คอลัมน์ “เรื่องเล่าสะใภ้ญี่ปุ่น” โดย “ซาระซัง”
สวัสดีค่ะเพื่อนผู้อ่านทุกท่าน เพื่อนฉันบางคนไปเที่ยวมาหลายแห่ง แต่ไม่เคยไปญี่ปุ่นเลยสักครั้ง กลัวว่าถ้าไม่รู้ภาษาแล้วจะไปไหนหรือทำอะไรไม่ถูก ส่วนคนที่เคยไปแล้วก็คงเคยเจออุปสรรคด้านภาษากันมาบ้าง ถึงแม้ว่าเดี๋ยวนี้การเที่ยวในญี่ปุ่นจะง่ายดายกว่าเดิมเยอะ เพราะหลายที่ติดคำแปลภาษาอังกฤษไว้ให้ แต่การรู้เคล็ดลับเพิ่มนิดๆ หน่อยๆ ก็อาจมีประโยชน์ไม่น้อยเหมือนกัน
ข้อดีอย่างมากของการเที่ยวญี่ปุ่นคือ ต่อให้เราไม่รู้ภาษาเขา คนญี่ปุ่นเขาไม่ค่อยจะมาโกงหรือหลอกลวงเรา ไม่ต้องกลัวว่าจะเจอคนขับแท็กซี่โกงมิเตอร์ ไม่มีคนตื๊อให้เราซื้อของที่ระลึก สินค้าแต่ละอย่างมีความโปร่งใสเรื่องราคา เพราะมีป้ายบอกไว้ให้เห็นชัดเจน (ไม่เหมือนอเมริกาที่ตามร้านรถเข็นหรือจุดขายเครื่องดื่มหลายแห่งไม่ติดราคาไว้ ถ้าเราไม่ถามราคาก่อนซื้อ ก็อาจโดนโขกตอนจ่ายเงินได้)
หาตัวช่วย ถ้าไม่รู้ภาษาญี่ปุ่น
ถ้าไม่รู้ภาษาญี่ปุ่นยังไม่เท่าไหร่ แต่ถ้าอ่านภาษาอังกฤษไม่ได้เลยอาจจะลำบากอยู่ค่ะ เพราะต้องใช้เวลากรอกใบตรวจคนเข้าเมือง อ่านป้ายและแผนที่เวลาเดินทาง เช็กอินเข้าโรงแรม อ่านเมนูอาหาร ถึงเดี๋ยวนี้จะเจอข้อมูลที่เป็นภาษาไทยมากขึ้น แต่ก็ไม่ได้มีทั่วไป อย่างน้อยถ้าพอรู้ภาษาอังกฤษบ้างก็จะช่วยให้ไปไหนมาไหนง่ายขึ้น ยิ่งเป็นในเมืองหรือแหล่งท่องเที่ยวจะมีคนที่พูดอังกฤษได้เยอะกว่าเมื่อก่อนด้วย
มีหลายคนแนะว่าถ้าไม่ได้เลยทั้งญี่ปุ่นและอังกฤษ อย่างน้อยน่าจะลองหาเวลาฝึกภาษาอังกฤษสักนิดก็ยังดี จากยูทูปหรือพอดแคสอะไรก็ว่าไป เบื้องต้นแค่รู้ศัพท์บางคำหรือประโยคที่ใช้บ่อยในชีวิตประจำวันก็สร้างความแตกต่างได้แล้ว และถ้าฝึกต่อเนื่องก็จะเอาไปใช้ประโยชน์ได้ทั้งชีวิตเลย ไม่มีขาดทุนนะคะ มีแต่ได้กำไร
ตัวช่วยที่ค่อนข้างดีอีกอย่างคือ แอปพลิเคชันแปลภาษาทั่วโลกอย่าง Google Translate บางคนอาจใช้ประจำอยู่แล้ว แต่ถ้ายังไม่เคยก็ลองโหลดมาหัดใช้งานดูเล่นๆ ให้คุ้นเคย เผื่อว่าเวลาจำเป็นขึ้นมาจะได้หยิบออกมาใช้ได้ นอกจากแปลข้อความตัวอักษรหรือข้อความเสียงได้แล้ว ยังแปลภาษาจากป้ายต่างๆ ได้ด้วย
