คอลัมน์ “เรื่องเล่าสะใภ้ญี่ปุ่น” โดย “ซาระซัง”
สวัสดีค่ะเพื่อนผู้อ่านทุกท่าน กว่าญี่ปุ่นจะเป็นประเทศที่สะอาดสอ้านจนทั่วโลกพากันสรรเสริญอย่างทุกวันนี้นั้น ใครเลยจะนึกว่าครั้งหนึ่งญี่ปุ่นเคยสกปรกเหลือหลายมาก่อน เราตามไปดูกันดีกว่าว่าสมัยนั้นบ้านเมืองญี่ปุ่นเป็นแบบไหน และประเทศนี้กลายมาเป็นเมืองที่แสนสะอาด และมีระเบียบวินัยได้อย่างไร
พวกเราหลายคนที่เคยไปญี่ปุ่น ส่วนใหญ่คงเห็นแต่ท้องถนนสะอาดตา และแม่น้ำที่ไม่ส่งกลิ่นโชย ก็อาจจะเผลอนึกไปว่าบ้านเมืองเขาคงเป็นแบบนี้มาแต่ไหนแต่ไรแล้ว ฉันเองก็เคยคิดแบบนี้เหมือนกันค่ะ จนวันหนึ่งสามีบอกว่า “รู้ไหม ก่อนนี้ญี่ปุ่นสกปรกจะตาย” ฉันถึงกับร้องฮ้าเสียงดังด้วยความไม่อยากเชื่อ แล้วเขาก็เล่าว่าโตเกียวโอลิมปิก 1964 ทำให้ญี่ปุ่นมีวันนี้
ญี่ปุ่นในยุคสุดสกปรก
หลังสิ้นสุดสงครามโลกได้เพียงสิบกว่าปี เศรษฐกิจญี่ปุ่นก็เติบโตอย่างรวดเร็ว แต่ด้วยความที่คนญี่ปุ่นยุคนั้นพยายามดิ้นรนเพื่อความอยู่รอด ประชาชนเลยไม่ค่อยมีแก่ใจนึกถึงมารยาท หรือมีจิตสำนึกสาธารณะใดๆ ต่างจากญี่ปุ่นยุคปัจจุบันราวฟ้ากับเหว
นายโมริโตะ ทัตสึโอะ ซึ่งเป็นรัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการและประธานสภากลางเพื่อการศึกษาในยุคนั้น ได้กล่าวเอาไว้ในบทความเรื่อง “โอลิมปิกและจริยธรรม'' ว่า พอคนญี่ปุ่นออกจากบ้านปุ๊บ พวกเขาก็จะสร้างความสกปรกให้แก่ท้องถนน สวนสาธารณะ และห้องน้ำสาธารณะทันที
เวลานั้นกรุงโตเกียวเหม็นหึ่งไปทั้งเมืองตั้งแต่ท้องฟ้ายันแม่น้ำลำคลอง จนถึงกับมีคนขนานนามว่าโตเกียวเป็น “นรกแห่งอุจจาระและปัสสาวะ” เลยทีเดียว ท้องฟ้าของกรุงโตเกียวมีควันดำและกลิ่นเหม็นเพราะไม่มีการควบคุมการปล่อยก๊าซเสีย การเก็บขยะก็ล่าช้าเป็นประจำ ขยะจากครัวเรือนจึงถูกทิ้งไว้บนท้องถนนเป็นเวลานานจนส่งกลิ่นโชย นอกจากนี้ยังมีปัญหาเรื่องการบำบัดน้ำเสียด้วย ทำให้มีน้ำเสียไหลลงแม่น้ำสุมิดะ ส่งกลิ่นเหม็นเสียจนผู้คนมักเอาผ้าปิดจมูกปากให้เห็นบ่อยในหนังสือพิมพ์หรือโทรทัศน์ เทศกาลอย่างการแสดงดอกไม้ไฟและการแข่งเรือบางคราวจำต้องถูกยกเลิกไปเพราะเหม็นเหลือทน อีกทั้งยังมีคนที่ป่วยหนักหรือเสียชีวิตเพราะความสกปรกของบ้านเมืองด้วย
เหตุผลเบื้องหลังการเป็นเจ้าภาพโตเกียวโอลิมปิก 1964
วารสารสมาคมหมุนเวียนทรัพยากรและการจัดการของเสียแห่งญี่ปุ่นกล่าวไว้ว่า สาเหตุที่โตเกียวต้องการเป็นเจ้าภาพโอลิมปิกตอนนั้น ก็เพราะต้องการฟื้นฟูประเทศหลังสงคราม และดำเนินแผนพัฒนาสุขอนามัยและความสะอาดของญี่ปุ่นในระยะยาว โดยคำนึงถึงว่าต่างชาติจะมองญี่ปุ่นอย่างไรเป็นสำคัญ (จุดนี้ช่างสมกับเป็นญี่ปุ่นมาก) ส่วนเรื่องแข่งกีฬาถือเป็นเรื่องรอง
