คอลัมน์ “เรื่องเล่าสะใภ้ญี่ปุ่น” โดย “ซาระซัง”
สวัสดีค่ะเพื่อนผู้อ่านทุกท่าน ความเปลี่ยนแปลงอย่างหนึ่งที่ฉันพบจากการไปญี่ปุ่นครั้งล่าสุด ก็คือจำนวนนักท่องเที่ยวต่างชาติที่ดูจะล้นหลามเสียยิ่งกว่าก่อนโควิด รวมถึงท่าทีของคนญี่ปุ่นที่เปลี่ยนไปเวลาปฏิบัติตัวกับคนต่างชาติทั้งในแง่บวกและแง่ลบ อีกทั้งเพื่อนฉันก็อยากรู้ว่าคนญี่ปุ่นมองคนต่างชาติอย่างไร เลยเป็นที่มาของบทความวันนี้ค่ะ
ช่องว่างของญี่ปุ่นและต่างชาติ
แม้ญี่ปุ่นจะออกตัวช้า แต่ก็ตั้งเป้าสู่ความเป็นสากล และปรับตัวในยุคโลกาภิวัตน์ให้ดีขึ้นกว่าเดิม เหตุผลส่วนหนึ่งก็เพราะประชากรลดลงและเศรษฐกิจซบเซา ถึงอย่างนั้นก็ใช่ว่าคนญี่ปุ่นจะสามารถปรับตัวได้ทันทีทันใด ยิ่งเป็นชนชาติที่ไม่ค่อยจะชอบความเปลี่ยนแปลงมาแต่ไหนด้วยแล้ว อีกทั้งยังชอบแวดล้อมอยู่กับคนญี่ปุ่นด้วยกันเอง มีวิธีสื่อสารแบบที่เข้าใจกันเองโดยไม่ต้องพูดตรง และต่างคนต่างรู้บทบาทหน้าที่ของตัวเองในสังคม
แต่เมื่อคนต่างชาติเข้ามามากขึ้น ก็นำเอาลักษณะเฉพาะของวัฒนธรรมอื่นเข้ามาปะปนด้วย ไม่ว่าจะเป็นเรื่องแนวคิดเสรี ความเท่าเทียม การทำตัวตามสบาย การพูดตรงไปตรงมา การทำตามใจตนมากกว่าสนใจแนวทางของกลุ่ม หรือมีข้อบังคับเฉพาะทางศาสนา ซึ่งสิ่งเหล่านี้เป็นวัฒนธรรมที่ตรงกันข้ามกับความเป็นญี่ปุ่นโดยสิ้นเชิง ทำให้ยิ่งเห็นช่องว่างระหว่างคนญี่ปุ่นกับคนต่างชาติมากขึ้น
ไม่เพียงเท่านั้น ญี่ปุ่นยังมีกฎและมารยาทสังคมอีกนับไม่ถ้วน มีเส้นขีดแบ่งค่อนข้างตายตัวว่าอย่างไหนถูกผิด และมองว่าคนที่ไม่ปฏิบัติตามกฎเหล่านี้คือคนไม่ดี ไม่มีมารยาท ควรต้องได้รับการขัดเกลา โดยที่อาจลืมคิดไปว่าบางครั้งนี่อาจเป็นเรื่องความต่างของวัฒนธรรม ไม่ใช่ความต่างของระดับจิตใจเสมอไป
อคติต่อต่างชาติ
ในภาษาอังกฤษน่าจะมีคำที่ใช้สื่อถึงอคติต่อคนต่างชาติอยู่หลักๆ สองคำ คือคำว่า “xenophobia” กับ “racism” โดย “xenophobia” จะหมายถึง ความรู้สึกเกลียด กลัว มีอคติต่อคนต่างวัฒนธรรมหรือ “คนนอก” โดยมักเกิดจากการขาดความเข้าใจ ความไม่คุ้นเคยต่อวัฒนธรรมอื่น ในขณะที่ “racism” จะเป็นการเหยียดเชื้อชาติ โดยมองว่าเผ่าพันธุ์ของตนเองเหนือกว่าอีกเผ่าพันธุ์หนึ่ง