ก่อนนี้ฉันเคยต้องคุยกับคนเม็กซิกันซึ่งพูดแต่ภาษาสเปนเท่านั้น ระหว่างกำลังกลุ้มใจว่าจะสื่อสารกันอย่างไรดี ก็นึกถึง Google Translate ขึ้นมาได้ เลยเปิดแอปแล้วกดไมค์พูดเป็นภาษาอังกฤษลงไป ให้แอปแปลออกมาเป็นภาษาสเปน จากนั้นกดปุ่มลำโพงเพื่อให้คำแปลนั้นถ่ายทอดออกมาเป็นเสียง พออีกฝ่ายได้ยินภาษาของตัวเองก็ยิ้มออก และเมื่อเราต้องการแปลสิ่งที่เขาพูด ก็ใช้วิธีเดียวกัน แต่สลับภาษาที่เลือก ใช้ง่ายและสะดวกดีค่ะ เพียงแต่บางทีก็มีเหมือนกันที่แปลออกมาแล้วไม่รู้เรื่อง
ขึ้นลงรถไฟ
เรื่องขึ้นลงรถไฟอาจเป็นเรื่องน่ากลัวอยู่บ้างสำหรับคนที่ไม่คุ้นภาษา แต่ถ้าหาข้อมูลมาดี รู้ว่าต้องขึ้นรถไฟสายอะไร ขบวนไหน กี่โมง จากที่ไหน ลงที่ไหน ทางออกหมายเลขอะไร ไปต่ออย่างไร สถานที่ที่เราจะไปเปิดปิดทำการวันไหนเวลาใด (จะได้ไม่ไปเก้อ) ต้องจองตั๋วล่วงหน้าเท่านั้นหรือเปล่า อย่างนี้ก็มีชัยไปกว่าครึ่ง
บางคนบอกว่า Google Map อาจจะใช้บอกทางไม่ได้มากเมื่ออยู่ในสถานีรถไฟ แต่ฉันว่าไม่แน่เสมอไป เพราะ Google Map ก็มีบอกหมายเลขทางออกเอาไว้ให้ด้วย แถมในสถานีก็มีแผนที่และป้ายบอกทางละเอียดมาก ลองเทียบดูก็ได้ ถ้ามึนจริงๆ ลองมองหาคนไทยแถวนั้น ถ้าไม่เจอก็ถามเจ้าหน้าที่สถานี หรือคนต่างชาติที่น่าจะพูดอังกฤษได้ ต่อให้คุยกันไม่ค่อยรู้เรื่อง แต่ส่วนใหญ่เขาจะพยายามช่วยเราอย่างเต็มที่
บางคนอาจจำชื่อสถานีรถไฟไม่ค่อยถูก หรือบางสถานีก็ชื่อคล้ายๆ กัน อย่างเช่น “อาซากุสะ” กับ “อาคาซากะ” ถ้าเป็นในเมืองใหญ่ก็ไม่ต้องกังวล เพราะแต่ละสถานีจะมีรหัสกำกับไว้ด้วย เช่น JY-7, A-9, C-12 เป็นต้น ถ้าจำรหัสสถานีที่จะขึ้นลงไว้ด้วยก็ดี แต่ต้องดูด้วยนะคะว่าเรานั่งรถไฟสายไหน เพราะแต่ละสายอาจใช้กันคนละรหัส
อย่างหนึ่งที่อยากแนะนำค่ะ คือรถไฟญี่ปุ่นจะแน่นมากช่วงเช้ากับเย็นที่คนเดินทางไปกลับที่ทำงาน ยิ่งถ้าเป็นช่วงเช้าบางทีเจ้าหน้าที่ต้องมาคอยดันผู้โดยสารให้เข้าไปอยู่ในตู้ให้เรียบร้อยก่อนปิดประตู เพราะฉะนั้นหากใครเดินทางในญี่ปุ่นพร้อมกระเป๋าเดินทาง ถ้าเลือกได้พยายามเลี่ยงรถไฟท้องถิ่นช่วงเวลาแบบนี้ เพราะนอกจากจะขึ้นไม่ได้เพราะแน่นแล้ว ผู้โดยสารยังเบียดเสียดกันขึ้นลงตลอด ถ้ามีสัมภาระอาจจะลำบากใจเป็นพิเศษ
ถ้าจำเป็นต้องเดินทางไปหรือออกจากสนามบินในเวลานั้น อาจจะเลือกขึ้นรถไฟด่วนพิเศษหรือรถลิมูซีนที่วิ่งระหว่างสนามบินกับภายในตัวเมือง ราคาอาจสูงกว่าบ้าง แต่น่าจะสบายใจกว่า
อ่านตั๋วรถไฟด่วนพิเศษให้เข้าใจ
สำหรับคนที่โดยสารรถไฟชิงกันเซ็น หรือรถไฟด่วนพิเศษบางประเภท ถ้าตั๋วมีแต่ภาษาญี่ปุ่นก็คงสับสนว่าที่นั่งของเราอยู่ตรงไหน ตู้ไหนกันนะ