2 ปีก่อนถึงการจัดโอลิมปิก สมาชิกคณะกรรมการโอลิมปิกสากล (IOC) และผู้ว่าการกรุงโตเกียว ได้เรียกร้องให้มีการ "แปลงโฉมเมืองกรุงให้สะอาด" เพื่อ "ทำให้กรุงโตเกียวกลายเป็นเมืองที่ไม่ต้องอายใคร" นอกเหนือจากการบำรุงรักษาระบบน้ำและบำบัดน้ำเสียแล้ว ยังรณรงค์ให้ประชาชนปฏิบัติตามมารยาทในที่สาธารณะอย่างเคร่งครัดภายใต้สโลแกน "ทำความสะอาดกรุงโตเกียวด้วยสิบล้านมือ"
ด้วยความที่คนญี่ปุ่นมีลักษณะนิสัย “ละอายใจง่าย” อยู่เป็นพื้นเดิม คำว่า “กรุงโตเกียวที่ไม่ต้องอายใคร” เลยคงไปกระตุ้นส่วนลึกเข้า อีกทั้งการได้เป็นเจ้าภาพโอลิมปิก ก็ทำให้ญี่ปุ่นรู้สึกว่าได้ยกระดับตัวเองไปอยู่ทัดเทียมกับประเทศพัฒนาแล้วอย่างยุโรปและอเมริกา จากเดิมที่คนญี่ปุ่นไม่ได้ตระหนักถึงความสะอาดและมารยาทในที่สาธารณะ ก็หันมาให้ความสนใจและให้ความร่วมมืออย่างแข็งขันขึ้น
นิสัยใหม่ที่สร้างญี่ปุ่นอย่างทุกวันนี้
โตเกียวโอลิมปิก 1964 ถูกใช้เป็นโอกาสในการพัฒนาญี่ปุ่นหลายด้าน ทั้งการส่งเสริมการรักษาสุขภาพ สร้างจิตสำนึกของคนญี่ปุ่น และความเข้าใจเรื่องการต่างประเทศ ที่สำคัญคือการยกระดับจริยธรรมอันดีของประชาชนทั้งประเทศ ไม่ใช่แค่ในกรุงโตเกียวที่เป็นเมืองเจ้าภาพเท่านั้น
รัฐบาลและสื่อต่างๆ ช่วยกันให้ความรู้ประชาชนเกี่ยวกับความสำคัญของความสะอาดและสุขอนามัย รณรงค์ให้ประชาชนรักษาความสะอาดในละแวกใกล้เคียง และมีความรับผิดชอบเวลาอยู่ในที่สาธารณะ โดยกระทรวงศึกษาธิการให้ความรู้เหล่านี้ผ่านการเรียนวิชาสังคมในโรงเรียน ในขณะที่องค์การบริหารท้องถิ่นกับคณะกรรมการการศึกษาก็พากันจัดทำ “คู่มือโอลิมปิก” เพื่อให้ประชาชนเลิกพฤติกรรมไม่ดี และปลูกฝังจิตสำนึกใหม่ที่ดีแทน
พฤติกรรมที่จำต้องเปลี่ยนแปลงของคนญี่ปุ่นยุคนั้น ได้แก่ ไม่ทิ้งก้นบุหรี่และเศษกระดาษตามถนนหนทาง กวาดรอบบ้านทุกวัน ไม่ทำลายต้นไม้และดอกไม้ตามถนนหนทางและในสวนสาธารณะ หยุดปัสสาวะ ถ่มน้ำลายหรือเสมหะบนท้องถนน เก็บกวาดมูลสุนัขของตัวเอง ไม่ทิ้งข้าวของและรถยนต์ไว้บนถนน ตรงต่อเวลาตามนัดหมาย และสอนเด็กให้ประพฤติดี เป็นต้น
แปลงโฉมกรุงโตเกียว
ที่ผ่านมา ญี่ปุ่นใช้ถังขยะไม้ซึ่งขยะเน่าเปื่อยและส่งกลิ่นโชยง่าย ต่อมาบริษัท Sekisui Chemical ของญี่ปุ่นได้พัฒนา polypail ซึ่งเป็นถังขยะพลาสติกแบบมีฝาปิดโดยได้แรงบันดาลใจจากถังขยะอเมริกา และกรุงโตเกียวก็หันมาใช้ถังขยะชนิดนี้แทน คงเพราะมันลดกลิ่นเน่าเหม็นและความสกปรกไปได้เยอะ จึงมีบางคนกล่าวว่าการเปลี่ยนถังขยะชนิดใหม่นี้ ถือเป็นการปฏิวัติวิธีเก็บขยะของกรุงโตเกียวเลยทีเดียว
