xs
xsm
sm
md
lg

รมว.ต่างประเทศคนใหม่ของญี่ปุ่น​ ไม่ใช่คนที่จะคุยกับจีนได้ดี​

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์


โยโกะ คามิกาวา รัฐมนตรีต่างประเทศของญี่ปุ่น (ซ้าย) และรัฐมนตรีกระทรวงการต่างประเทศสหรัฐฯ แอนโทนี บลิงเคน พูดคุยกันที่นิวยอร์ก เมื่อวันที่ 18 กันยายน 2023 (เกียวโด)
เกียว​โด​นิวส์​ (22 ก.ย.) โยโกะ คามิกาวา รัฐมนตรีต่างประเทศหญิงคนแรกของญี่ปุ่นในรอบ 20​ ปี​ เริ่มเดินสายที่สหประชาชาติ วิจารณ์​จุดยืนทางทหารที่เพิ่มขึ้นของจีน​ 

คามิกาวะ วัย 70 ปี เข้ามารับตำแหน่งต่อจากโยชิมาสะ ฮายาชิ ในการปรับคณะรัฐมนตรี เนื่องจากความสัมพันธ์ระหว่างโตเกียวกับปักกิ่งได้พังทลายลงจากการปล่อยน้ำกัมมันตภาพรังสีที่ผ่านการบำบัดของจากโรงไฟฟ้านิวเคลียร์ฟุกุชิมะ ไดอิจิ​ ลงสู่ทะเลตั้งแต่วันที่ 24 ส.ค.

นักวิเคราะห์หลายคนวิจารณ์​ถึงการตัดสินใจของนายกรัฐมนตรีฟูมิโอะ คิชิดะ ที่เปลี่ยนคามิกาวะ เข้ามาแทนที่ฮายาชิ ซึ่งมักถูกมองว่ามีจุดยืนสนับสนุนจีนว่า เป็น "การแต่งตั้งที่น่าประหลาดใจ" ซึ่งจะไม่สามารถฟื้นสัมพันธ์ที่สั่นคลอนกับปักกิ่ง

ฮิโรโกะ โอกิวาระ นักข่าวเศรษฐกิจกล่าวว่า คิชิดะ หัวหน้าพรรคเสรีนิยมประชาธิปไตย​ (LDP)​ ซึ่งเป็นพรรคอนุรักษนิยม ดูเหมือนไม่ได้คาดหวังให้เธอเป็นนักการทูตที่เจรจากับจีน น่าสงสัยว่า “ทำไม” ฮายาชิ ซึ่ง “เป็นที่รู้จักไปทั่วโลกในฐานะรัฐมนตรีต่างประเทศ” จึงถูกปรับเปลี่ยน

“ฉันไม่รู้สึกว่า” คามิคาวะ “มีทักษะในการทูตหรืออยู่ในตำแหน่งที่ถูกต้อง” ฮิโรโกะกล่าว

แม้ว่าความสามารถและตำแหน่งทางการทูตของคามิกาวะจะไม่ได้รับการยอมรับอย่างกว้างขวาง แต่เธอได้รับปริญญาโทสาขาการบริหารสาธารณะ จากมหาวิทยาลัยฮาร์วาร์ด และเคยทำงานเป็นเจ้าหน้าที่นโยบายให้วุฒิสมาชิกสหรัฐฯ

หลังจากการแต่งตั้งคามิกาวะ โฆษกกระทรวงการต่างประเทศของจีน เหมา หนิง กล่าวกับผู้สื่อข่าวในกรุงปักกิ่งว่า ทั้งสองชาติควร "สงวนความแตกต่าง" โดยเน้นย้ำถึงความสำคัญของการเสริมสร้าง "การเจรจาและการสื่อสาร"

ในการประชุมรัฐมนตรีต่างประเทศกลุ่ม G7 ครั้งแรกของเธอ​ ที่สมัชชาใหญ่แห่งสหประชาชาติ​ กรุงนิวยอร์ก​ เมื่อวันจันทร์ คามิกาวะ​ ประเดิมกล่าวตำหนิการแสดงจุดยืนทางทหารที่เพิ่มขึ้นของจีนในภูมิภาคเอเชียแปซิฟิก

คามิกาวะกล่าวถึงจีนในแถลงการณ์ประธานหมุนเวียนของกลุ่มสมาชิก G7​  ในปีนี้​ ว่า “คัดค้านความพยายามฝ่ายเดียวอย่างแข็งขันในการเปลี่ยนแปลงสถานะที่เป็นอยู่ด้วยกำลังหรือการบังคับ”

