xs
xsm
sm
md
lg

เบิกเนตรอาหารไทย มัดใจสามีญี่ปุ่น

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์



คอลัมน์ “เรื่องเล่าสะใภ้ญี่ปุ่น” โดย “ซาระซัง”

สวัสดีค่ะเพื่อนผู้อ่านทุกท่าน สัปดาห์นี้ขอเล่าเรื่องอาหารการกินของคุณสามี หลังจากเขาแต่งงานกับสาวไทยให้ฟังบ้างนะคะ ส่วนรูปอาหารในบทความนี้มาจากในครัวบ้านฉันเองค่ะ

ก่อนแต่งงานสามีฉันไม่เคยกินอาหารไทยมาก่อนเลย เขาจึงดูตื่นเต้นเมื่อเห็นอาหารหน้าตาไม่คุ้นเคย ถามว่านี่อะไรนั่นอะไร ถ้าครอบครัวฉันไปร้านอาหารไทยที่มีเมนูภาพหรือคำแปลภาษาอังกฤษ เขาจะใช้เวลาดูนานมาก แล้วสุดท้ายก็ได้ข้อสรุปว่า “เลือกไม่ถูกเลย” แต่โชคดีว่าเขาเป็นคนกินง่ายอยู่ง่าย เลยกินอะไรได้หมดแทบทุกอย่าง ไม่ค่อยจะมีของกินที่ไม่ชอบ แต่ต่อให้ไม่ชอบหรือไม่อร่อย เขาก็จะกินหมด ไม่เหลือทิ้งขว้าง

ครั้งหนึ่งครอบครัวฉันพากันไปตักบาตรและถือโอกาสกินข้าวเช้าที่ตลาด สามารถสั่งอาหารจากหลายเจ้ามานั่งที่โต๊ะได้ สามีเลือกสั่งข้าวขาหมูที่ไม่เคยกินมาก่อน พอกินไปสักครึ่งจาน ก็เงยหน้าขึ้นยิ้มอย่างมีความสุข แล้วหันไปบอกพ่อฉันเป็นภาษาไทยว่า “ชอบนี่ครับ”  พ่อตอบ “เหรอ อร่อยเหรอ” พลางยิ้มกึ่งหัวเราะอย่างเอ็นดู

ส่วนถ้าไปร้านอาหารตามสั่งจะลำบากหน่อย เพราะบางทีก็ไม่มีเมนู แถมฉันก็นึกอะไรไม่ค่อยออกเสียด้วยนอกจากข้าวกะเพรา ข้าวผัด และผัดซีอิ๊ว ซึ่งฉันก็กินอยู่อย่างเดียวคือข้าวกะเพรา ส่วนเขามักจะเลือกข้าวผัดอยู่เสมอ เพราะเป็นรสชาติที่เขากินได้และไม่แปลกลิ้นเกินไป แต่ถ้าเป็นร้านอาหารไทยในต่างประเทศเขาจะสั่งผัดไทยเสมอ


เวลาไปร้านก๋วยเตี๋ยว ฉันจะให้เขาเลือกเส้นที่มองเห็นจากตู้ และสั่งแบบใส่ทุกอย่างเพื่อให้เขาได้ลองหลายแบบ ซึ่งก็คงคล้ายกับราเมงบ้านเขาแบบที่ใส่เครื่องทุกอย่างนี่เอง เพียงแต่ต่างกันตรงที่ราเมงซึ่งใส่เครื่องทุกอย่างจะแพงขึ้นเพราะมีปริมาณท็อปปิ้งเพิ่มขึ้น

