คอลัมน์ “เรื่องเล่าสะใภ้ญี่ปุ่น” โดย “ซาระซัง”
สวัสดีค่ะเพื่อนผู้อ่านทุกท่าน วันนี้ขอมาแนวใหม่ พูดเรื่องเกาหลีบ้างนะคะ เมื่อก่อนนี้คนที่ชอบญี่ปุ่นมีแนวโน้มจะไม่ชอบเกาหลี ส่วนคนที่ชอบเกาหลีก็มีแนวโน้มจะไม่ชอบญี่ปุ่น แต่ยุคนี้อะไรๆ ก็เปลี่ยนไปได้เพราะอิทธิพลของ soft power อันทรงพลังที่รัฐบาลเกาหลีส่งเสริมผ่านการส่งออกบันเทิงนี่เอง
ก่อนนี้ฉันไม่เคยสนใจอะไรเกี่ยวกับเกาหลีเลย แม้สมัยวัยรุ่นจะเคยไปเที่ยวเกาหลีกับครอบครัว แต่ก็จำอะไรไม่ได้มากนัก นอกจากภาพของถังหมักกิมจิยาวเป็นทิวในชนบท และไก่ตุ๋นโสมที่เรียกว่า “ซัมกเยทัง” ตอนนั้นกินไปก็นึกสงสารไก่ว่ายังเล็กอยู่เลย โดนเอามาทำอาหารเสียแล้ว และจำได้ว่ามีสาวคนหนึ่งเดินมาคุยกับฉันตอนอยู่ที่สวนสนุก พอบอกเธอเป็นภาษาอังกฤษว่าฉันไม่ใช่คนเกาหลี เธอก็ทำท่าตกใจก่อนจะหัวเราะ แล้วเดินกลับไปสมทบกับกลุ่มเพื่อน จนบัดนี้ก็ยังนึกอยากรู้อยู่เลยว่าเธอพูดว่าอะไร
ดูไปแล้วก็เหมือนชีวิตจะมาผูกพันอยู่กับเกาหลีโดยไม่ตั้งใจอีกครา เพราะตอนอยู่ญี่ปุ่นก็เคยมีเพื่อนเกาหลีหลายคน ใกล้บ้านก็มีร้านอาหารเกาหลีกับร้านขายของหมักดองที่ทำโดยสามีภรรยาชาวเกาหลี พอมาอยู่อเมริกาก็รู้จักเพื่อนหรือหมอชาวเกาหลีอีก และตอนนี้อพาร์ตเมนต์ที่ฉันอาศัยอยู่ก็อยู่ใกล้ดงเกาหลีอีกแล้ว มีทั้งซูเปอร์มาร์เกตใหญ่ และดงร้านอาหารเกาหลีอีกเป็นทิว ไปไหนมาไหนเลยโดนทักด้วยภาษาเกาหลีบ่อยๆ
ตอนที่สามีฉันชวนดูละครเกาหลีทางเน็ตฟลิกซ์ เขาต้องใช้เวลานานทีเดียวกว่าจะกล่อมฉันได้ และเวลานั้นฉันไม่ยอมดูจากเสียงต้นฉบับเพราะไม่ชอบภาษาเกาหลี เลยดูที่เป็นเสียงพากย์ญี่ปุ่นแทน มาจนใจเอาก็ตอนดูเรื่อง “อูยองอู ทนายอัจฉริยะ” ที่เวลานั้นมีแต่เสียงภาษาเกาหลีและซับไตเติลแปล ที่ดูเพราะคุณสามีเอาชื่อดาราญี่ปุ่นคนโปรดมาล่อ โดยดาราคนนั้นชมนางเอกเรื่องนี้ว่าเล่นเก่งมากจริงๆ และนั่นก็เป็นจุดเริ่มต้นของการแปรพักตร์จากติ่งญี่ปุ่นสู่ติ่งเกาหลีไปอย่างรวดเร็ว
รู้ตัวอีกทีฉันก็โดนอำนาจที่มองไม่เห็นของ soft power เกาหลีสอยไปเรียบร้อย ฉันเริ่มฟังศัพท์เกาหลีออกเป็นบางคำหรือบางประโยค แถมตอนคุยกับสามียังเคยหลุดเป็นภาษาเกาหลีออกมาอีก เดาว่าเพื่อนๆ ที่ดูละครเกาหลีบ่อยก็คงเป็นคล้ายกันใช่ไหมคะ
