xs
xsm
sm
md
lg

จะเอาตัวรอดอย่างไร? ถ้าเจออภิมหาแผ่นดินไหวตอนอยู่ญี่ปุ่น

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์


ภาพ AFP
คอลัมน์ “เรื่องเล่าสะใภ้ญี่ปุ่น” โดย “ซาระซัง”

สวัสดีค่ะเพื่อนผู้อ่านทุกท่าน ถึงแม้แผ่นดินไหวในญี่ปุ่นอาจฟังดูเป็นเรื่องไกลตัว แต่ก็ไม่แน่ว่าวันหนึ่งอาจมีเหตุให้เราไปอยู่ญี่ปุ่นในเวลานั้นก็ได้ ไม่ว่าจะท่องเที่ยว ศึกษาดูงาน ต่อเครื่อง เรียนต่อ ทำงาน หรืออยู่อาศัย อีกทั้งอภิมหาแผ่นดินไหวแนวแอ่งนังไกที่นักธรณีวิทยาญี่ปุ่นคาดว่าจะมาในทศวรรษที่ 2030 ก็อาจจะมาถึงก่อนเวลาได้อีกเช่นกัน แล้วถ้าเราอยู่ในสถานการณ์นั้นจะทำอย่างไรได้บ้าง? วันนี้ฉันย่อยข้อมูลที่รวบรวมจากทางราชการ และสำนักข่าวญี่ปุ่นมาฝากค่ะ

สัปดาห์ก่อนพอเพื่อนฉันได้อ่านเรื่องแผ่นดินไหวแนวแอ่งนังไกแล้ว เธอบอกว่าอย่างนี้ต้องรีบไปเที่ยวญี่ปุ่นก่อน ฟังดูเหมือนเป็นความคิดที่ดี แต่ที่จริงก็ไม่ใช่ว่าญี่ปุ่นจะปลอดภัยจากแผ่นดินไหวแนวแอ่งนังไกไปจนถึงทศวรรษหน้าเสียทีเดียว เพราะโอกาส 70-80% ที่จะเกิดขึ้นในช่วง 20-30 ปีนี้ก็ยังมีอยู่ หมายความว่ามันอาจเกิดขึ้นเมื่อไหร่ก็ได้นั่นเอง

สำหรับคนที่ไปญี่ปุ่นระยะสั้น

ก่อนไปญี่ปุ่น แนะนำให้เพื่อนผู้อ่านดาวน์โหลดแอปพลิเคชัน Safety Tips ไว้ล่วงหน้า จะมีข้อมูลแผ่นดินไหว ภูเขาไฟปะทุ ข้อมูลการหลบภัยภาษาญี่ปุ่นที่เป็นประโยชน์ ช่องทางติดต่อกรณีฉุกเฉิน แม้หัวข้อจะเป็นภาษาไทย แต่เนื้อหาส่วนใหญ่ยังเป็นภาษาอังกฤษอยู่ ภาษาไทยพอมีบ้าง ไม่แน่ใจว่ายังอยู่ในระหว่างการแปลหรือเปล่า แต่อย่างน้อยก็อาจจะดีกว่าไม่มีเลย ดาวน์โหลดได้ที่ https://www.jnto.go.jp/safety-tips/eng/app.html

ภาพจาก city.niiza.lg.jp
แอปพลิเคชัน NHK World Japan ก็ให้ข้อมูลที่มีประโยชน์หลายอย่าง แจ้งเตือนภัยพิบัติได้ และมีภาคภาษาไทยด้วย ดาวน์โหลดได้ที่ https://www3.nhk.or.jp/nhkworld/th/app/

ทำอย่างไรเมื่อเกิดแผ่นดินไหวรุนแรง

สำหรับวิธีรับมือกับแผ่นดินไหวต่อไปนี้ อยากให้จำไว้สักนิดค่ะ ถ้าชีวิตนี้ไม่ต้องใช้เลยก็ดี แต่ถ้าจำต้องใช้ขึ้นมาอย่างน้อยก็ยังพอมีแนวทางคุ้มครองตัวเองกับคนใกล้ตัวให้อุ่นใจได้บ้าง