ตอนฉันไปญี่ปุ่นครั้งแรก จำได้ว่ารู้สึกอึดอัดใจที่กินอุด้งหรือโซบะ แล้วไม่มีเครื่องปรุงพวงให้ปรุงรสเองเหมือนไทย แถมน้ำแกงก็ช่างจืดชืดไร้รสชาติ (ความรู้สึกในเวลานั้น) นึกอยากใส่น้ำปลาและพริกน้ำส้มเหลือเกิน แต่ก็จนใจที่ไม่มี ได้แต่อดทนกินไปทั้งอย่างนั้น นานเข้าพอคุ้นเคยกับรสชาติอุด้ง/โซบะแล้ว ก็ไม่ได้รู้สึกว่าต้องเติมอะไรอีกเหมือนเมื่อก่อน ขืนใส่น้ำปลาและพริกน้ำส้มอาจจะกินไม่ลงแทน แต่ที่ขาดไม่ได้เลยคือพริกป่นเจ็ดรส (ฉิจิหมิ 七味) ที่ส่งกลิ่นหอม รู้สึกว่าใส่แล้วอร่อยขึ้นมาก

คงเพราะบะหมี่ก๋วยเตี๋ยวของญี่ปุ่นเขาไม่ค่อยปรุงเพิ่มกัน แรกๆ ที่สามีกินก๋วยเตี๋ยวไทยจึงไม่เติมเครื่องปรุงเลย ฉันบอกเขาว่าลองใส่ดูไหม เขาบอกไม่เอา แต่หลังๆ มาพอเห็นฉันใส่เครื่องปรุงก็ชักอยากใส่ตามบ้าง แต่ใส่เพียงอย่างละนิดเท่านั้น ถ้าฉันทำเกี๊ยวแห้ง เขาจะขอให้ใส่ซีอิ๊ว พริกน้ำส้ม กับพริกป่นแบบเดียวกับที่ฉันใส่ ถ้าวันไหนลืมละก็มีท้วงเสียด้วย

เพื่อนชาวฝรั่งเศสคนหนึ่งเคยบอกว่า “ก๋วยเตี๋ยวไทยนี่ดีเนอะ อยากกินรสอะไรก็ปรุงเอาเองได้ตามใจชอบ” ฉันรู้สึกทึ่งเพราะไม่เคยนึกถึงมุมนี้มาก่อนเลย อาหารชนิดอื่นคงไม่ค่อยมีให้ปรุงเองจนกระทั่งรสเปลี่ยนไปจากเดิมมากเท่าก๋วยเตี๋ยว


เวลาเขาหิวหรือเพิ่งกลับจากที่ทำงานและเห็นฉันอยู่ในครัว จะเดินมาดูด้วยสีหน้าอยากรู้อยากเห็นว่าวันนี้มีอาหารอะไร ฉันถามขำๆ ว่าต้องตรวจสอบก่อนใช่ไหม เขาจะตอบด้วยรอยยิ้มว่า “ผ่าน” ถ้าเป็นอาหารที่เขาชอบ เขาจะปรบมืออย่างดีใจ หรือไม่ก็ให้กำลังใจเป็นภาษาไทยว่า “น่าอร่อยมาก” ที่จริงหน้าตามันก็คล้ายกันทุกครั้งที่ทำ แต่การที่เขาแสดงท่าทางแบบนี้ก็ทำให้ดีใจ และรู้สึกคุ้มกับที่ตั้งใจทำสุดฝีมือ

ถึงแม้ว่าแรกๆ เขาจะกินเผ็ดได้ไม่มาก แต่พอมาอยู่กับภรรยาผู้บูชาอาหารเผ็ด เขาเลยไม่รอด กลายเป็นสาวกอาหารเผ็ดตามไปด้วยอีกคน อาหารประเภทต้มยำ แกงเผ็ด ยำ ผัดเผ็ด อะไรพวกนี้กินได้ไม่มีปัญหา ถ้าอยู่บ้านแล้วเจอของเผ็ดเกินคาด เขาก็จะเทนมสดใส่แก้วมาจิบแก้เผ็ด ถึงอย่างนั้นบางทีเขาก็นึกอยากกินอาหารเผ็ดขึ้นมาเอง หรือบางทีไปกินอาหารที่มันเผ็ดน้อย เขาก็จะรำพึงว่าทำไมไม่เผ็ดเลย