ที่ไม่น่าเชื่อคืออยู่ดีๆ ฉันก็สนใจอยากรู้ภาษาเกาหลีขึ้นมา ถึงกับไปนั่งศึกษาตัวอักษร พยัญชนะ สระ ตัวสะกด จนพอจะเริ่มอ่านออกเขียนได้ แต่ไม่รู้แปลว่าอะไร ทว่าอย่างน้อยก็พออ่านเมนูอาหารที่เขียนด้วยตัวอักษรเกาหลีได้ และออกเสียงถูกต้องกว่าอ่านจากตัวอักษรอังกฤษ สมมติเห็นชื่ออาหาร “Haemul Pajeon” ก็ไม่ค่อยแน่ใจว่าออกเสียงอย่างไร เฮมัลปาจีออน?? พออ่านจากภาษาเกาหลี “해물파전” เลยเดาได้ว่า อ๋อ อ่านว่า “แฮมุลพาจอน”
นอกจากนี้ การชอบร้องเพลงก็เอื้อต่อการเรียนภาษาเกาหลีด้วย ทีแรกฉันยังจำตัวอักษรได้ไม่หมด แต่ด้วยความที่อยากรู้ว่าเพลงที่ชอบร้องอย่างไร ก็เลยพิมพ์เนื้อเพลงภาษาเกาหลีจากอินเทอร์เน็ต แล้วมานั่งเขียนคำอ่านเป็นภาษาไทยทีละตัว พอตัวไหนเห็นบ่อยก็เริ่มจำได้ ตัวไหนนึกไม่ออกก็ไปดูสมุดจด ทั้งหมดนี้ช่วยให้ฉันอ่านได้คล่องขึ้น และเข้าใจหลักการออกเสียงขึ้นมาเอง บางเพลงก็มีคนแกะเป็นภาษาไทยหรือภาษาญี่ปุ่นไว้แล้ว ฉันก็เอามาเทียบดู และฟังเพลงต้นฉบับอีกทีเพื่อดูว่าแกะเสียงถูกต้องไหม
กระบวนการนี้อาจจะดูวุ่นวาย แต่สำหรับฉันเป็นเรื่องสนุกมากเลยค่ะ จนฉันเก็บเอาไว้ทำแก้เบื่อระหว่างนั่งทำงานเขียนและงานแปล (เรียกให้ถูกก็คือ “อู้งาน” นั่นเองนะคะ) การแกะเพลงยังทำให้ฉันได้รู้ว่าเสียงพยัญชนะเกาหลีบางเสียงคล้ายภาษาญี่ปุ่น เช่น เสียง じ(ji) ち(chi) 〜ょん(〜yon) แถมไวยากรณ์บางส่วนก็คล้ายของญี่ปุ่น มีตัวชี้ประธาน มีคำที่ลงท้ายประโยคที่ตรงกับคำว่า です(desu) บางคำก็คล้ายภาษาญี่ปุ่นเลย ส่วนเสียงสระบางเสียงก็คล้ายกับเสียงสระของไทย เช่น เสียงออ อือ แอ เลยรู้สึกดีใจและสนุกที่ความรู้ภาษาญี่ปุ่นกับภาษาไทยช่วยเสริมให้การเรียนภาษาเกาหลีเองในเบื้องต้นไม่ยากเกินไป
เพลงภาษาเกาหลีที่ฉันแกะออกมา จะเขียนกำกับเสียงอ่านด้วยภาษาไทยและญี่ปุ่นปนกันเพื่อให้ตัวฉันเองเข้าใจการออกเสียงง่ายขึ้น จากนั้นก็พิมพ์ไปแปะไว้ในกำแพงห้องน้ำ เพื่อหัดร้องเล่นระหว่างอาบน้ำ ซึ่งสมัยวัยรุ่นฉันก็เคยแปะศัพท์และไวยากรณ์ญี่ปุ่นไว้ท่องตอนอาบน้ำอย่างนี้เหมือนกัน