ในเวลาแบบนี้ให้ดูที่ตั๋ว มองหาตัวอักษร “号車” (หมายเลขตู้) และ “番” (แถว) และ “席” (ที่นั่ง) อย่างในรูปนี้ ที่ขีดเส้นสีน้ำเงินไว้ “2号車” หมายถึง ‘ตู้ที่ 2’ และ “4番A席” หมายถึง ‘ที่นั่ง 4A’
ส่วนที่ขีดเส้นสีแดง คือ ชื่อขบวนรถไฟ ถ้าอ่านไม่ออกไม่เป็นไร ลองเทียบกับป้ายบอกกำหนดเวลารถไฟออก เพื่อมองหาชานชาลาที่เราต้องขึ้น ส่วนหมายเลขตู้จะมีติดไว้ที่ด้านนอกขบวนรถไฟกับบนพื้นชานชาลา พยายามเผื่อเวลาไว้กันหลงด้วยนะคะ
ตอนที่ฉันไปคิวชูครั้งก่อน ระหว่างอยู่บนรถไฟด่วน เห็นคนถือตั๋วเดินมาพูดภาษาอังกฤษกับสาวญี่ปุ่นที่นั่งถัดจากสามีฉัน แต่ดูเหมือนจะคุยกันไม่ค่อยเข้าใจ พอรู้ว่าเขาเป็นคนไทย ฉันเลยหันไปคุยด้วย เขาเล่าว่าไม่แน่ใจว่าตั๋วเขาเป็นแบบจองที่นั่งไว้หรือเปล่า เรา 3 คนเลยช่วยกันดูที่ตั๋ว พบว่าไม่มีตัวเลขที่นั่งบอกไว้
รถไฟด่วนของญี่ปุ่นบางขบวนจะเป็นระบบจองที่นั่งทั้งหมด บางขบวนมีทั้ง 2 แบบ คือแบบจองที่นั่ง (ค่าตั๋วแพงกว่า) เรียกว่า “指定席” (ฉิเต้เซกิ) หรือ “Reserved” กับ แบบไม่จอง (ค่าตั๋วถูกกว่า) เรียกว่า “自由席” (จิยู่เซกิ) หรือ “Non-reserved” ถ้าซื้อตั๋วแบบหลังมาต้องดูว่าที่นั่งแบบไม่จองอยู่ตู้หมายเลขอะไรบ้าง ถ้าขึ้นไปแล้วมีที่ว่างก็นั่งได้ ใครมาก่อนได้ก่อน
ฉันถามเขาว่ามีตั๋วแค่ใบนี้ใบเดียวหรือ เขาตอบว่าใช่ (บางทีตั๋วจะมีสองใบ ใบหนึ่งคือตั๋วโดยสาร อีกใบเป็นตั๋วที่ต้องจ่ายเพิ่มถ้านั่งรถไฟด่วนพิเศษ ซึ่งถ้าซื้อตั๋วจองที่นั่งมา ก็จะมีเลขที่นั่งกำกับไว้ในใบนี้) สามีถามสาวญี่ปุ่นว่ารถไฟขบวนนี้มีตู้แบบไม่จองที่นั่งด้วยหรือ เธอตอบว่ามี สรุปแล้วตั๋วของเขาน่าจะเป็นแบบไม่จองที่นั่ง เขาขอบคุณอย่างสุภาพแล้วเดินไปตู้อื่น ตอนถึงสถานีปลายทาง เขาใจดีอุตส่าห์มาช่วยฉันกับสามียกกระเป๋าเดินทางใบโตลงด้วยค่ะ
จำคำทักทายภาษาญี่ปุ่นไว้
หลายคนคงรู้ภาษาญี่ปุ่นเป็นบางคำโดยเฉพาะคำทักทาย ซึ่งมันอาจมีประโยชน์กว่าที่คิดก็ได้ มีฝรั่งบางคนเล่าว่า ถ้าพูด “Hello” หรือ “Excuse me” กับคนญี่ปุ่นโดยเฉพาะแถบชานเมืองหรือชนบท อีกฝ่ายอาจไม่ทันคิดว่าพูดกับเขา หรือบางถ้าเขาไม่ถนัดพูดภาษาอังกฤษก็อาจตกอกตกใจ ทำอะไรไม่ถูกไปแทน
เพราะฉะนั้นการรู้คำในภาษาญี่ปุ่นสักนิด อย่าง “คนนิจิวะ” (こんにちは สวัสดี) หรือ “สุมิมาเซ็น” (すみません ขอประทานโทษ/ขอโทษด้วย) จะช่วยแก้เก้อได้ ฝรั่งคนนี้ยังเล่าด้วยว่าพอทลายกำแพงได้แล้ว มีคนญี่ปุ่นเยอะเลยที่ยินดีจะให้ความช่วยเหลือ