ในห้องอพาร์ตเมนต์ - ให้เปิดประตูแง้มไว้ จะได้มีทางหนีออกไปเผื่อฉุกเฉิน (ถ้าอยู่ในห้องน้ำ ห้องอาบน้ำ ก็เปิดประตูนั้นแง้มไว้) แล้วรีบไปหลบใต้โต๊ะ อย่าไปอยู่ใกล้ตู้หรือชั้นวางของ เพราะอาจหล่นทับลงมาได้

หากเปิดเตาแก๊สไว้อย่าเพิ่งพยายามไปปิด รอพอแผ่นดินไหวหยุดก่อนค่อยไปปิด ส่วนใหญ่เตาแก๊สรุ่นปัจจุบันจะตรวจจับแผ่นดินไหวใหญ่ๆ ได้ และจะดับแก๊สเอง

ถ้าไฟไหม้ให้ตะโกน “คา-จิ-ดะ!” (火事だ!) เพื่อให้คนอื่นรู้ แล้วคว้าอุปกรณ์ดับเพลิงฉีดใส่ทันที แต่ถ้าไฟลุกถึงเพดานแล้วให้รีบหนี และโทร.แจ้ง 119

ในลิฟต์ - ออกจากลิฟต์ทันที ถ้าออกไม่ได้ให้กดปุ่มขอความช่วยเหลือทันที

นอกอาคาร - ย่อตัวลงให้ต่ำไว้ ออกห่างกระจกหน้าต่างที่อาจแตก กำแพงที่ก่อด้วยหิน อิฐซ้อนกันเป็นชั้นๆ และอาจพังลงมา เสาไฟฟ้าและป้ายต่างๆ ที่อาจหล่นลงมาทับ ถ้าเป็นไปได้ให้รีบไปยังพื้นที่โล่งแจ้ง เช่น สวนสาธารณะ แต่ถ้าอยู่ในจังหวัดซึ่งอาจเกิดสึนามิ พอแผ่นดินไหวคลายลงแล้วให้รีบหนีไปยังพื้นที่สูงโดยเร็วที่สุด และอยู่ให้ห่างจากชายฝั่งและแม่น้ำ

เด็กๆ ฝึกซ้อมหนีสึนามิ : ภาพจาก en-trance.jp
ถ้าขับรถอยู่ - ให้ชะลอความเร็ว เปิดไฟฉุกเฉิน พยายามหาที่จอดให้ห่างอาคาร ต้นไม้ หรือสะพาน แล้วดับเครื่อง อยู่ในรถไปก่อนจนกว่าแผ่นดินไหวจะสงบลง

หากเกิดสึนามิ พอจอดรถและดับเครื่องแล้ว ให้ออกจากรถโดยเสียบกุญแจคาไว้ และไม่ล็อกประตู เผื่อในภายหลังเวลาเจ้าหน้าที่ต้องเคลื่อนย้ายรถจะได้ขับออกไปได้

สาเหตุที่ไม่แนะนำให้ใช้รถในการหลบหนีสึนามิ เป็นเพราะไม่ยืดหยุ่นเท่าการหลบหนีทางเท้า ต้องวิ่งไปตามเส้นทางบังคับ ทั้งยังอาจเจอรถติด และหากสถานการณ์แย่ลงก็อาจหนีไม่ทัน หรือหากรถไปติดหล่มหรือพลิกคว่ำก็อาจออกจากรถไม่ได้อีกเช่นกัน

