xs
xsm
sm
md
lg

ส่องญี่ปุ่นมุมใหม่จากทริปคิวชู-ฮอนชู (ตอนที่ 2)

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์


ภาพจาก bordersofadventure.com
คอลัมน์ “เรื่องเล่าสะใภ้ญี่ปุ่น” โดย “ซาระซัง”

สวัสดีค่ะเพื่อนผู้อ่านทุกท่าน แม้ว่าฉันกับสามีจะคุ้นเคยกับญี่ปุ่นดีแค่ไหน แต่พอจากญี่ปุ่นไปเกือบ 10 ปี ก็มีบางคราวที่ไปญี่ปุ่นแล้วรู้สึกว่าตามไม่ทันหรือปรับตัวไม่ทันอยู่บ้างเหมือนกันค่ะ แล้วงวดนี้ฉันก็เซ่อซ่าเผลอทำบัตรรถไฟหายสองรอบ แล้วแก้ไขสถานการณ์อย่างไร จะเล่าให้ฟังค่ะ

อย่าคุยกันให้คนที่ไม่เกี่ยวข้องได้ยิน

มีอยู่วันหนึ่งนั่งรถเมล์เข้าเมืองไปกับคุณแม่สามี ท่านคุยกับฉันด้วยเสียงระดับปกติเท่ากับตอนอยู่ที่บ้าน แต่คนที่นั่งอยู่ใกล้ๆ ก็เหลียวมอง ทีแรกฉันนึกว่าพวกเขาคงสนใจใคร่รู้อยากฟัง แต่สักพักรู้สึกว่าเสียงคุณแม่ค่อนข้างดังเมื่ออยู่บนรถเมล์ที่เงียบกริบและไม่มีใครคุยกัน และแล้วคนขับรถก็หันมาพูดอย่างเหลืออดว่า “ขอโทษเถอะคุณ ช่วยเงียบหน่อยได้ไหม” คุณแม่เลยบอกขอโทษค่ะ แล้วเราก็ไม่ได้คุยกันต่ออีก เห็นใจคุณแม่เหมือนกันที่โดนว่า พอลงจากรถเมล์แล้วจึงให้กำลังใจคุณแม่ว่าคนขับรถเมล์คงเครียด

อันที่จริงเขาไม่ได้มีกฎห้ามคุยบนรถเมล์ แค่ห้ามไม่ให้คุยโทรศัพท์เท่านั้น ทว่าคนญี่ปุ่นถือสาเรื่องรบกวนคนอื่น คนจึงไม่ชอบใจนักถ้าได้ยินบทสนทนาของคนอื่น เพราะรู้สึกเหมือนโดนรบกวน

มีอีกเรื่องคล้ายๆ กันค่ะ มีอยู่วันหนึ่งฉันไปนั่งร้านกาแฟซึ่งคงมีลูกค้ามานั่งทำงานบ่อย และคงมีหลายคนที่ประชุมออนไลน์ด้วย ทางร้านเลยมีป้ายติดไว้ดังนี้ค่ะ


“ทุกคนได้ยินข้อมูลสำคัญของบริษัทคุณกันหมดแล้ว” “กรุณาอย่าคุยทางโทรศัพท์หรือคอมพิวเตอร์ รวมทั้งประชุมออนไลน์” และ “การนึกถึงคนอื่นและให้ความร่วมมือกันเป็นสิ่งที่ขาดไม่ได้ในการสร้างสังคมที่ดีกว่าเดิม”

นี่ถ้าไปร้านกาแฟที่อเมริกาละก็จะมีหลายร้านทีเดียวที่เสียงดังจ้อกแจ้กจอแจ หรือต่อให้ไม่ได้เสียงดังขนาดนั้น คนจะคุยกันด้วยเสียงปกติธรรมดาในระดับที่คนอื่นได้ยินไปด้วย แต่ร้านกาแฟที่ญี่ปุ่นนั้นเคยเจอบางแห่งเงียบกริบราวกับห้องสมุดทั้งที่คนแน่นมาก แล้วมีคนที่นั่งคุยกันอยู่ด้วย แต่เสียงเบามากจริง ๆ

ไม่ข้ามถนนตอนไฟแดง ไม่ดื่มกินระหว่างเดิน

ในนิวยอร์กนั้นเป็นเรื่องปกติมากที่คนเดินถนนจะฝ่าสัญญาณไฟ โดยเฉพาะเมื่อเห็นว่าไม่มีรถวิ่งมาหรือคิดว่าข้ามทัน พอสามีฉันมาญี่ปุ่นก็เผลอจะข้ามถนนตอนไฟแดงหลังจากเห็นว่าไม่มีรถมา แต่ปกติแล้วคนญี่ปุ่นจะไม่ทำแบบนี้กัน เว้นแต่จะมีผู้กล้าข้ามคนแรก ถึงอาจมีคนข้ามตามมาอย่างลังเล

