สวัสดีครับผม Mr.Leon มาแล้ว ที่จริงอยากชวนคุยเรื่องสนุกๆ มีประโยชน์และอบอุ่นหัวใจเสมอๆ นะครับ แต่ดูข่าวเอย ดูสภาพเศรษฐกิจสังคมทุกวันนี้มันก็ค่อนข้างน่าเครียดสักหน่อย... ทั้งสถานการณ์สงครามที่ดูเหมือนจะเริ่มขึ้นอีกครั้งแม้จะในประเทศที่ห่างไกลจากเรา ด้านรัฐบาลญี่ปุ่นกําลังมองหานโยบายการจัดการเพราะไม่มีกองทัพ ดังนั้น จึงมีประเด็นปัญหาต่างๆ เช่น การอพยพพลเรือนญี่ปุ่นที่นั่น แหล่งข่าวบอกว่ามีเครื่องบินเช่าเหมาลําเช่นกัน แต่เห็นบอกว่าชาวญี่ปุ่นที่ประสงค์จะกลับภูมิลำเนาได้รับการประสานงานให้นั่งเครื่องบินมากับคนประเทศเกาหลี ซึ่งดูจะไม่ค่อยลงรอยกันนัก แต่ต่อมาก็ใช้เครื่องบินของกองกำลังป้องกันตนเองทางอากาศญี่ปุ่นแทน ...
สําหรับข่าวที่ชาวญี่ปุ่นผู้ประสงค์จะกลับภูมิลำเนาโดนเรียกเก็บเงิน 30,000 เยนจากเครื่องบินเช่าเหมาลํานั้น ก็ถูกวิพากษ์วิจารณ์กันว่า "รัฐบาลขี้เหนียวเกินไป!" (หลังจากนั้น ดูเหมือนว่าจะเปลี่ยนเป็นให้ความช่วยเหลือฟรี) ปกติผมไม่ค่อยกังวลเรื่องชีวิตความเป็นอยู่ของคนญี่ปุ่นขนาดนี้ แต่ตอนนี้คนญี่ปุ่นโดยรวมก็อยู่ในที่นั่งลำบาก ต้องรัดเข็มขัดกันอย่างมาก เห็นได้ชัดจากราคาสินค้าที่เพิ่มขึ้นแม้แต่ร้านขายของชํา ดูเหมือนว่าคนจะมีความเครียดมากมายเกี่ยวกับสาเหตุที่พวกเขาไม่ได้รับการช่วยเหลือในประเทศ แต่ส่งเงินสนับสนุนไปช่วยต่างประเทศเท่านั้น
จนมีข่าวแซวว่านายกรัฐมนตรีคิชิดะ ที่มีนโยบายเพิ่มภาษี มีความกังวลเกี่ยวกับฉายา "แว่นตาเพิ่มภาษี" ที่สื่อกําลังพูดถึง จนเขาถามผู้ช่วยว่า "ควรเปลี่ยนเป็นเลสิกดีไหม!" ก็ไม่รู้ว่าจะบ่นเรื่องอะไรหรืออย่างไร แต่นายกรัฐมนตรีคิชิดะ ดูเหมือนจะเป็นนายกรัฐมนตรีที่ได้รับความนิยมจากสาธารณชนเพราะรูปลักษณ์ที่ดูฉลาดและหล่อเหลาของเขา แต่เมื่อหลายคนนึกถึงฉายาขึ้นมาก็อดไม่ได้ที่จะหัวเราะเบาๆ
ซึ่งไม่ว่าจะเป็นบุคคล บริษัทภาคเอกชน หรือหน่วยงานระดับประเทศ การลดต้นทุนมักจะเริ่มจากหน่วยเล็กๆ และไม่สําคัญมาก เช่น ใช้ปากกาลูกลื่นจนหมึกหยดสุดท้ายหมด (ไม่!! มันจะเขียนยากมาก ...) ใช้กระดาษรองสำหรับคัดลอกเอกสาร หรือการปิดไฟในช่วงพักกลางวัน อันที่จริงมันเป็นรูปแบบปกติ money-eating (คนที่ใช้เงินโดยมีการตัดสินใจไม่ดีทำให้เงินหมดไปในไม่ช้า หรือต้องสูญเงินจำนวนมาก แบบที่ไม่มีประสิทธิภาพ ไร้ประโยชน์ และเสี่ยงมากขึ้น ) คนญี่ปุ่นเกิดความกังวลด้วยรู้สึกว่าชีวิตของพวกเขาจะยากลำบากอย่างแน่นอนเพราะตอนนี้เท่ากับต้องมีภาระจ่ายจากมาตรการตอบโต้ COVID-19 ของรัฐบาล ตกเป็นเงินกว่า 1 ล้านเยนต่อคน
แม้ว่าพวกเขาจะต้องการคิดทบทวนงบประมาณการเงินของครอบครัว แต่การลงทุนอาจจะไม่ประสบความสำเร็จเสมอไป หรือถ้าต้องทำงานล่วงเวลา หรือทำงานมากขึ้นเพื่อให้ได้เงินมากขึ้นก็ดูจะเป็นอันตรายต่อสุขภาพของตัวเอง... ดังนั้นพวกเขาจึงคิดที่จะ "ออมเงิน" แทน เพราะคิดว่าดีและเร็วที่สุด ทว่าน่าเสียดายที่การประหยัดเงินกลายเป็นเรื่องที่เครียดมาก!