เมื่ออยู่ในที่ปลอดภัยแล้ว รีบติดต่อครอบครัวหรือเพื่อนเพื่อให้ทราบว่าปลอดภัยดี ให้ความร่วมมือและทำตามคำแนะนำของทางการญี่ปุ่น ถ้าไม่รู้ภาษาญี่ปุ่นและมีปัญหาใดๆ หรือต้องการข้อมูลเพิ่มเติม อาจติดต่อสอบถามศูนย์ข้อมูลนักท่องเที่ยว สถานทูตหรือสถานกงสุล หากโทร.ติดต่อไม่ได้ พยายามใช้ช่องทางสื่อสารอื่นอย่างโซเชียลเน็ตเวิร์กแทน เช่น X (เดิมคือทวิตเตอร์) เฟซบุ๊ก อินสตาแกรม หรือเว็บไซต์

ให้หนีสึนามิด้วยการขึ้นที่สูง ไม่ใช่หนีออกห่าง: ภาพจาก softbank.jp
สำหรับคนที่อยู่ในญี่ปุ่นระยะยาว

สิ่งที่จำเป็นมากคือการป้องกันไว้ก่อน อาจจะยุ่งยากนิดหนึ่ง แต่เตรียมความพร้อมไว้ถึงเวลาจะได้อุ่นใจนะคะ

ตรึงเฟอร์นิเจอร์ในบ้าน
-ให้ติดตั้งอุปกรณ์ยึดตู้ไว้กับกำแพง พื้น หรือเพดาน ป้องกันไม่ให้ล้มใส่ ติดกลอนปิดประตูตู้ไว้ด้วย เพื่อกันถ้วยชามหล่นแตกลงมา
-อย่าเอาของไปวางบนที่สูง เพราะอาจหล่นใส่ได้ยามเกิดแผ่นดินไหว

นัดแนะกับคนในบ้านล่วงหน้า
-ตรวจสอบล่วงหน้ากับหน่วยงานท้องถิ่นที่อาศัยอยู่ว่าสถานที่หลบภัยหรือศูนย์อพยพอยู่ที่ใดบ้าง
-คุยกับคนในบ้านให้ชัดเจนว่าพอถึงยามจวนตัว แต่ละคนจะไปเจอกันที่ไหน เช่น ศูนย์หลบภัยบนเนินสูง? สวนสาธารณะบนเนินสูง? หรือโรงเรียน? จะได้หากันเจอง่ายขึ้น 
-นัดแนะกับคนที่บ้านให้ใช้บริการรับฝากและฟังข้อความยามเกิดภัยพิบัติ โดยให้โทร. 171 (ฝากข้อความกด 1 ฟังข้อความกด 2 จากนั้นกดเบอร์โทรศัพท์บ้านหรือหมายเลขที่ตกลงไว้กับคนในครอบครัว สามารถฝากข้อความได้ 30 วินาที)

ภาพจาก ikuji.oyasmilk.com
เตรียมกระเป๋ายังชีพฉุกเฉิน/รองเท้า/หมวกนิรภัยไว้ใกล้ตัว

คนญี่ปุ่นบอกว่าให้วางไว้เหนือหัวนอน จะได้หยิบฉวยง่าย แต่คนไทยเราคงไม่อยากเอารองเท้าไปวางไว้ใกล้ศีรษะ แต่วางไว้ใกล้ที่นอนคงพอได้ เผื่อเกิดเหตุตอนกลางคืนจะได้คว้าทัน

สิ่งที่ควรเตรียมใส่ไว้ในกระเป๋ายังชีพ ได้แก่ บัตรประจำตัว พาสปอร์ต เงินสด สมุดพกยา น้ำดื่ม อาหารแห้ง อาหารกระป๋อง อาหารพร้อมรับประทาน ที่เปิดกระป๋อง ช้อนส้อม ผ้าเปียก ทิชชู ถุงขยะ  ห้องน้ำฉุกเฉิน (携帯トイレ หรือ 簡易トイレ) เจลแอลกอฮอล์ล้างมือ เสื้อผ้าสำรอง ชุดชั้นใน ผ้าขนหนู หน้ากากอนามัย แผ่นอะลูมิเนียมบางสำหรับห่มร่างกาย เสื้อกันฝน อุปกรณ์ปฐมพยาบาลฉุกเฉิน ยาประจำตัว นกหวีด แบตมือถือสำรอง ไฟฉายพร้อมถ่าน วิทยุพกพาพร้อมถ่านหรือชาร์จเตรียมไว้ 