เคยมีฝรั่งคนหนึ่งบอกว่าสังคมญี่ปุ่นเป็นสังคมแห่งการตรวจสอบซึ่งกันและกัน เหมือนกับว่ามีสายตาคอยเฝ้ามองเราอยู่เต็มไปหมด ทำให้คนไม่ค่อยกล้าทำอะไรไม่ดี เพราะกลัวจะโดนใครเห็น กลัวจะโดนใครตำหนิ มากกว่าจะเป็นเพราะว่ามีพื้นจิตใจงามหรือมีวินัยจากใจ เรื่องการข้ามถนนตอนไฟแดงก็คงเหมือนกัน พอมีความรู้สึกว่าโดนจับตามองอยู่จึงไม่ค่อยมีคนกล้าข้าม

สามีฉันยังมีความสุขกับการซื้อกาแฟตามร้านสะดวกซื้อที่ญี่ปุ่นและเดินถือไปดื่มไป ซึ่งที่อเมริกาถือเป็นเรื่องปกติอีกเช่นกันที่คนจะเดินไปดื่มกาแฟไปตามท้องถนน มีอยู่วันหนึ่งฉันเพิ่งนึกได้จึงบอกสามีว่า “อยู่ญี่ปุ่นทำแบบนี้ไม่ได้นะ เขาไม่ให้เดินไปดื่มไปหรือเดินไปกินไป” สามีนึกได้ว่าจริงด้วย พร้อมกับบ่นขำๆ ว่า “ประเทศอะไรนี่ อยู่ยากจัง”

แม้ครั้งนี้เราจะมาญี่ปุ่นเพื่อเที่ยวเป็นหลัก แต่ก็รู้สึก “อึดอัด” พิกล คือผ่านไปหนึ่งสัปดาห์ก็ชักเครียดหน่อยๆ แล้ว รู้สึกเหมือนมีสายตาเฝ้ามองอยู่รอบด้าน จะทำอะไรสักอย่างก็ต้องคอยระวังตัวแจไม่ให้ผิดมารยาทสังคม พอกลับมาที่อเมริกาแล้วรู้สึกหายใจหายคอโล่งเป็นปกติ เพราะแทบไม่มีใครสนใจเพ่งเล็งพฤติกรรมคนอื่นเท่าใดนัก

ดูๆ ไปแล้วสังคมที่ทำตามกลุ่มอย่างญี่ปุ่นสร้างความกดดันก็จริง แต่ก็ช่วยให้สังคมเป็นระเบียบเรียบร้อยดี ส่วนสังคมเสรีอย่างอเมริกาชวนให้สบายใจที่จะเป็นตัวของตัวเองก็จริง แต่มีส่วนทำให้สังคมไม่ค่อยจะมีกฎเกณฑ์ด้วยเช่นกัน เรียกได้ว่าเป็นสังคมที่ต่างกันไปคนละขั้วเลยจริงๆ นะคะ

เมื่อฉันทำบัตรเติมเงินรถไฟหาย

คราวหนึ่งระหว่างลงจากรถไฟชิงกันเซ็น ฉันเผลอทำตั๋วรถไฟที่ถือไว้หลุดมือ มันปลิวไปกับลมก่อนที่จะตกลงสู่ร่องระหว่างชานชาลากับขบวนรถไฟ ฉันอ้าปากค้างแล้วถอนหายใจเฮือกใหญ่ ต้องวัดดวงกันละว่าจะได้เจอเจ้าหน้าที่สถานีใจดีหรือไม่ โชคดีที่ว่าพอฉันเดินไปบอกเจ้าหน้าที่ว่าฉันทำมันปลิวตกชานชาลาไป เขาก็ไม่ว่าอะไร ให้ออกไปโดยดี

ภาพจาก en.japantravel.com
ฉันกับสามีต่างมีบัตร SUICA ซึ่งเป็นบัตรเติมเงินของบริษัทรถไฟ JR บัตรนี้สามารถใช้ขึ้นรถไฟได้หลายบริษัท อีกทั้งยังใช้แทนเงินสดในร้านสะดวกซื้อ ตู้กดน้ำ หรือตู้กดคูปองอาหารบางแห่ง และอื่นๆ ได้ด้วย

มีอยู่วันหนึ่งสามีแนะนำให้ฉันโหลดบัตรนี้ไปไว้ในมือถือ โดยต้องโหลดแอพลิเคชันและลงทะเบียน ซึ่งสะดวกตรงที่สามารถเติมเงินออนไลน์ด้วยบัตรเครดิตได้ แต่ถ้าใช้บัตรที่เป็นการ์ดแข็งจะต้องเติมเงินที่เครื่องและใช้เงินสดเท่านั้น ฉันบอกสามีว่าไม่เอาดีกว่า ถ้ามือถือหายก็จบกันสิ