แหล่งข่าวในรัฐบาลที่ใกล้ชิดกับคิชิดะกล่าวถึงคามิกาวะ ว่า ​"เธออาจไม่ดำเนินกลยุทธ์ทางการทูตที่สมดุลต่อจีนอย่างที่ฮายาชิทำ"

เจฟฟ์ คิงสตัน ศาสตราจารย์ด้านประวัติศาสตร์และเอเชียศึกษาที่ Temple University Japan กล่าวว่า ฮายาชิ รัฐมนตรีกระทรวงต่างประเทศ​คนก่อนซึ่งศึกษาในบัณฑิตวิทยาลัยมหาวิทยาลัยฮาร์วาร์ดเช่นกัน “ถือว่าค่อนข้างสนับสนุนจีน” และ “ได้รับคะแนนสูงจากการทูตของเขา”

“การแทนที่เขาด้วยใบหน้าที่สดใสไม่น่าจะช่วยปรับปรุงความสัมพันธ์ทวิภาคี” ระหว่างญี่ปุ่นและจีน คิงส์ตันกล่าว

ผู้เชี่ยวชาญด้านการต่างประเทศอื่นๆ กล่าวว่า ไม่ว่าใครจะดำรงตำแหน่งนักการทูตชั้นนำของญี่ปุ่น คิชิดะก็กระตือรือร้นที่จะส่งเสริม “การทูตระดับสูง” กับผู้นำประเทศต่างๆ ที่กำลังท้าทายภัยคุกคามทางทหารของจีนในภูมิภาคอินโดแปซิฟิก

คิชิดะซึ่งดำรงตำแหน่งรัฐมนตรีต่างประเทศมาประมาณ 5 ปีจนถึงปี 2560 ภายใต้รัฐบาลของนายกรัฐมนตรีชินโซ อาเบะ ในขณะนั้น ก่อนขึ้นเป็นนายกรัฐมนตรีในเดือนตุลาคม พ.ศ.2564​ ได้กล่าวในงานแถลงข่าวหลังปรับปรุงคณะรัฐมนตรีเมื่อวันที่ 13 กันยายนว่า "รัฐมนตรี เช่น รัฐมนตรีต่างประเทศ และรัฐมนตรีกลาโหม มีบทบาทสำคัญในการทูต และการทูตในการประชุมสุดยอดก็มีน้ำหนักมหาศาลเช่นกัน"

“ผมจะยังคงมีภารกิจสำคัญทางการทูตในการประชุมสุดยอดต่อไปในอนาคต"

สตีเฟน​ นากี ศาสตราจารย์ที่มหาวิทยาลัยคริสเตียนนานาชาติในโตเกียวกล่าวว่า "โดยทั่วไปแล้ว นายกรัฐมนตรีคิชิดะทำได้ดีทีเดียวในแง่ของการมีส่วนร่วมในระดับนานาชาติ"

ในเดือนสิงหาคมที่ผ่านมา คิชิดะ​ ประสบความเร็จ​จัดการประชุมสุดยอดไตรภาคีร่วมกับประธานาธิบดีโจ ไบเดน ของสหรัฐฯ และประธานาธิบดียูน ซุกยอล ของเกาหลีใต้ ที่แคมป์เดวิดใกล้กรุงวอชิงตัน

ในขณะเดียวกัน คิชิดะ ได้ใช้แนวทางที่เข้มงวดมากขึ้นต่อจีน ซึ่งไปกระชับความร่วมมือทางทหารกับรัสเซียให้ลึกซึ้งยิ่งขึ้น หลังจากที่ประธานาธิบดี วลาดิมีร์ ปูติน รุกรานยูเครนในเดือนกุมภาพันธ์ พ.ศ.2565 ซึ่งเป็นความเคลื่อนไหวที่แบ่งแยกโลก

“คิชิดะมีจุดยืนที่เหมาะสมต่อจีน ขณะเดียวกัน ก็กระชับความสัมพันธ์กับสหรัฐฯ” นากีกล่าว เสริมว่า “เราต้องดูว่าจะเกิดอะไรขึ้นกับคณะรัฐมนตรีของเขาในอีกไม่กี่เดือนข้างหน้า"


กำลังโหลดความคิดเห็น