เราสามารถพบเห็นอคติต่อคนต่างชาติได้ในทุกประเทศทั่วโลก ซึ่งอาจมีทั้งรูปแบบของ xenophobia และ racism ปะปนกัน แต่สำหรับญี่ปุ่นแล้ว ฉันคิดว่าออกจะมีบรรยากาศของ xenophobia อยู่มากกว่า อาจเพราะญี่ปุ่นเคยปิดประเทศตัวเองมากว่า 200 ปี และยังเป็นประเทศเกาะโดดเดี่ยว เลยไม่ค่อยมีการผสมผสานวัฒนธรรมหรือเชื้อชาติอื่นเข้ามาปะปนมากนัก ส่งผลให้ญี่ปุ่นคล้ายกับมี “โลกส่วนตัว” มายาวนาน
ญี่ปุ่นยังมีคำเรียกคนต่างชาติว่า “ไกจิน” เสมือนเป็นคำเรียกเพื่อแยกแยะว่าไม่ใช่พวกพ้องของตัวเอง แม้อาจเป็นไปได้ว่า “ไกจิน” ย่อมาจากคำว่า “ไก-โก๊ะ-กุ-จิน” (外国人) ที่หมายถึง ‘คนต่างชาติ’ แต่ก็อาจเป็นคำเดียวกับ “ไกจิน” (外人) ที่แปลว่า ‘คนนอก’ ด้วยก็ได้
นอกจากนี้ ญี่ปุ่นยังมีสำนวนว่า “ตะปูที่ยื่นออกมาจะถูกตอกลงไป” ซึ่งแสดงถึงการไม่ยอมรับคนที่ทำตัวแตกต่างจากกลุ่ม หรือดูผิดแผกจากคนอื่นด้วย แม้สำนวนนี้จะไม่ได้เกี่ยวกับคนต่างชาติ แต่ก็สะท้อนว่าคนญี่ปุ่นไม่ชอบคนที่ไม่กลมกลืนกับคนอื่น ดังนั้นคนต่างชาติที่ดูผิดแผกจากคนญี่ปุ่น หรือกระทั่งคนญี่ปุ่นเองที่เติบโตมาในต่างประเทศ บางคราวจึงอาจถูกมองว่าไม่ใช่พวกเดียวกัน
ผลวิจัยความรู้สึกคนญี่ปุ่นต่อต่างชาติ
เมื่อต้นปีที่ผ่านมา ศูนย์แลกเปลี่ยนระหว่างประเทศแห่งญี่ปุ่น (JCIE) และแพลตฟอร์มญี่ปุ่น (JPF) ได้เปิดเผยผลสำรวจเพื่อประเมินความเข้าใจของคนญี่ปุ่นในการอยู่ร่วมกับชาวต่างชาติ พบว่าคนญี่ปุ่นประมาณ 60% รู้สึกไม่คุ้นเคยกับคนต่างชาติที่อาศัยอยู่ในญี่ปุ่น และ 35% มีความคิดเห็นเชิงลบต่อจำนวนคนต่างชาติที่เพิ่มขึ้น ในขณะที่ 43% มีความคิดเห็นเชิงบวก
ส่วนรายงานของสถาบันวิจัยเพอร์ซอล (パーソル総合研究所「多文化共生意識に関する定量調査」) ณ พ.ศ.2564 พบว่า 27.6% ของผู้ตอบแบบสอบถามไม่ได้รู้สึกต่อต้านการเพิ่มขึ้นของชาวต่างชาติในญี่ปุ่น และประมาณครึ่งหนึ่งมองว่าการเพิ่มขึ้นของชาวต่างชาติจะมีผลกระทบแง่บวก เช่น สังคมจะมีความหลากหลายมากขึ้น จะมีแรงงานในบางสาขาอาชีพเพิ่มขึ้น โอกาสที่จะได้สัมผัสกับวัฒนธรรมและประเพณีต่างประเทศเพิ่มขึ้น
ในทางตรงกันข้าม ผู้คน 35.6% รู้สึกต่อต้านการเพิ่มจำนวนชาวต่างชาติในสังคมญี่ปุ่นโดยรวม และบางส่วนก็ไม่เต็มใจรับบริการจากชาวต่างชาติในร้านค้าและบริการที่ไปบ่อย และจะยิ่งไม่เต็มใจเป็นพิเศษหากเป็นบริการที่อยู่ในบ้านตัวเองหรือมีการแตะต้องตัว เช่น งานบ้าน พี่เลี้ยงเด็ก รักษาพยาบาลทั้งที่บ้านและที่สถาบันการแพทย์ รวมถึงงานที่ต้องใช้ภาษาญี่ปุ่นเป็นหลัก เช่น คอลเซ็นเตอร์ งานให้บริการลูกค้า เป็นต้น
