อาจแตกหักหรือพังแล้วก็อย่าว่ากันนะ ถือว่าขำๆ ไปละกัน อย่าเอาของพวกนี้ไปรีวิวร้านด้วยนะ เว้นแต่จะเป็นของดี และไม่รับคืนเงินด้วย” …แค่อ่านคำอธิบายก็รู้สึกโชคร้ายกำลังมาเยือนแล้ว
อย่างถุงอับโชคจากร้านขายของเล่นจะมีของเล่นที่ขายไม่ออกบรรจุอยู่มากมาย ทั้งตุ๊กตุ่นตุ๊กตา อาจจะมีสินค้าแอนิเมชันดังๆ แต่สินค้าตัวนั้นเหลือค้างสต๊อก สติกเกอร์ ที่ห้อยพวงกุญแจเชยระเบิด ส่วนถุงอับโชคร้านเครื่องไฟฟ้าอาจมีหูฟังบลูทูธยี่ห้ออะไรก็ไม่รู้ หุ่นยนต์ทำความสะอาดแบบถูกๆ ไดรฟ์ดีวีดีไว้ต่อกับคอมพิวเตอร์ เครื่องสแกนบาร์โค้ด การ์ดรีดเดอร์ สายเคเบิล สติกเกอร์กันรอยขีดข่วนสำหรับมือถือ เป็นต้น
ถุงอับโชคนี้มีขายตั้งแต่ปลายปี สนนราคาเท่าที่เห็นมาอยู่ประมาณ 1-7 พันเยน (อาจมากน้อยกว่านี้แล้วแต่ร้าน) กระนั้นยังมีคนคิดจะซื้อ เพราะคิดว่าสนุกดีเมื่อได้ลุ้นว่าข้างในมีอะไรบ้าง บางคนก็เอาไว้เล่นขำๆ ตอนปาร์ตี้สิ้นปีหรือปีใหม่ ซึ่งโดยมากเปิดถุงออกมาแล้วก็อับโชคจริง เพราะเห็นแล้วอยากโยนทิ้งหมดทั้งถุง ให้ฟรียังไม่อยากเอาเลย
ตัวฉันเองยังไม่เคยซื้อถุงความสุขกับเขาเลยสักครั้ง ยิ่งเห็นตัวอย่างแม่กับน้องสามีไปซื้อมาจากห้าง แล้วเปิดออกมามีเสื้อกันหนาวขนาดใหญ่เกินไป กระเป๋าถือที่ไม่ถูกใจ และจิปาถะอื่นๆ อีกมากมายแล้ว ก็รู้สึกเสียดายเงินแทน แต่ถ้าเป็นถุงความสุขแบบที่รู้ว่าจะได้อะไรบ้าง หรือเป็นแบรนด์ที่ชอบสินค้าเขาหลายอย่าง ฉันว่าน่าสนใจอยู่เหมือนกัน
ถ้าเพื่อนๆ ไปญี่ปุ่นตอนปีใหม่แล้วอยากได้บรรยากาศปีใหม่แบบคนท้องถิ่น และไม่เกี่ยงเรื่องเสี่ยงดวงตอนซื้อของอาจลองสอยถุงความสุขมาสักใบดูก็ได้ ขอแนะนำให้ซื้อจากร้านที่ชอบสินค้าเขาหลายตัวเป็นทุนเดิมอยู่แล้ว และไม่ต้องซื้อแพงจนเสียดายเงินทีหลัง โอกาสที่ถุงความสุขกลายเป็นถุงสุดเซ็งจะได้น้อยลง
สุดท้ายนี้ขอให้เพื่อนผู้อ่านมีความสุข และสมปรารถนาในสิ่งดีงามตลอดปีใหม่นี้ค่ะ ขอบคุณที่ติดตามอ่านและให้กำลังใจกันเสมอมา ปีต่อไปก็ขอฝากคอลัมน์เรื่องเล่าสะใภ้ญี่ปุ่นไว้ในอ้อมใจทุกท่านต่อด้วยนะคะ.
--------------------------------------------------------------------------------------------------------
"ซาระซัง" เธอเคยใช้ชีวิตอยู่ที่กรุงโตเกียวนานกว่า 5 ปี ปัจจุบันติดตามสามีไปทำงาน ณ สหรัฐอเมริกา ติดตามคอลัมน์ “เรื่องเล่าสะใภ้ญี่ปุ่น” ที่ MGR Online ทุกวันอาทิตย์.