บางคราวระหว่างทำกับข้าว ฉันก็แก้เซ็งด้วยการเปิดพอดแคสเรียนภาษาเกาหลีง่ายๆ 5 นาที หรือระหว่างนั่งดูละครเกาหลี ถ้าคำไหนฟังง่ายและคิดว่าน่าจะได้ใช้ ฉันก็จะรีบกดหยุด แล้วเปลี่ยนซับไตเติลเป็นภาษาเกาหลีเพื่อดูว่าคำนั้นสะกดอย่างไร ออกเสียงอย่างไร แปลว่าอะไร แล้วจดไว้ จากนั้นไปค้นในอินเทอร์เน็ตอีกรอบเพื่อตรวจสอบความถูกต้อง ถ้ามีเวลาก็จะดูด้วยว่าคำนั้นใช้อย่างไร
สมัยมัธยมปลายเวลาไปดูหนังฮอลลีวูดกับเพื่อน ฉันก็เคยทำแบบนี้เหมือนกันค่ะ ดูไปพลางจดประโยคที่น่าสนใจลงสมุดเล่มเล็กๆ ไปด้วย พอเพื่อนที่นั่งข้างๆ รู้ว่าฉันนั่งยุกยิกทำอะไร ก็ตาโตร้อง “ฮ้า!?” ฉันรู้ว่ามันคงดูประหลาด แต่มันก็เป็นส่วนหนึ่งของการศึกษาในแบบสนุกของฉัน ซึ่งให้ประโยชน์มาจนถึงทุกวันนี้
ที่จริงฉันยังไม่รู้เลยค่ะว่าจะรู้ภาษาเกาหลีไปทำไม แต่อย่างน้อยในเมื่อตอนนี้รู้สึก “สนุก” ก็อยากรีบฉวยโอกาสนี้หัดเรียนแบบเอาสนุกเป็นหลัก ไม่ต้องเครียด และเรียนเท่าที่พอใจ วันหนึ่งหากฉันสามารถดูยูทูปหรือละครเกาหลีแบบไม่ต้องพึ่งซับไตเติลได้ล่ะก็ ฉันคงกระโดดโลดเต้นไปทั่วบ้านแน่เลย
ฉันรู้สึกว่าการเรียนภาษาต่างประเทศสนุกก็ตอนเอามาใช้งาน อย่างเวลาเราพูดภาษาแม่ของคนที่เราคุยด้วย แล้วเขาเข้าใจหรือตอบกลับมา จะรู้สึกดีใจที่สื่อสารสำเร็จ และหลายครั้งได้รับมิตรภาพมาเป็นของแถมด้วย อย่างวันก่อนสามีชวนไปกินก๋วยเตี๋ยวเกาหลีชนิดหนึ่งที่เรียกว่า “คัลกุกซู” ระหว่างรอก็เห็นแม่ครัวยืนทำอาหารอยู่ในครัวเปิด พอทำเสร็จแล้วก็ยกถาดที่มีชามก๋วยเตี๋ยวกับกิมจิจานเล็กมาให้ พอฉันตักน้ำแกงมาชิมดูก็ประทับใจกับรสชาติอันกลมกล่อม สามีฉันก็บอกว่าอร่อยดีนะ
พอกินเสร็จฉันก็ลุกจากโต๊ะเดินไปหาแม่ครัว งัดประโยคที่ยังไม่เคยใช้มาก่อน พูดกับเธออย่างจริงใจว่า “หม่า-ชิด-สอ-โยะ” (อร่อยจังค่ะ) เธอดูท่าประหลาดใจราวกับไม่คาดคิดว่าฉันจะพูดคำนั้น เอาล่ะสิ ฉันพูดถูกหรือเปล่าก็ไม่รู้ หรือว่าออกเสียงผิด หรือว่าเธอไม่ได้ยิน แต่แล้วแววตาเธอก็ฉายรอยยิ้มอ่อนโยนขึ้นมา พูดด้วยน้ำเสียงอบอุ่นระคนปลื้มใจว่า “คัม-ซาม-มิ-ดะ” (ขอบคุณค่ะ) ทั้งยังเดินออกจากครัวมาส่งฉันกับสามีพร้อมกล่าวคำเดิมอีกสองหน พร้อมโค้งอย่างสุภาพ จนฉันเก้อไปเลย แล้วก็โค้งตอบเขินๆ