บางคนอาจต้องเตรียมสิ่งเหล่านี้เพิ่ม ได้แก่ ผ้าอนามัย ผ้าอ้อม แว่นสำรอง ฟันปลอม และอื่นๆ ตามความจำเป็น

จากเหตุการณ์แผ่นดินไหวที่ผ่านๆ มาพบว่า สมุดพกยา (お薬手帳) มีประโยชน์มาก เพราะหากต้องหาหมอหลังเกิดภัยพิบัติ หมอจะได้รู้ประวัติและจ่ายยาให้เราได้เลย

รองเท้าที่เตรียมขอให้เป็นรองเท้าที่สวมใส่จนชินและสวมสบาย และอย่าลืมหมวกนิรภัย เผื่อเวลาสิ่งของต่างๆ หล่นใส่ยามวิ่งหลบหนีสึนามิ จะได้พอป้องกันตัวได้ค่ะ

ภาพจาก gk-design.co.jp
ฝึกซ้อมเส้นทางหนีภัย
สำหรับคนที่ใช้ภาษาญี่ปุ่นได้ ขอให้โหลดแอปพลิเคชัน 逃げトレ มา แล้วลองเดินไปตามเส้นทางต่างๆ ในการหลบหนีสึนามิ เพื่อให้คุ้นเคยและรู้ว่าเส้นทางไหนน่าจะเอาชีวิตรอดได้มากที่สุด บางคนบอกว่าก่อนนี้เคยนึกเส้นทางหลบหนีไว้ แต่พอมาใช้แอปพลิเคชันนี้ดูแล้ว ถึงได้ทราบว่าเป็นเส้นทางที่เสี่ยง

*หมายเหตุ - แอปพลิเคชันนี้มีไว้เพื่อซ้อมหลบภัยจากสึนามิเท่านั้น ห้ามใช้จริงตอนเกิดสึนามิ

พอเกิดแผ่นดินไหว เบื้องต้นให้ทำตามแนวทางในหัวข้อย่อย “ทำอย่างไรเมื่อเกิดแผ่นดินไหวรุนแรง” ข้างต้น

ทั้งนี้ หากทราบดีว่าตนเองอยู่ในเขตเสี่ยงต่อสึนามิ พอแผ่นดินไหวแผ่วลงแล้ว ถ้าทำได้ให้รีบคว้ากระเป๋ายังชีพฉุกเฉิน รองเท้า และหมวกนิรภัย จากนั้นรีบหนีไปยังจุดหลบภัยตามที่นัดแนะไว้กับคนที่บ้าน เช่น อาคารหลบภัยจากสึนามิ ศูนย์อพยพซึ่งอยู่ในที่สูง ที่โล่งแจ้งซึ่งอยู่ในที่สูง อย่าใช้รถในการหลบหนี

คอยตรวจสอบข้อมูลจากอินเทอร์เน็ตหรือวิทยุ และให้ระวังข้อมูลเท็จเป็นพิเศษด้วย โดยเฉพาะที่ส่งต่อๆ กันทางโซเชียล ให้เลือกอ่านเฉพาะข้อมูลจากราชการหรือหนังสือพิมพ์ท้องถิ่นเท่านั้น อย่าเชื่อเพียงเพราะเพื่อนหรือญาติเราแชร์ข้อความต่อกันมาโดยไม่ตรวจสอบ อาจเป็นโทษมากกว่าคุณ