ปรากฏว่าฉันทำบัตรหายเป็นครั้งที่ 2 ค่ะ ... วันนั้นฉันเห็นว่ากระเป๋ากางเกงลึกดี ใส่ไว้คงไม่หล่น แต่ฉันดันเผลอหยิบมือถือเข้าๆ ออกๆ จากกระเป๋ากางเกงข้างเดียวกันพอดี พอตอนลงจากรถไฟก็ล้วงกระเป๋าจะหยิบบัตร แต่หาเท่าไหร่ก็ไม่มี เพิ่งเติมเงินมาเองด้วยสิคะ เสียดายจริงเชียว แล้วเจ้าหน้าที่จะให้จ่ายค่าโดยสารใหม่หรือเปล่าก็ไม่รู้

ฉันเดินหงอยไปบอกเจ้าหน้าที่ตรงทางออกว่าฉันทำ “เทขิ” หล่นหาย “เทขิ” (定期) เป็นคำย่อที่คนญี่ปุ่นมักใช้เรียกตั๋วเดือน คือเมื่อก่อนฉันใช้บัตรเดียวกันนี้เป็นตั๋วเดือนด้วย แต่ก็ยังติดปากเรียกมันว่า “เทขิ”

เจ้าหน้าที่ถามว่า “จะให้เราหาให้เลยไหมครับ” ฉันตกใจที่ได้ยินอย่างนั้น เพราะไม่เคยทราบมาก่อนว่ามีบริการที่แสนใจดีอย่างนั้นด้วย ทั้งยังกังวลว่ามันจะไม่ทำให้รถไฟล่าช้าหรือ แต่สามีเล่าว่าเจ้าหน้าที่น่าจะใช้จังหวะที่รถไฟจอดตามสถานีในการเข้าไปค้นหาอย่างรวดเร็วโดยไม่กระทบตารางรถไฟ ฉันบอกเจ้าหน้าที่ว่าถ้าอย่างนั้นขอรบกวนด้วยค่ะ

เขาบอกว่า “คุณเดินไปที่ศูนย์ของหายนะครับ อยู่ติดกับทางออกตรงนั้น ผมจะบอกเจ้าหน้าที่ไว้ให้” พอเราเดินไปใกล้ถึงอีกทางออกหนึ่ง เจ้าหน้าที่อีกคนรีบบอกว่า “เชิญครับๆ ที่ทำบัตรหายใช่ไหมครับ เจ้าหน้าที่ตรงนั้นเขาติดต่อผมมาแล้ว” แล้วเขาเปิดทางให้เราออกได้ ช่างแสนสุภาพและใจดี

ภาพจาก jalan.net
ที่ศูนย์ของหาย เจ้าหน้าที่ถามว่าขึ้นรถไฟมาจากสถานีอะไร และปลายทางของรถไฟนั้นคือสถานีอะไร ขึ้นตู้หมายเลขอะไร ลงจากสถานีนี้ตอนกี่โมง ด้วยความที่รถไฟญี่ปุ่นออกตรงเวลามาก และมีป้ายบอกเวลากับสถานีปลายทางให้เห็นชัดเจน อีกทั้งจุดรอรถไฟที่ชานชาลาก็บอกหมายเลขตู้และประตูตู้ไว้ละเอียด ข้อมูลเหล่านี้เลยมีประโยชน์มาก ถ้าใครขึ้นรถไฟญี่ปุ่นขอให้สังเกตพวกนี้ อาจจำเป็นต้องใช้แบบฉันค่ะ

พอเขาดูจากข้อมูลที่ฉันให้แล้ว ก็สามารถระบุได้ว่าขณะนี้รถไฟขบวนนั้นกำลังจะไปจอดที่สถานีใดถัดไป และเขาก็โทร.ไปขอให้สถานีนั้นช่วยหาให้ ระหว่างที่รออีกสถานีติดต่อกลับมา เขาถามฉันว่าจะอายัดบัตรไปเลยไหม เผื่อว่าถ้าเกิดหาไม่เจอแล้วใครเก็บไป จะได้เอาเงินฉันไปใช้ไม่ได้ แล้วฉันค่อยไปทำเรื่องออกบัตรใหม่ แต่มีค่าธรรมเนียม

ฉันตอบตกลง เจ้าหน้าที่เลยให้กรอกแบบฟอร์มซึ่งต้องใส่เบอร์มือถือด้วย ฉันบอกเขาว่าไม่มีมือถือในญี่ปุ่นแล้ว เขาบอกว่าไม่เป็นไร เอาเบอร์ที่เคยลงทะเบียนไว้น่ะ โชคดีว่าบัตรนี้เคยเป็นตั๋วเดือนฉันมาก่อน จึงมีการลงทะเบียนอยู่ในระบบ ซึ่งถ้าหากเป็นบัตร SUICA ทั่วไป ฉันเข้าใจว่าคงไม่มีการลงทะเบียน และคงไม่สามารถอายัดบัตรได้อย่างนี้