เมื่อก่อนเขาชอบติงว่า เวลาฉันกินทงคตสึราเม็ง (ซุปกระดูกหมูข้น) ทีไร ชอบทำให้น้ำแกงสีขาวกลายเป็นสีแดงทุกที เพราะฉันชอบใส่คาราชิทาคานะ (辛子高菜 ผักดองสับปรุงรสเผ็ด) ลงไปราว 1-2 ช้อนโต๊ะ แต่เดี๋ยวนี้พอสามีกินเผ็ดเก่งแล้ว ก็ใส่ปริมาณใกล้เคียงฉันเลย น้ำแกงเลยเปลี่ยนสีไปอีกคน

ที่น่าทึ่งคือเขาไม่มีปัญหากับกลิ่นปลาร้า น้ำปลา หรือกะปิด้วยค่ะ อย่างตอนให้กินส้มตำปลาร้าครั้งแรก ก็ไม่เห็นเขามีทีท่าผิดปกติ แถมยังกินอย่างเอร็ดอร่อยเสียอีก ถามว่าไม่เหม็นหรือ เขาทำหน้างงว่าเหม็นอะไร ทว่าพอเป็นปลาหมึกร้าของบ้านเขาที่เรียกว่า “ฉิโอคาหระ” (塩辛) เขากลับไม่ชอบกิน


ไม่นานมานี้ฉันลองทำแกงมัสมั่นเป็นครั้งแรก พอถามเขาว่ารสชาติเป็นอย่างไร เขาก็ตอบว่า “แปลกดี ผมไม่เคยกินรสชาติแบบนี้มาก่อน ไม่เหมือนแกงเลยเนอะ” เขาถามว่าเป็นแกงประเทศไหน ฉันบอกว่าประเทศไทย เขาแย้งว่าไม่น่าใช่ละมัง มันดูคล้ายๆ พวกแกงลักซาของมลายู ฉันก็เลยนึกได้ว่าน่าจะเป็นแกงที่มาจากแถบนั้น พอไปค้นดูคร่าวๆ ก็เจอบางเว็บบอกว่าได้อิทธิพลจากอาหารมลายู บ้างก็ว่ามาจากเปอร์เซีย และแกงมัสมั่นของภาคกลางกับภาคใต้ก็รสไม่เหมือนกัน ฉันเองก็เพิ่งทราบนี่แหละค่ะ ไว้มีโอกาสก็อยากลองสูตรของภาคใต้ดูบ้าง

สิ่งที่ฉันแปลกใจมากคืออาหารซึ่งเขารับไม่ได้ กลับเป็นอาหารกินง่ายอย่างสลัดใส่ผลไม้ เขาบอกว่าผลไม้กับผักมันไม่เข้ากัน เอามากินด้วยกันได้อย่างไร เพราะฉะนั้นถ้าฉันปอกผลไม้ใส่ลงสลัดไปด้วย เขาจะคัดแยกออกมาข้างจาน แล้วพอกินสลัดหรือข้าวเสร็จ จึงค่อยกินผลไม้ตาม แต่ถ้าอยู่บ้านพ่อแม่ฉัน เขาจะนั่งกินไปดีๆ ไม่พูดอะไร

โดยส่วนตัวแล้ว ฉันว่าใส่ผลไม้ในสลัดแล้วมันอร่อยขึ้น กินง่ายขึ้นดีออก ร้านขายสลัดในอเมริกาก็มีบางเมนูที่ใส่ผลไม้ เช่น ใส่สตรอเบอรี่ แตงโม ส้ม แต่สามีฉันบอกว่าที่ญี่ปุ่นไม่เคยเจอสลัดที่ใส่ผลไม้ เขาว่าอาจจะมีบางร้านก็ได้ แต่คนส่วนใหญ่ไม่มีใครเขาเอามาผสมกัน