หากอาศัยอยู่ในเขตที่ไม่ต้องอพยพ และอยู่ในอพาร์ตเมนต์ ควรหลีกเลี่ยงการกดชักโครก และให้ใช้ห้องน้ำฉุกเฉินแทน เพราะตอนเกิดแผ่นดินไหวที่คุมาโมโตะ พ.ศ.2559 สิ่งปฏิกูลทั้งหลายที่คนชั้นบนพากันกดชักโครกลงมา (เพราะเข้าใจว่าใช้ได้ตามปกติ) กลับไปล้นทะลักออกจากห้องน้ำของคนชั้นล่างแทน

ตอนเกิดแผ่นดินไหวเมื่อ พ.ศ.2554 พบว่า 34% ของรัฐบาลท้องถิ่นได้รับห้องน้ำชั่วคราวภายใน 3 วัน และเกือบครึ่งหนึ่งไม่ได้รับห้องน้ำแม้จะผ่านไปแล้ว 1 สัปดาห์ ส่วนนานที่สุดคือ 65 วัน เพราะฉะนั้นห้องน้ำฉุกเฉินจำเป็นมาก ขอให้คำนวณว่าวันหนึ่งๆ คนในบ้านเราจะใช้ห้องน้ำบ่อยแค่ไหน แล้วเตรียมจำนวนถุงให้พอเหมาะ รวมถึงถุงขยะขนาดใหญ่ด้วย

ตัวอย่างห้องน้ำฉุกเฉิน : ภาพจาก sservice.co.jp
* ข้อควรระวังเป็นพิเศษสำหรับคนที่อาศัยอยู่ในจังหวัดที่คาดว่าจะโดนสึนามิ
-บางเขตอาจต้องอพยพล่วงหน้า 1 สัปดาห์ แล้วแต่ทางการกำหนด
-หากจุดที่เกิดแผ่นดินไหวอยู่ใกล้แผ่นดินมาก ทางการอาจประกาศเรื่องสึนามิไม่ทัน ดังนั้นหากสั่นรุนแรงหรือสั่นไม่แรงแต่นาน ให้เตรียมพร้อมหลบภัยทันที
-บางทีสึนามิที่เกิดขึ้นจริงอาจสูงกว่าที่คาดการณ์ไว้ อย่าชะล่าใจ ให้เร่งอพยพ
-สึนามิจะมาซ้ำลูกแล้วลูกเล่า ให้หลบภัยจนกว่าการแจ้งเตือนจากทางการจะสิ้นสุดลง ห้ามกลับบ้านก่อนทางการจะประกาศว่าสึนามิสิ้นสุดแล้วเด็ดขาด เพราะเคยมีคนกลับบ้านไปเอาของ แล้วเสียชีวิตเพราะสึนามิระลอกใหม่ที่ตามมา

หากอยู่ในศูนย์หลบภัย
-ให้ความร่วมมือปฏิบัติตามกฎของศูนย์
-อย่ารอรับความช่วยเหลืออย่างเดียว ช่วยเหลือคนอื่นด้วย
-ไม่กักตุนของบริจาคไว้ให้ตนหรือพวกพ้อง
-แบ่งปันและเสียสละให้คนอื่น โดยเฉพาะคนป่วย คนพิการ คนชรา คนท้อง และเด็ก แล้วจะอยู่ศูนย์หลบภัยได้อย่างสบายใจและสุขใจกว่าเดิมค่ะ มีหลายคนบอกมา :)

หวังว่าข้อมูลเหล่านี้จะพอเป็นประโยชน์ และขอให้เพื่อนผู้อ่านไม่ประมาทในชีวิตไม่ว่าจะอยู่ที่ไหนของโลกนะคะ.

--------------------------------------------------------------------------------------------------------
"ซาระซัง"  เธอเคยใช้ชีวิตอยู่ที่กรุงโตเกียวนานกว่า 5 ปี ปัจจุบันติดตามสามีไปทำงาน ณ สหรัฐอเมริกา ติดตามคอลัมน์ “เรื่องเล่าสะใภ้ญี่ปุ่น” ที่ MGR Online ทุกวันอาทิตย์.


กำลังโหลดความคิดเห็น