เพื่อนๆ อาจโหลดแอปพลิเคชันที่สอนภาษาญี่ปุ่นง่ายๆ แบบมีออดิโอมาฟัง คำไหนคิดว่าน่าจะได้ใช้ก็ลองจำดูสนุกๆ และถ้ามีโอกาสก็ลองพูดดูนะคะ
ว่าแต่มีคำหนึ่งที่ฉันได้ยินคนต่างชาติพูดกับคนญี่ปุ่นแล้วรู้สึกแปลกๆ คือคำว่า “อาริงาโต่” (ありがとう ขอบใจ/ขอบคุณ) เพราะคำนี้เป็นคำพูดแบบกันเอง ใช้กับเพื่อนวัยเดียวกัน คนสนิท หรือพูดกับเด็กได้ แต่ไม่เหมาะพูดกับคนแปลกหน้าหรือคนไม่คุ้นเคย ยิ่งถ้าอีกฝ่ายอาวุโสกว่ายิ่งไม่เหมาะ แนะนำให้พูดยาวขึ้นอีกนิดเป็น “อาริงาโต่ โกะไซมัส” (ありがとうございます ขอบคุณครับ/ค่ะ) จะน่าฟังกว่ากันเยอะเลยค่ะ คนฟังก็น่าจะดีใจที่ได้ยินด้วย
สุขาอยู่หนใด
สถานที่บางแห่งอาจมีแต่ป้ายภาษาญี่ปุ่นเท่านั้น ฉันเองก็เคยเจอป้ายบอกทางไปห้องน้ำที่เขียนด้วยภาษาญี่ปุ่นอย่างเดียว ถ้าอ่านไม่ออกลองจำสองคำนี้ไว้ค่ะ トイレ” (โท-อิ-เระ) กับ お手洗い (โอ่-เทะ-อะ-ไร) ทั้งสองคำแปลว่าห้องน้ำ แต่คำหลังสุภาพกว่า และนานๆ ทีอาจเจอห้องน้ำที่เขียนว่า “便所” (เบ็น-โจะ) ด้วยเหมือนกัน
ส่วนห้องน้ำชายหญิงมักเข้าใจง่ายเพราะใช้รูปภาพสัญลักษณ์ หรือไม่ก็สีน้ำเงินหรือตัวอักษร 男 สำหรับผู้ชาย และสีแดงหรือตัวอักษร 女 สำหรับผู้หญิง
สำหรับชักโครกมีหลายระบบมาก ทั้งเซ็นเซอร์อัตโนมัติ คันโยก ปุ่มกด ถ้าต้องกดเองให้มองหาคำว่า 流す (กดชักโครก) หรือไม่ก็ 大 (ใช้น้ำเยอะ) กับ 小 (ใช้น้ำน้อย) นะคะ (ถ้าเจอที่อื่นส่วนใหญ่หมายถึง ‘ใหญ่’ และ ‘เล็ก’ ตามลำดับ)
ปุ่มสีฟ้าในรูป คือปุ่มกดชักโครกน้ำเยอะ(大) กับน้ำน้อย(小)
แต่ว่าในภาษาญี่ปุ่นมีคำว่า 大便 (ได-เบ็น) แปลว่า ‘อุจจาระ’ กับคำว่า 小便 (โช-เบ็น) แปลว่า ‘ปัสสาวะ’ ไม่รู้ว่าคำว่า 大 กับ 小 ที่อยู่ตรงคันโยกหรือปุ่มกดชักโครกจะไม่ได้หมายถึงปริมาณน้ำ แต่หมายถึงว่าจะชักโครก “อะไร” หรือเปล่า ใครทราบช่วยบอกหน่อยนะคะ
ปุ่มกดชักโครกจะมีคำว่า 流す เขียนไว้
“เอามือวางเหนือแถบสีดำ แล้วจะชักโครกอัตโนมัติ"
อย่าเผลอกดปุ่มสีแดง เพราะเป็นปุ่มฉุกเฉินเรียกเจ้าหน้าที่
หวังว่าข้อมูลเล็กๆ น้อยๆ เหล่านี้จะพอมีประโยชน์บ้าง โดยเฉพาะสำหรับมือใหม่หัดเที่ยวญี่ปุ่นนะคะ ขอให้เที่ยวสนุกค่ะ.
--------------------------------------------------------------------------------------------------------
"ซาระซัง" เธอเคยใช้ชีวิตอยู่ที่กรุงโตเกียวนานกว่า 5 ปี ปัจจุบันติดตามสามีไปทำงาน ณ สหรัฐอเมริกา ติดตามคอลัมน์ “เรื่องเล่าสะใภ้ญี่ปุ่น” ที่ MGR Online ทุกวันอาทิตย์.