นอกจากนี้ ยังมีการรื้อถอนอาคารเก่าซึ่งชำรุดทรุดโทรม และสร้างโครงสร้างพื้นฐานใหม่ที่ทันสมัย ซึ่งไม่เพียงแต่ปรับปรุงรูปโฉมของเมืองเท่านั้น แต่ยังส่งผลดีต่อความสะอาดและความสวยงามโดยรวมของกรุงโตเกียวอีกด้วย
กรุงโตเกียวเร่งดำเนินแผนพัฒนาระบบบำบัดน้ำเสีย โดยหวังจะครอบคลุมทุกเขตให้เสร็จสมบูรณ์ภายใน 10 ปี และแล้วมาตรการทำความสะอาดแม่น้ำสุมิดะก็เริ่มขึ้น จนอีก 16 ปีถัดมาเมื่อแม่น้ำสะอาดแล้ว เทศกาลดอกไม้ไฟและการแข่งเรือในแม่น้ำสุมิดะก็กลับมาอีกครั้ง ปัจจุบันสามารถพบเห็นปลาอะยุ (ปลาน้ำจืดชนิดหนึ่งที่คนญี่ปุ่นนิยม) ได้ในแม่น้ำสาขาด้วย บ่งบอกว่าคุณภาพน้ำดีขึ้นเพียงใด
ทว่ากว่าโตเกียวจะจัดการเรื่องระบบบำบัดน้ำเสียได้เสร็จสมบูรณ์ครบถ้วนทุกเขต กินเวลาถึง 32 ปี นานกว่าที่คาดการณ์ไว้มาก แต่อย่างไรก็ถือเป็นความสำเร็จ เพราะทำให้กรุงโตเกียวได้พัฒนาโครงสร้างพื้นฐานที่จำเป็น และช่วยให้ประชาชนมีความเป็นอยู่ที่ดีขึ้นกว่าเดิมมาก
เป็นอย่างไรบ้างคะ ความพยายามในการทำความสะอาดกรุงโตเกียว และนำเสนอภาพลักษณ์ที่สะอาดตาและทันสมัยแก่โลกในช่วงการแข่งขันโอลิมปิก 1964 ส่งผลกระทบที่ยั่งยืนอย่างน่าชื่นอกชื่นใจมากเลยว่าไหมคะ
แม้ทุกวันนี้ญี่ปุ่นก็ยังคงให้ความสำคัญกับการรักษาสะอาด การอนุรักษ์สิ่งแวดล้อม และการวางผังเมืองอย่างต่อเนื่องในทศวรรษต่อๆ มา ความเอาจริงอย่างต่อเนื่องเช่นนี้มีส่วนทำให้ญี่ปุ่นมีชื่อเสียงในฐานะประเทศที่สะอาดและมีการจัดการที่ดี
ฉันคิดว่าญี่ปุ่นมีความ “เจ๋ง” ตรงที่ไม่ทำอะไรแบบผักชีโรยหน้า ประเภททำตบตาต่างชาติชั่วคราวแค่ตอนเขามา หรือทำแป๊บๆ แล้วก็เลิก หรือทำโครงการเพื่อหวังโกงกินนี่ไม่ค่อยมี แต่เขา “เอาจริงและต่อเนื่อง” ถึงได้สร้างนิว นอร์มอลที่ดีขึ้นมาได้ในยุคนั้น ทำให้จากเดิมที่คนญี่ปุ่นเคยสกปรกมาก กลายมาเป็นว่าเดี๋ยวนี้มีนิสัยรักสะอาด และมีระเบียบวินัยติดตัวไปเลย
เป็นอะไรที่อยากเห็นบ้านเมืองของเราทำได้บ้างจังเลยค่ะ.
--------------------------------------------------------------------------------------------------------
"ซาระซัง" เธอเคยใช้ชีวิตอยู่ที่กรุงโตเกียวนานกว่า 5 ปี ปัจจุบันติดตามสามีไปทำงาน ณ สหรัฐอเมริกา ติดตามคอลัมน์ “เรื่องเล่าสะใภ้ญี่ปุ่น” ที่ MGR Online ทุกวันอาทิตย์.