สำหรับการทำงานร่วมกับชาวต่างชาติ ประมาณ 26-28% มองว่ายากที่จะพูดคุยและทำงานกับชาวต่างชาติ และไม่ต้องการมีเจ้านายต่างชาติ ทั้งนี้ 55.4% ไม่เต็มใจที่จะให้ภาษาอังกฤษกลายเป็นภาษากลางภายในบริษัท โดยเน้นย้ำถึงการต่อต้านภาษาต่างประเทศอย่างมาก
นอกจากนี้ยังพบด้วยว่า กลุ่มผู้ชายช่วงอายุ 30-50 ปี ผู้ที่มีรายได้ครัวเรือนต่อปีต่ำ และผู้ที่ไม่สามารถพูดภาษาต่างประเทศได้เลย มีแนวโน้มที่จะรู้สึกต่อต้านชาวต่างชาติมากกว่า ในขณะที่ผู้หญิงและคนที่พูดภาษาต่างประเทศได้ มีแนวโน้มที่จะมองเรื่องนี้ในแง่บวกมากกว่า
สังคมที่คนญี่ปุ่นกับคนต่างชาติสามารถอยู่ร่วมกันได้
สังคมญี่ปุ่นเองก็รู้ดีถึงความท้าทายในการสร้างสังคมที่คนญี่ปุ่นกับคนต่างชาติสามารถอาศัยอยู่ร่วมกันได้อย่างสันติ ทั้งภาคเอกชนและภาครัฐเองก็พยายามจะถมช่องว่าง ด้วยการสร้างโอกาสที่จะทำความเข้าใจร่วมกัน
อย่างในบริษัทที่จ้างแรงงานข้ามชาติ ก็มีการอบรมพนักงานชาวญี่ปุ่นเรื่องการสื่อสารกับคนต่างชาติ ว่าให้พูดด้วยถ้อยคำที่เข้าใจง่าย ตรงไปตรงมา เช่น บางคนบอกลูกน้องต่างชาติว่า “ว่างแล้วมาพบหน่อยนะ” ซึ่งใจจริงแล้วเขาต้องการให้มาหาทันทีที่สามารถผละจากงานได้ แต่ลูกน้องต่างชาติเข้าใจไปว่าทำงานให้เสร็จก่อนแล้วค่อยไปหา นายจึงรอแล้วรอเล่า ลูกน้องไม่มาเสียที
ส่วนในจังหวัดต่างๆ ก็มีความพยายามสร้างสภาพแวดล้อมที่เอื้อต่อการอยู่ร่วมกันของคนญี่ปุ่นและคนต่างชาติ อย่างในจังหวัดชิงะก็มีการทำสำรวจถามความเห็นประชาชนชาวญี่ปุ่นว่า ทั้งคนญี่ปุ่นและคนต่างชาติในพื้นที่ควรทำอย่างไรเพื่อให้อยู่ร่วมกันได้โดยสันติ ก็ได้รับคำตอบเช่น “ป้องกันไม่ให้คนญี่ปุ่นเกิดอคติกับคนต่างชาติ” “ทั้งคนญี่ปุ่นและคนต่างชาติควรเรียนรู้ภาษาและวัฒนธรรมระหว่างกัน” “ส่งเสริมให้ชาวต่างชาติทำตามกฎระเบียบญี่ปุ่น” และ “ส่งเสริมให้คนต่างชาติเข้าร่วมกิจกรรมในท้องถิ่นกับคนญี่ปุ่น” เป็นต้น
บางคนก็เสนอความเห็นแง่บวกที่น่าสนใจด้วย เช่น
“ควรบรรจุการศึกษาวัฒนธรรมต่างชาติไว้ในหลักสูตรการศึกษาภาคบังคับ เพื่อลงทุนในตัวเด็กๆ ที่จะเป็นผู้ใหญ่ในวันหน้า ถ้าต้องขึ้นภาษีก็ถือว่าสมควรนะ”
“ไม่ควรมองว่าคนต่างชาติคือแรงงานราคาถูกที่จะจ้างหรือเลิกจ้างเมื่อไหร่ก็ได้”