วันนี้ผมจะนำข้อมูลที่แชร์ๆ กันเรื่องวิธีการออมเงินที่คนญี่ปุ่นได้ลองทำ แต่มันไม่สมเหตุสมผลเลยแถมทำให้เครียดและสิ้นเปลืองยิ่งกว่าเดิม! อีกด้วย มีพฤติกรรมอะไรบ้าง
1.เห็นว่าเป็นของถูกๆ แต่ไม่ใช่ของที่จำเป็นต้องใช้ ซื้อมาก็ไม่มีประโยชน์ในการใช้งาน หรือซื้อมาวาง ใช้ไม่ได้ ที่ซื้อเพราะราคาถูกเท่านั้น!
2.ซื้อเครื่องไฟฟ้าราคาแพงมาก เพราะคิดว่าจะเอามาใช้เพื่อช่วยประหยัดค่าไฟฟ้ารายเดือน ซึ่งที่จริงมูลค่าของที่ซื้อมาอาจแพงไปมาก มากกว่าค่าไฟที่ลดได้เพียงเล็กน้อย
3.ซื้อของจำนวนเยอะๆ เพราะคิดว่าจะได้ราคาที่ถูกลงกว่าซื้อชิ้นเดียว เช่น คนที่ซื้อเหล้าปกติหนึ่งขวดก็พอแล้ว แต่กลับซื้อเป็นลังๆ เลย หรือสินค้าบางอย่างก็เหมาซื้อมาเยอะเกินความจำเป็นแล้วกินไม่ทัน บูดเน่าเสียหายไป
4.เปิด-ปิดเครื่องปรับอากาศบ่อยๆ เพราะคิดว่าจะประหยัดไฟได้ แต่การเปิดไว้ทั้งวันยังช่วยประหยัดค่าไฟได้มากกว่าการเปิด-ปิดเครื่องปรับอากาศบ่อยๆ เพราะว่าเครื่องปรับอากาศจะทำงานหนักในช่วงที่เริ่มเปิด และยังส่งผลเสียกับมอเตอร์เครื่องปรับอากาศด้วย ดังนั้นถ้าออกไปนอกห้องไม่นานก็อาจจะเปิดไว้ก่อน จะดีกว่าเปิดๆ ปิดๆ
5.มักจะไปชื้อของที่ร้าน 100 เยนบ่อยๆ เพราะคิดว่าของถูก แต่สุดท้ายแล้วก็จะได้ของที่ไม่ได้ใช้จริงๆ มาจำนวนมากมาย และบางสิ่งคิดว่าถูกแต่จริงๆ คุณภาพก็จะลดหลั่นตามราคา
6.ออกไปซื้อของทุกวัน ถ้าไปทุกวันก็จะได้ของที่เกินความจำเป็นมาทุกครั้งที่ไปซื้อ แต่ถ้าใครชอบที่จะออกไปซื้อทุกวันจริงๆ เขาก็แนะนำให้เลือกวันที่มีโปรโมชันของถูกค่อยออกไป
7.คิดว่าซูเปอร์มาร์เกตที่อยู่ไกลบ้านมากๆ ขายของถูกกว่า ก็พยายามจะเดินทางไปที่ซูเปอร์มาร์เก็ตนั้น ซึ่งอาจจะเสียค่าใช้จ่ายในการเดินทาง ค่าน้ำมันรถ เวลา หรืออื่นๆ มากกว่าเดิม
8.บางคนคิดว่าต้องถอดปลั๊กเครื่องใช้ไฟฟ้าบ่อยๆ เช่น พัดลม หรือปลั๊กต่างๆ ต้องคอยถอดปลั๊กตลอดเพื่อที่จะได้ประหยัด แต่จริงๆแล้วก็ไม่เกี่ยวเท่าไหร่ การถอดปลั๊กบ่อยๆ ยังทำให้เต้ารับเต้าเสียบชำรุดไวขึ้นด้วย ยกเว้นถ้าสำหรับผมแล้วตอนที่มีพายุฝนฟ้าคะนอง มีฟ้าแลบฟ้าร้องผมก็จะเอาปลั๊กออกเหมือนกันนะครับ (о´∀`о)
9.ที่ญี่ปุ่นช่วงฤดูร้อนจะมีอากาศร้อนมากๆ อบอ้าวมากๆ เลยนะครับ คือบางคนก็พยายามประหยัดมากไม่ยอมใช้เครื่องปรับอากาศเลย แต่จริงๆ แล้วถ้าอากาศร้อนมากทำให้เกิดปัญหาสุขภาพได้ ก็ไม่ควรที่จะประหยัดขนาดนั้น คือใช้เครื่องปรับอากาศบ้างก็ได้ แต่บางคนก็ไม่ใช้เลย ก็คล้ายๆ กับการที่พยายามประหยัดเงินไม่กินอาหารดีๆ หรือว่าไม่ลงทุนกับการนอนในสถานที่ที่เอื้อต่อการนอนที่มีประสิทธิภาพ ก็มีผลต่อสุขภาพที่อาจจะทำให้เสียเงินมากกว่าในภายหลัง
10.คิดๆ แต่ว่าจะประหยัดอย่างไรจนตัวเองเครียดแล้วกลายเป็นคนวิตกกังวลก็ไม่ดีต่อสุขภาพ
ตอนนี้คนญี่ปุ่นกำลังรัดเข็มขัดกันมาก เพราะอยู่ในช่วงของเศรษฐกิจขาลงจริงๆ ครับ ทุกคนก็พยามประหยัดกันอย่างมาก หลายคนทำแบบที่เขียนไว้ด้านบนแต่ก็อย่างที่บทความบอกว่ายิ่งพยามประหยัดแต่ไม่มีความหมายเลย และดูเหมือนทำให้ยิ่งเครียดมากกว่าเดิมอีกด้วย อย่างไรก็ตาม เราควรหาจุดที่พอดีสำหรับตัวเองและสร้างความสุขในทุกวันนะครับ วันนี้เล่าสู่กันฟัง สวัสดีครับ