นึกถึงสมัยเด็กตอนที่ฉันเพิ่งเรียนภาษาญี่ปุ่น ก็เคยร้อนวิชาคล้ายๆ อย่างนี้ค่ะ รู้อยู่แค่งูๆ ปลาๆ แต่อยากลองพูดดู เลยเคยพูดอะไรให้หน้าแตกมาหลายหน ถึงอย่างนั้นก็ยังไม่เข็ด เพราะฉันคิดว่าเรายังไม่รู้ถึงได้อยากเรียนรู้ และยินดีจะลองผิดลองถูก มันเลยเป็นตัวช่วยให้ฉันกล้าลองพูดภาษาที่ตัวเองไม่คุ้นเคย เอาเข้าจริงถึงพูดผิดก็คงไม่มีใครเขามาหัวเราะเยาะ ถ้าเราพยายามจะพูดภาษาเขาให้ได้ คนส่วนใหญ่มีแต่จะตั้งใจฟังเพื่อพยายามทำความเข้าใจเรามากกว่า
อาจจะมีคนคิดว่าอายุปูนนี้แล้วจะเรียนอะไรนักหนา แต่นักวิชาการด้านสมองของญี่ปุ่นท่านหนึ่งเคยบอกว่า “สมองจะรู้สึกมีความสุขเมื่อได้เรียนรู้สิ่งใหม่” และ “ถ้าอยู่กับความเบื่อนานๆ สมองจะยิ่งชินและหยุดการพัฒนา” แถมพอนึกถึงการค้นพบทางวิทยาศาสตร์ที่ว่า “การเรียนรู้สิ่งใหม่เป็นปัจจัยหนึ่งที่เปลี่ยนโครงสร้างและการทำงานของสมองได้” ฉันก็คิดว่าการเรียนรู้อะไรใหม่ๆ น่าจะเป็นเรื่องดีมากกว่าเสียนะคะ
ถ้าใครรู้สึกเบื่อๆ อยากเชียร์ให้ลองเรียนรู้อะไรใหม่ดู อาจจะเริ่มจากเรื่องง่ายๆ ที่ทำได้ หรือจะค้นคำว่า “กิจกรรมฝึกสมอง” หรือ “learn something new” ในอินเทอร์เน็ตเพื่อมองหาแนวทางก็ดี น่าจะมีสักอย่างที่เราสนใจบ้างแหละค่ะ คิดเสียว่าทำเล่นเปลี่ยนบรรยากาศ แล้วอาจจะประหลาดใจที่มันเปิดโลกให้เราได้มากกว่าที่คิด พาเราไปสู่ความคิดสร้างสรรค์ใหม่ๆ และความสนุกแบบใหม่ๆ ได้ด้วย หรืออย่างน้อยที่สุดมันก็ดึงเราออกจากความจำเจของชีวิตประจำวัน และทำให้สมองพัฒนาด้วยนะคะ
ขอให้ชีวิตสนุกและมีสีสันจากการเรียนรู้สิ่งใหม่ทุกวันค่ะ.
--------------------------------------------------------------------------------------------------------
"ซาระซัง" เธอเคยใช้ชีวิตอยู่ที่กรุงโตเกียวนานกว่า 5 ปี ปัจจุบันติดตามสามีไปทำงาน ณ สหรัฐอเมริกา ติดตามคอลัมน์ “เรื่องเล่าสะใภ้ญี่ปุ่น” ที่ MGR Online ทุกวันอาทิตย์.