“ควรสร้างระบบที่คนต่างชาติสามารถทำงานได้โดยไม่โดนอคติจากคนญี่ปุ่น ในขณะเดียวกันก็ควรลงโทษคนที่อยู่อย่างผิดกฎหมายและอาชญากรรมอย่างเข้มงวด”
และความเห็นที่ฉันชอบมากคือ “จากประสบการณ์ส่วนตัวแล้ว พอได้เป็นเพื่อนกับคนต่างชาติก็พบว่าแม้ทุกคนจะมีค่านิยมต่างกัน แต่ก็เป็นคนดีและใจดีกันทั้งนั้น ฉันว่าเราสามารถสร้างความเข้าใจระหว่างกันได้ อาจจะดีกว่าถ้าเราไม่แบ่งแยกว่าคนนี้คนญี่ปุ่น คนนั้นคนอเมริกัน คนเกาหลี คนบราซิล อะไรพวกนี้”
ญี่ปุ่นยังไม่ค่อยมีอาชญากรรมจากความเกลียดชัง
การมีอคติกับคนต่างชาติเป็นเรื่องที่พบเจอทั่วโลก และไม่แปลกที่คนญี่ปุ่นส่วนหนึ่งจะรู้สึกเช่นนี้ แต่อย่างไรก็ตาม คนญี่ปุ่นก็ยังมีข้อดีตรงที่รักความสงบและไม่ชอบการเผชิญหน้าตรงๆ จึงไม่ค่อยมี hate crime หรืออาชญากรรมที่เกิดจากความเกลียดชังคนบางกลุ่มเป็นพิเศษให้เห็นบ่อยนัก ประเภทพูดจาเหยียดหยามต่อหน้า ปาไข่ หรือใช้ความรุนแรงตามท้องถนนต่อคนต่างชาติอะไรแบบนี้ไม่ค่อยเจอ
แม้ว่าสังคมญี่ปุ่นจะซับซ้อนในหลายมิติ ซึ่งยิ่งทำให้วิถีชีวิตแบบรวมความหลากหลายและแตกต่างของวัฒนธรรมเข้าไว้ด้วยกันเป็นเรื่องท้าทาย แต่ญี่ปุ่นก็ยังมีแนวโน้มที่ดีเรื่องความพยายามอย่างต่อเนื่อง ซึ่งญี่ปุ่นจำเป็นต้องทำอย่างนั้นด้วย เพื่อไม่ให้ตกกระแสโลกาภิวัตน์ที่เปลี่ยนแปลงรวดเร็วและตามประเทศอื่นไม่ทัน
ฉันคิดว่าการพยายามทำให้คนต่างชาติเข้าใจวัฒนธรรมญี่ปุ่นอย่างเดียวไม่พอ ถ้าอยากให้สังคมปราศจากอคติและอยู่ร่วมกันได้จริง คนญี่ปุ่นเองก็ต้องทำความเข้าใจอีกฝ่ายด้วยเช่นกัน บางเรื่องก็อาจต้องถอยกันคนละก้าว บางอย่างก็ต้องอะลุ่มอล่วย บางอย่างก็ต้องยอมเปลี่ยน น่าสนใจติดตามอยู่ว่าความหลากหลายมากที่มีมากขึ้นจะเปลี่ยนสังคมญี่ปุ่นไปอีกอย่างไรบ้าง
สุดท้ายนี้ขอขอบคุณเพื่อนผู้อ่านที่ใจดีเขียนข้อความให้กำลังใจฉันเมื่อสัปดาห์ก่อนนะคะ ฉันดีใจมากเลยค่ะ มันมีความหมายสำหรับฉันมากทีเดียว และขอถือโอกาสนี้ส่งความปรารถนาดีให้เพื่อนผู้อ่านทุกท่านเช่นกันนะคะ.
--------------------------------------------------------------------------------------------------------
"ซาระซัง" เธอเคยใช้ชีวิตอยู่ที่กรุงโตเกียวนานกว่า 5 ปี ปัจจุบันติดตามสามีไปทำงาน ณ สหรัฐอเมริกา ติดตามคอลัมน์ “เรื่องเล่าสะใภ้ญี่ปุ่น” ที่ MGR Online ทุกวันอาทิตย์.