นี่ถ้าเขามาเห็นมะม่วงน้ำปลาหวานหรือปลาแห้งแตงโมของบ้านเรา ไม่รู้จะว่าอย่างไรนะคะ ที่จริงมันก็ดูไม่น่าเข้ากันได้เลย แต่ก็กลับเข้ากันได้อย่างประหลาด ยิ่งกินยิ่งอร่อย หยุดไม่ได้ แหม…พูดแล้วก็หิวเลยนะคะเนี่ย ตอนนี้บ้านฉันไม่มีทั้งมะม่วงและน้ำปลาหวาน มีแต่แอปเปิลกับกะปิในตู้เย็น ซึ่งฉันก็ยังไม่อยากเป็นผู้กล้าลองของใหม่ค่ะ

สำหรับอาหารไทยที่เขาไม่ถูกปากคือ น้ำพริกกะปิ ฉันเคยทำเพราะกะจะกินผักเยอะๆ หน่อย ปรากฏว่าเขาแทบไม่แตะเลย (เลย “ไม่ถูก” ปาก) กินแต่ปลาย่างและผักนึ่งเท่านั้น ไม่ใช่ว่าเขาเกลียดกลิ่นกะปิ แต่อาจเป็นเพราะแม่ครัวทำไม่อร่อยเองก็ได้

อีกอย่างที่เขาไม่ค่อยชอบคือ โจ๊กและข้าวต้ม พอถามว่าทำไม เขาก็ตอบว่ามันเป็นอาหารคนป่วย ถึงมันจะรสชาติดี แต่ถ้าไม่ป่วยก็ไม่อยากกิน คุณแม่ของเขาก็ช่วยยืนยันความเห็นนี้ด้วยอีกคน คือเมื่อก่อนคุณแม่มาที่ไทย แล้วแม่ฉันทำโจ๊กเป็นอาหารเช้า คุณแม่สามีก็กินไปโดยไม่ได้พูดอะไรในวันนั้น เพียงแต่พอผ่านไปนานแล้ว มีอยู่วันหนึ่งฉันพูดขึ้นมาว่าน่าจะทำข้าวต้มหรือโจ๊กให้คุณยาย จะได้กลืนง่ายย่อยง่าย ทั้งคุณแม่และสามีเลยช่วยกันแย้งว่าไม่ได้นะ ปกติคนญี่ปุ่นจะไม่กินอาหารอย่างนี้ ยกเว้นตอนป่วยเท่านั้น ขืนทำให้คุณยายละก็ คุณยายอาจคิดมาก


จะว่าไปแล้วไม่กี่ปีก่อนฉันก็ตกใจเหมือนกัน ตอนที่อดีตเพื่อนร่วมงานชาวญี่ปุ่นบอกว่าคนเวียดนามกิน “เฝอ” เป็น “อาหารเช้า” เพราะอยู่ไทยยังไม่เคยเจอร้านก๋วยเตี๋ยวที่เปิดขายมื้อเช้า ความรู้สึกนั้นคงคล้ายกับคนญี่ปุ่นที่ตกใจยามเห็นคนไทยหรือคนจีนกินโจ๊กหรือข้าวต้มกันทั้งที่ไม่ได้ป่วยมั้งคะ

แม้จะมีอาหารที่คุณสามีไม่ชอบบ้างเป็นบางอย่าง แต่ก็ยังน่าชื่นใจที่ว่าความหลากหลายของอาหารไทยก็ยังมัดใจและเซอร์ไพรส์เขาได้เสมอ

แล้วพบกันสัปดาห์หน้านะคะ สวัสดีค่ะ.

--------------------------------------------------------------------------------------------------------
"ซาระซัง"  เธอเคยใช้ชีวิตอยู่ที่กรุงโตเกียวนานกว่า 5 ปี ปัจจุบันติดตามสามีไปทำงาน ณ สหรัฐอเมริกา ติดตามคอลัมน์ “เรื่องเล่าสะใภ้ญี่ปุ่น” ที่ MGR Online ทุกวันอาทิตย์.


กำลังโหลดความคิดเห็น