สักพักก็มีโทรศัพท์มาจากอีกสถานีหนึ่ง จากนั้นเจ้าหน้าที่ก็เดินมาบอกว่า “หาไม่เจอครับ เขาช่วยหาในอีกสองตู้ที่ประกบข้างด้วย แต่ไม่เจอ บางทีอาจมีคนเก็บได้เอาไปให้เจ้าหน้าที่ก็ได้นะ แต่ปัญหาคือระหว่างทางเนี่ยรถไฟขบวนนี้จะเปลี่ยนสายกลายเป็นรถไฟอีกบริษัทหนึ่งแทน ดังนั้นคุณต้องโทร.ไปถามที่ศูนย์ของหายในอีกบริษัท เผื่อถ้าเจอ คุณจะได้ไม่ต้องไปทำเรื่องออกบัตรใหม่” แล้วเขาก็ให้เบอร์มา ซึ่งน่าเสียดายที่ว่าภายหลังเราโทร.ไปแล้ว มันกลายเป็นเบอร์ที่ไหนก็ไม่รู้

เจ้าหน้าที่ออกใบรับรองการอายัดบัตรให้ แล้วบอกว่าอย่าทำหายนะ เพราะต้องใช้ทำเรื่องขอออกบัตรใหม่ โดยทำได้ที่สถานี JR ทุกแห่งในวันถัดไป ให้เอาบัตรแสดงตนไปด้วย พร้อมเสียค่าธรรมเนียม 1,020 เยน ซึ่งรวมค่ามัดจำบัตรไว้แล้ว ส่วนเงินคงเหลือในบัตรที่หายไปจะอยู่เหมือนเดิม (ตราบใดที่ไม่มีขโมยเอาไปใช้)

ภาพจาก itmedia.co.jp
น่าทึ่งคือสถานีที่เกิดเหตุนั้นเป็นสถานีของบริษัทรถไฟสายโทเอโอเอโดะ แต่บัตร SUICA ออกโดยบริษัทรถไฟ JR ซึ่งแม้ว่าจะเป็นคนละบริษัทกัน แต่เขาสามารถอายัดบัตรให้ได้ แสดงว่าการรถไฟของญี่ปุ่นมีการเชื่อมและแชร์ข้อมูลเป็นระบบเดียวกันในส่วนนี้ ทำให้พวกเขาทำงานเป็นระบบและมีประสิทธิภาพมากทีเดียว

วันต่อมาฉันต้องไป “มิ-โด-หริ-โนะ-มา-โด-งุ-จิ” (みどりの窓口) ซึ่งเป็นเคาน์เตอร์บริการลูกค้าของบริษัทรถไฟ JR วันนั้นเป็นวันที่ฉันต้องกลับอเมริกาแล้ว และมีธุระต้องทำอีกหลายอย่าง เวลาจึงกระชั้นชิดมาก แต่คนรอคิวยาวเหยียดถึง 3 แถวซ้อนกัน ฉันกังวลใจมากเลยค่ะว่าจะทันไหม แต่โชคดีว่าเจ้าหน้าที่ทำงานอย่างว่องไวและชำนาญมาก จึงไม่ต้องรอนานเกินไป พอถึงคิวฉันก็ออกบัตรใหม่เสร็จภายใน 1 นาทีเท่านั้น โชคดีว่ายอดเงินคงเหลือยังเท่าเดิม

ช่วงท่องเที่ยวเราเจอชาวอเมริกันคนหนึ่งบอกว่า “รถไฟของญี่ปุ่นที่มันน่าทึ่งสุดๆ เลยเนอะ ทำไมเราทำไม่ได้อย่างนั้นบ้างก็ไม่รู้” ฉันเห็นด้วยกับเขาทุกประการเลยค่ะ มันเลิศไปทั้งระบบเลยทีเดียว

เที่ยวงวดนี้ก็สนุกดีค่ะ ได้เจอประสบการณ์ใหม่ด้วย แต่เหนื่อยเหลือเกินเพราะย้ายที่พักแทบทุกวัน อายุมากแล้วชักจะหมดแรงง่าย วันนี้ลาไปก่อนนะคะ สวัสดีค่ะ.

--------------------------------------------------------------------------------------------------------
"ซาระซัง"  เธอเคยใช้ชีวิตอยู่ที่กรุงโตเกียวนานกว่า 5 ปี ปัจจุบันติดตามสามีไปทำงาน ณ สหรัฐอเมริกา ติดตามคอลัมน์ “เรื่องเล่าสะใภ้ญี่ปุ่น” ที่ MGR Online ทุกวันอาทิตย์.


กำลังโหลดความคิดเห็น